วันเสาร์ ที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : คนไทยกับการย้ายถิ่น (จบ)  ‘ต่างแดน’แห่ออกหวั่นสมองไหล

สกู๊ปแนวหน้า : คนไทยกับการย้ายถิ่น (จบ) ‘ต่างแดน’แห่ออกหวั่นสมองไหล

วันพฤหัสบดี ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 07.15 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

ในตอนที่แล้ว (สกู๊ปแนวหน้า ฉบับวันอาทิตย์ที่ 10 ต.ค. 2564หน้า 5 : คนไทยกับการย้ายถิ่น(1) “ชนบทสู่เมือง” 4ยุคอพยพ) ได้กล่าวถึง “การย้ายถิ่นภายในประเทศ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยาย (ออนไลน์) ชุด “วิวัฒนาการการย้ายถิ่นของประเทศไทยร่วมสมัย”โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนในฉบับนี้ จะกล่าวถึง“การย้ายถิ่นระหว่างประเทศ” โดยมีนักวิชาการของสถาบันฯ ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ เป็นผู้บรรยาย

สำหรับการย้ายถิ่นไปต่างประเทศของคนไทย จะเป็นเรื่องของ “แรงงาน” เสียเป็นส่วนใหญ่ ด้วยมองเห็นโอกาสที่จะได้ค่าจ้างสูงกว่าในบ้านเกิดและลู่ทางในการเดินทางไป ประเทศที่คนไทยนิยมไปขายแรงงาน เช่น ประเทศแถบภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ตลอดจนประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง สิงคโปร์


ส่วนการเดินทางไปยังประเทศในโลกตะวันตก ก็ยังพบความแตกต่าง กล่าวคือ คนไทยที่เดินทางไป สหรัฐอเมริกา มักไปด้วยช่องทางการทำงานและตั้งถิ่นฐาน ในขณะที่คนไทยที่เดินทางไปประเทศในทวีปยุโรป มักไปด้วยช่องทางการแต่งงานข้ามชาติ“ข้อค้นพบที่น่าสนใจ..คนไทยที่ย้ายไปอยู่ยุโรปมักเป็นเพศหญิง”ทั้งนี้ ข้อมูลจาก กรมการกงสุล ระบุว่า ณ ปี 2563 มีคนไทยอาศัยอยู่ในต่างประเทศอย่างถูกกฎหมาย 1,276,546 คน

ซึ่ง 10 อันดับประเทศที่มีคนไทยอาศัยอยู่มากที่สุด ประกอบด้วย อันดับ 1 สหรัฐอเมริกา 488,000 คน อันดับ 2 ออสเตรเลีย 100,856 คน อันดับ 3 ญี่ปุ่น 86,666 คน อันดับ 4ไต้หวัน 82,608 คน อันดับ 5 สวีเดน 74,101 คน อันดับ 6 เยอรมนี 59,130 คน อันดับ 7 สหราชอาณาจักร 45,884 คน อันดับ 8 นอร์เวย์ 31,387 คน อันดับ 9 เกาหลีใต้ 32,861 คน และอันดับ 10 อิสราเอล 26,641 คน

“เราพบว่าคนไทยมีการย้ายถิ่นทั้งแบบชั่วคราว หมุนเวียนและถาวร แบบชั่วคราวคือเราไปทำงานแล้วพอหมดสัญญาหรือได้ค่าแรงที่พอใจ เราก็กลับประเทศไทย แบบหมุนเวียนคือไปต่างประเทศซ้ำหลายๆ ครั้ง อย่างเช่นกลุ่มที่ไปเก็บเบอร์รีที่แถวสแกนดิเนเวีย และแบบถาวรก็คือผู้ที่ย้ายไปตั้งถิ่นฐานรกรากในประเทศปลายทางอย่างถาวร” ภัทราภรณ์ กล่าว

ข้อมูลจาก กองบริหารแรงงานไทยในต่างประเทศ กรมการจัดหางาน ชี้ว่า “คนไทยส่งเงินกลับประเทศจำนวนมาก” เห็นได้จาก 5 ปีล่าสุด ปี 2559 ประมาณ 1.14 แสนล้านบาท ปี 2560 ประมาณ 1.26 แสนล้านบาท ปี 2561 ประมาณ 1.44 แสนล้านบาท ปี 2562 ประมาณ 1.92 แสนล้านบาท และปี 2563 ประมาณ 1.94 แสนล้านบาท แม้กระทั่งคนที่ไปตั้งถิ่นฐานถาวร ณ ประเทศปลายทางแล้วแต่ก็ยังมีการส่งเงินกลับมายังประเทศไทย

อนึ่ง นอกจากส่งเงินแล้ว ยังส่งผ่านความรู้และทักษะต่างๆ ที่ได้รับจากต่างแดนกลับมาด้วย โดยเฉพาะ “ชาวเอเชียแม้จะย้ายถิ่นไปแล้วแต่ยังค่อนข้างรักษาสายสัมพันธ์กับประเทศบ้านเกิด” ไม่ว่าจะเป็นการส่งเงินหรือความรู้จากต่างแดนกลับไปก็ตาม ซึ่งผิดคาดจากที่เชื่อกันว่าคนที่ย้ายไปแล้วจะไม่ผูกพันกับถิ่นเดิม อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาบางชิ้น พบว่าการส่งเงินกลับบ้านเกิดมีจำนวนลดลง

เช่น การศึกษาคนไทยที่ไปสร้างครอบครัวอยู่ในอังกฤษ โดยเหตุผลอาจจะมาจาก 2 ด้าน ด้านหนึ่งคือคนที่อยู่อังกฤษก็ต้องสนใจครอบครัวที่อังกฤษมากขึ้น กับอีกด้านคือภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัวในประเทศไทยเริ่มลดลง เช่น ลูกหลานเรียนจบ มีงานทำฐานะดีขึ้น หรือญาติที่ป่วยอาการทุเลาลงจนหาย แต่ถึงกระนั้น หากญาติที่เมืองไทยเดือดร้อนต้องการความช่วยเหลือ ผู้ที่ย้ายถิ่นไปต่างประเทศแล้วก็ยังพร้อมจะช่วย โดยเปลี่ยนจากการส่งเงินกลับบ้านเกิดเป็นประจำ เป็นการช่วยเหลือแบบครั้งคราวตามเหตุปัจจัยต่างๆ

“คนไทยในต่างประเทศยังมีการสร้างเครือข่ายช่วยเหลือคนไทยที่ตกทุกข์ได้ยาก โดยส่วนใหญ่จะเป็นการสร้างเครือข่ายในประเทศที่ตัวเองไปอยู่ก่อน จนในปัจจุบันเราเห็นว่าเครือข่ายเหล่านี้มีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วก็เพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นเครือข่ายหญิงไทยในยุโรป ซึ่งมีจุดประสงค์ในการที่จะช่วยเหลือคนไทยในต่างประเทศ นอกจากนั้นยังให้ความรู้กับคนไทยในต่างประเทศอีกด้วย มีการทำงานร่วมกับภาครัฐในการส่งเสริมศักยภาพคนไทย และให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆไปพร้อมกัน” ภัทราภรณ์ ระบุ

เมื่อศึกษาเกี่ยวกับผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติ แม้สาเหตุหลักของการแต่งงานมาจากเรื่องเศรษฐกิจ แต่ในความเป็นจริงก็พบคนอีกมากที่แต่งงานเพราะต้องการมีวิถีชีวิตใหม่ๆ หรือแม้แต่ต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของครอบครัว ทำให้ผู้หญิงไทยหลายคนแม้จะมีการศึกษาสูงแต่ก็เลือกแต่งงานกับชาวต่างชาติ
เพราะต้องการย้ายออกไปจากกรอบวิถีเดิมๆ ในประเทศไทย

สำหรับประเด็น “การศึกษาการย้ายถิ่นระหว่างประเทศที่น่าสนใจในอนาคต” จะมีทั้งการเปลี่ยนแปลงทางประชากรในประเทศไทย สังคมของคนไทยในต่างประเทศ ลูกครึ่ง กิจกรรมต่างๆ ที่มีลักษณะข้ามชาติ รวมถึง “บทบาทของสื่อออนไลน์และค่านิยมการย้ายประเทศของคนรุ่นใหม่” ดังที่เห็นการรวมกลุ่มทางเฟซบุ๊คและทวิตเตอร์เมื่อเร็วๆ นี้ ที่พบคนวัยทำงานจำนวนมากสนใจอยากออกไปหางานทำหรือไปตั้งรกรากในต่างประเทศ และมีคนรุ่นก่อนหน้าที่ได้ไปแล้วมาแชร์ข้อมูลจุดประกายความหวังว่าจะสามารถไปแล้วประสบความสำเร็จได้เช่นกัน

“คนกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างจากแรงงานย้ายถิ่นในอดีต เพราะว่ามีความเป็นชนชั้นกลางมากขึ้น มีการจบการศึกษาในระดับปริญญาและเป็นแรงงานทักษะสูง โดยเขาก็มองว่าประเทศไทยไม่ตอบโจทย์เรื่องรายได้ วัฒนธรรมการทำงานหรือสภาพเศรษฐกิจและสังคมต่างๆ ก็เลยมองหาโอกาสภายนอกที่จะไปสร้างชีวิต และได้ค่าตอบแทนที่ดีมากขึ้น”ภัทราภรณ์ กล่าว

จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ภัทราภรณ์ มองว่า อาจต้องหันกลับมามองดูประเทศไทย “จะดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้อยู่ในประเทศได้อย่างไร” เพราะหากคนเหล่านี้ย้ายออกจากประเทศไทยไปจริงๆ แล้ว เราจะประสบปัญหา “สมองไหล” ที่ค่อนข้างรุนแรง เมื่อประกอบกับการที่ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะ “สังคมสูงวัย” สัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น นโยบายด้านการย้ายถิ่นจึงต้องถูกให้ความสำคัญ

เพราะประเทศต้องการคนวัยทำงานเพื่อให้ระบบสวัสดิการยังดำเนินต่อไปได้!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

‘ทักษิณ’เตรียมทอดผ้าป่า‘วัดบ้านไร่’ 19 ก.ค. สร้าง‘หลวงพ่อคูณ’องค์ใหญ่ที่สุดในโลก

‘อนุสรณ์’แนะ‘ภราดร’ตรวจสอบคนในก่อนโวยวายคนนอกปมคุมเสียงไม่ได้

รัฐบาลเปิดระบบ‘มอก.วอทช์’ ดึง AI ล่าล้างบางของเถื่อน ผ่านทางออนไลน์ 24 ชม.

'ตะไลชนโคม' สีสันกีฬาพื้นบ้าน-สร้างความสนุกสนาน'งานบุญวันเข้าพรรษา'

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved