สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ครบรอบ 62 ปี พร้อมก้าวเข้าสู่ปีที่ 63 ด้วยความมุ่งมั่นพัฒนาผลงานวิจัย เพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ดร.วิภารัตน์ ดีอ่องผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ได้กล่าว เนื่องในโอกาส “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ครบรอบ 62 ปี” ว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา วช. ได้มีบทบาทในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถในการวิจัยของประเทศให้พัฒนาขึ้น สร้างฐานความรู้ที่มีคุณค่าสามารถประยุกต์และพัฒนาวิทยาการที่เหมาะสม รวมถึงการต่อยอดงานวิจัยให้เกิดประโยชน์ ทั้งในเชิงพาณิชย์และสาธารณะ
นอกจากนี้ วช. มีภารกิจสำคัญเป็นหน่วยงานให้ทุนวิจัยหลักของประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ NRIIS (National Research and Innovation Information System) ที่สามารถบริหารจัดการทุนวิจัยในแบบออนไลน์ได้ 100% และ วช. จัดทำมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย ให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและในระดับสากล
กิจกรรม “วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ครบรอบ 62 ปี” วช.ยังคงให้ความสำคัญในกิจกรรมการให้ความรู้ด้านการวิจัย และการถ่ายทอดเทคโนโลยี จึงจัดกิจกรรมดังนี้ กิจกรรมการเสวนาความสำคัญของระบบข้อมูลสารสนเทศ ด้านวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมของประเทศและการเปิดให้บริการข้อมูลจากฐานข้อมูลกลางด้าน ววน. ของประเทศ นำโดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาภรณ์ เกียรติสินหัวหน้าโครงการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
การบรรยายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานและจริยธรรมการวิจัย โดย ดร.มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักอัยการสูงสุด กิจกรรม Research Knowledge Management : เรื่อง “การใช้ประโยชน์ไม้อย่างคุ้มค่า” และเรื่อง “เทคนิคการทำปุ๋ยหมักและการปลูกพืชครัว” กิจกรรมNRCT Talk : เรื่อง เซ็นเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม รางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลประดิษฐ์คิดค้น 2564 และเรื่อง ถุงตอนกิ่งสำหรับมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง รางวัลเหรียญทอง การประกวดเวทีนานาชาติ
นอกจากนี้ วช. ยังจัดกิจกรรมเปิดมุมวิจัยรักษ์โลก ที่เกิดขึ้นจากนโยบายการปรับภาพลักษณ์องค์กร การรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นองค์กรต้นแบบในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ลดพลาสติก ลดโลกร้อน รวมทั้งการนำผลงานวิจัยมาใช้ประโยชน์ โดยนำเก้าอี้ และกระถางต้นไม้ ซึ่งเป็นผลผลิตจากโครงการวิจัยท้าทายไทย : ประเทศไทยไร้ขยะ ได้แก่ ผลงานวิจัยเรื่อง “แผ่นปูพื้นและเก้าอี้ที่มีส่วนของขยะพลาสติกจากทะเลเพื่อสร้างมูลค่า” ของ รองศาสตราจารย์ ดร.สัญญา สิริวิทยาปกรณ์ มาใช้ในมุมวิจัยรักษ์โลกดังกล่าว
และภายในงานยังมีกิจกรรมปลูกต้นไม้ ลดฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นผลงานวิจัย เรื่อง “การใช้พืชยืนต้นบำบัดฝุ่นละอองอย่างยั่งยืน” ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ชัยรัตน์ ตรีทรัพย์สุนทร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี โดยต้นไม้ที่ลดฝุ่นนี้ปลูกในบริเวณ วช. ได้แก่ต้นพลูปีกนก ต้นเฟิร์นขนนก ต้นคล้าแววมยุรา ต้นคริสติน่า ต้นตีนเป็ด ต้นโมกต้นยางอินเดีย ต้นกวักมรกต ต้นหมากเหลืองและพรมกำมะยี่
กิจกรรมที่น่าสนใจในวันเดียวกันนี้มีการจัดแถลงข่าว “NRCT Talk : 62 ปีวช. นวัตกรรมรักษ์โลก” ซึ่งมีการโชว์ “นวัตกรรมเซ็นเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม” หนึ่งในนวัตกรรมที่ได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ระดับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ประจำปี 2564 โดยมีศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพรจิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกับ ดร.วิภารัตน์ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ
ศาสตราจารย์ กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมกล่าวว่า สิ่งที่นักวิจัยถูกวิจารณ์ คือ การอยู่บนหอคอยงาช้าง งานวิจัยไม่มีช่องทางการสื่อสารมากเพียงพอ NRCT Talk ถือเป็นเวทีให้กับนักวิจัยเพื่อสื่อสารงานวิจัยไปยังสาธารณะ ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเกินไป เป็นการสร้างปัญญาให้กับประเทศ ให้ประชาชนสามารถหยิบยกไปใช้ประโยชน์ในชีวิตได้ หวังว่าจะช่วยให้ประเทศไทยเห็นคุณค่าในการลงทุนด้านวิจัย และนวัตกรรมมากยิ่งขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.นภาพร ยังวิเศษ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเจ้าของผลงาน กล่าวว่า นวัตกรรมเซ็นเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม เป็นอุปกรณ์ตรวจวัดสารปนเปื้อน ซัลไฟต์ และไซยาไนด์ โดยอาศัยปฏิกิริยาเฉพาะเจาะจง และมีอุปกรณ์ sample holder ที่ออกแบบใหม่ เป็น “Novel Sample Holder” เพื่อหนีบกับสมาร์ทโฟน และใช้แอปพลิเคชั่นในการหาปริมาณสารในอาหาร นอกจากนี้ นวัตกรรมดังกล่าว ยังตรวจวัดปริมาณซัลไฟต์ในอาหาร ตรวจวัดปริมาณไซยาไนด์ในน้ำดื่ม ตรวจวัดทีเอ็นทีในดิน รวมทั้งในเสื้อผ้า พื้นผิวต่างๆ และตรวจวัดไนไตรต์ในตัวอย่าง ซึ่งจะเป็นเครื่องมืออย่างง่ายให้ผู้ประกอบการหรือให้ผู้บริโภคใช้ตรวจสอบป้องกันสารอันตรายต่อร่างกาย โดยผลที่ได้เมื่อเทียบเคียงกับวิธีทดสอบที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถให้ผลแม่นยำเช่นกัน
การใช้งานของ “นวัตกรรมเซ็นเซอร์ฉลาดสำหรับตรวจวัดสารปนเปื้อนในอาหารและสิ่งแวดล้อม” คือการนำเซ็นเซอร์ฉลาดที่ออกแบบไปหนีบบนสมาร์ทโฟนได้ทั้งแนวตั้งแนวขวาง กล้องอยู่ริมหรืออยู่กลางก็สามารถใช้งานได้ สามารถประมวลผลเป็นปริมาณสาร พร้อมชุดทดสอบสารต่างๆ บนแพลตฟอร์มของสำลีก้าน เพื่อช่วยลดการรบกวนจากสารอื่นๆ ในตัวอย่างโดยเฉพาะเมื่อใช้ร่วมกับเทคนิค headspacemicroextraction โดยสารที่สนใจถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแก๊สและขึ้นไปจับกับรีเอเจนต์เฉพาะในสำลีก้านที่แขวนเหนือสารตัวอย่าง และเมื่อนำไปใส่ใน sample holder ที่หนีบติดกับกล้องสมาร์ทโฟน จากนั้น แอปพลิเคชั่น จะถ่ายภาพและแปลงข้อมูลเป็นความเข้มข้น โดยเทียบกับกราฟมาตรฐานที่เก็บไว้
นอกจากนี้ ตัว sample holder มีจุดเด่นคือ สามารถใช้ได้กับสมาร์ทโฟนหลายรุ่น และหลายยี่ห้อ เนื่องจากออกแบบเป็นแบบหนีบมีขนาดเล็ก ตัว sample holder มีเลนส์ช่วยเพื่อลดระยะห่างระหว่างตัวอย่างที่ถ่ายกับกล้อง เพื่อทำให้อุปกรณ์มีขนาดเล็กลง มี LED white light เพื่อช่วยให้แสงในการถ่ายภาพ นอกจากนี้ sample holder ยังสามารถประยุกต์ใช้กับการถ่ายสารละลายใน cuvette โดยออกแบบที่ใส่ cuvette และ vial ไว้ด้วย
งานวิจัยคุณภาพจะเป็นทางเลือกให้เกษตรกร และภาคอุตสาหกรรมเกษตรนำไปใช้ช่วยยกระดับคุณภาพ ลดรายจ่าย และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้สินค้าเกษตรกรไทย เปิดโอกาสในตลาดโลก ลดปัญหาการกีดกันทางการค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้ที่เข้าร่วมงานในครั้งนี้ ได้รับผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก วช. อาทิ ต้นกล้าฟ้าทะลายโจร ของ รองศาสตราจารย์ดุสิต อธินุวัฒน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, หน้ากาก N-BreezeM02 ของ ดร.วรส อินทะลันตา ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, น้ำมังคุดชิงธง ของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์เพ็ญ พรเฉลิมพงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมอาหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง และนวัตกรรมผลิตภัณฑ์น้ำยาฆ่าเชื้อ ของ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สำหรับกิจกรรมที่จัดขึ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อรำลึกถึงวันครบรอบ 62 ปี สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) พร้อมเผยแพร่ภารกิจ หน้าที่ ผลงานวิจัยและกิจกรรม วช.ต่อสาธารณชน สร้างความภาคภูมิใจให้นักวิจัย และนักวิชาการที่ทุ่มเททำงาน และนำผลงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี