เดินทางมาถึงตอนที่ 8 และเป็นตอนสุดท้ายแล้วกับชุดงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “ผลกระทบ การรับมือ และการฟื้นฟูชีวิตความเป็นอยู่และงานของแรงงานนอกระบบ”จัดโดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จาก 7 ตอนที่แล้ว (วันพฤหัสบดีที่ 15 ก.ค., เสาร์ที่ 17 ก.ค., อาทิตย์ที่ 18 ก.ค., พฤหัสบดีที่ 22 ก.ค. 2564, พฤหัสบดีที่ 29 ก.ค.,เสาร์ที่ 31 ก.ค. และอาทิตย์ที่ 1 ส.ค. 2564) ไล่ตั้งแต่อาชีพหาบเร่แผงลอย, ผู้ผลิตงานที่บ้าน, ขนส่งสาธารณะกลุ่มแท็กซี่-มอเตอร์ไซค์รับจ้าง, ร้านนวด-ร้านอาหาร,
ขนส่งสาธารณะกลุ่มสามล้อถีบ, ลูกจ้างทำงานบ้าน และเก็บของเก่าขาย ตามลำดับ ส่วนในฉบับนี้จะว่าด้วย “ภาคเกษตรกรรม” ซึ่งครองสัดส่วนประชากรแรงงานนอกระบบมากที่สุดเสมอมา ข้อมูลจากรายงาน “สำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2563” จัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า คนไทยเป็นแรงงานในระบบประมาณ 17.6 ล้านคน นอกระบบประมาณ 20.4 ล้านคน และแรงงานนอกระบบนี้อยู่ในภาคเกษตรถึง 10.8 ล้านคน
สุภา ใยเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน กล่าวว่า เกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป หรือเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเสียมาก ซึ่งก่อนที่จะเกิดสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็ไม่ค่อยมีใครสนใจอาชีพนี้ ผู้สืบทอดมีน้อย พ่อแม่ผู้ปกครองมีทัศนคติว่าภาคเกษตรเป็นอาชีพที่ไม่ร่ำรวยและมีหนี้สินมาก จึงพยายามผลักดันให้บุตรหลานไปประกอบอาชีพอื่น ทั้งนี้ ภาคเกษตรปัจจุบันไม่ได้ผลิตเพื่อยังชีพแต่เป็นผลิตเพื่อขาย จึงเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ โดยเกษตรกรมีหนี้สินเฉลี่ย 416,143 บาทต่อครัวเรือน
ขณะเดียวกัน เกษตรกรเองก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระบวนการผลิตสมัยใหม่ที่ต้องใช้เทคโนโลยี หรือปลูกพืชที่หลากหลายเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของเทคโนโลยีนั้นมีความเหลื่อมล้ำเพราะเกษตรกรที่เป็นผู้สูงอายุไม่ค่อยได้เข้าถึงมากนัก เช่น โครงการช่วยเหลือของรัฐอย่างคนละครึ่ง-เราชนะ เนื่องจากตนเองไม่มีความชำนาญ แต่หากมีบุตรหลานอยู่ในครัวเรือน การปรับตัวก็อาจมีศักยภาพมากขึ้น
สุภา กล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้แรงงานภาคเกษตรต้องระมัดระวังตัวไม่ต่างจากอาชีพอื่นๆ แม้จะเป็นอาชีพที่ทำงานในที่โล่งแจ้งก็ตาม เนื่องจากสถานการณ์ระลอกหลังๆ จะเห็นได้ว่าโรคเริ่มลามไปยังต่างจังหวัดแล้ว ซึ่งมีคำถามถึงความพร้อมของระบบในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน (อสม.) ว่าจะรองรับลูกหลานที่กลับมายังภูมิลำเนาได้เพียงใด
อีกทั้งแหล่งรวบรวมผลผลิตทางการเกษตร เช่น โมเดิร์นเทรด ตลาดกลางขนาดใหญ่ ซึ่งสถานที่เหล่านี้ทำหน้าที่กระจายผลผลิตไปยังพื้นที่ต่างๆ หากสถานที่ใดถูกปิดเพื่อควบคุมโรค ย่อมกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรด้วย ส่วนการปรับตัวไปขายทางออนไลน์จะพบในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะในกลุ่มที่กลับภูมิลำเนาไปช่วยทางบ้านทำเกษตรหรือทำการค้าแต่ก็ยังมีข้อจำกัดเรื่องการขนส่งเพราะหลายที่ไม่รับของสด นอกจากนี้ ภาคเกษตรที่ใช้แรงงานข้ามชาติยังได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรค เช่น การปิดพรมแดน ทำให้หาแรงงานได้ยากขึ้น
“สิ่งที่ภาคเกษตรมีอยู่ตอนนี้ที่เป็นศักยภาพก็คือถึงยังไงก็ทำงานผลิตเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร มีฐานการผลิตที่ยังหลากหลายอยู่ แม้ส่วนใหญ่จะปลูกพืชเชิงเดี่ยว แต่เมื่อมีการปรับตัวภาคเกษตรก็ยังจะปลูกกินปลูกอะไรได้โดยทักษะเดิมที่มี แล้วก็เป็นที่รองรับของคนในสถานการณ์วิกฤติจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการตลอดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจในช่วงปี 2540 ไปจนถึงวิกฤติน้ำท่วม วิกฤติต่างๆ ที่คนที่เข้าไปรับจ้างอยู่ในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการต้องกลับบ้าน” สุภา กล่าว
สุภา ยังกล่าวอีกว่า ถึงกระนั้นก็ต้องยอมรับความจริงเรื่องครัวเรือนภาคเกษตรต้องพึ่งพารายได้จากแหล่งอื่น โดยการสำรวจผลกระทบจากโควิด-19 ในปี 2563 จำนวน 524 กลุ่มตัวอย่าง พบว่า ก่อนสถานการณ์โควิด-19 สมาชิกในครัวเรือนที่ไปทำงานนอกภาคเกษตร ส่งเงินกลับบ้านเฉลี่ย 5,252 บาทต่อเดือน แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จะเหลือเพียง 2,571 บาทต่อเดือน ซึ่งร้อยละ 57.8 ของกลุ่มตัวอย่าง มีสมาชิกในครัวเรือนออกไปทำงานนอกภาคเกษตร และมีตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 62.1 ยังส่งเงินกลับบ้านเท่าเดิม และร้อยละ 35.9 ส่งเงินลดลง
ขณะที่ อุบล อยู่หว้า เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก กล่าวเสริมว่า การกลับภูมิลำเนาของแรงงานที่ไปทำงานในภาคเศรษฐกิจอื่นๆ นั้นจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับในชุมชนนั้นแรงงานออกไปทำงานอะไร เกี่ยวข้องกับมาตรการจำกัดการทำงานเพื่อควบคุมโรคหรือไม่ เช่น หากชุมชนนั้นมีคนออกไปเป็นแรงงานก่อสร้างกันมากก็อาจจะกลับกันเป็นจำนวนมาก อนึ่งหากแรงงานที่กลับมามีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ก็อาจจะหลบหลีกไม่ยอมเข้าสู่ระบบสาธารณสุขในชุมชน ก็จะเป็นปัญหากับชุมชนที่ต้องดูแลมาตรการควบคุมโรคด้วย เช่น การกักตัว
ทั้งนี้ ภาคเกษตรยังมีความพร้อมในการประกอบอาชีพอยู่เพราะฐานทรัพยากร เช่น ที่ดินสิ่งแวดล้อม ยังมีอยู่ แต่ก็ขึ้นอยู่กับภาครัฐด้วยว่าจะมีนโยบายรองรับอย่างไรเพราะเชื่อว่าส่วนหนึ่งที่กลับมาคงตัดสินใจอยู่อย่างถาวร โดยควรสร้างระบบอาหารท้องถิ่นที่หลากหลายเพื่อความมั่นคงทางอาหาร นอกจากนี้ กรณีมีข่าวแรงงานแปรรูปผลผลิตติดเชื้อโควิด-19 ก็น่าเป็นห่วงว่าผู้สั่งซื้อจะตัดสินใจอย่างไร ซึ่งส่งผลต่อเกษตรกรที่เกี่ยวข้องด้วย
ด้าน สิมาลักษณ์ ดิถีสวัสดิ์เวทย์สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 8 จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า ระยะหลังๆ สัดส่วนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้คนเดินทางออกจากพื้นที่เสี่ยงสูงมาก (สีแดงเข้ม) เช่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล กลับสู่ภูมิลำเนาเพราะกิจการงานจำนวนมากถูกปิดจากมาตรการล็อกดาวน์ อาทิ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน มีแรงงานที่ติดเชื้อกลับบ้านเฉลี่ยวันละ 500-600 คน ซึ่งหากรวมกลุ่มเสี่ยงด้วยจะยิ่งมากขึ้น โดยผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 20-49 ปี ทำให้ต้องเตรียมพร้อมรับและดูแลคนกลับบ้านเหล่านี้
ศยามล เจริญรัตน์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งข้อสังเกตถึงนโยบายภาครัฐ ตั้งแต่มาตรการเยียวยาทางเศรษฐกิจไปจนถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 พบว่าให้น้ำหนักไปทางภาคเมือง หรือภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ มากกว่าภาคชนบทหรือภาคเกษตรกร เห็นได้จากต้องลงทะเบียนและใช้บริการผ่านแอปพลิเคชั่นซึ่งต้องมีโทรศัทพ์มือถือสมาร์ทโฟนและเชื่อมต่ออินเตอร์เนต ทำให้กลุ่มเปราะบางเข้าไม่ถึง ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าเพราะการออกนโยบายไม่มีตัวแทนภาคเกษตรเข้าไปมีส่วนร่วม
“ถ้ามองในแง่การจะรับมือและฟื้นฟู มันมี 2 ส่วน ระหว่างส่วนที่เป็นภาครัฐบาลที่เป็นภาพใหญ่ ตรงนี้เราขาดอะไรอยู่ต้องเติมเต็ม ในขณะที่ในส่วนของตัวเองที่ต้องช่วยมันต้องมีการปรับและดำเนินการไป ทางเลือกมีมากน้อยแค่ไหนอันนี้ต้องคุยกัน” ศยามล กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี