“มีโอกาสได้สัมภาษณ์ทหารในช่วงเวลาต่างๆ พบว่าเวลาถามถึงเรื่องระบอบการเมืองที่ดีและเหมาะสม ยังไม่เคยเห็นทหารคนไหนพูดถึงระบอบอื่นที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ทหารบอกประชาธิปไตยเหมาะกับสังคมไทยที่สุด คำถามคือประชาธิปไตยของทหารกับของคนกลุ่มอื่นๆ มันมีความหมายเดียวกันหรือเปล่า เข้าใจตรงกันหรือไม่ ก็รู้สึกว่าไม่ค่อยตรง เวลาถามว่าแล้วประชาธิปไตยที่ท่านเห็นว่าเหมาะสมมันแปลว่าอะไร
แน่นอนว่าทหารไทยจำนวนไม่น้อยในงานวิชาการทั้งของนักวิชาการฝรั่งและไทยที่ศึกษากองทัพ เวลาที่ให้ทหารนิยามว่าอะไรคือประชาธิปไตย เราจะเห็นอะไรที่ใกล้เคียงกับประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน หรือพูดถึงการเลือกตั้งในฐานะกระบวนการเข้าสู่อำนาจ แต่ประชาธิปไตยแบบมีตัวแทนถูกจับผูกไว้กับความมีระเบียบ ซึ่งไม่รู้อะไรสำคัญกว่ากัน ในที่สุดประชาธิปไตยในความเข้าใจของนายทหารจำนวนไม่น้อยเชื่อมโยงกับความมีระเบียบ”
เรื่องเล่าจาก รศ.ดร.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในงานเสวนา “การเมืองกับทหารไทย เหตุสุดวิสัยหรือความจำเป็น?” ณ มหาวิทยาลัยรังสิต จ.ปทุมธานี ถึงมุมมอง “ทหาร” อาชีพมีบทบาทอย่างมากต่อการเมืองไทย เกี่ยวกับ “ประชาธิปไตย” ซึ่งความเข้าใจในคำดังกล่าวระหว่างทหารกับพลเรือนน่าจะแตกต่างกัน
กล่าวคือ ในขณะที่ทัศนคติของทหารมองประชาธิปไตยเพียงการเลือกตั้งผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศ แต่คนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม จะมองประชาธิปไตยว่าหมายถึง “การมีส่วนร่วม” ของประชาชนที่ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะการเลือกตั้ง นำมาสู่คำถามที่ว่า “เมื่อกองทัพไทยสถาปนาตนเองเป็นผู้สร้างประชาธิปไตย แล้วประชาธิปไตยของทหารกับของพลเรือนนั้นเป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่” อย่างไรก็ตาม การยึดหลัก “รัฐบาลพลเรือนนำกองทัพ (Civilian Control)” อันเป็นทฤษฎีของโลกตะวันตก สำหรับประเทศไทยก็ยังมีข้อสังเกตเช่นกัน
“ประชาธิปไตยที่เราเห็นในหลายๆ สังคม ที่เกิดขึ้นในโลกช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่ Illiberal Democracy หรือนักวิชาการบางท่านใช้คำว่า Competitive Authoritarianism คือผู้นำทางการเมืองเข้าสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้ง แต่ใช้อำนาจแบบอำนาจนิยม สังคมไทยก็เคยเห็นอะไรแบบนั้นมาแล้ว คำถามคือถ้าสิ่งที่เราเห็นคือ Competitive Authoritarianism แล้ว Civilian Control ควรจะแปลว่าอะไร เราจะยกอำนาจให้ผู้นำทางการเมืองพลเรือนในการควบคุมกองทัพหรือไม่ และถ้ายกให้แล้วจะเกิดอะไรขึ้น
เรื่องนี้เคยได้สัมภาษณ์นายทหารท่านหนึ่งช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ท่านบอกว่าถ้าเรามองผู้นำกองทัพที่เข้ามาใช้อำนาจทางการเมืองในรัฐไทยใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ ผู้นำพลเรือนที่เข้าสู่อำนาจโดยการเลือกตั้งก็ใช้กองทัพเป็นเครื่องมือ เขาใช้คำว่าทุกคนใช้บริการกองทัพหมด ฉะนั้นรัฐบาลที่ผ่านๆ มาตั้งแต่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จนถึงปัจจุบัน ต่างฝ่ายต่างใช้กองทัพเป็นเครื่องมือทั้งสิ้น แปลว่า Civilian Control ในบริบทของ Competitive Authoritarianismคิดว่ามันอันตราย และต้องคิดให้ดีว่าจะแปลว่าอย่างไร”อาจารย์ชลิดาภรณ์ กล่าว
ขณะที่ ศ.ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกผลงานของ “ซามูเอล ฮันติงตัน (Samuel
Huntington)” นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกายุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอธิบายถึงระบอบประชาธิปไตยและบทบาทของกองทัพแบบที่เป็นอยู่ในสังคมตะวันตก แต่สำหรับในประเทศกำลังพัฒนา ภาพที่ปรากฏต่างไปจากทฤษฎีที่ฮันติงตันคิดไว้
ทั้งนี้ ฮันติงตัน กล่าวถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนาไว้ 2 อย่าง 1.ในสังคมที่ล้าหลังทหารจะก้าวหน้า-ในสังคมที่ก้าวหน้าทหารจะล้าหลัง กับ 2.การแทรกแซงของทหารไม่ใช่ปัญหาของทหาร แต่เป็นปัญหาโครงสร้างทางการเมืองของประเทศ ซึ่งสมมติฐานทั้ง 2 เรื่องเป็นสิ่งที่น่าคิด แม้การศึกษาด้านรัฐศาสตร์จะหลีกหนีอิทธิพลจากตะวันตกไม่ได้เพราะนิยามทฤษฎีต่างๆ มาจากทางนั้น แต่เงื่อนไขสถานการณ์ที่เป็นรูปธรรมในบ้านของตนเองอาจไม่ตอบรับ คำถามคือแล้วจะตอบเรื่องความต่างระหว่างทฤษฎีกับความเป็นจริงอย่างไร
“หลายเรื่องที่เกิดในสังคมไทยมันกลายเป็นข้อขัดแย้งเชิงทฤษฎีเกือบทั้งนั้น หรือเรามักจะพูดกันก็คือทฤษฎีอะไรก็ใช้ไม่ได้กับสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ใช้ไม่ได้เลยคือทฤษฎีทหารกับการเมือง เป็นทฤษฎีที่ไม่สามารถที่จะเกิดอะไรในความเป็นจริงได้เลยในอีกมุมหนึ่ง เหมือนประเด็นที่ถามว่าตกลงประชาธิปไตยที่พลเรือนโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักวิชาการพูดกับผู้นำทหารพูดเรื่องเดียวกันไหม ตอบได้ว่าคนละเรื่อง หรือใช้สำนวนปัจจุบันว่าคนละเรื่องเดียวกัน มันมีทางที่จะนิยามอะไรร่วมกันได้ไหม คำตอบคือคงไม่ง่ายในระยะสั้นๆ” อาจารย์สุรชาติ กล่าว
ด้าน ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ อธิการวิทยาลัยรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และโลกาภิวัตน์ ม.รังสิต ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “พูดยากในเรื่องที่ทหารไม่เข้าใจเรื่องความหลากหลาย ซึ่งก็อาจเป็นเพราะถูกสอนถูกฝึกมาให้ยึดความเป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน” ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกองทัพไทย แม้กระทั่งต้นแบบของประชาธิปไตยอย่าง สหรัฐอเมริกา กองทัพอเมริกันก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน แต่ที่แตกต่าง “ในสังคมอเมริกันยึดถือหลักว่าวิธีคิดและวิถีชีวิตแบบทหารขอให้ใช้แต่ในกองทัพ อย่านำมาใช้กับพลเรือน” ดังนั้นชาวอเมริกันจึงไม่รู้สึกว่าทหารอเมริกันไม่ชอบความหลากหลาย
นอกจากนี้เมื่อวิเคราะห์ “วิธีคิดแบบไทย” จะพบว่าคนไทยตั้งอยู่บนวิธีคิด 3 อย่างคือ 1.อนุรักษ์นิยม เน้นการรักษาขนบจารีตประเพณี หากมีการเปลี่ยนแปลงขอให้เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่นิยมวิธีถอนรากถอนโคน 2.ชาตินิยม ที่ไม่ได้หมายถึงเพียงกำลังทหาร แต่รวมถึงความมั่งคั่งของประเทศและการมีเกียรติภูมิในเวทีโลก และ 3.ปฏิบัตินิยม คนไทยไม่ได้ยึดถือหลักการอะไรเป็นพิเศษ แต่เลือกใช้วิธีใดก็ได้เพื่อแก้ปัญหาแล้วแต่สถานการณ์ในเวลานั้น ถ้าประชาธิปไตยยังใช้ได้ก็ใช้ไป แต่ถ้าเวลาไหนใช้ไม่ได้ก็ไม่ลังเลที่จะหันไปหาวิธีอื่น
อีกด้านหนึ่ง ศ.ปราโมทย์ นาครทรรพ นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์ กล่าวถึงบทความ “อนาคตประชาธิปไตยไทย” ที่ตนเองเขียนไว้เมื่อนานมาแล้วว่าอนาคตของประชาธิปไตยไทยขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคนไทยแน่นอนรวมถึงทหารด้วย แต่สิ่งที่น่าคิด “สังคมไทยอยากได้ประชาธิปไตยจากคนที่ไม่ได้มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย” อาชีพทหารตอนเรียนตอนฝึกก็ไม่ได้เรียนได้ฝึกแบบประชาธิปไตย พอออกมาทำงานก็ไม่ได้ทำงานแบบประชาธิปไตย แล้วจะหวังให้ทหารมาสร้างประชาธิปไตยได้อย่างไร
เพราะฝากความหวังไว้ผิดที่ผิดทาง..จึงไม่ต้องแปลกใจที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในสังคมไทยจึงล้มเหลวเสมอมา และอาจจะเป็นเช่นนี้ต่อไป!!!
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี