“เด็กซิ่ง…เสี่ยงตาย” วิจัยชี้ปมลึกอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์เด็กต่ำกว่า 15 ปี สะท้อนวิกฤตความปลอดภัยบนถนนไทย
ภาพประกอบ : อุบัติเหตุเด็กอายุ 12 ปี ขี่มอเตอร์ไซค์ชนแผงการ์ดเรลเสียชีวิต บริเวณถนนสายหนองฉาง-ลานสัก หมู่ 9 บ้านบุ่งฝาง ต.ทุ่งนางาม อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี วันที่ 24 มี.ค. 2568 (แนวหน้า)
จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ประเทศไทยติดอันดับประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์สูงที่สุดในโลก โดยมีสัดส่วนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถจักรยานยนต์สูงถึง 74.5% และข้อมูลจากการศึกษาล่าสุดพบว่า กลุ่มเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปรากฏการณ์นี้
งานวิจัยเชิงคุณภาพที่ดำเนินการโดย อารยา เชียงของ และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดนครปฐมและนครนายก สัมภาษณ์ลึกถึง 4 กลุ่มที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เด็กที่เคยประสบอุบัติเหตุ ครอบครัว-ครู บุคลากรทางการแพทย์ และเจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัย พบต้นตอของปัญหาอยู่ในหลายระดับ ตั้งแต่ตัวเด็ก ครอบครัว ชุมชน ไปจนถึงโครงสร้างสังคม
- ความเสี่ยงเริ่มจาก “ตัวเด็ก” แต่รากลึกอยู่ที่ “ระบบ” : เด็กอายุน้อยมักขาดวุฒิภาวะ ทักษะ และวินัยจราจร หลายคนขี่รถเพราะ “อยากเท่” หรือ “อยากโชว์” โดยมักยกล้อ ปาดหน้า หรือแต่งรถซิ่ง เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุขั้นรุนแรง ขณะเดียวกันเพื่อนในกลุ่มมีอิทธิพลสูงในการชักชวนกันขับขี่เสี่ยง ทั้งเที่ยวเล่นและแข่งความเร็ว ในระดับครอบครัว พ่อแม่จำนวนไม่น้อยยอมให้ลูกขับขี่ตั้งแต่วัยประถม บางครอบครัวถึงขั้น “สอนลูกขับเอง” ด้วยเหตุผลเรื่องความจำเป็น เช่น ไม่มีเวลามาส่ง หรือเห็นว่าลูกโตพอแล้ว นอกจากนี้โรงเรียนเอง แม้ไม่สนับสนุนให้เด็กขับขี่มอเตอร์ไซค์มาโรงเรียน แต่ก็ไม่ห้ามเด็ดขาด โดยเข้าใจในข้อจำกัดของครอบครัว
- “จักรยานยนต์” พาหนะที่เข้าถึงง่าย แต่พาชีวิตไปเสี่ยง ในระดับโครงสร้างภายนอก ความล้มเหลวของระบบขนส่งสาธารณะในต่างจังหวัด ผลักให้เด็กเลือกขี่มอเตอร์ไซค์เอง ระบบเช่าซื้อที่เข้าถึงง่าย แม้ไม่มีรายได้ประจำก็สามารถออกรถได้ ทำให้เด็กมีรถใช้ตั้งแต่อายุยังน้อย นำไปสู่การขับขี่โดยไม่มีใบขับขี่ ขาดการอบรม และไม่รู้กฎจราจร นอกจากนี้ ปรากฏการณ์ “ไม่เคารพกฎ” ยังเป็นวัฒนธรรมแฝงในสังคมไทย เจ้าหน้าที่บางรายยอมปล่อยผ่าน เพราะไม่อยากมีปัญหากับชุมชน ขณะเดียวกันประชาชนเองก็ไม่เชื่อมั่นในระบบกฎหมาย การขับย้อนศร ซ้อนสาม ซ้อนสี่ จึงกลายเป็นเรื่องปกติของถนนเมืองไทย
- ทางออกต้องเริ่มจาก “สังคมร่วมรับผิดชอบ” : ผลวิจัยเสนอแนวทางป้องกันไว้ว่า ไม่ใช่แค่บังคับใช้กฎหมายเท่านั้น แต่สังคมต้องร่วมมือกันสร้างทัศนคติใหม่ ต้องทำให้สังคมเห็นว่า “การให้เด็กต่ำกว่า 15 ปีขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ใช่เรื่องธรรมดา แต่คืออันตรายร้ายแรง” ภาครัฐควรเร่งพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในท้องถิ่น เพิ่มกิจกรรมให้ความรู้กับครอบครัว และรณรงค์ผ่านสื่อสารมวลชนเพื่อลดค่านิยม “เด็กซิ่งคือเท่”
งานวิจัยชิ้นนี้ชี้ให้เห็นว่าปัญหา “เด็กต่ำกว่า 15 ปี ขับขี่มอเตอร์ไซค์” ไม่ใช่แค่ความผิดพลาดของเด็ก แต่สะท้อนช่องโหว่ของสังคมไทยที่ต้องการการเยียวยาอย่างเป็นระบบและจริงจัง!!!
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.naewna.com/local/871880 สลดปิดเทอม! เด็กป.6ขี่จยย. ชนแผงเหล็กการ์ดเรลเสียชีวิต
043...
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี