“คนไร้บ้าน” หรือ “คนเร่ร่อน” หมายถึงผู้ที่ใช้ชีวิตกินอยู่หลับนอนในพื้นที่สาธารณะ เช่น บนทางเท้าริมถนน บริเวณป้ายรถเมล์ คนไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์คู่เมืองใหญ่ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย มีสาเหตุจากทั้งด้านเศรษฐกิจ เห็นได้จากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และวิกฤตโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ถึงปัจจุบัน ทำให้คนตกงานขาดรายได้จนบางส่วนไม่สามารถเช่าที่อยู่อาศัยได้อีก หรือด้านปัญหาส่วนตัว อาทิ รู้สึกว่าบ้านไม่น่าอยู่ จึงออกมาใช้ชีวิตข้างถนน เป็นต้น
คนไร้บ้านเป็นปัญหาสังคมที่ถูกพูดถึงเป็นระยะๆ ล่าสุดกับหลายข่าวที่กล่าวถึงคนไร้บ้านบางส่วนมีพฤติกรรมก่อความเดือดร้อนรำคาญกับคนทั่วไป เช่น เมื่อช่วงปลายเดือน ต.ค. 2564 มีข่าวชายท่าทางเมาสุรา พูดจาลวนลามและทำร้ายร่างกายหญิงสาวบริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง กรุงเทพฯ ซึ่งคดีนี้ตำรวจจับกุมผู้ต้องหาได้ในวันที่ 9 พ.ย. 2564 หรือกรณีชายคล้ายคนเมาสารระเหย เดินเตร็ดเตร่บริเวณ ถ.สุขุมวิท ใกล้สำนักงานขนส่ง จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีรายงานข่าวช่วงต้นเดือน พ.ย. 2564 ว่าก่อเหตุทั้งลวนลามหญิงสาวและทำร้ายร่างกายเด็ก
ข่าวข้างต้นนำมาซึ่งเสียงเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามา “จัดระเบียบ” เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนทั่วไป อย่างไรก็ตาม “คำว่าจัดระเบียบนั้นสามารถมองได้หลายมุม” ดังความเห็นของ สิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ที่มองว่า “คนไร้บ้านไม่สามารถทำให้หายไปได้ แต่จะทำอย่างไรให้การใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของคนกลุ่มนี้ไม่ก่อความเดือดร้อนกับคนทั่วไป” นั่นคือประเด็นที่ต้องช่วยกันคิด
สิทธิพล ยกตัวอย่างคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่บริเวณสถานีรถไฟหัวลำโพง หากไปขับไล่ไม่ให้อยู่สุดท้ายคนกลุ่มนี้ก็จะย้ายไปอยู่ในจุดอื่นอยู่ดี ไม่ต่างจากก่อนหน้านี้ที่เมื่อมีการจัดระเบียบท้องสนามหลวง ทำให้คนไร้บ้านที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวย้ายมารวมกันที่หัวลำโพง แต่ผู้เกี่ยวข้องสามารถจัดระบบบริการต่างๆ ที่จำเป็นกับคนกลุ่มนี้เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ อาทิ การตั้งจุดแจกอาหาร หากทำเป็นจุดเฉพาะแล้วกำหนดให้คนไร้บ้านมารับในจุดนั้น ความเป็นระเบียบก็จะเกิดขึ้น และยังลดปัญหากลุ่มที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ด้วย
“ผมเรียกคล้ายๆ มาเฟีย เป็นพวกคนมีบ้าน คนในชุมชน เขามาสร้างกลุ่มแก๊ง รวบรวมสมัครพรรคพวก เอาคนไร้บ้านไปเป็นพวก แล้วมาทำเรื่องของการจัดระเบียบนู่นนี่นั่น หมายถึงจัดแถวคนไร้บ้านที่มารับข้าวที่มาแจก แต่จะมีการเรียกรับผลประโยชน์บ้าง เอาของไปแจกอะไรอย่างนี้ บางทีก็มีทำร้ายร่างกาย กลุ่มมาเฟียนี้ก็จะมีปัญหา เขาก็จะกร่างๆ กินเหล้า อะไรแบบนี้” สิทธิพล ระบุ
สำหรับคนไร้บ้านที่มีพฤติกรรมก่อความเดือดร้อนรำคาญกับคนทั่วไป เช่น ตั้งวงดื่มสุราส่งเสียงดัง สิทธิพล กล่าวว่า คนกลุ่มนี้ถือเป็นส่วนน้อย และตำรวจสามารถดำเนินการภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายได้ ซึ่งเมื่อเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่กดดันมากๆ พฤติกรรมย่อมลดลง และเมื่อนำคนเหล่านี้ออกไปก็จะเหลือแต่คนที่มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตจริงๆ โดยจากข้อมูลที่ปรากฏในงานวิจัย พบว่าคนไร้บ้านส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งคนวัยนี้มีศักยภาพในการก่ออาชญากรรมลักวิ่งชิงปล้นหรือทำร้ายร่างกายมีน้อย
ส่วนประเด็นคนไร้บ้านที่มีอาการทางจิต หรืออาการที่เกิดจากการใช้สารเสพติด เช่น สารระเหย ที่มีรายงานข่าวว่าก่อความเดือดร้อนแล้วตำรวจไม่รู้จะจัดการอย่างไรสุดท้ายทำได้เพียงจับๆ ปล่อยๆ ประเด็นนี้จริงๆ แล้วมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องครอบคลุมอย่างครบวงจร เช่น พ.ร.บ.สุขภาพจิต ที่ผู้พบเห็นคนไร้บ้านที่น่าจะมีอาการทางจิต สามารถแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานำตัวไปเข้ากระบวนการรักษาได้โดยไม่ต้องมีญาติพาไป รวมถึงกระบวนการบังคับบำบัดผู้ติดยาเสพติดก็เช่นกัน สามารถทำได้หากเห็นว่าปล่อยไว้จะเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น
นอกจากนี้ หลังผ่านกระบวนการบำบัดรักษาแล้วเมื่อออกมาสู่สังคมแล้วไม่มีผู้ดูแลและอาการก็ยังไม่ได้ดีขึ้นในระดับที่สามารถดูแลตนเองได้ สิ่งที่ทำได้คือการส่งต่อไปอยู่ในการดูแลของสถานสงเคราะห์ เพียงแต่ที่ผ่านมาการปฏิบัติตามกฎหมายยังมีปัญหา เช่น ตำรวจควบคุมตัวไปส่งโรงพยาบาลแต่โรงพยาบาลไม่รับไว้เพราะเข้าใจว่าต้องมีญาติพามาด้วย ทั้งที่กฎหมายกำหนดว่าไม่ต้องมีญาติก็ได้ หรือสถานสงเคราะห์ที่ต้องรับผู้ป่วยต่อจากโรงพยาบาลไปฟื้นฟู ยังไม่สามารถดูแลเพื่อการฟื้นฟูได้ เป็นต้น
สอดคล้องกับความเห็นของ สมพร หารพรม ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ที่กล่าวว่า “การแก้ปัญหาที่ตรงจุดนั้นไม่อาจมองแบบเหมารวม เพราะคนไร้บ้านมีหลายกลุ่ม และต้องทำงานแบบบูรณาการ” เช่น เมื่อตำรวจไปจับกุมแล้วพบว่าติดสารเสพติด เบื้องต้นตำรวจจะมีอำนาจควบคุมตัวไว้ระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากพ้นไปแล้วก็ต้องปล่อยตัว ดังนั้นต้องมีหน่วยงานอื่นมารับช่วงต่อ อาทิ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)นำตัวไปบำบัดฟื้นฟู เช่นเดียวกับผู้มีอาการทางจิต ก็ต้องส่งต่อให้กระทรวงสาธารณสุข หรือโรงพยาบาลที่ดูแลด้านนี้
“กรณีที่ป่วยทางจิตเขาจะมีขั้นตอนในการดูแล ถ้ารักษาหาย หายในความหมายของโรงพยาบาลคือได้รับยา ถ้าไม่ถูกกระตุ้นเขาจะไม่เครียด ไม่กลับมาป่วย อะไรอย่างนี้ แต่มันต้องมีครอบครัว มีที่หรือศูนย์อะไรก็แล้วแต่ ทำให้เขาไม่มีความเครียดและได้กินยาต่อเนื่อง เขาถึงจะหลุดไม่มีกลับมาป่วยอีก หรือยังป่วยแต่อาจจะน้อยลง แต่ปัจจุบันมันไม่มีเรื่องนี้” สมพร ระบุ
ขณะที่หากเป็นคนไร้บ้านในวัยสามารถทำงานได้ สมพร เล่าว่า เท่าที่เคยสำรวจจะพบคนกลุ่มนี้เมื่อมีรายได้ก็จะเจียดเงินส่วนหนึ่งไปเช่าห้องพักรายวัน ราคา 30-60 บาทต่อคืน เพราะมีห้องน้ำและสามารถนอนหลับได้เต็มอิ่มกว่าการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ ดังนั้น กระทรวงแรงงาน น่าจะมีบทบาทในการหางานให้คนเหล่านี้ทำเพื่อให้มีเงินไปจ่ายค่าที่พัก ส่วนสาเหตุที่ไม่ยอมไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ เพราะคนที่อยู่ในนั้นส่วนใหญ่ ร้อยละ 60-70 เป็นผู้มีอาการทางจิต อีกทั้งกฎระเบียบที่ไม่ตอบโจทย์คนไร้บ้านกลุ่มนี้ที่ต้องการอิสระและสามารถจัดการตนเองได้
ยังมีคนไร้บ้านกลุ่มอื่นๆ อีกที่เป็นประเด็นท้าทาย เช่น กลุ่มวัยทำงานตอนปลาย อายุ 40 หรือ 45 ปีขึ้นไป ซึ่งคนทั่วไปหากตกงานในวัยนี้ก็มักจะหางานใหม่ได้ยาก และคนไร้บ้านวัยเดียวกันนี้จะยิ่งหางานยากกว่าเพราะมีข้อจำกัดด้านวุฒิการศึกษา หรือกลุ่มสูงวัย อายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และสถานดูแลผู้สูงอายุนั้นไม่ได้เข้าไปอยู่ได้ง่าย หลายแห่งก็เต็มแล้ว รวมถึงกลุ่มผู้ต้องขังพ้นโทษ ออกจากเรือนจำมาไม่สามารถหางานทำได้เพราะมีประวัติอาชญากรรมจึงถูกตีตรา ครั้นจะกลับบ้านก็ไม่ได้เพราะครอบครัวและชุมชนก็ไม่ยอมรับ เป็นต้น
“พยายามเสนอเรื่องกลไกการทำงานแบบบูรณาการว่าใครมีส่วนเกี่ยวข้องตรงไหน เช่น ถ้าเกี่ยวกับเรื่องกฎหมายตำรวจก็ต้องเข้ามา อย่างหน่วยงานรัฐเขาก็อาจจะไม่สามารถทำได้ก็ต้องเป็นทางตำรวจเข้ามาร่วมมือ ป่วยทางจิตก็กระทรวงสาธารณสุข โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องมาร่วมมือ ผู้สูงอายุแน่นอนว่าตรงกับทาง พม. ต้องมีกรมกิจการผู้สูงอายุเข้ามาดูแลมาช่วยกันในการที่จะแก้ปัญหาผู้สูงอายุที่อยู่ในที่สาธารณะได้อย่างไร” สมพร กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM