สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมกับ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย และ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดตัวโครงการ “แว่นตาสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ สิทธิประโยชน์บัตรทอง ของขวัญเพื่อเด็กไทยสายตาดี”
ตรวจคัดกรองนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน เพื่อค้นหาความผิดปกติทางสายตาแล้วรักษาหรือตัดแว่นสายตาให้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2565 เป็นต้นมา
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. เปิดเผยว่า ปีนี้เป็นปีแรกที่ สปสช. ตั้งงบประมาณเพื่อสนับสนุนเป็นค่าแว่นตาให้กับหน่วยบริการที่ตรวจวินิจฉัย วัดค่าสายตา และสั่งตัดแว่นตา ให้กับเด็กที่มีสายตาผิดปกติทุกสิทธิการรักษา โดยจะจ่ายค่าแว่นตาให้เป็นการเฉพาะ ตามรายการบริการหรือ Fee Schedule เพื่อสนับสนุนให้เด็กอายุ 3-12 ปีทุกคนที่มีภาวะสายตาผิดปกติให้สามารถเข้าถึงแว่นตาได้ นอกจากนี้ สปสช. จะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เครือข่ายองค์กรภาคการศึกษา ตลอดจนภาคประชาสังคมให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดบริการ เพื่อช่วยให้นำตัวเด็กนักเรียนเข้ามารับบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ปัญหาสายตาผิดปกติ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะส่งผลต่อการเรียนรู้และสุขภาพ ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2564 พบว่ามีนักเรียนได้รับการคัดกรองสายตา 245,150 คน คิดเป็นร้อยละ 32 จากนักเรียนทั้งหมดกว่า 7 แสนคน พบสายตาผิดปกติ 6,217 คน คิดเป็นร้อยละ 2.5 ได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์และได้รับแว่นสายตาจากภาคเอกชน (ห้างแว่นท็อปเจริญ) จำนวนทั้งสิ้น 2,929 คน
“สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อโรงเรียนต้องปิดทำการเรียนการสอน นักเรียนไม่ได้มาเรียนที่โรงเรียน จึงยังคงมีนักเรียนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้รับการตรวจคัดกรองสายตา สำหรับเป้าหมายปี 2565 นี้ มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จำนวนทั้งหมด 752,884 คน จะได้รับการคัดกรองสายตา ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 หรือ 602,307 คน คาดว่าจะมีนักเรียนสายตาผิดปกติ ร้อยละ 3 หรือ 18,069 คน และจะมีนักเรียนสายตาผิดปกติได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยจักษุแพทย์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 หรือ 10,841 คน” อธิบดีกรมอนามัย ระบุ
นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของการอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการเฝ้าระวังสุขภาพสายตานักเรียนนั้น กระทรวงสาธารณสุขและภาคีเครือข่าย จะพัฒนาบุคลากรสาธารณสุขงานอนามัยโรงเรียนเพื่ออบรมครูประจำชั้นทุกโรงเรียน ดำเนินการคัดกรองสายตานักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทุกคน ในโรงเรียนทุกสังกัด ตลอดจนนักเรียนชั้นอื่นที่สงสัยสายตาผิดปกติ ภายใต้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายแว่นสายตาจาก สปสช. และสนับสนุนค่าใช้จ่ายจาก อปท.ในการนำพานักเรียนมาพบจักษุแพทย์
นพ.ไชยสิทธิ์ เทพชาตรี รองประธานกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) สาขาตา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ระบบบริการตรวจคัดกรองสายตาในเด็กจะเริ่มตั้งแต่ ในโรงเรียน โดยมีการอบรมครูเพื่อคัดกรองสายตาเด็ก เมื่อครูตรวจพบความผิดปกติจะมีการตรวจยืนยันซ้ำโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) หรือที่โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โดยเมื่อยืนยันความผิดปกติทางสายตาแล้วจะส่งตัวไปที่ Refraction Unit หรือหน่วยวัดแว่น ซึ่งส่วนมาก อยู่ในโรงพยาบาลประจำจังหวัดหรือโรงพยาบาลทั่วไปและทำการตัดแว่นตาให้
“โครงการนี้ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาอาศัยการบริจาคจากห้างแว่นหรือมูลนิธิต่างๆ แต่ปีนี้ สปสช.ให้ความสำคัญและจัดเป็นชุดสิทธิประโยชน์ให้ ทำให้โรงพยาบาลสามารถสั่งตัดแว่นจากร้านแว่นแล้วเบิกจ่ายไปที่ สปสช. ได้ ขณะเดียวกัน สปสช. ยังมีกลไกกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่น ทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดบริการเพื่อนำส่งเด็กที่มีสายตาผิดปกติมาตรวจวัดสายตาที่โรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการได้อีกทางหนึ่ง” นพ.ไชยสิทธิ์ กล่าว
ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว ประธานราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า ความผิดปกติของสายตาในเด็กจะส่งผลต่อทั้งการอ่าน เขียน เรียน เล่น การรับรู้และการมองเห็น เพราะเมื่อตามีการพัฒนาก็จะเชื่อมไปกับการเรียนรู้และพัฒนาสมอง แต่เมื่อตามีความผิดปกติ เด็กจะใช้ประสาทสัมผัสอย่างอื่น เช่น การฟัง เข้ามาแทนที่ ดังนั้นช่วงอายุที่ควรทำการคัดกรอง จริงๆ แล้วควรทำการคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด โดยผู้ปกครองเป็นผู้สังเกต
“เด็กอายุ 2 เดือนไม่จ้องหน้าแม่ หรือเด็กโตมีอาการปวดหัวง่าย ไม่มีสมาธิเวลาเรียนเอาแต่เล่น ปัญหาที่แท้จริงอาจเกิดจากสายตาผิดปกติก็ได้ ส่วนการตรวจคัดกรองในเด็ก ป.1 จะเป็นการ คัดกรองในกรณีสายตาสั้นหรือสายตายาว เพราะถ้าเลยช่วงอายุนี้ไปแล้วเด็กจะมีภาวะสายตาขี้เกียจและไม่สามารถแก้ไขได้ แต่ถ้าคัดกรองในช่วงอายุนี้ก็ยังสามารถกระตุ้นให้กลับมาทำงานได้ แต่ถ้าจะให้ดีควรคัดกรองตั้งแต่เกิดไปจนถึงทุกช่วงอายุ” ศ.พญ.วณิชา กล่าว
นายไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า การบูรณาการความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของเด็กและเยาวชนในครัวเรือนที่ยากลำบาก ซึ่งมีร้อยละ 15 ของทั้งประเทศ เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาสายตาไม่ได้รับการดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่เนิ่น จนอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตและการพัฒนาศักยภาพในระยะยาว
โดย กสศ.ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือนักเรียนและวางแผนแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุดเป็นรายบุคคล เน้นการทำงานในระดับพื้นที่ (Area Based Education)
ร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ขณะเดียวกัน กสศ. ยังใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ ระบบ iSEE ซึ่งเป็นฐานขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ครอบคลุมข้อมูลกลุ่มเป้าหมายนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เพื่อการค้นหาและแก้ไขปัญหาภาวะสายตาผิดปกติ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเรียนรู้แก่เด็กและเยาวชนที่มีคุณภาพได้ต่อไป
“กสศ.ยังใช้การทำงานโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ซึ่งได้ร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนเพื่อสนับสนุนครูและโรงเรียน ผ่านศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน (ฉก.ชน.) เพื่อช่วยเหลือนักเรียนอย่างครอบคลุมในทุกมิติ” นายไกรยส กล่าว
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ คลิก https://lin.ee/zzn3pU6 เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี