(ต่อจากตอนที่แล้ว) หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้ท่านคิดนึกถึง เพลงแม่หญิงเหนือคนเคยร้องว่า "ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้า รองลงมาขันธ์สี่ ทุกข์อยู่ในโลกนี้ ลงอยู่ข้อยผู้เดียวนั้น" กลายมาเป็นสิ่งที่มีความหมายเสียแล้ว คือคำว่า "ทุกข์อยู่ในขันธ์ห้ากลายเป็นสุขอยู่ในขันธ์ห้า" ถึงแม้ขันธ์นี้เป็นของหนัก แต่ก็หนักตามหลักธรรมชาติ ไม่เหมือนกิเลสหนักที่ระคนปนด้วยขันธ์
คำว่า "ทุกข์อยู่ในโลกนี้ ลงข้อยผู้เดียวนั้น กลับกลายมาเป็นสุข อยู่ในโลกนี้ ลงข้อยอยู่ผู้เดียว" ถึงกับอุทานภายในใจว่า อโห วต อจฺฉริย?...โอ!...อัศจรรย์หนอๆ เห็นแล้วที่นี่ ธรรมที่เราเสาะแสวงหา เป็นอุทานธรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้นอย่างถึงใจ
หลวงปู่เจี๊ยะลุกขึ้นกราบพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ที่ถึงใจอยู่แล้วด้วยความถึงใจอีก พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ ตลอดจนข้อปฏิบัติอรรถธรรม เป็นความถึงใจอย่างที่สุด บุญคุณข้าวน้ำ ที่บิดามารดา ตลอดจนสาธุชนทั้งหลายชุบเลี้ยงมา เป็นความหมายแห่งมหาคุณโดยแท้จริง
*ธรรมปีติผุดขึ้นอิ่มเอิบสุดจะประมาณได้
ระลึกถึงบุญคุณคำสอนของท่านพระอาจารย์มั่น ที่เป็นผู้เลี้ยงดูมาเป็นเวลานานด้วยอรรถ ด้วยธรรม ถ้าไม่มีท่านพระอาจารย์มั่นเพียงองค์เดียว การปฏิบัติของหลวงปู่ท่านคงไม่มีในวันนี้ ท่านเป็นผู้รู้จริงทุกสิ่งอย่าง บุญคุณของท่านนี้เทิดทูนตลอดอนันตกาล
ในช่วงเวลานั้นคำว่า"พุทธสาวก"ได้ประจักษ์จิตอย่างแท้จริง และคำว่า"ขาดสูญ" เหมือนดั่งถูกตัดคอขาด ไม่มีวันนำมาติดต่อชีวิตได้แล้ว ทราบชัดด้วยการหยั่งทราบว่าขาดอย่างแท้จริงไม่มีสองกับอันใด เรือแห่งชีวิตที่เคยล่องลอยอยู่กลางแม่น้ำ ไม่มีภพให้ลอยอีกต่อไป
รากเหง้าของมารถูกตัดทำลายแล้ว
*เปรียบด้วย“เรือแห่งชีวิต”
เรือแห่งชีวิตที่เราเคยขี่มานาน ด้วยอำนาจแห่งกิเลสกรรมวิบาก อันเป็นประดุจลูกคลื่นนั้น เมื่อถึงชายฝั่งแล้ว เราก็ทิ้งเรือไม่แบกเรือขึ้นฝั่งไปด้วย
เรือคืออะไร ก็คือศีล คือธรรมทั้งหลาย ที่ปฏิบัติมาเป็นประดุจลำเรือ อาศัยปัญญาเป็นเครื่องนำทาง อาศัยพระพุทธเจ้าเป็นเครื่องส่องทิศ อาศัยครูบาอาจารย์เพื่อเดินสู่จุดหมาย มีพระธรรมวินัยเป็นแผนที่ มีพระสงฆ์เป็นลูกเรือ เมื่อถึงฝั่งอย่างที่เราต้องการแล้ว ย่อมทิ้งเรือต่างๆไว้เบื้องหลังเป็นเอกจิต เอกธรรมชั่วนิรันดร
จึงมานึกย้อนหลังเมื่อคราวที่เราสอนตน ด้วยการเอาหญิงลิเกมานึกเป็นครูสอน เมื่อครั้งบวชเข้ามาใหม่ว่า หญิงลิเกเหล่านี้เขาร้องรำทำเพลงทั้งคืนทั้งวันไม่เห็นเหน็ดเหนื่อยนั้น บทธรรมที่เปรียบนั้น มาประจักษ์ใจในคืนวันนี้
ธรรมดาหญิงลิเกผู้เพิ่งจะเริ่มเรียนฟ้อนรำขับร้อง เมื่อขึ้นสู่เวที ย่อมประหวั่นพรั่นพรึง เมื่อได้ยินเสียงดนตรีย่อมตกใจ มีกิริยางกเงิ่นขับร้องฟ้อนรำด้วยความยากลำบาก แม้จะพยายามตั้งใจ ก็ยังมีลีลาอันผิดพลาดพลั้งพลาดอยู่เสมอๆ
แต่สำหรับทีมนักลิเกผู้เชี่ยวชาญในศิลปะการร่ายรำ ขับร้องดีแล้วเมื่อก้าวขึ้นสู่เวที และได้ยินเสียงดนตรี ย่อมจะมีจิตใจฮึกเหิม ร่าเริงเบิกบานประกอบกับลีลาการร่ายรำได้อย่างคล่องแคล่วเข้ากับจังหวะดนตรี โดยไม่ต้องตั้งใจไม่งกเงิน ประหนึ่งว่าแข้งขาตีนมือออกไปเองตามปกติวิสัยของมัน นี่อย่างใดพระผู้ประพฤติตามพระศาสดาด้วยความเทิดทูนเพื่อก้าวลงสู่พระนิพพานก็อย่างนั้น"
หลวงปู่เจี๊ยะกล่าวต่อว่า แต่ก่อนเมื่อเรายังหนาแน่นไปด้วยกิเลส ย่อมปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยความยากลำบาก ต้องมีสติสัมปชัญญะคอยควบคุม ต้องมีปัญญาคอยชี้ขาด แม้กระนั้นก็ยังผิดพลาด ย่อมงกเงิ่นในธรรมสมาคม
แต่สำหรับผู้ฝึกจิตใจจนถึงที่สุด ผ่านแล้ว บรรลุถึงจุดหมายแล้ว การปฏิบัติตามพระธรรมวินัยกลายเป็นปกตินิสัย เป็นเครื่องอยู่อันสบายๆ ปฏิบัติอย่างสบายโดยไม่ต้องตั้งใจ เพราะการปฏิบัติเรื่องศีลาจารวัตร ไม่ใช่เรื่องหนัก แต่เป็นธรรมเครื่องอยู่อันแสนสบาย ความอดทน ความเพียรตลอดจนคุณธรรมข้ออื่นจึงเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ นี่คือผลแห่งการพากเพียรปฏิบัติ ด้วยการเอาชีวิตเข้าแลก
*ธุดงค์สู่ภาคใต้
หลังจากที่หลวงปู่เจี๊ยะ เป็นสมภารเฝ้าวัดทรายงาม ตามคำขอของพระอาจารย์มหาทองสุข สุจิตฺโต และพระอาจารย์จันทร์ เขมปตฺโต อยู่เป็นเวลา 2 ปี ก็ไม่มีวี่แววว่าท่านอาจารย์ทั้งสองนั้นจะกลับมาอีก
เมื่อเป็นเช่นนั้น หลวงปู่ท่านจึงมาใคร่ครวญพินิจพิจารณาว่า "อันการที่เราเดินทางมาบ้านเกิดนี้ ไม่ได้หวังมาเกาะเกี่ยวกับตระกูลญาติพี่น้องให้ยุ่งไป มาก็เพื่อโปรดบิดามารดา เพื่อทดแทนพระคุณของท่าน เพราะพระคุณบิดามารดายิ่งใหญ่นัก เมื่อเปรียบเทียบคุณของท่านแล้วแผ่นดินเท่ากับใบไผ่ ทะเลก็เท่ากับถาด ภูเขาลูกโตๆ ก็เท่ากับจอมปลวกเท่านั้น คือนำมาเทียบกับคุณของท่านไม่ได้"
จึงพิจารณาว่า “เราไม่ได้มาเฝ้าวัดหรือต้องการเป็นสมภาร การที่เรามาอยู่ที่นี่ก็นานพอสมควรแก่ธรรมแล้ว” ด้วยอุปนิสัยที่ชอบท้องถ้ำ ชอบป่าเขาที่สงบสงัด จึงปรารภกับตนเองว่า "ภาคใต้เป็นภาคที่เรายังไม่เคยไปมาก่อน ท่านพ่อลีท่านไปประกาศศาสนาทำอยู่ทางใต้ การที่เราลงทางใต้ก็เป็นการเดินตามรอยเก่าครูบาอาจารย์ ไปแสวงหาถ้ำเป็นที่สงบสงัดไร้ผู้คนที่รู้จัก
ประกอบกับจิตเวลานั้นเป็นอิสระเต็มที่แล้ว การอยู่การไปที่ใดจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด เพราะไม่มีอะไรเป็นเครื่องฉุดลากให้เนิ่นช้าได้อีกถึงความอิ่มพอสมบูรณ์โดยประการทั้งปวง พระพุทธเจ้า พระอรหันต์สาวกสมัยพุทธกาลท่านก็มีปกติหลีกเร้นอยู่สบายในถ้ำ เงื้อมผา เป็นวิหารธรรมเสมอ"
ยิ่งท่านพระอาจารย์มั่นผู้เป็นอาจารย์ประสิทธิ์ประสาทความรู้ให้แก่เรา ท่านดำเนินเป็นแบบอย่างโดยสมบูรณ์ ปรารภความมักน้อยสันโดษ ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ปรารถนาวิเวกเสมอๆ แม้ในวัยชราท่านปฏิบัติ ไม่ได้เพื่อฆ่ากิเลสตัวใด แต่ท่านปฏิบัติเพื่อเป็นธรรม เครื่องอยู่สบายๆของพระอริยเจ้าเสมอๆไม่มีย่อหย่อนท้อถอยแสดงวิสัยแห่งปฏิปทาของนักปราชญ์
เมื่อดำริอย่างนั้นแล้ว หลวงปู่เจี๊ยะจึงออกเดินทางจากจันทบุรีมาพักที่วัดบวรนิเวศน์วิหารกับสมเด็จพระสังฆราชเจ้าวชิรญาณวงศ์ (ชื่น) พักกับท่านได้พอสมควรแล้ว ก็ขึ้นรถไฟเดินทางไปทางใต้ ลงรถไฟที่อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วเดินต่อไปด้วยเท้า ค่ำที่ไหนพักที่นั่น เพราะแต่ก่อนยังเป็นป่า ไม่มีบ้านผู้คนกระจัดกระจายมากมายเหมือนทุกวันนี้ บางทีก็เข้าไปพักตามสวนตามไร่ชาวบ้าน อาศัยบิณฑบาตฉันไปวันๆ เหมือนแมลงผึ้งลิ้มเกสรดอกไม้แล้วก็บินไปไม่อาลัยเสียดายฉะนั้น
*รื้อศาลเจ้าพ่อถ้ำขวัญเมือง
หลวงปู่ท่านเล่าว่า"การที่เราไปอยู่ตามป่าตามเขา หรือท้องถ้ำเงื้อมผา อันมีสัตว์ร้ายต่างๆ เราต้องเป็นคนช่างสังเกต ช่างคิดพินิจพิจารณา ใคร่ครวญให้รอบคอบ ถึงแม้เราจะเรียนธรรมจากภายในตัวของเราแล้ว เราก็ต้องเรียนธรรมจากภายนอกเพื่อเป็นการฝึกสติปัญญาของเรา”
การธุดงค์ลงภาคใต้ หลวงปู่เจี๊ยะท่านได้เข้าจำพรรษาที่วัดถ้ำขวัญเมือง อำเภอสวี จังหวัดชุมพร แล้วก็ได้เดินเที่ยวภาวนาไปเรื่อยไปพักที่ป่าแห่งหนึ่ง อยู่ได้สักพักก็มีชาวบ้านมาบอกว่า มีถ้ำสวยงาม ป่าดี สัตว์ยังเยอะอยู่ เป็นวัดเก่าร้าง ไม่มีใครอยู่ นิมนต์ท่านไปอยู่บูรณะหน่อย ด้วยเห็นว่าเป็นถ้ำ ท่านก็เดินทางไปตามคำนิมนต์
การมาอยู่ที่ถ้ำขวัญเมืองนี้ มีกำนันฮุ้น หรือกำนันอัมพร บุญญากาส เป็นโยมอุปัฐากหลวงปู่ อีกทั้งยังมีครูเฮียง สองคนนี้ศรัทธามากคอยมาดูแลหลวงปู่อยู่เสมอ
หลวงปู่เจี๊ยะกล่าวถึงถ้ำขวัญเมืองไว้ว่า "เรามาอยู่ที่ถ้ำแห่งนี้สัปปายะดีมาก ถ้ำไม่ใหญ่โตอะไรนัก พออาศัยได้ แต่ว่าข้างในยังแคบไปหน่อย เป็นภูเขาหินเล็กๆ มีต้นไม้ใหญ่ๆ มีเครือไม้เถาวัลย์พะรุงพะรัง มองแทบไม่รู้ว่าเป็นถ้ำ ไม่มีใครกล้าเข้ามา ชาวบ้านกลัวเพราะมันเปลี่ยวมาก"
มีศาลเจ้าพ่อ มีเศษของเก่าของโบราณเรี่ยราดอยู่ตามพื้น บางแห่งมีร่องรอยคนมาขุดหาสมบัติ เวลานั้นก็จวนใกล้จะเข้าพรรษาแล้ว จึงคิดว่า เออ..อย่างไร เสียปีนี้ เราคงต้องจำพรรษาที่นี้ จึงจัดแจงที่พักที่อยู่บนถ้ำ ภาวนาอยู่ที่นี่สบาย ปลอดโปร่งดี"
เมื่อท่านมาอยู่จำพรรษาที่ถ้ำนี้ ได้ตกแต่งถ้ำใหม่ สถานที่ไม่เสมอก็ปรับแต่งให้เสมอ แต่งท้องถ้ำให้อยู่ได้ ได้เอาไฟเผาแล้วทุบบางส่วนให้ดูดีขึ้น ทำลายศาลเจ้าพ่อทิ้ง
ท่านว่า"เราเข้าไปอยู่เป็นเจ้าพ่อแทน" ซึ่งทำให้ชาวบ้านกลัวกันใหญ่ ว่าท่านจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ ท่านว่าท่านไม่เห็นเป็นอะไร โยมอุปัฏฐาก คือกำนันฮุ้น เห็นหลวงปู่ขยันขันแข็ง ชอบอกชอบใจ กำนันพร้อมด้วยชาวบ้านจึงมานิมนต์ให้ท่านอยู่เป็นเจ้าอาวาส สร้างวัดให้ถาวร
เมื่อเห็นเป็นดังนั้นก็เห็นท่าไม่ดี กลัวจะเป็นภาระผูกพัน ออกพรรษาแล้วท่านก็ธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าไปขอพักอยู่ที่วัดมเหยงค์ พักอยู่ที่นี่ชั่วระยะกาลไม่นานนัก จึงเดินทางธุดงค์ต่อไปยังจังหวัดสงขลา
*เส้นทางเก่าท่านพ่อลี
เมื่อเดินทางธุดงค์ถึงจังหวัดสงขลา หลวงปู่เจี๊ยะเข้าไปพักที่บ้านคุณโสพิศ เป็นคนรู้จักกัน และเป็นลูกศิษย์ท่านพ่อลี จากนั้นก็เดินทางต่อไปยังอำเภอนาหม่อม บ้านนาหม่อม เข้าไปภาวนาแถววัดควนจง ซึ่งท่านพ่อลีท่านมาวางรากฐานไว้แล้ว
หลวงปู่ท่านเล่าว่าอยู่ที่นี่สะดวกดี สถานที่พักเป็นป่าช้าบ้านควนจง ควนหมายถึงเนินเขาเล็กๆ ไม่ถึงกับว่าเป็นภูเขา ชาวบ้านแถวนี้เขาเคารพรักท่านพ่อลี มาก ขณะที่พักอยู่วัดควนจงนี้ มีโยมทิม ทองประดับเพชร เป็นผู้อุปัฏฐากดูแล ตอนนั้นโยมทิมอายุ 25 ปี เมื่อเขารู้ว่าเป็นลูกศิษย์ ท่านพ่อลี เขาจะยินดีต้อนรับมาก มักจะถามเสมอว่า “ครูบาเจี๊ยะขาดเหลืออะไร ด้วยปัจจัยสมควรแก่สมณะบริโภคให้บอกนะ”
หลังจากนั้นก็เดินทางไปพักที่ใกล้ๆกับควนกรม เป็นที่ที่ท่านพ่อลีมาสร้างไว้เช่นกัน ในช่วงเวลานั้นมีท่านอาจารย์พรหม ท่านอาจารย์เม้า อยู่ที่นั่น หลวงปู่เจี๊ยะก็เข้าไปพักกับท่าน วัดมีคลองน้ำใหญ่ไหลผ่าน ไปรวมกับคลองอู่ตะเภาที่หาดใหญ่ อยู่กลางทุ่งนาอุดมสมบรูณ์มากอีกด้านมีต้นไทรใหญ่ๆ มีทางเดินเท้าเข้าไป อยู่ภาวนากับท่านได้ระยะหนึ่ง หลวงปู่เจี้ยะก็เดินธุดงค์ต่อไปยังวัดควนมิตร อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา
วัดควนมิตรนั้น ก็เป็นที่ที่ท่านพ่อลีเคยมาอยู่จำพรรษา 2 พรรษา ชาวบ้านแถวนี้รู้จักท่านหมดหลวงปู่เจี๊ยะได้มาเจอกับท่านถวิล (จิณฺณธมฺโม)ซึ่งเป็นสหธรรมมิกคนบ้านเดียวกันนิสัยใจคอก็ใกล้เคียงกันนิสัยท่านตรงไปตรงมาเหมือนกันกับหลวงปู่ท่าน
ในระหว่างที่พักอยู่ที่วัดควนมิตรได้เดินธุดงค์ไปภาวนาที่ควนไม้ไผ่ ซึ่งห่างจากควนมิตรประมาณ 8 กิโลเมตร ท่านถวิลขอติดตามไปด้วยอยู่ภาวนาที่ควรไม้ไผ่ได้ระยะหนึ่งก็เดินทางกลับมาที่วัดควนมิตรอีกครั้งและขณะที่หลวงปู่ท่านมาอยู่ที่วัดควนมิตรก็ได้คุ้นเคยกับท่านพระครูรัตนโสภณ(แก้ว)
หลวงปู่เจี๊ยะท่านเล่าว่าท่านพักอยู่ที่บนเนินเขาควนมิตร เป็นเวลาแรมเดือน ก็อยากไปวิเวกตามประสาคนไม่อยู่สุข ก็คืออยู่ที่ไหนนานๆมันเบื่อไปภาวนาอยู่ตามป่าเขาน่าจะดีกว่า
เมื่อคิดอย่างนั้นจึงเตรียมจัดบาตรสะพายกดเข้าไปบอกท่านพระครูฯว่าจะไปเที่ยวภาวนาแถวๆบ้านพรุ อำเภอหาดใหญ่ หน่อย
เมื่อบอกลาท่านเสร็จก็ออกเดินทางพักมาตามป่ายาง เรื่อยๆเข้ามาถึงบ้านพรุ ก็เข้าไปพักภาวนาที่ห้วยยางกับท่านอาจารย์เม้า
ในระยะนั้นตรงกับเดือนพฤศจิกายน 2492
...........................
ตามรอยพระอริยะเจ้า! "หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท" พระผู้เป็นดั่งผ้าขื้ริ้วห่อทอง คัดลอกจากหนังสือ "ตามรอยพระอริยเจ้าหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี" ท่านคือสมณะสงฆ์สายป่าผู้เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทองของแม่ทัพกรรมฐานแห่งสยาม : ดำรงธรรม เรียบเรียง
(ติดตามตอนต่อไป) - 003
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี