29 กันยายน 2563 ผศ.ดร.มณฑกานติ ชุบชูวงศ์ คณบดีคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับภาคการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง ว่า แม้รัฐบาลจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศบ้างแล้ว แต่ยังเป็นการรับเฉพาะบางกลุ่มและเมื่อเข้ามาแล้วยังต้องกักตัวในสถานที่ของรัฐ (State Quarantine) หรือสถานกักตัวทางเลือก (Alternative State Quarantine : ASQ) เป็นเวลา 14 วัน
ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องหันมาพึ่งพาตลาดการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งนอกจากเมืองท่องเที่ยวหลัก รัฐบาลควรเร่งพัฒนาเมืองรอง โดยต้องมีแผนพัฒนาระดับจังหวัดอย่างชัดเจน ว่าจะพัฒนาในทิศทางใด การเข้าถึงสะดวกหรือไม่ เครือข่ายการเชื่อมโยงของการคมนาคมในท้องถิ่นยังมีปัญหาอะไรบ้าง โดยมีการออกแบบเส้นทางท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ทำป้ายบอกทางที่ชัดเจน เพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว ณ แหล่งท่องเที่ยว พัฒนาอาหารท้องถิ่น และออกแบบแพ็คเกจของที่ระลึกที่ทันสมัย พร้อมกับประชาสัมพันธ์เทศกาล ประเพณีต่างๆ ให้เป็นที่รู้จักด้วย
"ในอดีตโรงแรมที่มีตลาดต่างประเทศเป็นหลัก อาจไม่ได้ทำการตลาดในประะเทศ เช่น ระดับภูมิภาคและภายในจังหวัดมากนัก แต่ปัจจุบันคงต้องหันมาให้ความสำคัญกับตลาดดังกล่าวมากขึ้น ซึ่งตลาดในภูมิภาคถือเป็นฐานลูกค้าสำคัญ เนื่องจากนักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาเยือนได้โดยรถยนต์ ในระยะทางไม่ไกลมาก ซึ่งจะช่วยโรงแรมในด้านการขายห้องพัก การขายอาหาร การจัดประชุม จัดงานกิจกรรมต่างๆ " ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าว
ผศ.ดร.มณฑกานติ กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจโรงแรมควรพึ่งพาตนเองมากขึ้น เพื่อลดรายจ่าย ลดต้นทุน โดยอาจปรับตัวเป็นผู้ผลิต( producer ) นอกจากเป็นผู้ซื้อ (buyer) เช่น การปลูกผักออแกนิค ปลูกต้นไม้ ผลไม้ ดอกไม้ไว้ใช้เอง และนำสิ่งที่ปลูกมาปรุงอาหาร หรือเปลี่ยนเป็นวัสดุในการตกแต่งอาหาร ตกแต่งสถานที่ และควรอุดหนุนผลิตภัณฑ์ในท้องถิ่นตนเอง เพื่อให้ท้องถิ่นมีรายได้
สำหรับการตลาดสำหรับธุรกิจโรงแรม โดยเฉพาะโรงแรมในแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย และกรุงเทพฯ ที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ปัจจุบันได้รับผลกระทบอย่างหนัก ดังนั้นหากต้องการให้มีตลาดคนไทยเข้าไปพักเป็นการทดแทน โรงแรม ต้องเร่งวางแผนการตลาดใหม่ ต้องพึ่งพาตลาดภายในประเทศ ภายในภูมิภาค และตลาดท้องถิ่นมากขึ้น โดยศึกษาพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทย ซึ่งมีหลายกลุ่ม หลายวัย และมีความต้องการท่องเที่ยวแตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ทำการตลาดต้องวิเคราะห์ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวไทยแต่ละกลุ่มก่อนทำการตลาด
อาทิ พฤติกรรมนักท่องเที่ยวประเภท คนโสด วัยที่ทำงาน หรือครอบครัวที่มีลูก สามารถเดินทางได้เฉพาะในช่วงวันหยุดยาวและปิดเทอม โรงแรมอาจทำแพ็คเกจสำหรับวันหยุดยาว ให้กับกลุ่มคนวัยทำงาน หรือครอบครัว ขณะที่วัยรุ่นนักศึกษา ในช่วงปิดเทอมราวกลางเดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไปการท่องเที่ยวน่าจะดีขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยเริ่มปิดเทอม ซึ่งโรงแรมอาจทำราคาสำหรับนักศึกษาที่ไปท่องเที่ยวเป็นกลุ่มช่วงปิดเทอมไว้ด้วยก็ได้ ดังเช่นที่นักเรียน-นักศึกษาได้ราคาพิเศษในการขึ้นรถโดยสาร เช่น รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถไฟและรถประจำทาง
แต่สำหรับโรงแรมที่ยังไม่เคยคิดถึงประเด็นนี้ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ามีนักศึกษาไปท่องเที่ยวสถานที่ต่างๆ ด้วยตนเอง และยังสามารถเดินทางในวันธรรมดาหากอยู่ในช่วงปิดเทอมด้วย สำหรับ วัยเกษียณ สามารถเดินทางกับกลุ่มเพื่อนในวันธรรมดาได้ ที่ผ่านมาคนไทยระดับกลางไม่สามารถไปพักโรงแรม 5 ดาวในแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยม เช่น ภูเก็ต กระบี่ สมุย ได้หลายๆวันเนื่องจากห้องพักและอาหารมีราคาสูงแพง ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่จะทำแพ๊คเกจระยะยาวให้กับคนไทยกลุ่มนี้ เช่น 1 สัปดาห์ หรือ 2 สัปดาห์ ผู้สูงอายุที่ไม่มีภาระอาจพักไปถึง 1-2 เดือน
ดังนั้น โรงแรมควรมีข้อเสนอการพักระยะกลาง และ ระยะยาวด้วย นอกจากนี้โรงแรมตากอากาศ อาจจะเสนอราคาสำหรับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพหรือพักฟื้นจากอาการป่วย อาจต้องการพักถึง 3-4 เดือนก็เป็นได้ และโรงแรมควรเป็นพันธมิตรกับโรงพยาบาลต่างๆเนื่องจากอนาคตการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และการท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพจะมีความสำคัญอย่างมาก นอกจากนี้โรงแรมอาจปรับบางส่วนเป็นเป็นที่สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ (nursing home) รายเดือน โดยมีทีม แพทย์ พยาบาลประจำ หรือมาเป็นเวลา เป็นต้น
ผศ.ดร.มณฑกานติ ยังกล่าวอีกว่า ในส่วนของตลาดนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้น นอกเหนือจากตลาดนักท่องเที่ยวที่ใช้วีซ่า Long stay (1 ปี) คาดว่าจากเดือน ต.ค. 2563เป็นต้นไป จะมีชาวต่างชาติที่อยากจะหนีหนาวมาเที่ยวเมืองไทยและยอมกักตัว 14 วัน แต่ปัญหาคือประเทศไทยมีศักยภาพรองรับได้หรือไม่ และมี ASQ เพียงพอในแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ หรือไม่ และกลุ่มนี้ไม่ได้ใช้วีซ่าระยะยาว
ภาครัฐควรทบทวนระยะเวลาการออกวีซ่าของนักท่องเที่ยวทั่วไป เนื่องจากหากนักท่องเที่ยวต้องถูกกักตัว 14 วันเมื่อมาถึง การออกวีซ่าเพียง 3 เดือนแบบที่ทำอยู่เดิม อาจไม่น่าสนใจ ควรจะปรับเป็น 4-5 เดือน อย่างน้อยก็ภายในระยะ 1-2 ปีนี้ ขณะที่ในส่วนของตลาดการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ มีนักท่องเที่ยวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ต้องการมารักษาตัวในประเทศไทย นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้หลังจากการรักษาในโรงพยาบาล อาจต้องการอยู่เมืองไทยเพื่อพักฟื้นเป็นเวลานาน หรือเพื่อท่องเที่ยวต่อ ดังนั้นการเพิ่มระยะเวลาของวีซ่าดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งนักท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมที่รองรับคนกลุ่มนี้
ขณะที่ตลาดด้านการศึกษานั้น ปัจจุบันมีนักศึกษาต่างชาติในระดับต่างๆ ที่ยังกลับมาเรียนต่อไม่ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการกักตัว ณ โรงแรมที่เป็น ASQ มีราคาสูง แต่หากมีโรงแรมระดับกลางหรือล่าง เข้าร่วมเป็น ASQ อาจทำให้ตลาดนี้กลับมาได้เร็วขึ้น และกลุ่มนี้น่าสนใจเนื่องจากจะอยู่ในประเทศไทยระยะยาว 1-4 ปี ซึ่งจะสามารถช่วยเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้ดี และกลุ่มนี้ยังมีญาติและเพื่อนมาเยี่ยม เป็นการเพิ่มรายได้การท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม ในอนาคตธุรกิจโรงแรมต้องไม่พึ่งพาตลาดต่างประเทศตลาดใดตลาดหนึ่งมากจนเกินไป เพราะสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้อีกเสมอ อีกทั้งต้องพึ่งพาตลาดในประเทศมากขึ้นและต้องคิดวิเคราะห์ตลาดมากขึ้น ใช้ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) ต้องคิดนอกกรอบและวิเคราะห์ส่วนแบ่งตลาดต่างๆมากขึ้น รวมไปถึงราคา เช่น ระหว่างนักท่องเที่ยวต่างชาติกับนักท่องเที่ยวไทย ราคาห้องพักควรจะเท่ากันหรือไม่
และในเรื่องภาษีของโรงแรม (VAT) นักท่องเที่ยวชาวไทยควรจ่ายเท่ากับนักท่องเที่ยวต่างชาติหรือไม่ เพราะว่าคนไทยต้องจ่ายภาษีรายได้ต่างๆในประเทศอยู่แล้ว เป็นต้น ธุรกิจการท่องเที่ยวหลังจากนี้คงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์และกลวิธีอย่างรวดเร็ว เพราะสิ่งแวดล้อมจากภายนอก เป็นสิ่งที่ท้าทาย และมีความผันผวนมาก โรงแรมจึงต้องมีความพร้อมและสามารถรองรับความเสี่ยงต่างๆ ได้
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี