วันพุธ ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
วิธีฝึกหัดสมาธิโดยบริกรรมพุทโธ โอวาทธรรม 'หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี'

วิธีฝึกหัดสมาธิโดยบริกรรมพุทโธ โอวาทธรรม 'หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี'

วันจันทร์ ที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2564, 19.32 น.
Tag : บริกรรมพุทโธ วิธีฝึกหัดสมาธิ หลวงปู่เทสก์ โอวาทธรรม
  •  

"ฝึกหัดสมาธิโดยบริกรรมพุทโธ" พระราชนิโรธรังสีคัมภีรปัญญาวิศิษฏ์ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) แสดง ณ วัดหินหมากแป้ง อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘

เมื่อเริ่มที่จะเข้าไปเรียนพระกัมมัฏฐาน ในคณะไหน สำนักพระอาจารย์องค์ใด ผู้ที่ท่านชำนิชำนาญในพระกัมมัฏฐานนั้นๆ แล้ว พึงตั้งจิตเชื่อมั่นในพระอาจารย์องค์นั้น ว่าท่านองค์นี้แหละเป็นผู้ชำนาญในพระกัมมัฏฐานนี้โดยเฉพาะแน่แท้ แล้วก็ให้เชื่อมั่นในพระกัมมัฏฐานที่ท่านสอนนั้น ว่าเป็นทางที่ถูกต้องแน่นอน และพึงให้ความเคารพในสถานที่ตนไปทำกัมมัฏฐานนั้นอีกด้วย แล้วจึงเข้าไปเรียนเอาพระกัมมัฏฐานนั้นต่อไป


โบราณาจารย์ท่านมีพิธีปลูกศรัทธาเบื้องต้น ก่อนเรียนเอาพระกัมมัฏฐาน คือ จัดยกครูด้วยเทียนขี้ผึ้ง ๕ คู่ ดอกไม้ขาว ๕ คู่ เรียกว่า ขันธ์ ๕ เทียนขี้ผึ้ง ๘ คู่ ดอกไม้ขาว ๘ คู่ เรียกว่า ขันธ์ ๘ หรือเทียนขี้ผึ้งคู่หนักเล่มละ ๑ บาท ดอกไม้ขาวเท่ากับเทียน 

แล้วอาราธนาเอาพระกัมมัฏฐานทั้ง ๔๐ ให้เข้ามาอยู่ในขันธสันดานของข้าพเจ้าในกาลบัดนี้ แล้วจึงเรียนเอาพระกัมมัฏฐานนั้นต่อไป พิธีแยบยลโบราณกาลท่านดีเหมือนกัน ยังมีพิธีอีมากมายแต่ผู้เขียน (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี) ยังไม่กล่าวถึง จะกล่าวถึงพิธีง่ายๆ พอทำได้ในตอนต่อไป

เมื่อปลูกศรัทธาความเชื่อมั่นให้มีขึ้นในจิตใจของตนดังกล่าวมาแล้ว จึงเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ชำนาญในกำมัฏฐานนั้นๆ ถ้าท่านชำนาญทางฝ่ายบริกรรม สัมมาอะระหัง ท่านก็สอนให้บริกรรมภาวนาว่า สัมมาอะระหังๆๆ ให้กำหนดเป็นดวงแก้วใสๆ อยู่เหนือสะดือขึ้นไป ๒ นิ้ว แล้วเอาจิตไปตั้งไว้ไว้ตรงนั้น ภาวนาไปเรื่อยๆ อย่าให้จิตหนีหายไปจากดวงแก้ว หมายความว่า เอาดวงแก้วเป็นที่ตั้งของดวงจิตก็แล้วกัน

เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ชำนาญในด้านภาวนายุบหนอ พองหนอ ท่านก็จะสอนให้ภาวนา ยุบหนอ พองหนอ ให้กำหนดเอาจิตไปไว้ที่อิริยาบถต่างๆ เช่น ยกเท้าขึ้นว่าหยุบหนอ เหยียบเท้าลงก็ว่า พองหนอ หรือพิจารณาให้เห็นความเกิดและความดับทุกอิริยาบถ อย่างนี้เรื่อยไปเป็นอารมณ์

เมื่อท่านเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ชำนาญในด้านอิทธิฤทธิ์ ท่านก็สอนคาถาภาวนาให้ว่า นะมะพะธะ นะมะพะธะ ให้เอาจิตเป็นอารมณ์อันหนึ่ง จิตจะพาไปเห็นเทพ นรก อินทร์ พรหม ต่างๆ นานาหลายอย่าง จนเพลินอยู่กับอารมณ์นั้นๆ

เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ท่านชำนาญในด้านอานาปานสติ ท่านก็จะสอนให้กำหนดลมหายใจเข้า-ออก ให้จิตตั้งมั่นกับลมหายใจเข้า-ออก อย่างเดียวเป็นอารมณ์

เมื่อเข้าไปหาพระอาจารย์ที่ท่านชำนาญในด้านภาวนาพุทโธ ท่านก็จะสอนให้บริกรรมว่า พุทโธๆๆ แล้วให้เอาจิตไปตั้งมั่นอยู่ในบริกรรมนั้น จนชำนาญเต็มที่แล้ว ก็จะสอนให้พิจารณาพุทโธ กับ ผู้ว่าพุทโธ เมื่อพิจารณาเห็นเป็นคนละอันกัน แล้วพึงจับเอาผู้ว่าพุทโธ ส่วนพุทโธนั้นจะหายไป เหลือแต่ผู้ว่าพุทโธอย่างเดียว
ให้ยึดเอา “ผู้ว่าพุทโธ” นั้นเป็นหลักต่อไป

คนในสมัยนี้หรือในสมัยไหนก็ตาม หรือจะมีความรู้ความสามารถสักปานใดก็ช่าง ไม่ได้โทษว่า คนเหล่านั้นมักตื่นเต้นในสิ่งที่ตนยังไม่เคยทดสอบหาความจริง แล้วหลงเชื่อตาม เพราะเขาเหล่านั้นอยากรู้อยากเห็นของจริง โดยเฉพาะคนถือพระพุทธศาสนามาแล้ว และพุทธศาสนาก็แสดงถึงเหตุผลซึ่งเป็นจริงทั้งนั้น แต่ทำไมต้องไปหลงเชื่อตามคำโฆษณาซึ่งมีอยู่ดาษดื่นทั่วไป นี่จะเป็นเพราะคนสมัยนี้ใจร้อน ยังไม่ทำเหตุให้ถึงพร้อมแต่อยากได้ผลเร็ว อย่างที่เขาพูดกันว่า “คนสมัยปรมาณู” นั้นกระมัง

พุทธศาสนาสอนเข้าถึงจิตใจอันเป็นนามธรรม ส่วนร่างกายมันเป็นรูปธรรม รูปธรรมมันต้องอยู่ในบังคับบัญชาของนามธรรม เมื่อเริ่มหัดสมาธิฝึกหัดจิตใจให้สงบไม่วุ่นวาย ในขณะนั้นไม่เห็นไปทำความเดือดร้อนให้แก่ใครทั้งหมด ฝึกหัดไปจนเป็นชำนาญได้ที่แล้วผู้นั้นก็สงบเยือกเย็น มีคนฝึกหัดอย่างนี้จำนวนมากๆ เข้า โลกอันนี้ก็จะมีแต่ความสงบสุขทั่วกัน ส่วนรูปธรรมนั้นเราจะฝึกให้สงบได้ก็แต่เมื่อจิตบังคับอยู่เท่านั้น เมื่อจิตเผลอกายก็จะเป็นไปตามเรื่องของมัน ฉะนั้น เรามาฝึกหัดจิตบริกรรมพุทโธลองดู

ปุพพกิจก่อนทำสมาธิ ก่อนจะทำกัมมัฏฐานภาวนาพุทโธ พึงทำปุพพกิจเบื้องต้นก่อน คือ ตั้งจิตให้เกิดศรัทธาเลื่อมใสให้เต็มที่ ดังได้อธิบายมาข้างต้น แล้วพึงกราบ ๓ หนแล้วกล่าว


อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ ภควา
พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงเป็นพระอรหันต์ตรัสรู้ถูกถ้วนดีแล้ว
พุทฺธํ ภควนฺตํ อภิวาเทมิ
ข้าพเจ้าอภิวาทกราบไหว้ซึ่งพระผู้เป็นเจ้านั้น
(พึงกราบลงหนหนึ่ง)


สวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม
พระธรรม อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว
ธมฺมํ นมสฺสามิ
ข้าพเจ้านมัสการ กราบไหว้ซึ่งพระธรรมเจ้านั้น
(พึงกราบลงหนหนึ่ง)


สุปฏิปนฺโน ภควโต สาวกสฺโฆ
พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าที่ ท่านปฏิบัติดีแล้ว
สงฆํ นมามิ
ข้าพเจ้านอบน้อมซึ่งพระสงฆ์
(พึงกราบลงหนหนึ่ง)

 

 

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสฺมพุทฺธสฺส (กล่าว ๓ จบ)

ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระศาสดาเอกของโลก ทรงพ้นจากทุกข์และกิเลสทั้งปวงทรงอยู่เกษมสำราญทุกเมื่อ (พึงกราบลง ๓ หน)

หมายเหตุ ปุพพกิจเบื้องต้นที่นำมาแสดงให้ดูนี้ เป็นแต่ตัวอย่างเท่านั้น หากใครได้มากจะไหว้มากก็ได้ ไม่ขัดข้อง แต่ต้องไหว้ก่อนนั่งสมาธิทุกครั้งไป เว้นแต่ว่าสถานที่ไม่อำนวย

พึงนั่งสมาธิดังนี้ เอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงแล้วนึกเอาคำบริกรรมพุทโธๆ กำหนดไว้ที่ท่ามกลางหน้าอก คือ ใจ อย่าให้จิตส่งส่ายไปมาข้างหน้าข้างหลัง พึงตั้งสติสำรวมจิตให้อยู่คงที่เป็นเอกัคตาจิตแน่วแน่ จิตก็จะเข้าถึงสมาธิได้เลย

เมื่อเข้าถึงสมาธิแล้ว บางทีก็ไม่รู้ตัวหายเงียบไปเลย ไม่รู้ว่าเรานั่งนานสักเท่าใด กว่าจะออกจากสมาธิก็เป็นเวลาตั้งหลายชั่วโมงก็มี เพราะฉะนั้นการนั่งสมาธิจึงไม่ต้องกำหนดเวลา ให้ปล่อยตามเรื่องของมันเอง

จิตที่เข้าถึงสมาธิแท้ คือ จิตที่เป็นเอกัคตาจิต ถ้าไม่เข้าถึงเอกัคคตาจิตได้ชื่อว่ายังไม่เป็นสมาธิ เพราะใจแท้มีอันเดียว ถ้ามีหลายอันอยู่ยังไม่เข้าถึงใจ เป็นแต่จิต
ก่อนจะฝึกหัดสมาธิ พึงข้าใจถึงจิตกับใจเสียก่อน ในที่นี้พึงเข้าใจกันเสียก่อนว่า จิต กับ ใจ มิใช่อันเดียวกัน

จิต เป็นผู้นึกคิดนึกปรุงแต่งสัญญาอารมณ์สรรพสิ่งทั้งปวง

ใจ เป็นผู้นิ่งอยู่เฉยๆ เพียงแต่รู้ว่านิ่งอยู่เฉยๆ ไม่มีคิดนึกปรุงแต่งอะไรอีกเลย

เปรียบเหมือนแม่น้ำกับคลื่นของแม่น้ำ เมื่อคลื่นสงบแล้ว จะยังเหลือแต่แม่น้ำอันใสแจ๋วอยู่อย่างเดียว

สรรพวิชาทั้งหลายและกิเลสทั้งปวงจะเกิดมีขึ้นมาได้ ก็เพราะจิตคิดนึกปรุงแต่งแส่ส่ายหามา สิ่งทั้งปวงเหล่านั้นจะเห็นได้ชัดด้วยใจของตนเอง ก็ต่อเมื่อ จิต นิ่งแล้วเข้าถึง ใจ

น้ำเป็นของใสสะอาดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว เมื่อมีผู้นำเอาสีต่างๆ มาประสมกับน้ำนั้น น้ำนั้นย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามสีนั้นๆ แต่เมื่อกลั่นกรองเอาน้ำออกมาจากสีนั้นๆ แล้ว น้ำก็จะใสสะอาดตามเดิม จิต กับ ใจ ก็อุปมาอุปมัยดังอธิบายมานี้

แท้จริงพระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสเทศนาไว้แล้วว่า จิตอันใด ใจก็อันนั้น ถ้าไม่มีใจ จิตก็ไม่มี จิตเป็นอาการ ใจไม่มีอาการ การฝึกหัดสมาธิภาวนา ไม่ว่าจะฝึกหัดโดยอาจารย์ใดและวิธีอะไรก็แล้วแต่เถิด ถ้าถูกทางแล้วจะต้องเข้าถึงใจทั้งนั้น

เมื่อเข้าถึงใจเห็นใจของตนแล้ว ก็จะเห็นสรรพกิเลสของตนทั้งหมด เพราะจิตมันสะสมกิเลสไว้ที่จิตนั้นทั้งหมด คราวนี้เราจะจัดการอย่างไรกับมันก็แล้วแต่เรา
หมอซึ่งจะรักษาโรคนั้นๆ ให้หายได้เด็ดขาด ก็ต้องค้นหาสมุฏฐานของโรคนั้นให้รู้จักเสียก่อน แล้วจึงจะวางยาให้ถูกกับโรคนั้นได้

เราบริกรรมพุทโธๆๆ ไปนานๆ เข้า จิตก็จะค่อยคลายความฟุ้งซ่าน แล้วจะค่อยมารวมเข้ามาอยู่กับพุทโธ จิตจะตั้งมั่นเป็นอารมณ์อันเดียวกับพุทโธ จนเห็นจิตที่ว่า พุทโธอันใดจิตก็อันนั้นอยู่ตลอดทุกเมื่อ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน อิริยาบถใดๆ ก็เห็นจิตใสแจ๋วอยู่กับพุทโธนั้น

เมื่อได้ถึงขนาดนั้นแล้วขอให้ประคองจิตนั้นไว้ในอารมณ์นั้น นานแสนนานเท่าที่จะนานได้ อย่าเพิ่งอยากเห็นนั่นเห็นนี่ หรืออยากเป็นนั้นเป็นนี้ก่อนเลย

เพราะความอยากเป็นอุปสรรคแห่งจิตที่เป็นสมาธิอย่างร้ายแรง เมื่อความอยากเกิดขึ้นสมาธิก็จะเสื่อมทันที สมาธิเสื่อมเพราะหลักสมาธิ คือ พุทโธ ไม่มั่นคง คราวนั้นแหละคว้าหาหลักอะไรก็ไม่ได้ เกิดความเดือดร้อนใหญ่ คิดถึงแต่อารมณ์ที่เคยได้รับสมาธิความสงบสุขเมื่อก่อน จิตก็ยิ่งฟุ้งใหญ่ ฯลฯ

ฝึกหัดสมาธิให้เหมือนชาวนาทำนา เขาไม่รีบร้อน เขาหว่านกล้า ไถ คราด ปักดำ โดยลำดับ ไม่ข้ามขั้นตอนแล้วรอให้ต้นข้าวแก่ ถึงอย่างนั้นเขาก็ยังไม่เห็นเมล็ดไม่เห็นรวงเลย แต่เขาก็มีความเชื่อมั่นของเขาว่า จะมีเมล็ดมีรวงวันหนึ่งข้างหน้าแน่ๆ เมื่อต้นข้าวแก่แล้วออกรวงมาจึงเชื่อแน่ว่าจะได้รับผลแน่นอน เขาไม่ไปดึงต้นข้าวให้ออกรวงเอาตามใจชอบ ผู้ไปกระทำเช่นนั้นย่อมไร้ผลโดยแท้

การฝึกสมาธิภาวนาก็เช่นเดียวกัน จะรีบร้อนข้ามขั้นตอนย่อมไม่ได้ ต้องตั้งจิตให้เลื่อมใสศรัทธาให้แน่วแน่ว่าอันนี้ล่ะ เป็นคำบริกรรมที่จะทำให้จิตของเราเป็นสมาธิได้แท้จริง แล้วอย่าไปลังเลสงสัยว่า คำบริกรรมนี้จะถูกกับจริตนิสสัยของเราหรือไม่หนอ คำบริกรรมอันนั้น คนนั้นทำมันเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้ เราทำแล้วจิตไม่ตั้งมั่นอย่างนี้ใช้ไม่ได้

....................................

คัดลอกเนื้อหามาจากลานธรรมจักร
 

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • \'หลวงปู่จันทร์ศรี\'เรียนรู้วิธี \'หยุดคิด\' ตั้งสติพิจารณากายจาก \'พระอาจารย์มั่น\' 'หลวงปู่จันทร์ศรี'เรียนรู้วิธี 'หยุดคิด' ตั้งสติพิจารณากายจาก 'พระอาจารย์มั่น'
  • \'หวย\'เป็นเรื่องของโชค คนที่มีโชคเป็นพื้นฐานต้องเป็นคนทำทานมาก่อน:โอวาทธรรม \'ท่านพ่อลี\' 'หวย'เป็นเรื่องของโชค คนที่มีโชคเป็นพื้นฐานต้องเป็นคนทำทานมาก่อน:โอวาทธรรม 'ท่านพ่อลี'
  • บุคคลใดทำการงานโดยไม่ซื่อสัตย์ โดยทุจริต เป็นอันธพาลที่ปลอมตัวมาในคราบของคนดี บุคคลใดทำการงานโดยไม่ซื่อสัตย์ โดยทุจริต เป็นอันธพาลที่ปลอมตัวมาในคราบของคนดี
  • \'ถ้าอยากเห็นธรรมประเสริฐ\' จงพยายามตักตวงแต่บัดนี้ด้วยความเข้มข้นทางความเพียร 'ถ้าอยากเห็นธรรมประเสริฐ' จงพยายามตักตวงแต่บัดนี้ด้วยความเข้มข้นทางความเพียร
  • ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ ทำบุญให้ผู้ตายนี้ท่านแสดงไว้ว่ายากนักผู้ที่ตายจะได้รับ เหมือนกับงมเข็มอยู่ในก้นบ่อ
  • การทำสมาธิ ทำให้จิตแก่กล้า มีอานิสงส์มากมาย : พระธรรมเทศนา \'หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี\' การทำสมาธิ ทำให้จิตแก่กล้า มีอานิสงส์มากมาย : พระธรรมเทศนา 'หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี'
  •  

Breaking News

‘2 นายอำเภอตราด’เร่งทำทะเบียนให้ผู้ที่ได้รับสัญชาติไทยตามคำสั่งมหาดไทย เผยมีเกือบ 2 พันคน

สายฝนกระหน่ำสำโรง น้ำท่วมขัง'ถนนเทพารักษ์'สมุทรปราการ

‘ยะลา’จัดพิธีสวนสนามและทบทวนคำปฏิญาณ เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาคณะลูกเสือแห่งชาติ

ลูกบ้านรวมกลุ่มโวย‘ผญบ.’ไม่โปร่งใส สารภาพนำเงินกองทุนฯไปใช้ทางอื่น

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved