วันอาทิตย์ ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : สมดุล‘โลกเกม-ชีวิตจริง’  สนุกได้ไม่ติด‘บ้าน’มีส่วน

สกู๊ปแนวหน้า : สมดุล‘โลกเกม-ชีวิตจริง’ สนุกได้ไม่ติด‘บ้าน’มีส่วน

วันเสาร์ ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2564, 07.30 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

“วีดีโอเกม” หรือบ้างก็เรียก “เกมคอมพิวเตอร์”ถือกำเนิดขึ้นบนโลกนี้ครั้งแรกในปี 2501 เมื่อ วิลเลียม ฮิจินโบธัม (William Higinbotham) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน คิดค้นเกม “Tennis For Two” ซึ่งหน้าจอมีลักษณะคล้ายเรดาร์และผู้เล่น 2 คน ควบคุมคันบังคับเพื่อตีลูกโต้กันไป-มา จากนั้นได้พัฒนามาตามลำดับ จากเกมตู้(Arcade) เครื่องเล่นเกม (Console) เกมที่เล่นบนเครื่องคอมพิวเตอร์ (PC หรือ Notebook) จนถึงเล่นบนโทรศัพท์มือถือ (Mobile)

จากความบันเทิงออฟไลน์ที่เล่นกันในบ้านหรือในร้านเกมเฉพาะจุด วีดีโอเกมได้พัฒนาเข้าสู่ยุคออนไลน์ที่แต่ละคนสามารถร่วมเล่นเกม หรือแข่งขันเกมกันได้ผ่านอินเตอร์เนต มูลค่าทางธุรกิจของวงการเกมก็เพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่การทำเกมประเภท “เกมเล่นฟรี (แต่อยากได้ของดีๆ ต้องเสียเงินซื้อ)” ไปจนถึงการเกิดขึ้นของ “อีสปอร์ต (Esports)” หรือการจัดการแข่งขันวีดีโอเกม ที่มีการตั้งทีมแข่งขันซึ่งเรียกกันว่า “นักกีฬา” มีรายได้เป็นกอบเป็นกำและชื่อเสียงโด่งดังไม่ต่างจากนักกีฬาประเภทอื่นๆ


แต่อีกด้านหนึ่ง “ติดเกม (Game Addict)” ที่หมายถึงการเล่นเกมมากเกินไปจนเสียงาน-เสียการเรียน หรือมีพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อื่นๆ ก็กำลังเป็นปัญหาสำคัญไม่ว่าในต่างประเทศหรือในไทยเอง ดังที่เมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) จัดเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “เกมสมดุล ครอบครัวสมดุล” มีวิทยากรหลายท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมอง

ศรีดา ตันทะอธิพานิช กรรมการผู้จัดการมูลนิธิอินเตอร์เนตร่วมพัฒนาไทย เล่าว่า ปัจจุบันลูกชายเรียนจบและทำงานแล้ว แต่เมื่อย้อนมองไปตอนที่ลูกยังเด็ก เวลาที่ยุ่งอยู่กับงานก็ต้องปล่อยให้ลูกเล่นเกม ซึ่งก็ทันตั้งแต่ยุคเครื่องเล่นเกมที่ต้องเสียบตลับเกม ต่อมาที่ยุคเครื่องเล่นเกมแบบแผ่นซีดี มาจนถึงเกมยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยีด้านภาพสวยงามขึ้นมาก อีกทั้งยังสามารถเล่นร่วมกันหลายคนผ่านเครือข่ายซึ่งตอบโจทย์ความเป็นสัตว์สังคมของมนุษย์ ขณะที่เกมก็มีหลายแนว นอกจากแนวต่อสู้ตีรันฟันแทง ยังมีเกมจำลองการทำธุรกิจ จำลองการแพทย์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าในช่วงที่ปล่อยให้ลูกชายอยู่กับเกม พบว่าลูกไม่สามารถควบคุมเวลาการเล่นได้ รวมถึงควบคุมอารมณ์ไม่ได้ มีพฤติกรรมก้าวร้าวพูดจาไม่ดี ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับวินัยและความรับผิดชอบ โดยสรุปแล้วเกมจึงมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ ดังนั้น สำหรับพ่อแม่จะทำอย่างไรให้ลูกควบคุมตนเองได้ เช่น ช่วงสอบหรือช่วงมีงานต้องทำ จะงดเล่นเกมด้วยตนเองได้หรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้เชื่อว่าพ่อแม่อยากทำ แต่อาจยังไม่มีคำตอบว่าต้องทำอย่างไร-ทำเมื่อไร และอะไรคือความพอดี ที่สำคัญเมื่อพฤติกรรมรุนแรงถึงจุดที่ต้องไปพบจิตแพทย์ลูกอาจจะไม่ยอมไปอีก

ศรีดา ระบุว่า มีลูกศิษย์ที่สอนด้านการพัฒนาเกม ยืนยัน “ผู้พัฒนาเกมมุ่งหวังให้เล่นแล้วต้องติด และเกมนั้นก็ตอบสนองความต้องการบางอย่างของมนุษย์ได้” ทั้งการแข่งขันที่บันทึกสถิติ การเล่นร่วมกันหลายคน หรือ “เติมเต็มสิ่งที่ทำไม่ได้หรือทำได้ยากในโลกจริง” อาทิ “เกมแนวกีฬา” หากเล่นกีฬาจริงๆ ต้องฝึกซ้อมกันกี่ปีกว่าจะเก่ง แต่การเล่นเกมใช้เวลาเล่นเพียงหลักสัปดาห์ก็เก่งได้แล้ว หรือ “เกมแนวต่อสู้ตีรันฟันแทง” ในชีวิตจริงการทำร้ายคนหรือการขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้นมีความผิด แต่ในเกมสามารถทำได้ เป็นต้น

“เด็กบางคนตัวเล็ก เล่นกีฬาก็แพ้ แต่ว่าในเกมมันทะลุพิกัดของเรื่องร่างกาย สามารถที่จะไปเป็นแชมป์ในเกมได้ เพราะฉะนั้นเขาก็จะไม่มีที่ยืนในสังคม พ่อแม่ดุด่าครอบครัวมีปัญหาเถียงทะเลาะหรือปัญหาเศรษฐกิจ เด็กก็หนีไปอยู่ในเกม ทำเงินในเกม หาเพื่อนในเกม ฉะนั้นอันนี้ถือเป็นแรงจูงใจ แต่มันก็มาสู่ประเด็นว่าพอจูงไปเรื่อยๆ เกมมันเป็นธุรกิจ สร้างมาให้ติด พอติดแล้วก็เสียไปหมด ชีวิตพัง

ฉะนั้นนี้เราเลยต้องพูดว่า เฮ้ย!.วันนี้เราอยู่กันอย่างไร มันตอบโจทย์ทุกคนแล้วไม่เสียชีวิต ไม่เสียเวลา หรือภาคธุรกิจที่ทำเกมมา ทำอย่างไรที่เขาจะมาช่วยดูแลเด็ก เพราะอันนี้ต้องยอมรับ อย่างเกมส่วนใหญ่ที่ทำเงินอยู่ตอนนี้เป็นเกมของต่างประเทศ ดังนั้น รายได้ต่างๆ มันก็จะออกไปต่างประเทศ แต่เด็กติดเกมหรือมีปัญหา หรือพ่อแม่ที่ทุกข์ทรมานอยู่เป็นคนไทยเรา กระทรวงต่างๆ ภาคส่วนต่างๆ ที่เขาดูแล เราจะมาช่วยกัน Balance (รักษาสมดุล) ตรงนี้ได้อย่างไร” ศรีดา กล่าว

ฉัตรกาญจน์ ปาริฉัตต์กุล นักกีฬา Esports เล่าว่าเติบโตมากับเกมตั้งแต่ยุคเครื่องเล่นเกมแบบเสียบตลับเกม เริ่มเล่นเกมตั้งแต่อยู่ชั้น ป.2 เพราะที่บ้านทำงานเลิก 3-4 ทุ่มไม่มีเวลาให้ ประกอบกับเพื่อนๆ ในละแวกบ้านไม่ว่าใครก็เล่นเกมกันหมด ถ้าไม่ไปรวมกลุ่มเล่นกับเขาด้วยก็จะเหมือนโดดเดี่ยวอ้างว้าง การเล่นเกมจึงมีความหมายในด้านการเข้าสังคมด้วย กระทั่งโตขึ้นมาถึงช่วงเข้าเรียนชั้นปี 1 ระดับมหาวิทยาลัย ก็หารายได้จากการเล่นเกม เช่น นำของในเกมไปขายเป็นเงินจริง หรือเข้าร่วมการแข่งขันเกม ทำให้เริ่มมองการเล่นเกมในฐานะอาชีพ

แม้จะมีรายได้จากเกมเป็นเรื่องเป็นราว แต่อีกมุมหนึ่งฉัตรกาญจน์ ยอมรับว่าบริหารจัดการเวลาชีวิตได้ไม่ดีนัก เช่น ในช่วงที่เรียนอยู่ ถึงขั้นพกคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คไว้อีกเครื่องสำหรับเล่นเกม ถึงขั้นเอาแต่เล่นเกมโดยไม่เข้าเรียน ใครชวนไปเที่ยวไหนก็ไม่ไป แม้กระทั่งครอบครัวไปเที่ยวต่างจังหวัดตนเองก็ยังเอาแต่อยู่ในห้องพักเพื่อเล่นเกม แต่ก็สามารถเรียนจบมาได้ และเมื่อทำงานแล้วเกมก็กลายเป็นอาชีพเสริม โดยใช้เวลาช่วง 20.00-22.00 น. ซึ่งเลิกงานแล้วเข้าร่วมแข่งขันเกม แต่เวลานั้นวงการ Esports ก็ยังไม่ค่อยมีการตั้งทีมเพื่อรับนักกีฬาเข้าร่วมกันมากนัก

กระทั่งการมาของเกม “RoV” ซึ่งเป็นเกมแรกที่มีการกำหนดฐานเงินเดือนของสมาชิกแต่ละทีมที่จะเข้าร่วมแข่ง เมื่อมองแล้วว่าคุ้มค่าจึงลาออกจากงานหลักแล้วมาหารายได้ในฐานะนักกีฬา Esports อย่างเต็มตัว อนึ่ง ปัจจุบันเกมยังมีความหมายด้านการลงทุนด้วย เช่น เกมที่เกี่ยวข้องกับเงินคริปโต (Cryptocurrency) แต่ก็ต้องยอมรับว่าเกมมีอิทธิพลกับชีวิตคน เช่น ในชีวิตจริงคนคนหนึ่งอาจจะแพ้ แต่เมื่อเข้าไปเล่นเกมแล้วเล่นชนะก็ได้รับคำชมว่าเก่ง ซึ่งนั่นก็ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ที่ต้องการคำชมจากผู้อื่นหรือต้องการเป็นผู้ชนะในการแข่งขัน

“เด็กติดเกมคือส่วนใหญ่เป็นที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลมากกว่า ผู้ปกครองกลับบ้านมา 2-3-4 ทุ่ม มันทำให้ไม่สามารถกำหนดเวลาของลูกได้ชัดเจนมากนัก ไม่มีข้อบังคับ ส่วนใหญ่ที่คุยกันคือพ่อแม่มีกฎข้อบังคับ อันนี้ลูกส่วนใหญ่จะไม่ติดเกมแล้วพอโตขึ้นก็คิดได้เอง ส่วนใหญ่จะเป็นแบบนี้ แต่ปัจจุบันเด็กติดเกมส่วนใหญ่คือพ่อแม่ไม่มีเวลาให้ เราจะทำกันอย่างไรตรงนี้ที่ทำให้ลูกไม่ติดเกม แก้ไขได้อย่างไรดี” ฉัตรกาญจน์ กล่าว

รศ.นพ.ชาญวิทย์ พรนภดล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ในทางการแพทย์ไม่ได้วัดการติดเกมจากเวลาที่เล่นเกม แต่วัดจากพฤติกรรมโดยรวมว่าสร้างความเสียหายกับชีวิตตนเองหรือไม่” เช่น หากเล่นเกม 6 ชั่วโมงต่อวัน แต่รับผิดชอบหน้าที่หลัก (เรียนหนังสือหรือทำงาน) ตลอดจนรักษาสุขภาพ (ออกกำลังกายและพักผ่อน) ได้ดีก็ไม่ถือว่าติดเกม ขณะที่เล่นเกมเพียง 2 ชั่วโมงต่อวัน แต่เวลาที่เหลือไปดูคลิปวีดีโอต่างๆ ที่เกี่ยวกับเกม หรือไปทำอย่างอื่นที่กระทบหน้าที่หลักและสุขภาพ แบบนี้เข้าข่ายติดเกม

“อยากจะเน้นให้ผู้ปกครองทุกท่านทราบ ทำไมบางบ้านดูเหมือนง่ายในการจัดการกับเด็ก แต่บางบ้านยากจังเลย ทำไมลูกดื้อ เถียงทุกอย่าง แล้วบางครั้งผู้ปกครองก็จะ Point (ชี้)นิ้วไปที่เด็ก บอกเด็กมันติดเพื่อน มันเชื่อเพื่อนมากกว่า โทษไปที่บริษัทเกม สร้างเกมมาทำไมทำให้เด็กติด แต่หลายครอบครัวที่ผมเจอ เป็นการยากสำหรับผู้ปกครองกลุ่มนี้จริงๆ ที่จะมองย้อนกลับไปที่ตัวเอง ว่าเป็นเพราะตัวเองไม่มีเวลาให้กับลูกหรือเปล่า ไม่กล้าที่จะยอมรับว่ามันเป็นส่วนความรับผิดชอบของเขาเอง

ซึ่งในครอบครัวลักษณะแบบนี้ ในการที่จะบำบัดแก้ไขบอกได้เลยยากมากๆ เรามีเคสพ่อแม่พามาด้วยเด็กติดเกม พอมาที่โรงพยาบาลสิ่งที่เขาคาดหวังคือ หมอจะมี
Magic Word (คำพูดวิเศษ) พูดล้างสมองเด็กภายในครึ่งชั่วโมง-หนึ่งชั่วโมงให้หายจากการเป็นเด็กติดเกม อันนี้คือสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง มันไม่ใช่ง่ายอย่างนั้น ไม่มีหมอวิเศษคนไหนทำได้อย่างนั้นในการพูดให้เด็กเปลี่ยนความคิด-ความเชื่อ จากเด็กที่ติดเกมกลายมาเป็นเด็กที่รักการเรียน” รศ.นพ.ชาญวิทย์ ระบุ

รศ.นพ.ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า “หลายครอบครัวที่สามารถแก้ไขพฤติกรรมเด็กติดเกมได้ คนที่เปลี่ยนพฤติกรรมอย่างมากไม่ใช่เด็กแต่กลับเป็นพ่อแม่” โดยพ่อแม่เริ่มต้นเปลี่ยนแปลงตนเองก่อน อาทิ ให้เวลาลูกมากขึ้นทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน สนใจว่าขณะนี้ลูกนั้นอยู่กับอะไร เช่น โลกในเกม การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ของพ่อแม่ได้สร้างสะพานเชื่อมระหว่างผู้ปกครองกับเด็ก

ซึ่งดีกว่าการไปจับผิดโดยไม่ได้มองบริบทการเลี้ยงดู!!!

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’ สกู๊ปแนวหน้า : ฟื้น‘กะปิกุ้งเคย’ ภูมิปัญญา‘เกาะลิบง’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

(คลิป) เจาะลึก! เล่ห์เหลี่ยม'พรรคส้ม' วาทกรรมลอยๆ ร่างนิรโทษกรรม ม.112

เลย์ออฟครั้งใหญ่! 'กระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ'ปลดเจ้าหน้าที่ 1,350 คน

เก๋งเสียหลักตกคลอง มุดท่อระบายน้ำ ดับสลด 2 เจ็บ 2

จับหนุ่มเสพยาซึ่งจยย.ย้อนศรหนีตร.ไปไม่รอด

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายปรเมษฐ์ ภู่โต
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2025 Naewna.com All right reserved