ถ้าตามรายงานจำนวนการติดเชื้อรายใหม่จาก ศบค. อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ต้นปี จะเห็นข้อมูลบางอย่างที่มีนัยสำคัญ เมื่อนำมามาวางเรียงต่อกัน ดังนี้
31 มกราคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่ =829 คน
28 กุมภาพันธ์ = 70 คน
31 มีนาคม = 42 คน
30 เมษายน = 1,583 คน
31 พฤษภาคม = 5,485 คน
และ 30 มิถุนายน = 4,786 คน
โดยสามารถแบ่งเป็น 3 ช่วงของสถานการณ์ คือ
1. ช่วงมกราคม ผู้ติดเชื้อรายใหม่829 คน จนถึง 31 มีนาคม เพิ่มเติมขึ้นมาหลักร้อย ซึ่งมาจากสถานการณ์สมุทรสงคราม
2. ช่วงเมษายน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,583 คน เป็นช่วงประชาชนกลับบ้านต่างจังหวัดในเทศกาลสงกรานต์
และ 3. ช่วงพฤษภาคม-มิถุนายน ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 5,485 และ 4,786 คน ตามลำดับ จากกลุ่มแพร่ระบาดในเรือนจำ ตลาดสดแคมป์คนงานก่อสร้าง และแหล่งชุมชนต่างๆ
ข้อมูลตรงนี้แสดงให้เห็นแบบแผนของปัญหาการแพร่ระบาดใน 2 รูปแบบ คือ
แบบแผนที่ 1 เป็นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสในกลุ่มคนที่อยู่ใกล้ชิดกัน และไม่สามารถควบคุมได้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ลดลงเป็นช่วงๆ เป็นผลจากการระดมมาตรการแก้ไขที่ใส่ลงไปในพื้นที่แพร่ระบาดเป็นสำคัญ
แบบแผนที่ 2 เป็นการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส จากการเคลื่อนที่ของคนติดเชื้อไวรัส และกระจายไปสู่บุคคลอื่นๆ ในพื้นที่ที่เดินทางไป
ทั้ง 2 แบบแผน ชี้ให้เห็นชัดเจนถึงปัญหาการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสตามหลักทางระบาดวิทยา ซึ่งมาจากสาเหตุหลายประการประกอบกัน
ประการแรก คือ ความไม่รู้ของผู้รับผิดชอบรวมถึงการไม่รู้ข้อมูลจริง และการไม่มีความรู้
ประการที่สอง คือ การไม่สามารถบริหารสั่งการให้เกิดการควบคุมการแพร่กระจายของเชื้อโรคได้ ในระดับปฏิบัติการ
และ ประการที่สาม คือ การไม่เอาใจใส่ของผู้ปฏิบัติหน้าที่ในระดับปฏิบัติที่จะเฝ้าระวังปัญหาการแพร่ระบาดอย่างใกล้ชิด
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นปัญหาที่มีการส่งเสียงเตือนออกมาแล้ว คือ การกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัสโดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย)ที่สามารถติดได้ง่าย กระจายตัวรวดเร็ว มีอาการรุนแรง และวัคซีนที่ฉีดคือ Sinovac มีความสามารถในการป้องกันสายพันธุ์นี้ได้ต่ำ
ที่น่ากังวลก็คือ รายงานของกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พบว่าในกรุงเทพมหานคร(กทม.) ช่วงต้นเดือนจนถึงปลายเดือนมิถุนายน พบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าจาก 5% เป็น 70% ของผู้ติดเชื้อไวรัสทั้งหมด แนวโน้มของจำนวนติดเชื้อเพิ่มสูงถึง 6,087 คน(2 ก.ค.) และจำนวนผู้เสียชีวิตสูงขึ้นเป็น61 ราย
ใช่ครับ ตัวเลขการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลต้า มีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้จำนวนคนติดเชื้อไวรัสรายใหม่ และจำนวนคนเสียชีวิตรายวันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้เอง จึงเป็นสัญญาณเตือนให้เตรียมการใน 4 เรื่องสำคัญทันที
1. การเตรียมจำนวนเครื่องช่วยหายใจ
2. การสำรองออกซิเจน
3. การเตรียมยา Favipiravia และTocilizumab สำหรับผู้ป่วยอาการหนัก นอกเหนือจากเตียงและโรงพยาบาลสนามที่กำลังทำอยู่ในขณะนี้แล้ว
และ 4.การวางระบบติดตามอาการของผู้ป่วย ที่ต้องอยู่บ้าน เพราะจำนวนเตียงในโรงพยาบาลทุกประเภทไม่เพียงพอ (จำเป็นต้องวางเป็นแนวทางฉุกเฉิน) อาทิ การจัดหาเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วด้วยตนเองการเตรียมอุปกรณ์และออกซิเจนสำหรับเคลื่อนที่ ไปจนถึงการซักซ้อมระบบรายงานข้อมูลอาการผู้ป่วยที่บ้านต่อแพทย์ทางออนไลน์ (ศูนย์แพทย์ใกล้บ้าน) ตลอด 24 ชั่วโมง
ความพร้อมทั้ง 4 เรื่องนี้ ต้องครบครัน และสมบูรณ์ ก่อนเดือนสิงหาคม เพราะเชื่อว่าเป็นช่วงเวลาของการแพร่ระบาดในจุดสูงสุด และนั่นหมายถึงอัตราผู้ป่วยที่จะพุ่งสูงขึ้นตามมาอย่างน่าตกใจ
นับจากนี้ไป กระทรวงสาธารณสุข และ ศบค. ต้องไม่วางใจต่อความปลอดภัยด้านสุขภาพของคนไทย
และผมขอเป็นกำลังใจ ให้สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังกล่าวนี้ ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
กนก วงษ์ตระหง่าน
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี