“ประ” ไม้ป่าพื้นถิ่นยืนต้นขนาดใหญ่ พบมากในอุทยานแห่งชาติเขานัน อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช เป็นอีก “ของดีประจำจังหวัด” โดยในทุกๆ ปีจะมีอยู่ 3 เดือน ที่สามารถเข้าไปเก็บลูกประออกมาขายเป็นอาชีพเสริมได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปจากเศรษฐกิจเพื่อยังชีพเป็นเพื่อการค้าผู้คนที่เข้าไปเก็บลูกประจึงต้องวางกติการ่วมกันเพื่อให้ทรัพยากรอันมีค่านี้อยู่กับชุมชนต่อไปอย่างยั่งยืน
เมื่อเร็วๆ นี้ ทีมงาน “สกู๊ปแนวหน้า” ติดตามคณะของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สกสว.) ไปเยี่ยมชม “โครงการต้นแบบวิจัยจากฐานทุนชุมชน : ป่าประเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต-เศรษฐกิจฐานราก อำเภอนบพิตำ จังหวันครศรีธรรมราช” โดยวิทยากร ผศ.ดร.สุรศักดิ์ แก้วอ่อน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช กล่าวว่าวัตถุประสงค์หลักในการทำงานวิจัยชุดโครงการนี้ เพราะต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน
“เราใช้โจทย์เรื่องป่าประ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่ขึ้นอยู่เป็นจำนวนมากบริเวณอุทยานแห่งชาติเขานัน เป็นแนวทางในการวิจัยใน 2 ประเด็น คือ 1.การจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมและการสร้างคุณค่า มูลค่าป่าประ จำนวน 8 โครงการ และ 2.การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน ใน อ.นบพิตำ จำนวน 3 โครงการ สนับสนุนโดยฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกสว.” ผศ.ดร.สุรศักดิ์ กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.สมรักษ์ รอดเจริญ รอง ผอ.สถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า จากการเปิดเวทีนักวิจัยและเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ เพื่อให้งานวิจัยที่ทำสามารถแก้ปัญหาชุมชนได้จริง พบว่า คนในชุมชนประสบปัญหาเกี่ยวกับกฎกติกาการอยู่ร่วมกันของป่าประในพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติเขานัน รวมถึงการใช้ประโยชน์จากป่าประที่ยังไม่เป็นรูปธรรมมากนัก เนื่องจาก อ.นบพิตำ มีป่าประผืนใหญ่กว่า 5,000 ไร่ อีกทั้งยังเป็นป่าที่เก่าแก่และชาวบ้านตั้งชุมชนอยู่ร่วมกับป่ามาก่อนจะมีการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเขานัน
โดยเมล็ดประเป็นของป่าที่มีผลผลิตอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ของทุกปี ในช่วงดังกล่าวชาวบ้านในพื้นที่นิยมเข้าไปเก็บมาบริโภคและแปรรูปเพื่อเป็นรายได้เสริมในครัวเรือน ซึ่งตรงกับกรอบวิจัยหลักของ มรภ.นครศรีธรรมราช ในเรื่องการจัดการทรัพยากรและพัฒนานวัตกรรมแบบมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชน
“โจทย์หลักที่ชาวบ้านอยากให้เข้าไปพัฒนามากที่สุดคือป่าประซึ่งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ แม้ว่าจะมีการตั้งกฎกติกาชุมชนขึ้นมาแต่ยังรับรู้ในวงจำกัดแค่คนในหมู่บ้านเท่านั้น นอกนั้นยังไม่มีมาตรการจัดการที่เป็นรูปธรรมเนื่องจากมีการใช้ประโยชน์กันหลายหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงอยากให้มหาวิทยาลัยเข้าไปร่วมสร้างกฎกติกาให้เป็นรูปธรรม” ผศ.ดร.สมรักษ์ ระบุ
จากงานวิจัยเพื่อหาความสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรจากป่า “การเพิ่มมูลค่า” ก็เป็นอีกด้านที่สำคัญในการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น โดย ผศ.ดร.วันดี แก้วสุวรรณ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ได้ทำงานวิจัยร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรผสมผสานกรุงชิง 3 และ กลุ่มวิสาหกิจบ่อน้ำร้อน ผลิตผลิตภัณฑ์ประทอด ส่วนผลิตภัณฑ์ประดองทำงานร่วมกับกลุ่มสตรีพัฒนาบ้านห้วยแห้ง
ปัญหาที่พบจากการเก็บข้อมูล 1.กระบวนการผลิตไม่ได้มาตรฐาน เช่น ประมีรสขมเนื่องจากการคงเหลือของสารประกอบไซยาไนด์ หรือผลิตภัณฑ์ประทอดเก็บได้ไม่นานพบการเหม็นหืน ซึ่งทีมวิจัยได้เข้าไปให้ความรู้เรื่องหลักโภชนาการและกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เช่น การทำ “ประทอด” ต้องควบคุมกระบวนการผลิตตั้งแต่คัดแยกเมล็ดเสีย ลวกเมล็ดเพื่อนำเอาเยื่อหุ้มเมล็ดออก ควบคุมการลวกและการทอด คัดแยกชิ้นเสียออกจากกระบวนการผลิต และแยกการทอดเพื่อให้สุกสม่ำเสมอ อีกทั้งให้ความรู้เรื่องหลักโภชนาการด้วย
กับ 2.บรรจุภัณฑ์ (Packaging) ยังไม่โดนใจผู้บริโภค เช่น ที่ผ่านมาทำกันแบบชาวบ้านๆ อย่างการทำ “ประดอง” พบว่า ผู้ผลิตจะใช้มือหยิบใส่ถุงมัดหนังยางขาย จึงแนะนำว่า หากทำบรรจุภัณฑ์มียี่ห้อ-ตราสัญลักษณ์สินค้าให้ออกมาสวยงาม จะสามารถส่งขายไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ หรือวางในร้านค้าที่เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในจังหวัดจะทำให้สามารถขยายตลาดและฐานกลุ่มลูกค้าที่กว้างขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ โดย ผศ.ดร.จุรีภรณ์ นวนมุสิก อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.นครศรีธรรมราช เปิดเผยว่า ผลการศึกษาข้อมูลทางโภชนาการเบื้องต้น เมล็ดประมีองค์ประกอบของกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว และกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนในปริมาณที่สูงและมีความหลากหลายของชนิดของกรดไขมันอิสระที่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งในกลุ่มกรดไขมันโอเมก้า 3, 6 และ 9 ในปริมาณสูง
จึงสามารถนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารทางเลือกเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดทั่วไป เช่น นมอัลมอนด์ นมถั่วเหลือง เป็นต้น “นมประ” จึงถือเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ล่าสุดที่คิดค้นขึ้น โดยศึกษาถึงคุณสมบัติของไขมันที่ดีต่อสุขภาพในเมล็ดประ และเปรียบเทียบกับกรดไขมันในนมอัลมอนด์ที่วางขายทั่วไป โดยแปรรูปเมล็ดประให้เป็นนมประ ส่วนกากที่ได้จากการคั้นนมประยังสามารถนำไปทำเป็นคุกกี้ประได้ด้วย อย่างไรก็ตาม นมประกำลังอยู่ในช่วงการวิจัยเพื่อให้ได้ข้อมูลที่สามารถยืนยันคุณค่าทางโภชนาการที่ชัดเจนขึ้น
“ในอนาคตหากมีผลวิจัยด้านโภชนาการแล้วจะพัฒนาเป็นนมประรสชาติอื่นๆ เช่น สูตรชาเชียว สูตรช็อกโกแลต สูตรงาดำ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคที่หลากหลาย นอกจากการแปรรูปในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าให้เมล็ดประแล้ว การส่งเสริมการตลาดเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ส่งผลให้เศรษฐกิจฐานรากมีความเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายให้ผู้ประกอบการมีช่องทางการตลาดใหม่เพิ่มขึ้น” ผศ.ดร.จุรีภรณ์กล่าวในท้ายที่สุด
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี