วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ‘แรงงานใกล้ชิด’  โรคระบาดและผลกระทบ

สกู๊ปแนวหน้า : ‘แรงงานใกล้ชิด’ โรคระบาดและผลกระทบ

วันอาทิตย์ ที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 08.30 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“แรงงานใกล้ชิด (Intimate Labour)” หมายถึงแรงงานด้านบริการ เป็นงานด้านการดูแล มีมิติของอารมณ์เข้ามาเกี่ยวข้อง และทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้รับบริการ เช่น พยาบาล คนดูแลผู้สูงอายุ พนักงานนวดช่างตัดผม-เสริมสวย ซึ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แม้ในทางสาธารณสุขจะเน้นย้ำเรื่องการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) แต่ด้วยรูปแบบการทำงานของอาชีพเหล่านี้ ทำให้คนกลุ่มดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติตามได้

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการสตรี เยาวชนและครอบครัวศึกษา ศูนย์ประชาธิปไตยและพลเมือง สำนักงานสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย จัดงานเสวนาเรื่อง “แรงงานใกล้ชิดภายใต้สถานการณ์ของโรคระบาด กรณีศึกษาการระบาดของโควิด-19” ณ อาคารธรรมศาสตร์ 60 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์)โดย อัครนัย ขวัญอยู่ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แรงงานสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือแรงงานในระบบกับแรงงานนอกระบบ


ซึ่งแรงงานในระบบจะมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานและมีหลักประกันทางสังคม (เช่น เจ้าหน้าที่รัฐหรือพนักงานประจำของบริษัทเอกชน) แต่แรงงานนอกระบบจะไม่มี 2 เรื่องดังกล่าว “ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีเศรษฐกิจนอกระบบจำนวนมาก..แรงงานนอกระบบจึงมีจำนวนมากไปด้วย” โดยสถิติของไทยในปี 2562 มีแรงงานนอกระบบ 20.8 ล้านคน และแรงงานในระบบ 16.9 ล้านคน

ถึงกระนั้น “ยังมีพื้นที่บางส่วนที่คาบเกี่ยวกันของแรงงานทั้ง 2 ประเภท” โดยหากจัดตามสิทธิกองทุนประกันสังคม แรงงานในระบบจัดเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 เนื่องจากกฎหมายประกันสังคมกำหนดให้สถานประกอบการเอกชนที่จ้างพนักงานประจำต้องทำประกันสังคมให้ลูกจ้าง แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีผู้ประกันตนมาตรา 39 หมายถึงคนเคยเป็นพนักงานบริษัทเอกชน วันหนึ่งลาออกมาประกอบอาชีพอิสระแต่ยังส่งเงินสมทบต่อเนื่องเพื่อคงสิทธิต่างๆ ของมาตรา 33 ไว้ เพียงแต่ตามมาตรา 39 ผู้ประกันตนต้องส่งเงินสมทบในส่วนที่นายจ้างเดิมเคยส่งด้วย

นอกจากนี้ยังมีผู้ประกันตนมาตรา 40 หมายถึงผู้ประกอบอาชีพอิสระที่อยากได้รับสิทธิความคุ้มครองบางอย่าง จึงไปสมัครเพื่อส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ในส่วนนี้ยังมีข้อถกเถียงว่าผู้ประกันตนมาตรา 39 และ 40 เป็นแรงงานกลุ่มใด ระหว่างฝ่ายที่เห็นว่าเป็นแรงงานในระบบเพราะเข้าสู่ระบบประกันสังคมแล้ว กับฝ่ายที่เห็นว่าเป็นแรงงานนอกระบบเพราะยังขาดความคุ้มครองอีกหลายประการ

“แรงงานใกล้ชิดมีทั้งในและนอกระบบ” เช่น ผู้ช่วยพยาบาล พนักงานขายของในห้างสรรพสินค้า เป็นแรงงานในระบบ ขณะที่ช่างตัดผม-เสริมสวย พนักงานนวดเป็นแรงงานนอกระบบ เป็นต้น ซึ่งจากการวิเคราะห์ผ่านแบบจำลอง Kaplan-Meier Survival Estimates ว่าด้วยการมีชีวิตรอดทางเศรษฐกิจ (เช่น ยังมีงานทำหรือว่างงานแต่มีเงินออมสำรองไว้ใช้) ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์ เริ่มต้นวันที่ 22 มี.ค. 2563 อันเป็นวันที่กรุงเทพฯ เริ่มมาตรการปิดสถานที่ต่างๆ เกือบทั้งหมดโดยเหลือให้เปิดเฉพาะเท่าที่จำเป็น ในวันดังกล่าวสมมุติว่าทุกคนยังมีชีวิตรอดอยู่

จากนั้นอีก 43 วันให้หลัง ในวันที่ 3 พ.ค. 2563 อันเป็นวันแรกของการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ระยะที่ 1 โดยตลาดและร้านค้าบางประเภทได้กลับมาเปิดเป็นกลุ่มแรก พบว่า แรงงานในระบบยังรอดอยู่ร้อยละ 92.16 ส่วนแรงงานนอกระบบยังอยู่รอดที่ร้อยละ 71 และผลการศึกษาหลังจากนั้นตั้งแต่คลายล็อกระยะ 2 ระยะ 3 และระยะ 4 ช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2563 แบบจำลองยังชี้เช่นเดิมคือแรงงานนอกระบบล้มหายตายจากมากกว่าแรงงานในระบบ

ผศ.ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า มีงานวิจัยที่สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำร่วมกับมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (Homenet Thailand) สำรวจผู้ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤติไวรัสโควิด-19 ใน 7 อาชีพ สามารถแบ่งเป็น
2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมาก เช่น พนักงานนวด ช่างตัดผม-เสริมสวย

กับ 2.กลุ่มที่ได้รับผลกระทบรุนแรง เช่น ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย คนรับงานไปทำที่บ้าน ลูกจ้างทำงานบ้าน ขนส่งมวลชน และรับจ้างทั่วไป ซึ่งเมื่อนำประเด็น “เพศกับการทำงาน” มาวิเคราะห์ จะพบว่า “ในสถานการณ์โควิด-19 แรงงานนอกระบบที่เป็นผู้หญิงเดือดร้อนกว่าผู้ชาย” เห็นได้จาก 2 อาชีพที่อยู่ในกลุ่มได้รับผลกระทบรุนแรงมาก ช่างเสริมสวยนั้นเป็นผู้หญิง และพนักงานนวดส่วนใหญ่ก็เป็นเพศหญิง

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลการสำรวจทั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) องค์การอนามัยโลก(WHO) องค์การสหประชาชาติ(UN) ชี้ให้เห็นถึงอาชีพบางประเภทที่สังคมคาดหวังให้เป็นงานของผู้หญิง เช่น อาชีพกลุ่มผู้ดูแล (แพทย์ พยาบาล คนดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ) อาชีพกลุ่มบริการ (พนักงานทำความสะอาดพนักงานซักรีด พนักงานจัดเลี้ยงอาหาร) ซึ่งอาชีพทั้ง 2 กลุ่มข้างต้นนี้มีความเสี่ยงผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 สูงกว่าอาชีพกลุ่มอื่นๆ

นอกจากนี้ ผลวิเคราะห์จาก ILO ที่แบ่งประเทศเป็น 4 กลุ่ม คือประเทศรายได้สูง(High Income) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางสูง(Upper Middle Income) ประเทศรายได้ปานกลางค่อนไปทางต่ำ (Lower Middle Income) และประเทศรายได้ต่ำ (Low Income) พบว่า “ไม่ว่าจะเป็นประเทศร่ำรวย ปานกลางหรือยากจน แรงงานหญิงล้วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19มากกว่าแรงงานชาย” เช่น ถูกลดเวลาทำงาน สูญเสียรายได้ ถูกเลิกจ้าง เป็นต้น

อนึ่ง ยังมีงานใกล้ชิดอีกประเภทที่สังคมคาดหวังให้ผู้หญิงต้องแบกรับในฐานะหน้าที่ต่อครอบครัว อาทิ การดูแลบ้านและลูก ซึ่งในช่วงสถานการณ์ไวรัสโควิด-19
ผู้หญิงต้องแบกรับภาระหนักขึ้นเนื่องจากโรงเรียนถูกสั่งปิดทำให้ลูกต้องอยู่บ้านมากขึ้นในขณะที่ตนเองยังต้องเดินทางไปทำงานที่สำนักงาน และหากเป็นแรงงานนอกระบบด้วยความเสี่ยงจะยิ่งเพิ่มขึ้น เช่น สูญเสียรายได้จากกิจการถูกสั่งปิดช่วงล็อกดาวน์ หรือหากยังทำงานก็เสี่ยงต่อการติดเชื้อ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นอกจากจะส่งผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจแล้ว ยังซ้ำเติมให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศรุนแรงขึ้นด้วย!!!


SCOOP@NAEWNA.COM
 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

‘ฮั้ว สว.’บาน! ‘ดีเอสไอ’เผยพบเครือข่ายขบวนการ‘อั้งยี่ฟอกเงิน’ 1,200 รายทั่วประเทศ

กทม.ผลักดันระบบสุขภาพพร้อมประกาศทำเมืองเข้มแข็งขึ้น

(คลิป) 'กฤษฏิ์' สส.ชลบุรี บอกลา 'พรรคส้ม' เผย! ทัศนคติไปด้วยกันไม่ได้

‘สว.’พร้อมใจเย็บปาก! เลี่ยงตอบปมร้อนออกหมายเรียก‘ฮั้ว’

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved