วันพฤหัสบดี ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ  ผู้ใหญ่เรียกร้อง-รุ่นใหม่คิดต่าง

สกู๊ปแนวหน้า : มีลูกเป็นโซ่ทองคล้องใจ ผู้ใหญ่เรียกร้อง-รุ่นใหม่คิดต่าง

วันเสาร์ ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2564, 07.30 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“ช่องว่างระหว่างวัย (Gap Generation)” หมายถึงความไม่เข้าใจกันระหว่างคนที่เกิดต่างยุคสมัย เนื่องจากแต่ละยุคนั้นมีบริบททางสังคมที่ไม่เหมือนกัน คนแต่ละยุคจึงได้รับการอบรมสั่งสอน ให้คุณค่าสิ่งที่ดีและไม่ดีแตกต่างกัน การพูดคุยหรือใช้ชีวิตร่วมกัน จึงต้องระมัดระวังไม่ให้ช่องว่างระหว่างวัย กลายเป็น“ความขัดแย้งระหว่างวัย (Crash Generation)” ทำลายสัมพันธภาพที่เคยดีระหว่างกันให้เกิดรอยร้าวหรือขาดสะบั้นลง

เมื่อเร็วๆ นี้ เฟซบุ๊คแฟนเพจ “มนุษย์ต่างวัย” ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง“จะตอบไงดี.. พ่อแม่ชอบถามว่า เมื่อไรจะมีหลานให้อุ้ม?”กล่าวถึงหนึ่งในคำถามที่หลายคนคงเคยได้ยินจากพ่อแม่หรือญาติผู้ใหญ่ “เมื่อไรจะมีลูก” หรือแม้แต่ “เมื่อไรจะแต่งงาน”มาบ้างไม่มากก็น้อย


ผศ.ดร.มนสิการ กาญจนะจิตรา นักวิชาการ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าถึงงานวิจัยที่สัมภาษณ์คน 2 รุ่น คือเจนเอ็กซ์ (Gen X : เกิดปี 2508-2522)กับเจนวาย (Gen Y : เกิดปี 2523-2540) ซึ่งแม้ว่าคนทั้ง 2 รุ่นจะเป็นลูกของคนรุ่นเบบี้บูม (Baby Boomer : เกิดปี 2489-2507) เหมือนกัน แต่เนื่องจากคนเจนเอ็กซ์เกิดในยุคที่พ่อแม่กำลังก่อร่างสร้างตัว ส่วนคนเจนวายเกิดในยุคที่พ่อแม่เริ่มมีฐานะมั่นคงในระดับหนึ่งแล้ว บวกกับคนเจนวายเกิดในยุคที่ได้รับข้อมูลข่าวสารอย่างกว้างขวางทั้งในและต่างประเทศวิธีคิดของคนทั้ง 2 รุ่นจึงแตกต่างกัน

“เจนเอ็กซ์ค่อนข้างมีชีวิตที่เป็นแบบแผนมากกว่า หมายถึงจะยอมรับในแบบแผนมากกว่า เช่น เรียนจบ หางานทำแต่งงาน ต่อไปก็มีลูก เขาจะยอมรับใน Pattern (รูปแบบ) นี้มากกว่า ในขณะที่พอไปสัมภาษณ์เจนวาย จะเห็นความอิสระเสรีของการใช้ชีวิตมากกว่า คนเจนวายเขาจะอยาก Explore (สำรวจ) โน่นนี่ Explore ตัวเอง อยากรู้ว่าตัวเองจะมีศักยภาพมาก-น้อยแค่ไหน ต้องการจะมีอิสระในชีวิตก็จะไม่ยึดติดแบบแผนว่า เรียนจบจะต้องหางานบริษัทที่มั่นคง ทำงานให้ได้รายได้ดี อะไรอย่างนี้

แล้วสิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างเห็นในเจนวาย คือเจนวายจะไม่ค่อยชอบมี Commitment (พันธะผูกมัด) แล้วการมีลูกมันคือ Commitment ของทั้งชีวิต อันนี้จะเห็นความแตกต่าง อาจจะทำให้เข้าใจคนเจนวายมากขึ้น ว่าเขามีทัศนคติอย่างนี้พร้อมกับที่เขาได้รับสื่อต่างๆ ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง เพราะฉะนั้นคำว่าครอบครัวในอุดมคติหรือชีวิตในอุดมคติ มันก็เป็นข้อแตกต่างกับคนเจนที่ผ่านๆ มาพอสมควร”ผศ.ดร.มนสิการ กล่าว

ผศ.ดร.มนสิการ อธิบายต่อไปว่า เหตุที่คนเจนวายไม่ชอบมีพันธะ เพราะเติบโตมาในยุคที่พ่อแม่มีฐานะทางเศรษฐกิจค่อนข้างมั่นคง จึงกล้าให้อิสระหรือให้ทางเลือกกับลูกในการตัดสินใจใช้ชีวิต เช่น บางคนเรียนจบก็ยังไม่รีบหางานทำทันที แต่ไปทำอะไรเพื่อค้นหาตัวเองก่อน มองว่าชีวิตออกแบบเองได้ ไม่ได้มองเห็นว่าชีวิตมีแต่การทำงานได้เงินดีและมั่นคงเท่านั้น อาทิ ไปทำอาชีพอิสระ (Freelance) หรือไปทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ด้วยเห็นว่างานดีมีหลากหลายไม่จำเป็นต้องเป็นงานที่เข้า 8 โมงเช้า-เลิกงาน 5 โมงเย็นเพียงอย่างเดียว

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้เน้นศึกษาประชากรชนชั้นกลางหรือคนในเขตเมืองเป็นหลัก จึงอาจไม่ได้ภาพรวมของประเทศ อีกทั้งยังวิเคราะห์ได้ยากเกี่ยวกับมุมมองเรื่องการมีลูกของคนทั้ง 2 วัย เนื่องจากเจนเอ็กซ์นั้นอยู่ในช่วงที่มีความพร้อมมากกว่าเจนวายที่อายุเพิ่ง 20 กว่าๆ จนถึง 30 เศษๆ ยังอยู่กับการค้นหาตัวเอง ถึงกระนั้นก็ยอมรับว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากตอบว่าไม่ค่อยอยากมีลูก โดยให้เหตุผล เช่น สังคมไม่น่าอยู่จึงไม่อยากให้เด็กมาเกิดในสังคมแบบนี้ ซึ่งสังคมนั้นมีแรงกดดันกับทั้งตัวเองและกดดันในการเลี้ยงลูกที่แตกต่างจากสมัยก่อน

“คนที่ไม่มีลูกจะเห็นตัวอย่างจากเพื่อนบ้าง คนในเฟซบุ๊คบ้าง จากญาติ จากพี่ จากน้อง จากลูกพี่ลูกน้อง อะไรต่างๆ โห!..จะเข้าอนุบาลต้องไปต่อแถวกันตั้งแต่ตีสามเพื่อที่จะเข้าโรงเรียนนี้ ต้องจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเท่าไร เรียนอะไร อายุ 6 เดือนไปเรียนกระตุ้นสมองกันแล้ว คือมันเป็นความกดดันที่รู้สึกว่าถ้าฉันมีลูก ถ้าฉันไม่ทุ่มขนาดนี้ ลูกฉันจะไปแข่งกับคนอื่นได้อย่างไร มันก็เป็นอุปสรรคที่สำคัญ มันดูเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ เลี้ยงลูกมันยิ่งใหญ่อยู่แล้ว แต่สังคมสมัยนี้มันยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเดิม

แล้วการที่คนรุ่นพ่อแม่ก็จะบอกว่า โอย!..ก็ไม่ต้องอะไรมาก โรงเรียนแถวบ้านก็ได้ ไม่เห็นต้องไปเรียนโน่นนี่อะไรเยอะแยะ คือต้องเข้าใจคนเจนนี้ว่าความกดดันที่เขาเห็น เพื่อนๆ ที่เขาเห็นเลี้ยงลูก มันทำใจยากมากที่จะวางใจว่าฉันเลี้ยงธรรมดาแล้วลูกจะแข่งกับคนอื่นได้ จะเอาตัวรอดในสังคมนี้ได้ คือมันวางใจยากสำหรับคนเจนใหม่ที่จะปล่อยขุดดินขุดทรายไปเดี๋ยวก็ดีเอง มันทำใจยาก” ผศ.ดร.มนสิการ ระบุ

ด้าน ศ.ดร.อรัญญา ตุ้ยคัมภีร์ อาจารย์คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำแนะนำกับผู้สูงอายุ อธิบายว่า “คนรุ่นใหม่จะมีความเป็นปัจเจกชนมากกว่าคนรุ่นก่อน” ในยุคสมัยใหม่คนแต่ละคนจะมีวิถีชีวิตเป็นของตนเอง ในขณะที่ “ยุคก่อนหน้านั้นการมีลูกถือเป็นค่านิยมสำคัญ” เห็นได้จาก คำอวยพร “ลูกเต็มบ้านหลานเต็มเมือง” ที่มักได้ยินอยู่เสมอในงานแต่งงาน

อย่างไรก็ตาม การถามว่าเมื่อไรจะมีลูก อาจแบ่งเจตนาได้หลายเรื่อง 1.หยอกเย้า เนื่องจากเป็นคำถามที่ติดปากหรือกลายเป็นธรรมเนียมไปแล้ว 2.ห่วงใย ถามเมื่อเห็นจังหวะเหมาะสม เช่น เห็นความพยายามที่ไปปรึกษาแพทย์ ทำกระบวนการต่างๆ เพราะอยากจะมีลูก และ 3.กดดัน ถามอยู่เสมอทั้งที่ลำพังลูกก็มีภาระต่างๆ เต็มไปหมดแล้ว แต่พ่อแม่อยากได้หลาน หรือก็คือตั้งอยู่บนความต้องการของพ่อแม่เอง

“มันมี 2 แบบ คือกดดันตรงๆ พูดบ่น พูดเนื้อหาตรงๆ ว่าอยากได้หลาน แต่อีกอันหนึ่ง อันหลังลูกจะเจ็บปวดกดดันแบบอ้อมๆ ให้ลูกรู้สึกผิด ค่อยๆ หย่อนความรู้สึกผิด แก่ไปแล้วคงไม่มีใครมาเลี้ยงฉัน อะไรอย่างนี้ ถ้าเราสังเกตเห็น Pattern (รูปแบบ) อย่างนี้ต้องหาวิธีที่จะดูแลกันแล้ว มันเป็นประเด็นที่พ่อแม่คงมีอะไรค้างใจ อาจจะเป็นเพราะวัยท่านหรืออื่นๆ หมายถึงวัยท่านถูกสะสมสิ่งนี้มา” อาจารย์อรัญญากล่าว

หลากหลายเหตุผลที่ทำให้คนเป็นผู้ใหญ่มองการมีลูกเป็นเรื่องสำคัญ 1.เชื่อว่าเป็นการกระตุ้นการเติบโตของสมองที่ทำหน้าที่ด้านความรักเอื้ออาทร โดยเฉพาะแม่ที่เคยมีลูกแล้ว แม้ต่อมาจะไม่ได้เลี้ยงอีกเพราะลูกโต แต่สมองส่วนนี้ก็ยังอยู่ จึงแสดงออกในรูปแบบอื่น เช่น รักสุนัข-แมว การได้เลี้ยงหลานจึงเป็นการตอบสนองต่อธรรมชาติของผู้ใหญ่ที่เคยเป็นแม่มาก่อน2.ค่านิยมที่มองว่าครอบครัวที่สมบูรณ์คือการมีพ่อแม่และลูก เป็นอุดมคติของสังคม ซึ่งการรื้อถอนนั้นทำได้ยาก และอาจแสดงออกไปโดยไม่รู้ตัว

อาจารย์อรัญญา แนะนำลูกที่มีพ่อแม่ชอบถามคำถามเหล่านี้ 1.เข้าใจก่อนว่าพ่อแม่ห่วงใยหรือกดดัน โดยหากพบว่าเป็นความห่วงใย การอธิบายให้เข้าใจก็จะง่ายขึ้นว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว แต่หากพบว่าเป็นการกดดัน อาจต้องใช้เวลาในการค้นหาว่าอะไรคือที่มาของความกดดันหรือความคาดหวังนั้น ซึ่งไม่ต่างจากเรื่องของการทำงาน ที่คนรุ่นพ่อแม่อาจจะคุ้นเคยกับการทำงานที่เดียวไปจนเกษียณแล้วห่วงลูกที่ย้ายงานบ่อยๆ ว่าจะไม่มั่นคง แต่ในยุคนี้ การย้ายงานที่ใหม่อาจหมายถึงได้ค่าจ้างสูงขึ้น ได้แสดงความสามารถมากขึ้น เป็นต้น

2.หาโอกาสเปิดอกคุยกัน หากครอบครัวใดพ่อแม่กับลูกสามารถพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาได้ การอธิบายโดยใช้ข้อมูลประกอบก็จะทำได้ง่าย เพราะพ่อแม่อาจจะยังมองไม่เห็นภาพ 3.มีคนกลางช่วยอธิบาย หากพ่อแม่มองลูกเป็นคู่กรณี ไม่รับฟังข้อมูลหรือเหตุผล ซึ่งดีกว่าการเดินหนีหรือพูดจาประชดประชัน เพราะจะทำให้ความขัดแย้งไม่จบลง ทั้งนี้เชื่อว่าสิ่งที่อยู่เบื้องหลังจนกำหนดเป็นทัศนคติและวิถีชีวิต สามารถเปลี่ยนแปลงได้ ด้วยการให้ข้อมูล

อาจารย์อรัญญา ฝากทิ้งท้ายด้วยตัวอย่าง “การชอบเก็บของ” ซึ่งครอบครัวไทยเมื่อจะย้ายที่อยู่มักเก็บข้าวของต่างๆ ติดตัวไปด้วยเหตุผลด้านคุณค่าทางใจ แต่เมื่อได้ไปเรียนต่อในต่างประเทศ พบว่าเมื่อจะย้ายบ้านคนที่นั่นจะทิ้งข้าวของแทบทุกอย่างไว้ ซึ่งนอกจากจะได้แบ่งปันของที่ตัวเองไม่ใช้แต่ยังใช้งานได้ให้กับผู้อื่นแล้ว ยังประหยัดเงินค่าขนย้ายที่อาจจะแพงกว่าราคาสิ่งของเสียอีก และต่อมาเมื่อกลับมาเมืองไทย นิสัยดังกล่าวก็ติดตัวกลับมาด้วยเช่นกัน และอธิบายให้แม่เข้าใจว่าการทิ้งสิ่งของไปบ้างมีประโยชน์อย่างไร

“เชื่อว่าบรรยากาศในครอบครัว เรื่องของใต้ภูเขาน้ำแข็งมันเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าเรามีการให้ข้อมูล ให้น้ำหนักว่าทำแล้วลูกต้องเสียอีกเยอะเลย ค่าของที่ลูกเก็บไว้ อยากให้ท่านที่ยังหนักใจกับภูเขาน้ำแข็งว่ามันอาจจะเปลี่ยนไม่ได้

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

‘อิ๊งค์’ยินดีฟังความเห็น‘ทักษิณ’ ประกาศ‘สงครามว้า’

เปิดหมดเปลือกชีวิตและความรัก'แอริน'เผยช่วงหลังคลอดเกิดอาการBaby Blueหนักมาก

วันงดสูบบุหรี่โลก! 'ประธานรัฐสภา'ปักธงสภาไทยไร้ควัน ปลอดบุหรี่ 100%

‘ผู้ช่วยรมต.ต่างประเทศ’ยันไทยเดินหน้าเจรจาสหรัฐฯต่อ แม้ศาลมะกันสั่งยับยั้ง‘ภาษีทรัมป์’

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved