ฝุ่นละอองขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน หรือ “PM2.5” เป็นปัญหาที่คนไทยต้องเผชิญมานานหลายปี ซึ่งมาจากปัจจัยหลายสาเหตุ ทั้งไอเสียจากยานพาหนะในเมืองที่มีการจราจรหนาแน่นโดยเฉพาะรถยนต์เครื่องดีเซล การเผาในที่โล่งเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเกษตรไม่ว่าในประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง รวมถึงในบางช่วงจะเกิดสภาวะอากาศปิดไม่มีลมพัดให้อากาศถ่ายเทนำพาฝุ่นควันออกไป
ด้านหนึ่งการแก้ไขปัญหานี้ถึงต้นตอยังเป็นเรื่องยากด้วยข้อจำกัด เช่น เกษตรกรนิยมเตรียมพื้นที่เพาะปลูกด้วยการเผาเพราะต้นทุนต่ำกว่าการจ้างแรงงานหรือใช้เครื่องจักร หรือโครงสร้างผังเมืองและระบบขนส่งมวลชนที่ไม่เอื้อให้คนไทยลด ละ เลิกการใช้รถยนต์ส่วนตัว ดังนั้นอีกด้านหนึ่งจึงมีผู้พยายามคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพื่อให้แต่ละคนใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงจากฝุ่นพิษ อาทิ หน้ากากกรองฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ ไปจนถึงเครื่องวัดปริมาณฝุ่น
เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้เปิดตัว “แผ่นกรองอากาศสำหรับรถยนต์ต้านเชื้อรา-แบคทีเรีย” ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สวทช. กับภาคเอกชนคือ “เอเทค ฟิลเตรชั่น” คาดว่าจะเริ่มวางจำหน่ายในท้องตลาดได้ภายในปี 2564
ณัฏฐพร พิมพะ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน นาโนเทค สวทช. กล่าวว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ เกิดจากโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการ ที่มองเห็นโอกาสจากองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญด้านนาโนเทคโนโลยีของนาโนเทค ด้วยแผ่นกรองอากาศในรถยนต์ที่มีอยู่ในท้องตลาดส่วนใหญ่นั้น จะมีความสามารถในการกรองอนุภาคของฝุ่น, จุลินทรีย์และเชื้อรา ได้ตามขนาดของช่องว่าง หรือรูของแผ่นกรองอากาศ
อย่างไรก็ตาม จุลินทรีย์และเชื้อรา ที่มีขนาดใหญ่กว่ารูกรอง จะสะสมอยู่บนพื้นผิวของแผ่นกรองอากาศ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และหากแผ่นกรองเสื่อมสภาพลง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจหลุดลอยออกมาปนเปื้อนกับอากาศ และมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ใช้งาน เกิดเป็นโรคภูมิแพ้, ปอดอักเสบ เป็นต้น
ซึ่งแผ่นกรองอากาศสำหรับรถยนต์ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราที่พัฒนาขึ้นนี้ เป็นการพัฒนาแผ่นกรองอากาศในรถยนต์เพื่อช่วยป้องกันและกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ อาศัยการทำงานของอนุภาคนาโนที่เคลือบบนแผ่นกรองอากาศเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา ซึ่งสารเคลือบฯ เมื่อสัมผัสกับผนังเซลล์ของจุลินทรีย์จะทำให้ผนังของเซลล์เสียหาย หรือยับยั้งระบบการเผาผลาญในเซลล์ ทำให้เซลล์ไม่สามารถเจริญเติบโตต่อไปได้
“จุดเด่นของแผ่นกรองอากาศที่พัฒนาขึ้นนั้น สามารถยับยั้งได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ โดยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและกระบวนการผลิตสารเคลือบที่ไม่ซับซ้อน อีกทั้งกระบวนการเคลือบแผ่นกรองอากาศชนิดผ้าไม่ถักไม่ทอ สามารถประยุกต์ใช้กับการเคลือบในอุตสาหกรรม และลักษณะทางกายภาพของแผ่นกรองอากาศภายหลังการเคลือบไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น สี การขึ้นจีบแผ่นกรอง ความสามารถในการผ่านของอากาศ” ณัฏฐพร กล่าว
ณัฏฐพร ยังอธิบายเพิ่มว่า ผลงานวิจัยนี้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรีย ตามวิธีการทดสอบมาตรฐานทั้ง Antifungal activity, assessment on textile material: AATCC TM30:2017 (test III),CLSI M2-A11: Performance standards for antimicrobialdisk susceptibility tests (Clear zone Test) และ“Particulate efficiency tests are followed by ISO16890 Classification ISO ePM10” หรือก็คือ “สามารถกรองฝุ่นขนาด 0.3-10 ไมครอน” ได้ด้วย
โดยหลังการเคลือบ อัตราการไหลเวียนอากาศ(air flow rate) และการสูญเสียแรงดัน (Pressure drop) เท่าเดิม นอกจากนี้ ยังมีการทดสอบการใช้งานโดยนำไปกรองอากาศในรถยนต์ที่มีขนาดห้องโดยสารต่างกัน ทดลองใช้จนถึงประมาณ 13,000 กิโลเมตร พบว่ายังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรีย และไม่พบการหลุดของอนุภาคนาโนออกจากแผ่นกรองแต่อย่างใด
ด้าน อัมพร ศรีลาศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเทค ฟิลเตรชั่น จำกัด กล่าวว่า บริษัททำธุรกิจแผ่นกรองอากาศในรถยนต์อยู่แล้ว แต่เป็นแบบกรองฝุ่นธรรมดา ซึ่งคู่แข่งมีจำนวนมากเพราะไม่ว่าใครก็สามารถทำได้ เมื่อได้ศึกษาตลาดผลิตภัณฑ์นี้ พบว่าในต่างประเทศมีแผ่นกรองที่มีประสิทธิภาพมากกว่า สามารถกรองเชื้อโรคได้ ในตอนแรกคิดว่าจะนำเข้าของจากต่างประเทศมาขาย แต่ก็ไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ จนเริ่มมองหานวัตกรรมในประเทศ กระทั่งมารู้จักกับ สวทช.
“เมื่อปรึกษาถึงโจทย์ในการพัฒนากระบวนการเคลือบแผ่นกรองอากาศให้มีประสิทธิภาพยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรีย โดยที่กระบวนการผลิตยังใกล้เคียงของเดิม ไม่ยุ่งยากซับซ้อน จนเกิดเป็นโครงการวิจัยดังกล่าว ซึ่งรถทุกคันต้องมีแผ่นกรองอากาศ ในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบัน ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นและมลภาวะทางอากาศ หากสามารถเพิ่มประสิทธิภาพแผ่นกรอง ให้คุณภาพอากาศในห้องโดยสารดีขึ้น จะเป็นทางเลือกใหม่ โดยผลิตภัณฑ์จากการวิจัยและพัฒนาของนาโนเทค สวทช. จะตอบความต้องการนี้ ด้วยความน่าเชื่อถือของงานวิจัย” อัมพร ระบุ
ผู้บริหารเอเทค ฟิลเตรชั่น เผยว่า บริษัทฯ เตรียมนำแผ่นกรองอากาศยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรียสำหรับรถยนต์ออกสู่เชิงพาณิชย์ผ่านบริษัทพันธมิตรที่ดูแลด้านการทำตลาดในช่วงกลางเดือนมกราคม 2564 โดยตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 100% ด้วยมองว่า ความต้องการในตลาดมีสูงมากจากสถานการณ์และพฤติกรรมของผู้บริโภค ในขณะเดียวกัน ก็มีแผนขยายสู่ตลาดต่างประเทศ โดยนำร่องในประเทศเพื่อนบ้านร่วมภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เช่น ลาว เวียดนาม
เป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า “นวัตกรรมคนไทยทำได้” หากได้รับการส่งเสริมให้ต่อยอดเชิงพาณิชย์!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี