วันพุธ ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ‘อธิปไตยทางอาหาร’  ยุติวงจรเกษตรกร‘เจ็บ-จน’

สกู๊ปแนวหน้า : ‘อธิปไตยทางอาหาร’ ยุติวงจรเกษตรกร‘เจ็บ-จน’

วันเสาร์ ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“เมื่อครั้งยังหนุ่มแกเคยทํานา มุ่งเอาหลังสู้ฟ้า...ปลูกข้าวให้คนกิน หนี้สินล้นตัวเพราะมัวแต่ทํานา ไม่เคยเรียนรู้วิชา...ที่นาก็หลุดลอย” ท่อนหนึ่งจากเพลง “ลุงขี้เมา” ของวงคาราบาว เป็นหนึ่งในหลายๆ สื่อที่สะท้อนชีวิต “ชาวนา” (หรืออาจรวมถึงอาชีพเกษตรกรในภาพรวม) ว่าเป็นอาชีพที่ทำแล้ว“เจ็บ-จน” หนี้สินพะรุงพะรัง ทั้งที่ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ส่งออกสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และแม้ว่ารัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาจะพยายามออกนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ดูจะไม่ได้ช่วยยุติปัญหานี้ได้เท่าไรนัก

หรือบางทีอาจจะต้องเปลี่ยนกันถึงโครงสร้าง? ดังที่ผศ.ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวรบรรยายหัวข้อ “อธิปไตยทางอาหาร สิทธิชาวนา และประชาธิปไตย” ในงานเสวนา (ออนไลน์) เสวนาใต้ชายคาประชากร จัดโดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเร็วๆ นี้


ผศ.ดร.วีระ เริ่มต้นด้วยการอธิบายคำว่า “อธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty)” ซึ่งเป็นคำที่อาจไม่ค่อยคุ้นหูคนทั่วไปนักเมื่อเทียบกับอธิปไตยทางการเมือง อันหมายถึงการที่ประเทศมีเอกราชไม่ตกเป็นเมืองขึ้นใคร สามารถปกครองโดยใช้กฎหมายของตนเองและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ แต่เชื่อว่าหลายคนน่าจะคุ้นกับคำว่า “ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)” มากกว่า เพราะใช้กันทุกวงการตั้งแต่ภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม

ซึ่งก่อนจะเริ่มทำวิจัยเรื่องนี้ มีคำถามมากมายเกิดขึ้น เช่น “ทำไมประเทศที่ผลิตอาหารถึงมีปัญหาความหิวโหย?” อาทิ อินเดีย หรือหลายประเทศในทวีปแอฟริกา, “ทำไมประเทศที่ผลิตโกโก้-กาแฟ มีกระทั่งปัญหาค้ามนุษย์ในภาคเกษตร?” อาทิ เคนยา ไอวอรีโคสต์ (โกตดิวัวร์) เป็น 2 ประเทศต้นทางที่ปลูกกาแฟและโกโก้ตามลำดับ และคน 2 ประเทศนี้มีกำลังทรัพย์พอจะเข้าไปดื่มกาแฟในร้านแบรนด์ดัง หรือซื้อช็อกโกแลตแบรนด์หรูหรือไม่, “ทำไมข้าวเปลือกถูกแต่ข้าวสารแพง?” เป็นปัญหาที่พบในประเทศไทย และทำให้ชาวนายังยากจน เป็นต้น

“แนวคิดอธิปไตยทางอาหาร เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ผลิตอาหารอย่างเกษตรกร อย่างชาวนา จะสามารถควบคุม Chain (ห่วงโซ่) ขนาดใหญ่
ที่เราเรียกว่าระบบอาหาร ในฐานะที่เขามีอธิปไตยในการควบคุม
ระบบอาหารด้วยตัวเอง เริ่มตั้งแต่เมล็ดพันธุ์เป็นของเขาไหม? กระบวนการผลิตเขาควบคุมดูแลเองได้ไหม? การแปรรูปเขาต้องทำอย่างไร? การตลาดเป็นธรรมหรือไม่?

กระบวนการทั้งหมดนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งว่า อธิปไตยทางอาหารพยายามนำเสนอว่า เกษตรกรจะสามารถมีอำนาจในการดูแลระบบอาหาร และเป็นเจ้าของทรัพยากรที่ตัวเองผลิตได้มากขนาดไหน? ไม่ใช่ตัวเองผลิตแต่ไม่สามารถซื้อผลผลิตปลายทางที่ตัวเองเป็นผู้สร้างขึ้นมาเองได้ เพราะฉะนั้นในงานของผมเริ่มมาจากการตั้งคำถามว่ามันจะมีประเทศไหนบ้างที่ใช้อธิปไตยทางอาหารในการต่อสู้ และสามารถทำให้เรื่องของชาวนากลายเป็นประเด็นที่ถูกรับรองไว้ในสถาบันทางการเมือง และใช้ประเด็นอธิปไตยทางอาหารในการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ผศ.ดร.วีระ กล่าว

ก่อนจะเล่าต่อ ผศ.ดร.วีระ พาย้อนกลับไปหาคำว่าความมั่นคงทางอาหารอีกครั้ง พร้อมกับตั้งคำถามว่า “เมื่อทุกภาคส่วนใช้คำว่าความมั่นคงทางอาหารกันหมด แล้วความหมายตรงกันหรือไม่?” ทั้งนี้ “ความมั่นคงทางอาหารในบางความหมายอาจไม่ใช่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของเกษตรกรหรือแม้แต่ผู้บริโภค” ซึ่งต้องไปเชื่อมโยงกับอีกคำหนึ่งคือ “เศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism)” ที่ส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออกและการค้าระหว่างประเทศ เน้นเปิดเสรีทางการค้าและเงินทุน

อนึ่ง พื้นฐานที่สุดของประเด็นความมั่นคงทางอาหารคือคำว่า “เพียงพอ” และนั่นเป็นที่มาของการส่งเสริมให้ผลิตอาหารจำนวนมากๆ นำไปสู่การนำวิทยาศาสตร์ (เช่น เครื่องมือและสารเคมีทางการเกษตร) มาใช้ และเน้นการเพาะปลูกหลายรอบต่อปี การผลิตไม่ได้เป็นไปเพื่อบริโภคอีกต่อไป เพราะอาหารเป็นทุน การผลิตมากๆ คือการสะสมทุนด้วยการนำอาหารไปขาย จากนั้นยังมีการส่งเสริมให้ทุกคน “เข้าถึง”อาหารจึงเป็นส่วนหนึ่งของการค้าเสรี

ในยุคนี้อาหารไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรอีกต่อไป แต่ไปอยู่ในมือนายทุน ทั้งทุนสารเคมี ทุนเมล็ดพันธุ์ ทุนเครื่องมือต่างๆ ไปจนถึงเจ้าของที่ดิน มีการร่วมมือกับข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนอาหารซึ่งกันและกัน การผลิตอาหารในยุคนี้จึงไม่ได้ตอบสนองผู้บริโภคในประเทศอีกด้วย หากเป็นเพียงผลิตเพื่อตอบสนองผู้บริโภคในต่างประเทศ องค์กรระดับโลกทั้งธนาคารโลก (World Bank) องค์การการค้าโลก (WTO) ต่างส่งเสริมการค้าเสรีและห้ามรัฐแทรกแซงไปจนถึงการพัฒนาผลผลิตแบบตัดต่อพันธุกรรม (GMO) ตามต้องการ

ผศ.ดร.วีระกล่าวว่า เกษตรกรได้ยินแบบนี้อาจคิดว่าเมื่อมีการแปรรูปผลผลิตแล้วก็จะเพิ่มมูลค่าได้ เกษตรกรจะได้มีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในความเป็นจริง กลับมีระบบสิทธิบัตร (TRIPs) เช่น ห้ามเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกเอง “เมื่อมาถึงขั้นนี้เกษตรกรก็ไม่มีอำนาจควบคุมชีวิตตนเองอีกต่อไป” เมล็ดพันธุ์กับสารเคมีก็ต้องซื้อ ที่ดินก็ต้องเช่า ขายเองก็ไม่ได้ต้องไปฝากตลาดกลางเพื่อให้ส่งออก

เมื่อแนวคิดความมั่นคงทางอาหารมีปัญหาแบบข้างต้น แนวคิดอธิปไตยทางอาหารจึงถือกำเนิดขึ้นจากการเคลื่อนไหวของขบวนการชาวนาระดับโลก (La Via Pampesina) บวกกับ
คำถามของนักวิชาการเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา เช่น อุตสาหกรรมเกษตร “แนวคิดอธิปไตยทางอาหารต้องการกำหนดความสัมพันธ์ใหม่” เช่น เกษตรกรอยู่ตรงไหนของระบบอาหาร? ทรัพยากรมีการจัดสรรใหม่อย่างไร? มีความเป็นธรรมหรือไม่? นั่นหมายถึงประเด็น “สิทธิ” ทั้งของชนพื้นเมือง เกษตรกร และชุมชนในการดูแลทรัพยากรของตนเอง

“สิทธิดังกล่าวมันกระทบหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดการที่ดิน การเก็บ พัฒนาเมล็ดพันธุ์โดยเกษตรกรเอง การลดใช้สารเคมีที่มาจากบริษัทข้ามชาติ และบริษัทข้ามชาติก็Lobby (วิ่งเต้น) ผ่านรัฐบาลให้มีนโยบายสนับสนุนสารเคมี จะทำอย่างไร? อธิปไตยทางอาหารจึงพยายามตีกรอบว่าผลิตสำหรับเกษตรกรได้ไหม? เกษตรกรเป็นเจ้าของเกษตรกรนี้ได้ไหม? ถ้าเกษตรกรไม่สามารถเป็นเจ้าของผลผลิตของตัวเองหรือไม่สามารถดูแลระบบอาหารด้วยตัวเอง สุดท้ายต่อให้อาหารแพง อาหารดีการค้าขายเจริญรุ่งเรืองอย่างไร เกษตรกรจะไม่มีวันได้ลืมตาอ้าปาก เพราะมันมี Chain ขนาดยาวทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ” ผศ.ดร.วีระ ระบุ

ที่ประเทศโบลิเวีย การต่อสู้ของชาวนานำไปสู่การวางกติกาความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรกับพรรคการเมืองหลักอธิปไตยทางอาหารกลายเป็นนโยบายทางการเมือง และถูกบัญญัติไว้ใน “รัฐธรรมนูญ” ตั้งแต่“คำปรารภ” ที่มีคำว่า “แผ่นดินแม่ (Mother Earth)” ที่พูดถึงธรรมชาติ ต้นไม้ วัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์ ความหลากหลายของคนในประเทศ อธิปไตยของประเทศที่ไม่ลืมชุมชน

และเมื่อไปดูบทบัญญัติเป็นรายมาตรา จะพบหลายมาตราที่สอดคล้องกับคำปรารภข้างต้น ทั้งการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อคุ้มครองชนพื้นเมือง เขตอำนาจของชนพื้นเมืองในการจัดการทรัพยากรของตนเอง ศาลและกระบวนการยุติธรรมว่าด้วยสิ่งแวดล้อมทางการเกษตร มีแม้กระทั่งการบัญญัติว่าห้ามสนับสนุน GMO ซึ่งหากมองแบบทั่วไป ประเด็นย่อยแบบนี้ไม่ควรอยู่ในกฎหมายแม่บทอย่างรัฐธรรมนูญ แต่โบลิเวียนั้นให้ความสำคัญ และแม้ว่าในทางปฏิบัติอาจยังมีปัญหา มีความขัดแย้ง แต่ก็ถือเป็นความพยายามที่จะดำเนินการไปในทิศทางนี้

“มีประเด็นหนึ่งซึ่งสำคัญสำหรับอธิปไตยทางอาหาร คือการส่งเสริมสิ่งที่เรียกว่าเกษตรกรรายย่อย ในที่นี้เขาบอกว่าการทำสิ่งที่เรียกว่า Small Scale Farming (การเกษตรใช้พื้นที่น้อย)ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างอธิปไตยทางอาหาร ที่ผู้ผลิตเป็นเจ้าของพื้นที่ของตนเองได้ และผู้ซื้อสามารถมี Choice (ทางเลือก)ในการเลือกผลผลิตที่มีลักษณะเฉพาะประจำถิ่น ไม่ว่าจะเป็นข้าว อาหาร หรือแม้แต่สุรา-เบียร์ ถ้าตั้งหน่วยการผลิตย่อยๆ เราจะมี Choice มากขึ้น” ผศ.ดร.วีระ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ข้อควรระวังอย่างหนึ่งคือ “เมื่อพูดถึงเกษตรกรรายย่อยไม่ได้หมายถึงเกษตรกรจะต้องอยู่แบบต้มผักต้มเกลือกิน แต่เกษตรกรรายย่อยสามารถบริโภค ใช้เทคโนโลยีและพัฒนาตนเองได้” เพียงแต่ต้องไม่ให้อธิปไตยทางอาหารตกไปอยู่ในมือของทุนใหญ่ทั้งในประเทศและข้ามชาติ ทั้งนี้ สุดท้ายแล้วจะเป็นไปได้หรือไม่ที่แนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหารจะถูกนำมาพูดคุยกันอย่างจริงจัง

เพื่อเป็นประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคมากกว่านี้!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

โปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชฯ ข้าราชบริพารในพระองค์ 223 ราย

ฝนถล่มอุดรฯ น้ำท่วมถนนหลายสายหนัก ชาวบ้าน 2 คนถูกไฟดูดเสียชีวิต

'วุฒิสภากัมพูชา'อนุมัติ! เปิดทางเพิกถอนสัญชาติพลเมืองที่ทรยศต่อประเทศชาติ

ช็อก! คลินิกความงาม หลอกขายคอร์ส เปิดหรูในห้างดัง พบเงินบัญชีม้าเกือบ 50 ล้าน

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved