หลังจากตอนก่อนหน้า (หน้า 5 ฉบับวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.ค. 2564) ได้นำเสนอเรื่องราวจากการเสวนา (ออนไลน์) ชุดหัวข้อ “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ” จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในส่วนของหาบเร่แผงลอย จากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19ไปแล้ว ในตอนนี้จะเป็นเรื่องของ “กลุ่มผู้รับงาน และทำการผลิตที่บ้าน” อาทิ กลุ่มเย็บผ้า และกลุ่มแกะสลัก
มยุรี เสือคำราม นักวิชาการ สำนักสนับสนุนงานวิจัยและงานสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า กลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง อายุระหว่าง 35-50 ปีลักษณะงานค่อนข้างยืดหยุ่น ไม่ต้องอาศัยวุฒิการศึกษาเหมือนแรงงานในระบบ โดยแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จบเพียงชั้นประถมศึกษา สามารถเริ่มต้นจากงานพื้นฐานอย่างงานโหลเน้นปริมาณมากๆ ไปก่อน เมื่อมีความชำนาญมากขึ้นจึงยกระดับไปทำงานประณีตอย่างการรับตัดเสื้อผ้าทั้งชุด อีกทั้งเลือกเวลาทำงานได้ อาทิ ตอนกลางคืนดึกดื่นที่นอนไม่หลับก็สามารถใช้เวลานั้นทำงานที่รับมาได้ เป็นต้น
แต่งานเย็บผ้าก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ ได้แก่ 1.ฝุ่น และสารเคมีจากเนื้อผ้าที่ติดมาจากโรงงาน โดยมีงานวิจัยในปี 2559 สำรวจกลุ่มตัวอย่างคนทำงานเย็บผ้าในย่านบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จำนวน 152 คน พบว่า เมื่อถามเรื่องอาการผิดปกติด้านการหายใจ กลุ่มตัวอย่างบอกว่าไม่มี แต่เมื่อตรวจสอบด้วยเครื่องมือแพทย์ พบความบกพร่องในการทำงานของปอด หรืออีกงานหนึ่งที่สำรวจคนทำงานเย็บผ้าทั้งย่านบางกอกน้อย และย่านดินแดง กรุงเทพฯ รวม 300 คน เมื่อตรวจด้วยเครื่องมือแพทย์ พบกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 77.7 มีอาการทางเดินหายใจผิดปกติ
2.ปวดเมื่อยเนื้อตัว ใช้สายตามาก และเครียด เนื่องจากสถานที่ทำงานคับแคบและต้องเพ่งมองเป็นเวลานาน ซึ่งมีผู้ให้นิยามว่า “อาชีพเย็บผ้าเป็นอาชีพที่ทรมานตนเอง หลังแข็ง ก้นด้าน เสียสายตา” ทั้งนี้ แม้จะเป็นงานโหลไม่ใช่งานประณีตแต่ก็ต้องนั่งท่าเดิมๆ เป็นเวลานาน ยิ่งเป็นงานประณีตต้องใช้สมาธิจดจ่อค่อยๆ ประดิดประดอย ก็ทำให้เกิดความเครียดได้
ส่วนรายได้และลักษณะการจ้าง ค่าตอบแทนเฉลี่ยชิ้นละ 8-10 บาท หรือชุดละ 200-600 บาท ด้วยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 8 ชม./วัน ต่ำสุด 1-2 ชม./วัน สูงสุด 12 ชม. (หรือมากกว่า)/วัน ทั้งนี้ คนทำงานเย็บผ้าตามชุมชนในกรุงเทพฯ ที่เคยสำรวจ ครึ่งหนึ่งยอมรับว่ารายได้ไม่ค่อยพอใช้ การจ้างงานไม่มีสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร รับงานจากผู้รับเหมาช่วง มีความไม่แน่นอนทั้งการถูกเร่งงานให้ส่งมอบเร็วขึ้นและยุติการจ้างงานเมื่อเกิดวิกฤติ
อนึ่ง การยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานเย็บผ้า มีดังนี้ 1.สร้างความเข้าใจกับนายจ้างว่างานเย็บผ้าเป็นงานที่ใช้ทักษะฝีมือสูง เห็นได้จากการยกระดับจากงานโหลเป็นงานประณีตเมื่อชำนาญมากขึ้นซึ่งก็จะได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นด้วย 2.คนงานควรหาช่องทางสามารถทำสัญญารับงานกับลูกค้าได้โดยตรงไม่ต้องผ่านคนกลาง เพราะจะเป็นโอกาสทั้งด้านค่าจ้างและการพัฒนาทักษะ 3.ช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุน ซึ่งที่ผ่านมา หากเป็นคนงานเย็บผ้าที่ไม่ได้รวมกลุ่มกัน การเข้าถึงแหล่งทุนในการหาซื้อวัตถุดิบนั้นทำได้ยาก
บุญสม น้ำสมบูรณ์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ (HOMENET) กล่าวถึงการศึกษาประชากรแรงงานกลุ่มการทำงานแกะสลักไม้หรือหิน ว่าด้านหนึ่งเป็นงานฝีมือที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรม แต่อีกด้านหนึ่งก็มีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น ผู้แกะสลักหินเสี่ยงต่อโรคปอดและระบบทางเดินหายใจจากฝุ่น หลายคนต้องเลิกอาชีพนี้ไปเมื่ออายุมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีอันตรายจากเรื่องเสียงที่ดังจากเครื่องมือ และอุบัติเหตุจากเครื่องมือส่วนผู้แกะสลักไม้จะเสี่ยงอันตรายจากสารเคมี เช่น สีทินเนอร์ ทั้งการสัมผัสและสูดดม
รายได้ของงานแกะสลักนับเป็นชิ้น มีตั้งแต่ 1-700 ชิ้นต่อวัน ทำงานเฉลี่ย 7-8 ชม./วัน แต่เป็นงานที่ไม่แน่นอนบางเวลาไม่มีงาน แต่บางเวลางานก็มาจนล้นมือ รายได้จึงไม่คงที่อนึ่ง “แม้แรงงานรับงานไปทำที่บ้าน จะมีกฎหมายคุ้มครองคือ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ.2553 ระบุทั้งค่าจ้าง สัญญาจ้าง และความปลอดภัยในการทำงาน แต่ในทางปฏิบัติยังไม่ค่อยถูกนำมาใช้” เช่น มีบางคนขอให้ทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษร ผลคือไม่ได้รับการจ้างงาน โดยผู้ว่าจ้างหันไปจ้างคนอื่นที่ยินยอมตกลงกันด้วยวาจา ส่วนการเข้าถึงแหล่งทุนทำได้ยากเพราะต้องมีบุคคลที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่ดีระดับหนึ่ง (เช่น ข้าราชการซีสูงๆ) หรือมีหลักทรัพย์มาค้ำประกัน
จากภาควิชาการมาสู่เสียงสะท้อนผู้ใช้แรงงาน มานพ แก้วผกา นายกสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย ในฐานะตัวแทนแรงงานกลุ่มตัดเย็บเสื้อผ้า กล่าวว่า อาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าจะมีช่วงที่มีงานมากคือช่วงปลายปี จากนั้นเมื่อเข้าสู่ปีใหม่งานก็จะลดลง ทำให้ในปี 2563ที่เริ่มมีสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ต้นปี งานตัดเย็บเสื้อผ้าก็ได้รับผลกระทบมาตลอด อาทิ ในการล็อกดาวน์รอบแรกเดือนเม.ย. 2563 คนทำงานสูญเสียรายได้ที่เคยได้ทุกปีในช่วงนี้กับการผลิตและจำหน่ายเสื้อลวดลายที่เกี่ยวข้องกับเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากการจัดงานถูกยกเลิก
ซึ่งแม้เวลานั้นรัฐบาลจะมีโครงการเราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเป็นเงิน 5,000 บาท/เดือน เป็นเวลา 3 เดือน สำหรับคนที่เข้าถึงถือว่ามีประโยชน์มาก แต่แรงงานบางส่วน
ก็ไม่ได้เข้าร่วมเพราะมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี เช่น ไม่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟน ประกอบกับกระแสข่าวว่าใครลงทะเบียนไม่ตรงกับความเป็นจริงอาจถูกจับกุมดำเนินคดีทำให้บางรายเลือกที่จะเสียสิทธิ์ไป ทั้งนี้ “แรงงานนอกระบบมีชีวิตแบบหาเช้ากินค่ำ ไม่ได้วางแผนการเงินไว้เตรียมรับวิกฤติ” แต่ก็มีความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนเรื่องข้าวปลาอาหาร ทำให้ผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมาได้
และแม้การล็อกดาวน์รอบแรกค่อยๆ คลายล็อกไปตามลำดับช่วงเดือน พ.ค.-ก.ค. 2563 แต่งานที่มีมาเป็นเพียงงานที่ค้างจากช่วงก่อนล็อกดาวน์เท่านั้น เมื่องานชุดนี้
หมดแม้ช่วงดังกล่าวยังไม่มีสถานการณ์โรคระบาดระลอก 2แต่ก็ไม่ได้มีงานใหม่ๆ เข้ามาอีก “ช่วงนี้เป็นช่วงที่หดหู่ เพราะหลายคนสูญเสียจักรเย็บผ้าอันเป็นเครื่องมือทำกินไป หากไม่ใช่เพราะนำไปจำนำก็ถูกเจ้าหนี้เงินกู้ยึด” บางรายหนักถึงกับถูกให้ออกจากที่พักเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่า ครั้นจะเปลี่ยนอาชีพ เช่น ไปขายของริมทาง ก็ทับซ้อนกับกลุ่มหาบเร่แผงลอยที่ทำอยู่แล้ว หรือกลับบ้านต่างจังหวัดไปก็ไม่มีต้นทุนประกอบอาชีพอื่นอีก และได้รับผลกระทบยาวนานมาถึงการระบาดระลอก 3 ในปัจจุบัน
พุทธิณี โกพัฒน์ตา ผู้แทนมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ กล่าวเสริมว่า แรงงานมีความพยายามปรับตัว เช่น ยอมรับค่าตอบแทนน้อยลงเพื่อพอให้มีงานมี
รายได้เข้ามา แต่การระบาดระลอกล่าสุดในปัจจุบัน ผลกระทบมีทั้งขาดรายได้ ไม่มีงานใหม่เข้ามา สินค้าเก่าค้างสต๊อก หลายพื้นที่ตลาดไม่เปิด หรือที่ที่ยังเปิดคนก็ไม่ค่อยเดิน แต่ภาระก็ยังมีอยู่ เช่น การทำงานบ้าน ดูแลผู้สูงอายุหรือบุตรหลาน ประกอบกับข้อมูลข่าวสารที่มีแต่เชิงลบ เช่นผู้ติดเชื้อหาเตียงไม่ได้ มากกว่าเชิงบวก เช่น วิธีดูแลตนเองหากต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ทำให้เกิดความเครียดหรือภาวะซึมเศร้า
ทั้งนี้ เมื่อถามแรงงานพบว่า “ต้องการมีงานทำมากกว่าเงินกู้” เพราะปกติแรงงานนอกระบบก็เข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ลำบากอยู่แล้วเพราะไม่มีหลักฐาน เช่น บัญชีเงินเข้า-ออก(Statement) หรือแม้กระทั่งกองทุนผู้รับงานไปทำที่บ้านของกระทรวงแรงงาน แม้ดอกเบี้ยเงินกู้จะต่ำแต่ก็ไม่กล้าไปทำเรื่องขอกู้ เพราะเมื่อไม่มีงานทำถึงกู้มาก็ไม่สามารถส่งเงินคืนได้นำไปสู่การเสียเครดิต และไม่อาจกู้เงินในครั้งต่อๆ ไปได้อีก
สำหรับข้อเสนอถึงภาครัฐของวงเสวนากลุ่มผู้รับงาน และทำการผลิตที่บ้าน ประกอบด้วย 1.ควรมีความชัดเจนเรื่องแผนฟื้นฟูเยียวยาในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อให้คนทำงานได้เตรียมตัว 2.ส่งเสริมอาชีพทางเลือกระหว่างไม่มีงานเช่น ค้าขาย เกษตรกร 3.สนับสนุนระบบการตรวจคัดกรองและการเข้าถึงวัคซีน 4.ส่งเสริมการทำงาน การเข้าถึงงานที่คำนึงถึงประสบการณ์ความรู้ที่คนทำงานมี
สนับสนุนการได้งานจากการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐรวมถึงเปิดพื้นที่ให้นำสินค้าเข้าไปขายได้ในพื้นที่ทดลอง (Sandbox) ที่รัฐเปิดขึ้น 5.ควรพัฒนาทักษะการใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์ม การเข้าถึงบริการทางอินเตอร์เนตของหน่วยงานรัฐช่องทางการค้าขายออนไลน์ และ 6.คนทำงานควรได้รับการตรวจสุขภาพประจำปี ตรวจติดตามโรคจากการประกอบอาชีพ สร้างความปลอดภัยในการทำงาน พัฒนาทักษะส่งเสริมการตลาดและพัฒนาคุณภาพชีวิต
(โปรดติดตามตอนต่อไป ฉบับวันอาทิตย์ที่ 18 ก.ค. 2564)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี