“..ที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้จัดระเบียบโดยยกเลิกจุดผ่อนผันถึง 683 จุด จาก 773 จุด สร้างความยากลำบากในการดำรงชีวิตแก่ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่มีมากกว่า 200,000 คน ในกรุงเทพมหานคร รวมถึงผู้ประกอบอาชีพที่มีรายได้ยึดโยงอยู่กับหาบเร่แผงลอย และผู้บริโภค ผู้คนเหล่านี้เป็นตัวจักรสำคัญของระบบเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจมหภาคอย่างแยกไม่ออก..”
ความตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ของ สหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2565 เรียกร้องถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. 2565 โดยในแถลงการณ์ยังได้ยื่น 6 ข้อเสนอ ประกอบด้วย 1.จัดตั้งคณะกรรมการหาบเร่แผงลอยในระดับพื้นที่/ย่าน/ชุมชน ที่มีตัวแทนผู้ค้า และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่/ย่าน/ชุมชน ในอัตราส่วนที่เหมาะสม ที่จะทำหน้าที่รับขึ้นทะเบียนผู้ค้า รับฟังความคิดเห็นและความต้องการของคนในพื้นที่
เพื่อกำหนดกฎเกณฑ์การทำการค้า วางแผน จัดการ กำกับดูแล ติดตาม และประเมินผลการค้าในพื้นที่สาธารณะ 2.สนับสนุนให้เปิดพื้นที่ทำการค้าแบบชั่วคราว จนกว่าจะมีกฎเกณฑ์การทำการค้าที่กำหนดจาก คณะกรรมการหาบเร่แผงลอยในระดับพื้นที่/ย่าน/ชุมชน โดยพิจารณาหาพื้นที่ทำการค้าที่มีคุณสมบัติเหมาะสมในการทำการค้า รวมทั้งจัดหาพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือพื้นที่ที่อยู่ในความดูแลของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ ถนนสายรอง มาพิจารณาเปิดเป็นจุดผ่อนผันให้มีการทำการค้าเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากภายในเขต
ส่งเสริมอัตลักษณ์ของย่าน ส่งเสริมการท่องเที่ยว และช่วยเหลือผู้ค้าและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและการระบาดของโรคโควิด-19 3.เปิดโอกาสให้ผู้ค้าเก่าที่ยังขายอยู่ในจุดผ่อนผัน และ/หรือเคยขายอยู่ในจุดผ่อนผันที่ยังขายอยู่หรือที่ถูกยกเลิกไปได้รับโอกาสการพิจารณาให้กลับมาขายก่อน และเปิดโอกาสให้ผู้ค้าใหม่ที่มีคุณสมบัติเข้ามาขายต่อไป 4.สนับสนุนระบบสาธารณูปโภค ได้แก่ น้ำประปา ไฟฟ้า ระบบการกำจัดขยะและของเสีย ห้องน้ำสาธารณะ สำหรับผู้ค้าและผู้บริโภค
5.ออกแบบระบบการจัดเก็บรายได้ ค่าบริการสาธารณูปโภค และค่าใช้จ่ายในการค้า เพื่อนำส่งเงินรายได้บางส่วนแก่สำนักงานกรุงเทพมหานคร และนำรายได้บางส่วนไปจัดสรรเพื่อประโยชน์ในการทำการค้า สวัสดิการ กองทุนพัฒนาผู้ค้า หรือนำรายได้บางส่วนไปทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่อพื้นที่/ย่าน/ชุมชน และ 6.ปรับปรุง แก้ไข กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการทำการค้า ให้เกิดประโยชน์กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งผู้ใช้ทางเท้า ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย และประชาชนในกรุงเทพมหานคร
ข้างต้นคือความคาดหวังของกลุ่มเครือข่ายผู้ค้าหาบเร่แผงลอย นับตั้งแต่นโยบายการจัดระเบียบของ กทม. ที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารปี 2557 เมื่อจุดผ่อนผันที่ผู้ว่าฯ กทม. ยุคก่อนหน้านั้นทยอยจัดตั้งเพื่อให้ทำการค้าได้ ภายใต้กฎหมาย พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 20 ถูกยกเลิกไปเป็นจำนวนมาก และพื้นที่ใหม่ที่จัดหาทดแทนนั้นเป็นทำเลไม่เหมาะสมต่อการค้าขาย
ถึงกระนั้น “การเรียกร้องขอกลับมาทำการค้าของหาบเร่แผงลอย ในยุคความปกติใหม่ (New Normal) ต้องเผชิญความท้าทายเพิ่มขึ้นจากเดิม” ดังมุมมองจากนักวิชาการที่ศึกษาประเด็นหาบเร่แผงลอยมานานอย่าง ศ.ดร.นฤมล นิราทร อาจารย์คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ในอดีตผู้เกี่ยวข้อง (และ/หรือขัดแย้ง) ในเรื่องหาบเร่แผงลอย จะมี 3 ฝ่ายคือ “ผู้ค้า” ต้องการพื้นที่ประกอบอาชีพ “ผู้ใช้ทางเท้า” ต้องการทางเท้าที่เดินได้สะดวก และ “รัฐ” ที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย แต่ระยะหลังๆ ประเด็น “ทุนใหญ่” อาจเพิ่มเข้ามาเป็นขั้วที่ 4 ด้วย
“หลายสิ่งหลายอย่างที่แผงลอยขาย พวกร้านสะดวกซื้อก็ขายเหมือนกัน แม้จะมีงานวิจัยที่ออกมาชัดเจนว่าจริงๆ แล้วมันมีความสัมพันธ์ที่พึ่งพิงกันอยู่ระหว่างแผงลอยกับห้างร้าน ยกตัวอย่างปากคลองตลาดหรือสุขุมวิท อันนั้นเป็นความสัมพันธ์ชุดหนึ่ง แต่อีกชุดหนึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ได้พึ่งพิงกัน แต่แข่งขันกัน แม้ในงานวิจัยจะเจอว่าบางครั้งแม่ค้าซื้อของ เช่น เครื่องปรุงต่างๆ ในร้านสะดวกซื้อ
แต่ในทางปฏิบัติแล้ว มีความเห็นว่ามีการแข่งขันกัน มันชัดขึ้นเรื่อยๆ ถ้าดูจากการขยายตัวของร้านสะดวกซื้อใน กทม. รวมทั้ง Scale (ขนาดหรือขอบเขต) การให้บริการอาหารประเภทต่างๆ อาหารที่เขา Service (บริการ) มันมีความหลากหลายขึ้น อันนี้เป็นข้อสังเกต แต่คิดว่ามันมีประเด็นนี้อยู่จริงๆ แล้วหาบเร่แผงลอยสร้างความหลากหลายและให้ทางเลือกแก่ผู้บริโภค” อาจารย์นฤมล ระบุ
ความท้าทายประการต่อมาคือ “พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป” เช่น “ความสะอาด” ถูกให้ความสำคัญมากขึ้นจากสถานการณ์โควิด-19 “ดีต่อสุขภาพ” ผู้คนตระหนักถึงภัยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจและหลอดเลือด มากขึ้น ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค รวมถึง “คนรุ่นใหม่คุ้นชินกับอาหารสำเร็จรูป” อาหารแช่แข็งจากร้านสะดวกซื้อที่รับประทานได้เมื่ออุ่นด้วยเตาไมโครเวฟ ถูกเลือกเป็นมื้อหลักมากขึ้น ต่างจากคนรุ่นก่อนๆ ที่จะรับประทานอาหารประเภทนี้ในกรณีไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว
เมื่อความต้องการของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น “การปรับตัว”ยกระดับคุณภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้อยู่รอดในอาชีพต่อไปได้สำหรับหาบเร่แผงลอย ด้านหนึ่ง “รัฐควรต้องจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวก (Facilities) สาธารณูปโภค” เพื่อให้ผู้ค้าโดยเฉพาะที่ขายอาหาร สามารถประกอบอาหารที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ ซึ่งก็จะดีกับสุขภาพไม่เพียงแต่ผู้บริโภคแต่รวมถึงผู้ขายด้วย
ในอีกด้านหนึ่ง “ผู้ค้าควรร่วมจ่ายเพื่อบำรุงรักษาสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งปกติก็จ่ายกันอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำ-ไฟฟ้า รวมถึงพื้นที่สาธารณะที่ใช้ทำการค้าแต่จ่ายแบบไม่เป็นทางการ” ตอนนี้เราพูดถึงรูปแบบที่เป็นทางการ เช่น ค่าธรรมเนียมหรือภาษี อีกประการหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ “การบริหารจัดการ” ซึ่งต้องเข้าใจว่า แม้จะอยู่ใน กทม. เหมือนกัน แต่บริบทพื้นที่และการค้าในแต่ละเขตไม่เหมือนกัน หรือแม้แต่ในเขตเดียวกัน พื้นที่ค้าขายแต่ละจุดก็ยังแตกต่างกัน บางเขตมีหลายลักษณะมาก ต้องการการจัดการที่ไม่เหมือนกัน
“ปลายปี 2563 คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ขับเคลื่อนเรื่องสมัชชาสุขภาพ กทม.เป็นครั้งแรก ภาคีเครือข่ายสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เห็นตรงกันว่า “การจัดการหาบเร่แผงลอย” เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครเป็น “เมืองแห่งสุขภาวะเพื่อทุกคน” กำหนดเป้าหมายว่า ใน 5 ปีข้างหน้า การจัดการหาบเร่แผงลอยในทุกพื้นที่จะดำเนินการโดยใช้แนวทางการบริหารจัดการระดับพื้นที่ โดยการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน คณะกรรมการติดตามการขับเคลื่อนมติที่เราก็นั่งอยู่ด้วย ขอให้ทำแซนด์บ็อกซ์ (Sandbox) ในแง่การบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในพื้นที่ แต่ต้องพักไว้ก่อน รอเลือกตั้งแล้วค่อยเคลื่อนต่อ
มันจะเป็น Sandbox ทั้งในแง่การจัดการพื้นที่ เอามิติต่างๆ ของหาบเร่แผงลอยขึ้นมาวาง แล้วดูว่าจะทำอะไรได้บ้าง ในเรื่องของการเป็น Model (ต้นแบบ) การเรียนรู้การจัดการ Sandboxอาจจะสำเร็จหรือไม่ก็ได้ แต่มันถูกดึงขึ้นมาเป็นข้อเสนออันหนึ่งแล้วที่ควรให้เกิดขึ้นให้ได้ เพราะถ้าปล่อยอย่างนี้ไปเรื่อยๆ มันก็จะคาอย่างนี้ไป ซึ่งไม่เป็นประโยชน์กับใครเลย ทำ Sandbox ขึ้นมา แล้วดูว่ามันจะเชื่อมต่อไปอย่างไร” อาจารย์นฤมล ระบุ
มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นที่ควรคิดต่อ เช่น “ควรกำหนดระยะเวลาการใช้พื้นที่ของผู้ค้าแต่ละรายหรือไม่ แทนที่จะปล่อยให้รายเดิมค้าขายไปเรื่อยๆ” กล่าวคือ ในการใช้พื้นที่แบบเดิม หลายคนทำการค้าตั้งแต่วัยหนุ่ม-สาว ไปจนถึงวัยแก่ชรา ดังที่มีเรื่องเล่าทำนองพ่อแม่ค้าขายหาบเร่แผงลอยตั้งแต่ลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ ส่งเสียลูกเรียนจบระดับมหาวิทยาลัย ไปประกอบอาชีพอื่นๆ ส่วนพ่อแม่ก็ยังขายอยู่จนกระทั่งสังขารไม่ไหวจึงเลิกราไป
ตอนนี้มีแนวคิดใหม่คือการให้พื้นที่สาธารณะเเป็นแหล่งให้คนด้อยโอกาสได้ประกอบอาชีพ พร้อมกับส่งเสริมสนับสนุนให้คนที่มีศักยภาพสามารถยกระดับไปสู่การเป็นผู้ประกอบการที่ใหญ่ขึ้นหรือที่เป็นทางการ โดยอาจกำหนดระยะเวลาการใช้พื้นที่ไว้ช่วงหนึ่ง เช่น 5-10 ปี เพื่อที่จะได้มีพื้นที่ไว้รองรับผู้ด้อยโอกาสรุ่นต่อไป อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ละเอียดอ่อนและต้องมองรอบด้าน นอกจากนั้นยังมีความท้าทายเรื่อง “แหล่งเงินทุน” เพราะหาบเร่แผงลอยเป็น “แรงงานนอกระบบ”เข้าไม่ถึงสินเชื่อสถาบันการเงิน จึงยากที่จะมีทุนไปต่อยอด
“ถ้าเผื่อเราทำให้เขามีความมั่นคงในพื้นที่ขายสักช่วงหนึ่ง เขาสามารถใช้ตรงนี้เป็น Bank Guarantee (หลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้) มันโอเค แต่ประเด็นที่น่าคิดคือหลักเกณฑ์ใหม่ของ กทม. ที่ประกาศไว้ ตอนแรกให้ 1 ปี ตอนหลังขยายเป็น2 ปีนั้น เราก็ไม่แน่ใจว่าแบงก์เขาจะอย่างไร ระยะเวลายาวพอไหม”อาจารย์นฤมล กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM