(ต่อจากตอนที่แล้ว) ในระหว่างที่ หลวงปู่เจี๊ยะได้รับคำสั่งจากท่านพระอาจารย์มั่น ให้ไปดูแลอาการอาพาธของหลวงปู่เสาร์ ที่วัดดอนธาตุ อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลฯ นั้น ท่านพระอาจารย์มั่น ได้พาหมู่คณะเดินทางออกจากวัดป่าสุทธาวาส มาพักที่บ้านนาสีนวลและบ้านนามนชั่วระยะกาลหนึ่ง แล้วจึงเข้ามาพักที่เสนาสนะป่าบ้านโคกด้วยความผาสุกทั้งกายและจิตใจ ไม่มีการเจ็บไข้ได้ทุกข์
*ธุดงค์กลับ-กราบพระอาจารย์มั่น
หลังจากทราบว่า พระอาจารย์มั่นจะพักอยู่จำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ตนจึงรีบเร่งฝีเท้าออกเดินทางจากอำนาจเจริญ จาริกรอนแรมตามหมู่บ้าน ตำบลมาเรื่อยๆ พักตามป่าช้า ท้องทุ่ง ลอมฟาง เขาป่า ภูผาหิน เดินเท้าค่ำที่ไหนก็นอนที่นั่น เพราะอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นมาเกือบสามปี ได้ประสบการณ์ในการอยู่ตามป่ามาบ้างพอสมควรกินก็เริ่มกินง่าย ถึงจะตายก็คิดว่าสะดวก
การเดินธุดงค์ในระยะนี้ จึงนับว่าเป็นโอกาสอันดี ที่จะได้พิจารณาธรรมเต็มความสามารถ เพราะไม่มีสิ่งใดก่อกวน พระพุทธองค์จึงตรัสธรรมะเกี่ยวกับการอยู่ป่าไว้มาก เพราะพระองค์ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานในป่า ในอนุศาสน์ที่พระอุปัชฌาย์พร่ำสอนเมื่อ บวช ก็สอนให้ไปอยู่ป่า อยู่ตามรุกขมูลร่มไม้
ย่างเข้าสู่เดือนมีนาคม ฤดูแล้งแล้วอากาศร้อนอบอ้าว หาพัก ตามร่มไม้ชายเขา ร่มยางใหญ่ มีทางลมพัดผ่าน ก็พอไล่อากาศร้อน อบอ้าวหนีไปได้บ้าง การออกมาจากท่าน อาจจะว้าเหว่อยู่บ้าง แต่การออกมาปฏิบัติภารกิจตามคำสั่งของท่าน ก็เป็นความอุ่นใจภายใต้ ร่มบารมี จะเดิน จะทำ จะพูด จะคิดอะไร มีเสียงเตือนของท่านแว่ว มาทางโสตประสาทเสมอ เหมือนเดินวนเวียนอยู่ใต้ร่มไม้ร่มใหญ่ใบดกหนา อีกทั้งใต้พุ่มไม้นั้น ก็มีน้ำให้อาบดื่มกิน นำพาความรำพึงหวัง ให้สดชื่นแก่จิตใจได้ไม่น้อย
หลวงปู่ท่านเล่าว่า ชีวิตพระป่าถ้าทำให้มันพะรุงพะรังนัก มันหนักตนเอง “มันถ่วงหัวทุบหาง” ท่านพระอาจารย์มั่นท่านว่าอย่างนี้ หนักปัจจัยสี่ ไปที่ไหนรกรุงรัง ท่านพระอาจารย์มั่นท่านสอนอย่างนี้เสมอ ลาภสักการะย่อมฆ่าคนโง่ที่หลงงมงายได้ อันนี้จำเอาจนขึ้นใจ
ท่านสอนว่า “ถ่วงหัว ทุบหาง” เหมือนกับเวลาเขาดักสัตว์ในป่า เขาเอาก้อนหินเทินกันไว้แบบหมิ่นเหม่เอาไม้ค้ำไว้ ใส่เหยื่อเข้าไปวางไว้ กระรอก กระแต ลิง ค่าง อะไรพวกนี้เห็นอาหารนั้น ก็รีบวิ่งปรี่เข้าไปเอาเหยื่อด้วยความอยาก เมื่อเข้าไปกินเหยื่อจะวิ่งชนไม้ที่ค้ำก้อนหินที่วางดักนั้น ก้อนหินนั้นก็จะหล่นลงมาทุบหัวตาย ในที่สุดสัตว์เหล่านั้นก็เป็นอาหารของมนุษย์ผู้ซึ่งฉลาดกว่า ภาษาทางภาคอีสานเขาเรียกว่า “ดักอีทุบ” สัตว์ตัวไหนหลงเข้าไปในกลลวงที่เขาหลอก ก็มีแต่ตายอย่างทรมานเท่านั้น
*จิตปราดเปรียวตลอดทาง
สมณะที่ออกเจริญสมณธรรมตามป่าตามเขาก็เช่นเดียวกัน ไปเจอเสียงเยินยอสรรเสริญว่าขลังอย่างนั้น ดีอย่างนี้ มีลาภสักการะ มีคนนับถือมากเข้าแล้วลืมตน ลืมพระธรรมคำสอนของครูบาอาจารย์ จิตใจไพล่ไปยินดีในปัจจัยสี่เหล่านั้น ก็จะถูกสิ่งเหล่านั้นทับหัวใจ ทุบหัวใจ ให้กลายเป็นผู้ไร้ศีลธรรม ไร้ยางอาย พิจารณาอะไร นั่งภาวนาอย่างไรก็ยกจิตไม่ขึ้น จิตนั้นถูกกดทับด้วยกิเลสอย่างหยาบ
เมื่อพิจารณาถึงคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นที่แว่วมาอยู่เรื่อยๆ จึงไม่เกี่ยวยุ่งด้วยผู้คน นำธรรมะที่ท่านสอนมาพิจารณาตีให้แตกด้วยอริยสัจสี่ คลี่คลายไม่ลดละ จิตตอนนั้นปราดเปรียวหมุนโดยอัตโนมัติ
เมื่อรอนแรมภภาวนาตามป่าทางอุบลฯ นครพนม มุกดาหาร แก่กาลพอสมควร จึงเดินตัดเข้าสกลนคร ในระหว่างทางนั้นผ่านป่าดงทึบ ต้นไม้ใหญ่โอบไม่รอบป่ายังคงเป็นป่า สัตว์เสือยังมีมาก แบกกลดเข้าป่าออกป่า ขึ้นภู ลงเขา เดินไปนานๆ จะพบหมู่บ้านสักหลัง ส่วนมากเป็นชาวไร่ ขุดดินทำไร่ในป่าลึกๆ
เดินเหนื่อยยากลำบากแหลือเกิน บางทีนั่งพักใต้ร่มไม้อากาศ ร้อนๆในตอนกลางวันกระหายน้ำ น้ำหมดก็ อดทนเอา เดินไปสักเดี๋ยวก็เจอชาวบ้านป่า เมื่อเห็นพระก็กุลีกุจอนำน้ำมาถวายด้วยศรัทธา โดยที่เราไม่ต้องบอก บางแห่งก็ผ่านทุ่งกว้างมีแต่ฝูงวัวฝูงควาย พวกเด็กเลี้ยงควายหยอกล้อหัวเราะร่าร้องเพลงกันลั่นตามทุ่งนา
เมื่อพิจารณาไปหลายๆ อย่างด้วยปัญญาสามัญธรรมดานี่แหละ “โอ!...เขาหาอยู่หากินตัวเป็นเกลียว อดอยากลำบากแค้นแสนทุกข์แสนทน... เราก็มาหาธรรมลำบากก็ต้องทนเพื่อลดทุกข์ ปลดเปลื้องใจ เขาหากิน เราหาธรรม เขาแสวงเรื่องโลก เราแสวงธรรม"
ตกพลบค่ำก็นั่งภาวนา ถ้ามีทางพอเดิน ก็เดินจงกรม เผื่อว่าจะได้ไม่เก้อเขินเมื่อท่านพระอาจารย์มั่นทักถามเรื่องธรรมปฏิบัติ คือกลัวท่านดุเอา ว่าออกไปไม่ตั้งใจปฏิบัติ
เมื่อเดินทางมาถึงสกลนคร หลวงปู่ท่านก็ตรงดิ่งเข้าไปที่อำเภอโคกศรีสุพรรณ บ้านโคก ตรงไปยังป่าช้าบ้านโคก เป็นที่ที่ท่านพระอาจารย์มั่นพำนัก เมื่อถึงแล้วก็รีบเข้าไปกราบเรียนความเป็นไป ทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับการมรณภาพของหลวงปู่เสาร์
*สู่เสนาสนะป่าบ้านโคก
ภายหลังจากอยู่จำพรรษาในภาคเหนือเป็นเวลา ๑๒ ปีแล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระได้เดินทางมาจำพรรษาที่วัดป่าโนนนิเวศน์ จังหวัดอุดรธานี ตามคำอาราธนาของท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เป็นเวลา ๓ พรรษา แล้วจึงมาพำนักที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ตรงที่เป็นบริเวณวัดร้างชายป่า ใกล้บ้านโคก ในปี พ.ศ. ๒๔๘๕ ในปัจจุบันคือที่ว่าการอำเภอโคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร
โดยพระอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้ทราบข่าวการจำพรรษาของท่านพระอาจารย์มั่น จึงเดินทางจากจันทบุรีเข้ามานมัสการพระอาจารย์มั่น ซึ่งบ้านโคกแห่งนี้คือบ้านเดิมของพระอาจารย์กงมาเอง
พระอาจารย์กงมาได้พยายามแนะนำชาวบ้านให้พากันเสื่อมใสในธรรม จนบรรดาญาติมิตรเดิมของท่านก็ได้พากันเลื่อมใสปฏิบัติธรรมกันมากขึ้นเป็นลำดับ เท่ากับท่านได้มาโปรดญาติโยมของท่านอีกด้วย และในช่วงนี้เอง พระอาจารย์มหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ซึ่งได้มอบตัวเป็นศิษย์ และอยู่ฝึกหัดกัมมัฏฐานกับหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก ณ เสนาสนะแห่งนี้
เมื่อมาอยู่ที่ใหม่นี้ชาวบ้านจึงถวายที่ตั้งวัด ได้สร้างศาลาและกุฎิถวายหลวงปู่มั่น ตั้งชื่อสำนักสงฆ์นี้ว่า “วัดป่าวิสุทธิธรรม” เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๘๕ เพื่อเป็นอนุสรณ์ที่หลวงปู่มั่นได้มาจำพรรษา ณ บ้านโคก อันเป็นบ้านเกิดของพระอาจารย์กงมา
ส่วนพระอาจารย์มั่นได้ไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน ซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ ๒ กิโลเมตร ในปี พ.ศ. ๒๔๘๖ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ท่านจึงได้มาจำพรรษาที่วัดป่าวิสุทธิธรรม ตามที่พระอาจารย์กงมาได้อาราธนานิมนต์
ในระหว่างพรรษา ท่านพระอาจารย์มั่นชอบเรียกหลวงปู่เจี๊ยะว่า “เฒ่าขาเป๋” หรือบางทีท่านก็เรียกว่า “ผ้าขี้ริ้วห่อทอง” ตามแต่ท่านจะพูดและสอนเพื่อเป็นคติ ตอนหลังท่านอาจารย์มหาบัว ท่านก็เมตตาเรียกเหมือนกัน
อยู่มาวันหนึ่งท่านพระอาจารย์มั่น ได้พูดถึงหลวงปู่ขาว อนาลโย ว่า “หมู่เอ๊ย!...ให้รู้จักท่านขาวไว้นะ ท่านขาวนี่เธอได้พิจารณาถึงที่สุดแล้ว” หลังจากท่านกล่าวชมหลวงปู่ขาวแล้ว ท่านหันมาพูดเรื่องหลวงปู่เจี๊ยะว่า
“เออหมู่เอ๊ย!...มีหมู่มาเล่าเรื่องการภาวนาให้เราฟังที่เชียงใหม่ เว้ย... เธอปฏิบัติของเธอสามสี่ปีเหมือนเราลงที่นครนายก มันลงเหมือนกันเลย” ท่านย้ำว่าอย่างนั้น
“ท่านองค์นี้ภาวนา ๓ ปี เท่ากับเราภาวนา ๒๒ ปี อันนี้เกี่ยวเนื่องกับนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน
หลวงปู่ท่านกล่าวว่า “การที่ตนนำสิ่งที่ครูบาอาจารย์ชมมาเล่า ไม่ได้หมายยกตนเทียมท่าน แต่การที่ฝึกปฏิบัติเร็วช้านี้ แล้วแต่บุญกรรมและความเพียรของใครของมัน ที่พูดให้ฟังนี้ไม่ได้เทียบกับท่าน แต่นำสิ่งที่ท่านพูดมาพูดให้ฟัง จะได้รู้ว่าเบื้องหลังเราปฏิบัติมายังไง”
*สงฆ์ในนิมิตพระอาจารย์มั่น
ช่วงพรรษาที่ ๗-๑๐ หลังจากได้อยู่ร่วมกับท่านพระอาจารย์มั่นเป็นเวลา ๓ ปี ๔ แล้งแล้ว ผ่านฤดูแล้งปี ๘๖ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านปรารภจะไปจำพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านนามน
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเห็นว่า ท่านพระอาจารย์มีลูกศิษย์ลูกหามากขึ้นแล้ว อาจารย์มหาบัว ซึ่งมาฝากตัวเป็นศิษย์พระอาจารย์มั่นก็เป็นที่ตายใจ ท่านเก่งฉลาด เป็นที่ตายใจในเรื่องเกี่ยวกับท่านพระอาจารย์ได้เป็นอย่างดีเยี่ยม
เรื่องข้อวัตรปฏิบัติที่ท่านเคยทำมาเป็นเวลานานสมควรกับท่านอาจารย์มหา เพราะท่านมีวิชาความรู้ กล้าสู้หน้าไม่อายใคร และจะเป็นประโยชน์อันยิ่งใหญ่แก่หมูคณะต่อไปในอนาคต เหมือนดั่งนิมิตที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายไว้ที่ดอยคำ บ้านแม่ปั๋ง อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ว่า “ท่านองค์นี้ ลักษณะเหมือนท่านเจี๊ยะ แต่มิใช่ท่านเจี๊ยะ จะทำประโยชน์ให้แก่หมู่คณะ ท่านนิมิตเห็นพระหนุ่ม ๒ รูป นั่งข้าง ๒ เชือก ติดตามท่านซึ่งนั่งสง่างามบนช้างตัวขาวปลอดค่าโขลงเป็นช้างใหญ่ พระหนุ่มสองรูปนี้จะสำเร็จก่อนและหลังท่านนิพพานไม่นานนัก และจะทำประโยชน์ใหญ่ให้พระศาสนา”
เมื่อหลวงปู่ท่านเห็นท่านอาจารย์มหาบัวเข้ามา ก็ตรงตามลักษณะที่ท่านทำนายไว้ก็เบาใจเป็นที่ยิ่ง ถึงได้กับอุทานภายในใจว่า “นี่แหละ องค์นี้แหละต้องเป็นองค์ที่ท่านทำนายไว้อย่างแน่นอน เจอแล้วทีนี้”
เมื่อท่านอาจารย์มหาบัวเข้ามา รู้สึกว่าท่านเมตตาเป็นพิเศษ ข้อวัตรปฏิบัติอะไรท่านตั้งใจปฏิบัติรักษาสุดความสามารถ สุดชีวิต เหมือนดังที่หลวงปู่ท่านเคยทำ ความเพียรท่านก็แรงกล้า มีสติปัญญาไวเป็นเลิศ สมเป็นผู้มีบุญมาเกิด ประเสริฐด้วยความดี
อย่างนี้อีกไม่นานต้องพบพานธรรมอันเลิศ บุญเขตอันประเสริฐจะบังเกิดในวงพุทธศาสน์ เป็นปราชญ์ทางธรรม ค้ำชูพระศาสนาเหมือนอย่างที่ท่านพระอาจารย์มั่นทำนายเอาไว้อย่างแน่นอน เมื่อคิดดังนี้จึงดำริว่า สมควรที่หมู่ผู้ที่ไม่เคยมาจะได้ช่องเข้าศึกษาปฏิบัติ
*ตามหาหลวงปู่ขาว อนาลโย
ในขณะนั้นพระเณรที่ติดตามและลูกศิษย์ของท่านพระอาจารย์มั่นมีมากขึ้นโดยลำดับ ชื่อเสียงเรื่องคุณธรรมของท่านเป็นที่เลื่องลือขจรไปทั่วทุกทิศ หลวงปู่เจี๊ยะจึงเข้าไปกราบลาท่านและปลีกตัวอยู่องค์เดียวเร่งความเพียร โดยพยายามสืบเสาะหาว่าท่านอาจารย์ขาว อนาลโย อยู่ที่ไหน เพราะท่านเป็นพระที่ท่านพระอาจารย์มั่นรับรองว่า เป็นพระถึงที่สุดแห่งธรรมแล้ว ได้ทำไว้ในใจว่า ถ้าทราบข่าวว่า ท่านอาจารย์ขาวอยู่ที่ไหน ก็จะดั้นด้นเข้าไปกราบให้จงได้
เมื่อท่านออกจากท่านพระอาจารย์มั่นแล้วก็เพียรค้นหาพระอาจารย์ขาว อนาลโย จนเจอ แล้วก็มาได้ศึกษาคุยสนทนาธรรมกับท่านในเรื่องการปฏิบัติได้ถามเรื่องต่างๆ นานา เพราะพระอาจารย์ขาวท่านเป็นผู้เฒ่าผู้แก่มีความชำนิชำนาญ หลวงปู่เจี๊ยะท่านว่า สมัยท่านยังเป็นเด็กอยู่ก็ต้องศึกษากับครูบาอาจารย์ สิ่งใดผิด สิ่งใดถูก แล้วก็ได้เป็นประโยชน์ เพราะฉะนั้นการค้นคว้าจึงเป็นหลักสำคัญมาก ค้นลงไป ค้นให้มาก ค้นเข้าไป พิจารณาไปเพื่อให้เห็นความจริง
ทุกครั้งที่ได้พบพระอาจารย์ขาวกี่ครั้งๆ ท่านก็ถามว่า “เจี๊ยะเป็นไงเอ๊ย ค้นบ่ ค้นบ่” ท่านถามบ่อยๆ “ค้นครับ” หลวงปู่ท่านก็ตอบท่านอย่างนั้น
“เออ! เอาอย่างนั้นสิ” ท่านพูดให้กำลังใจว่าที่ทำนั้นถูกต้อง ไม่ผิด
ออกจากที่นั่นแล้วก็เดินทางไปพักอยู่บริเวณป่าช้าบ้านนาสีนวล จำพรรษาที่บ้านนาสีนวล วนเวียนอยู่ในรัศมีของท่านอาจารย์มั่น บ้านนาสีนวลห่างจากบ้านนามน ซึ่งเป็นสถานที่พระอาจารย์มั่นจําพรรษาในระยะนั้นไม่มากนักเดินทางไปมาได้สะดวกจนวันอุโบสถก็เดินทางมาร่วมทำอุโบสถกับท่าน รับโอวาทเทศนาธรรมที่ท่านแสดงไม่ว่าจะไปที่ไหน ประหนึ่งว่าท่านดูเราอยู่ตลอดเวลา
*ธุดงค์กลับบ้านเกิด
เนื่องจากหลวงปู่เจี๊ยะท่านจากบ้านเกิด คือจังหวัดจันทบุรี มานานเป็นเวลา ๙ ปีแล้ว เฝ้ารำลึกถึงพระคุณของบิดามารดาอยู่ไม่ห่าง อยากจะทดแทนคุณท่านด้วยอรรถด้วยธรรม แทนข้าวน้ำปลาอาหารทรัพย์สินเงินทอง อย่างที่ชาวโลกเขาตอบแทนกัน กอปรกับเวลานั้นทราบข่าวว่าโยมแม่ป่วย จึงนับว่าเป็นเหตุสมควรที่จะเดินทางกลับมาถิ่นฐานบ้านเดิม อีกทั้งคิดถึงท่านพระอาจารย์ลี ธมฺมธโร วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี- วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ เป็นบุพพาจารย์สอนธรรมะมาก่อน
เมื่อคิดเช่นนั้น หลวงปู่เจี๊ยะก็ธุดงค์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาทางภาคตะวันออกอันเป็นถิ่นฐานบ้านเดิม แวะพักตามชายป่าชายเขา รุกขมูลร่มไม้ การสัญจรไปมาในระยะนั้นถนนหนทางยังไม่สะดวก ไปที่ไหนส่วนมากเดินไปด้วยเท้า ไม่ค่อยมีรถยนต์
ท่านกล่าวว่า กรรมฐานทุกวันนี้แตกต่างกับกรรมฐานสมัยก่อนมาก เป็นกรรมฐานขุนนางเนื้อตัวโดนแดดโดนลมไม่ได้กลัวจะดำ หรูหราฟุ่มเฟือยมากเหลือเกิน ธุดงค์ขึ้นรถไปเลยบางทีนั่งเรือบินไปธุดงค์ เพียงแค่ขณะจิตแรกนี้มันก็ไม่เป็นธรรมเสียแล้ว
“เราอยู่กับท่านพระอาจารย์มั่นลำบากเหลือเกิน อาหารการกินไม่บริบูรณ์เหมือนทุกวันนี้ กินพริกกินเกลือเพียงแค่นี้ก็อยู่ปฏิบัติธรรมได้แล้ว เดี๋ยวนี้อาหารมากมายกองทับหัวพระแล้ว จึงทำให้พากันนิสัยเสียไปหมด อยู่กับท่านเรื่องกินจึงไม่กังวล ภาวนาอย่างเดียว”
นี้แหละจึงบอกให้ทราบว่า กรรมฐานแบบท่านพระอาจารย์มั่นนั้น ท่านสู้ตายเพื่ออรรถธรรมจริงๆ ไม่เห็นแก่ปากแก่ท้อง แต่กรรมฐานขุนนางนี่สิ ลาภเกิดก่อนธรรม มันผูกมัดรัดจิตไว้หมด ปฏิบัติภาวนาจึงไม่ไปไหน วนๆไปอยู่ขอบนรกนั่นแหละ คือวนๆคลุกคลีอยู่กับพวกชาวบ้านแถวบ้านร้านตลาดนั่นแหละ ไม่กล้าที่จะไปไหนไกลๆ เพื่อธุดงค์หรอก
หลวงปู่ท่านเล่าอีกว่า ในระหว่างที่ท่านธุดงค์กลับทางบ้านเกิดนั้น การพิจารณาด้วยปัญญามันรวดเร็วดั่งใจ กำหนดนี้ถึงไหน ถึงนั้นไม่พรั่นพรึง พิจารณากายถอยหน้าถอยหลังเบื้องบนเบื้องล่าง อนุโลมปฏิโลม พิจารณาซะจนจิตนี้ราบเป็นหน้ากลอง ถึงความเป็นสภาพหนึ่งเดียว ประจักษ์ใจในพระธรรมที่ปรากฏสุดที่จะพรรณนา
สิ่งที่ท่านพระอาจารย์มั่นพร่ำสอนว่า “คัมภีร์ธรรมนั้น อยู่ที่กายกับจิต พิจารณาเข้าไปเป็นของดี ไม่ต้องไปหาที่อื่นไกล ก็มาปรากฏเป็นประจักษ์ญาณอันเด่นดวง”
เมื่อเกิดวิตกยกจิตขึ้นมาด้วยสมถะ มากเกินไป จิตมันก็ดับ เมื่อเราวิจารณ์คือ พิจารณามากเกิน ไม่พักจิต จิตมันก็ดับ ดังนั้น ทั้งสมถะและวิปัสสนา เราทิ้งไม่ได้ต้องบำเพ็ญให้ชำนิชำนาญ ถ้าบำเพ็ญอยู่ไม่หยุดไม่ถอยแบบนี้เราก็จะหลุดพ้นจากกิเลสไปได้
หลวงปู่ท่านกล่าวว่าไม่ว่าท่านจะไปอยู่ที่ใด จะสุขหรือทุกข์ คำสอนของท่านพระอาจารย์มั่นจะมากระตุ้นเตือนอยู่เสมอว่า “การปฏิบัติอย่าให้เนิ่นช้า อย่าให้เสียเวลาในชาติปัจจุบัน” เมื่อนึกถึง คำสอนของท่านพระอาจารย์อย่างนี้ก็เร่งความเพียรโดยตลอด
เมื่อเดินทางเข้ามาถึงกรุงเทพฯ ก็เข้าไปขอพักกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้า(ชื่น) ที่วัดบวรฯ ทุกๆ ครั้งที่ผ่านทางกรุงเทพฯ จะเข้าไปพักกับท่านเสมอๆ
...........................
ตามรอยพระอริยะเจ้า! "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขื้ริ้วห่อทอง คัดลอกจากหนังสือ "ตามรอยพระอริยเจ้าหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี" ท่านคือสมณะสงฆ์สายป่าผู้เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองของแม่ทัพกรรมฐานแห่งสยาม : ดำรงธรรม เรียบเรียง
(ติดตามตอนต่อไป)
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี