นับตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา สังคมไทยต้องปรับตัวกันขนานใหญ่อีกครั้งเมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย “PDPA” มีผลบังคับใช้ ซึ่งก็ต้องบอกว่าหลังจากนี้ “อะไรที่เคยทำได้อาจจะทำไม่ได้อีก” ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสื่อมวลชนแบบดั้งเดิมที่มีสังกัดสำนักข่าว นักผลิตเนื้อหาประเภทต่างๆ อันเป็นอาชีพใหม่มาแรงยุคแพลตฟอร์มออนไลน์ ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่ชอบโพสต์-แชร์เรื่องราวในชีวิตประจำวัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดเสวนา “ทำข่าวอย่างไรภายใต้ PDPA” ถ่ายทอดสดผ่านรายการ “รู้ทันสื่อ”ทางสถานีวิทยุ คลื่นข่าว MCOT News FM 100.5 และทางเฟซบุ๊คแฟนเพจ สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ โดย ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP) กล่าวว่า พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) เป็นกฎหมายที่ต่างประเทศทำกันมานานแล้ว
เช่น ในยุโรปใช้คำว่า GDPR (General Data Protection Regulation) ซึ่งมีทั้งการใช้งานข้อมูลส่วนบุคคลโดยบุคคลทั่วไปและโดยสื่อมวลชน ทั้งนี้ โดยส่วนตัวมองว่า การมีกฎหมายนี้เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้สื่อหาข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องและไม่ละเมิดผู้อื่น ซึ่งกฎหมาย PDPA จะทำให้ต้องระมัดระวังมากขึ้น เช่น จะไปสัมภาษณ์แหล่งข่าวแล้วจะถ่ายภาพก็ต้องขออนุญาตก่อน หรือจะขอเนื้อหาจากเพจเฟซบุ๊คของแหล่งข่าวมาแชร์ต่อพื้นที่ของสำนักข่าวก็ต้องขออนุญาตเจ้าของโพสต์นั้นก่อน โดยทั้งหมดต้องเก็บหลักฐานความยินยอมไว้ด้วย
อนึ่ง ในบทบัญญัติของกฎหมาย “มาตรา 4 (3)” ที่ระบุว่า “พ.ร.บ.นี้ไม่ใช้บังคับแก่บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรม อันเป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ หรือเป็นประโยชน์สาธารณะเท่านั้น” ระวี ยกตัวอย่างในประเด็นนี้ว่า การไปนำโพสต์เฟซบุ๊คมาเผยแพร่โดยไม่ขออนุญาต หากโพสต์นั้นเกี่ยวข้องกับคดีดังและเป็นประโยชน์ในเชิงหลักฐานจะถือเป็นประโยชน์สาธารณะเพราะนำไปใช้ต่อทางคดีได้
แต่หากจู่ๆ ไปถ่ายภาพบ้านเลขที่คนนั้นคนนี้มาโพสต์ก็จะมีความผิดได้หากไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังต้องระวังในเรื่องการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปหารายได้ และหากไม่ใช่เป็นการหารายได้ก็จะต้องดูในเรื่องของจริยธรรม ส่วนประเด็นข้อจำกัดในการทำข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนความไม่ชอบมาพากลของบุคคลหรือองค์กรต่างๆ ขณะนี้ยังไม่มีสำนักข่าวออนไลน์สำนักใดที่พูดถึงเรื่องนี้ เพราะมีการเตรียมตัวกันมานานแล้ว
ส่วนกรณีนักผลิตเนื้อหา (Content Creator) เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ อาทิ ยูทูบเบอร์, แอดมินเพจเฟซบุ๊ค มีข้อแนะนำ 1.หากไปถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอแล้วติดบุคคลอื่นมาด้วย หากไม่ได้เน้นหาผลกำไรเชิงรายได้ถือว่าไม่มีความผิด 2.หากเป็นการทำเพื่อหารายได้ ต้องมีหลักฐานความยินยอมจากเจ้าของสถานที่ และต้องหลีกเลี่ยงการถ่ายติดบุคคลที่ 3 แต่หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ต้องเบลอภาพบุคคลที่ติดมาด้วย
สุดท้ายคือบุคคลทั่วไป ต้องระวังเรื่องการไปได้ภาพหรือคลิปวีดีโอแล้วนำมาโพสต์หรือแชร์ต่อเพื่อหารายได้ หากเป็นภาพหรือคลิปที่ผู้ผลิตต้นทางผิดมาตั้งแต่ต้น เช่น ไม่มีการเบลอภาพบุคคลที่ 3 ก็อาจถูกฟ้องได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า ประเด็นธุรกิจเป็นเรื่องอ่อนไหว กฎหมายที่ออกมาค่อนข้างทำให้คนทำงานเหนื่อยไม่น้อย อาทิ ยูทูบเบอร์ไปรีวิวร้านอาหาร ทำคลิปวีดีโอโพสต์อาทิตย์ละ 1 คลิป แล้วต้องมาเก็บหลักฐานว่าได้ขออนุญาตเจ้าของร้าน ลองคิดว่าในรอบ 1 ปี จะต้องเก็บหลักฐานไว้มากเพียงใด ซึ่งต้องมีค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บ
“ต้องอ่านข้อกฎหมายดีๆ เช่น จะไปรีวิวร้านอาหารจะไปรีวิวมั่วซั่วไม่ได้แล้วนะ ต้องขออนุญาตด้วยนะ จะไปถ่ายติดคนอื่นมาหรือถ่ายแกล้งคนอื่นโดยที่เขาไม่ยินยอมไม่ได้นะ ต้องระมัดระวังมากยิ่งขึ้นเยอะเลย แต่ถ้าถ่ายแล้วใช้ในพื้นที่ส่วนตัว คำว่าส่วนตัวคือเฟซบุ๊คตัวเอง ไม่ได้มีการหารายได้ ยูทูบไม่ได้หารายได้ อันนี้ไม่ได้ผิด ไม่ต้องกังวล แต่ถ้าจะทำเป็น Content Creator เป็นยูทูบเบอร์ แล้วมีการหารายได้ หวังประโยชน์จากรายได้ตรงนั้นมา อันนี้ต้องอ่านกฎหมายดีๆ” นายกสมาคม
ผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าว
ขณะที่ อุดมธิปก ไพรเกษตร ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ PDPA Thailand ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดิจิทัล บิสิเนสคอนซัลท์ กล่าวเตือนในส่วนการทำงานของสื่อมวลชนว่าสื่อได้รับการยกเว้นในส่วนของการรายงานข่าวเท่านั้น แต่การเก็บข้อมูลแหล่งข่าวต้องระมัดระวังและต้องมีมาตรการรักษาความปลอดภัยข้อมูลด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบันองค์กรสื่อไม่ได้หารายได้แต่เพียงการโฆษณา แต่ยังมีกิจกรรมการจัดงานต่างๆ รวมถึงระบบสมาชิก เรื่องนี้น่ากังวลเพราะมีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลผู้รับสารจำนวนมาก
“ผมจดข้อมูลแหล่งข่าวทั้งหมดไว้ในกระดาษ บอกทั้งชื่อที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ มีความสัมพันธ์กับใคร ผมลืมทิ้งไว้แล้วมีคนอื่นหยิบสมุดเล่มนั้นไปได้แล้วเอาไปเผยแพร่ ถามว่าผมผิดไหม ผิดนะ อันนี้ไม่เกี่ยวกับการรายงานข่าว เป็นเรื่องการรักษาความปลอดภัยข้อมูลแล้ว ผมมีข้อมูลเก็บในทรัมป์ไดรฟ์เยอะเลย แหล่งข่าว ภาพข่าวที่ระบุตัวบุคคลได้ ผมทำทรัมป์ไดรฟ์นั้นหาย ผิดตามกฎหมายฉบับนี้นะ” อุดมธิปกยกตัวอย่าง
อุดมธิปก ยังฝากถึงผู้ประกอบธุรกิจซื้อ-ขายสินค้าออนไลน์ เช่น การขอที่อยู่ลูกค้าสามารถทำได้ตามปกติ เพราะหากไม่มีที่อยู่ผู้ขายย่อมไม่สามารถส่งสินค้าให้ผู้ซื้อได้ เช่นเดียวกับการขอหมายเลขโทรศัพท์ลูกค้า ก็เพื่อนัดหมายให้อยู่รอรับสินค้า อย่างไรก็ตาม หากผู้ซื้อไม่ประสงค์ที่จะให้ ก็สามารถบอกผู้ขายได้ว่าเมื่อสินค้ามาส่งให้ฝากไว้ที่ รปภ. หรือวางไว้หน้าบ้านแต่ก็มีบางกรณีต้องระมัดระวัง เช่น ผู้ขายมีเพจหลายเพจการนำข้อมูลส่วนบุคคลจากเพจหนึ่งไปใช้กับอีกเพจหนึ่งเพื่อชักชวนให้ซื้อสินค้า อาจผิดเรื่องใช้ข้อมูลผิดวัตถุประสงค์ได้ รวมถึงความเสี่ยงในการเก็บข้อมูลบุคคล ทั้งที่เป็นพนักงาน ลูกค้าและคู่ค้า หากมีจำนวนมากความเสี่ยงก็มากตามลำดับ
ด้าน เธียรชัย ณ นคร ประธานกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กล่าวว่า คำถามเกี่ยวกับนิยามของสื่อมวลชนตามกฎหมายนี้ที่ว่าจะนับเฉพาะสื่อที่มีสังกัดองค์กรหรือไม่เรื่องนี้ยังเป็นเพียงความเห็นที่พูดกันอยู่ เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนไว้แต่โดยความเห็นส่วนตัวแล้ว ใครจะถูกนับเป็นสื่อมวลชนบ้าง เป็นหน้าที่องค์กรสื่อเองที่จะต้องไปทำให้ชัด
“เราจะไปพูดแทนองค์กรสื่อก็คงลำบาก เพราะหลายๆ ครั้งมันก็มีการพูดรวมไป อย่างเช่น ยูทูบเบอร์ หรือคนที่ทำข่าวเล็กๆ น้อยๆ ก็ถือเป็นสื่อมวลชนเหมือนกัน แต่ว่าตรงสื่อมวลชนเองมันต้องมีความชัดเจนว่าต้องมีการรวมตัวกันเป็นสมาชิกของกลุ่ม สมมุตินะ แล้วในกลุ่มนั้นก็มีมาตรฐานจริยธรรมของตัวเอง ซึ่งสามารถคอยมอนิเตอร์การทำงานของสมาชิกของกลุ่มได้ อะไรทำนองนั้น อาจไม่จำเป็นต้องไปถึงขนาดต้องมีใบอนุญาตถึงขนาดนั้น” เธียรชัย กล่าว