“ภาคตะวันออก” เป็นภาคที่มีความหลากหลายในเชิงเศรษฐกิจ ทั้งการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมและเกษตร ส่งผลให้มีความต้องการใช้ “ทรัพยากรน้ำ” ที่แตกต่างกัน ดังนั้น “การบริหารจัดการ” จึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้ทุกฝ่ายมีน้ำใช้อย่างเพียงพอ รักษาสมดุลอยู่ร่วมกันได้ไม่กลายเป็นความขัดแย้งเพราะแย่งชิงน้ำโดยเมื่อเร็วๆ นี้ คณะสื่อมวลชน ได้ร่วมเดินทางกับคณะทำงานของ กรมชลประทาน ไปดูงานบริหารจัดการน้ำ ในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี
เฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กล่าวถึงโครงการ “อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” ว่า เป็นโครงการเพิ่มพื้นที่ระบบชลประทานเพื่อสนับสนุนภาคเกษตรที่ได้รับประโยชน์ครอบคลุม 3 อำเภอ ของ จ.จันทบุรี คือ ท่าใหม่ นายายอาม และแก่งหางแมว เนื่องจากจะสร้างประโยชน์ต่อการใช้น้ำให้กับทุกภาคส่วน ทั้งด้านการเกษตร ที่นา สวนผลไม้ที่ครอบคลุมในพื้นที่การเกษตร 87,700 ไร่ ใน 3 อำเภอข้างต้น สามารถกักเก็บน้ำได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการใช้
“โครงการดังกล่าวยังสามารถลดผลกระทบความเสียหายจากอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่เกษตร ได้ถึง 5,575 ไร่ ที่อาจจะสร้างความเสียหายให้กับประชาชน และภาคเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป้าหมายเป็นไปเพื่อให้เกิดการพัฒนาทั้งระบบเศรษฐกิจ สังคม การดูแลสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูระบบนิเวศของป่าไม้ และสัตว์ป่า ได้อย่างครบถ้วน” เฉลิมเกียรติ กล่าว
รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ “แผนพัฒนาลุ่มน้ำคลองวังโตนด” ที่กรมชลประทานได้ดำเนินการมีการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทั้งหมด 4 แห่ง ใน จ.จันทบุรี ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำคลองประแกด ความจุ 60.25 ล้าน ลบ.ม. ก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะนี้ 2.อ่างเก็บน้ำคลองหางแมว ความจุ 80.70 ล้าน ลบ.ม. 3.อ่างเก็บน้ำคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68.10 ล้าน ลบ.ม.ที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และ 4.อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ความจุ 99.5 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันอยู่ระหว่างการขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
ซึ่งหากก่อสร้างแล้วเสร็จทั้ง 4 แห่ง จะมีความจุรวมกัน 308.56 ล้าน ลบ.ม. สามารถส่งน้ำให้พื้นที่รับประโยชน์ทั้งสิ้น 267,800 ไร่ รองรับความต้องการน้ำเพื่อผลิตน้ำประปาได้ปีละ 45 ล้าน ลบ.ม. รวมถึงการจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนน้ำส่วนเกินป้อนไปยังอ่างเก็บน้ำในพื้นที่โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพื่อสนับสนุนพื้นที่เพาะปลูกสวนผลไม้รวมถึงภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดใกล้เคียงอย่างระยองและชลบุรีอีกด้วย
มุมมองจากคนในพื้นที่ เจริญ ปิยารมย์ ประธานกรรมการกลุ่มน้ำวังโตนด เล่าว่า น้ำในแม่น้ำวังโตนดนี้คนในพื้นที่ใช้ในการทำการเกษตรมานาน เพราะน้ำที่แม่น้ำนี้เป็นน้ำจืด ไม่มีน้ำเค็มมาปนเปื้อน ดังนั้น การผันน้ำด้วยระบบโครงข่ายน้ำจากแม่น้ำวังโตนดไปเก็บที่อ่างประแสร์ แล้วจากอ่างประแสร์ก็ส่งตรงไปยังอ่างอื่นๆ ด้วยระบบอ่างพวง จึงน่าสนใจ เพราะน้ำในวังโตนด ปีหนึ่งมีประมาณพันกว่าล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าหากแบ่งไปส่วนหนึ่งก็ไม่ได้มีผลกระทบกับการใช้น้ำในพื้นที่วังโตนด จึงกลายเป็นเรื่องที่ทาง EEC ต้องคิดใหม่
“เมื่อก่อนคิดแค่ 3 จังหวัด แต่พอมาพูดถึงระบบน้ำ การบริหารจัดการน้ำ มันต้องเป็น 3 บวก 1 จังหวัด คือ สามจังหวัดเดิมในพื้นที่ EEC ได้แก่ ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา และรวมจังหวัดจันทบุรีเข้าไป จึงเป็นการเพิ่มภารกิจในแม่น้ำวังโตนดจากเดิมใช้ในพื้นที่สามอำเภอ คือ นายายอาม ท่าใหม่และแก่งหางแมว เป็นการผันน้ำนี้ไปหล่อเลี้ยงสร้างความมั่นคงทางน้ำให้กับจังหวัดในพื้นที่ EEC โดยเฉพาะระยองและชลบุรีด้วย” เจริญ ระบุ
ประธานกรรมการกลุ่มน้ำวังโตนด อธิบายว่า การใช้น้ำในภาคเกษตรจะแตกต่างจากภาคอุตสาหกรรม เนื่องจากอุตสาหกรรมจะใช้น้ำในทุกฤดูกาล แต่ภาคการเกษตรจะใช้น้ำในช่วงแล้ง ช่วงที่เอาน้ำให้กับต้นไม้ สร้างการเจริญเติบโตให้ผลไม้ต่างๆ ที่เหลือน้ำจะถูกทิ้งเปล่า ดังนั้นกระบวนการการนำน้ำจากวังโตนดไปเสริมปริมาณน้ำที่ส่งให้ภาคอุตสาหกรรมที่อ่างประแสร์ เพื่อที่อ่างประแสร์จะเป็นฮับน้ำที่จะแจกจ่ายไปยังโครงข่ายอ่างน้ำอื่น จึงทำได้ดีมาก และไม่มีปัญหาในเรื่องของคุณภาพน้ำ
ซึ่งการทำให้เกิดความมั่นคงทางน้ำใน EEC เป็นประเด็นสำคัญ เพราะที่ผ่านมา จ.ระยอง เคยมีปัญหาเรื่องน้ำมาแล้ว ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของนักลงทุน เพราะเมื่อระบบน้ำไม่ดี ก็ไม่มีใครกล้ามาลงทุน ดังนั้น น้ำจากวังโตนดจึงเป็นตัวชี้วัดสำคัญอย่างหนึ่งที่จะสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำใน EEC ได้ด้วย ส่วนโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด มีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไป มีทั้งเห็นต่างและเห็นด้วย
“ถ้าท่านใดอยากรู้ความจริง ก็อยากให้ลงมาสัมผัสในพื้นที่ และทำความเข้าใจบนพื้นฐานความจริงว่าในโลกนี้ไม่มีอะไรได้โดยไม่มีเสีย แต่ถ้าได้มากกว่าเสียก็เป็นเรื่องที่น่าดำเนินการ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำที่เราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภาวะอากาศเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำในแต่ละปีไม่คงที่ เนื่องจากน้ำหายากขึ้น เพราะคนใช้น้ำมากขึ้น แต่แหล่งน้ำที่มีกลับมีเท่าเดิม จึงควรมีการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบมากกว่าเดิม” เจริญ กล่าว
อีกด้านหนึ่ง ศุภทรรศ สาพิมาน ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบริการลูกค้า “อีสท์ วอเตอร์” บริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำ โดยการวางโครงข่ายผันน้ำผ่านท่อส่งน้ำดิบจากแหล่งน้ำดิบ (อ่างเก็บน้ำหลักใน 3 จังหวัด) มาให้ภาคอุตสาหกรรม ในพื้นที่ EEC ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในหลายโครงการ
อาทิ 1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพระบบผันน้ำแม่น้ำบางปะกง-อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี 2.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณการจ่ายน้ำท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ จ.ชลบุรี 3.โครงการสระทับมา จ.ระยอง 4.โครงการก่อสร้างระบบท่อส่งน้ำดิบอ่างเก็บน้ำคลองหลวง-ชลบุรี 5.โครงการปรับปรุงเครือข่ายอ่างเก็บน้ำคลองใหญ่-หนองปลาไหล จ.ระยอง และ 6.โครงการปรับปรุงคลองพานทองเพื่อผันน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี
นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่ต้องขับเคลื่อนในระยะต่อไปซึ่งเป็นโครงการที่สำคัญสำหรับการบริหารจัดการน้ำของภาคตะวันออกทั้งระบบ ได้แก่ โครงการเครือข่ายอ่างประแสร์-หนองค้อ-บางพระ จ.ชลบุรี, โครงการเครือข่ายน้ำอ่างคลองโพล้-อ่างประแสร์ และโครงการเครือข่ายคลองวังโตนด-อ่างประแสร์ จ.ระยอง” เชื่อมั่นว่าเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จการจัดน้ำจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าในอดีต เพราะปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องน้ำท่วมและภัยแล้งมากขึ้น
“ความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ในกลุ่มผลไม้ 5 ชนิด ของ จ.จันทบุรี ที่แตกต่างกัน อาทิ ทุเรียน ใช้น้ำวันละ 320-500 ลิตรต่อต้นต่อวัน มังคุด ใช้น้ำวันละ 1,100-1,600 ลิตรต่อต้นต่อวัน เงาะ ใช้น้ำวันละ 180- 320 ลิตรต่อต้นต่อวัน ลองกอง ใช้น้ำวันละ 20 ลิตรต่อต้นต่อวัน และลำไย ใช้น้ำวันละ
4,400-6,600 ลิตรต่อต้นต่อวัน ซึ่งทำให้ จ.จันทบุรี สามารถมีแหล่งผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนและประเทศ” ศุภทรรศ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM