วันศุกร์ ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2565
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : ‘เรื่องใหม่-เข้าใจยาก’พางง  มองไทยยุคแรกเริ่มใช้‘PDPA’

สกู๊ปแนวหน้า : ‘เรื่องใหม่-เข้าใจยาก’พางง มองไทยยุคแรกเริ่มใช้‘PDPA’

วันพฤหัสบดี ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2565, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

หากนับจากวันที่ 1 มิ.ย. 2565 ปัจจุบันก็ผ่านมาแล้ว 1 เดือนเศษกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า “กฎหมาย PDPA” ซึ่งต้องบอกว่านี่คือ “เรื่องใหม่” ของสังคมไทย แม้จะเป็นสังคมที่ผู้คนใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะ “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” กันอย่างแพร่หลายก็ตาม ทำให้ในช่วงแรกๆ ที่เริ่มบังคับใช้ เกิดความสับสนและข้อกังวลขึ้นเป็นจำนวนมาก

ในงานเสวนา (ออนไลน์) หัวข้อ “สิทธิดิจิทัล กับการคุ้มครองข้อมูลส่วนตัว ภายใต้ PDPA” ซึ่งจัดโดย โคแฟค (ประเทศไทย) ภายใต้การสนับสนุนของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และอีกหลายองค์กร ช่วงปลายเดือน มิ.ย.2565 ที่ผ่านมา กล้า ตั้งสุวรรณ ซีอีโอ Wisesight บริษัทด้านวิเคราะห์ข้อมูลความเคลื่อนไหวบนสื่อสังคมออนไลน์ เผยผลการวิเคราะห์สื่อสังคมออนไลน์ ประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล


โดยเป็นการเก็บข้อมูลข้อความที่มีการพูดถึงหรือกฎหมาย PDPA ประมาณ 14,000 ข้อความ ระหว่างวันที่ 1 พ.ค.-20 มิ.ย. 2565 บนสื่อสังคมออนไลน์ พบ “7 ประเด็นที่มักเข้าใจผิด” เรื่องกฎหมายฉบับนี้ ได้แก่ 1.ถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอ ติดภาพบุคคลอื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ยินยอม 2.นำภาพหรือคลิปวีดีโอที่ถ่ายติดบุคคลอื่นไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ 3.ติดกล้องวงจรปิด (CCTV) แล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือน 4.ถ่ายภาพหรือคลิปวีดีโอคนร้ายหรือผู้ถูกทำร้าย 5.ถ่ายรูปนักแสดง ศิลปิน ดารา ไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์

6.โพสต์เรื่องส่วนตัว-กิจกรรมในครอบครัว และ 7.เจ้าของข้อมูลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ นอกจากนั้นยังพบว่า แม้ประชาชนจะตื่นตัวเรื่องกฎหมาย PDPA แต่อาจขาดความรู้ที่ถูกต้อง บางส่วนก็เข้าใจผิด อีกทั้งข้อสงสัยบางเรื่องก็ไม่ได้รับคำตอบที่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างความตระหนักรู้ในกฎหมายฉบับนี้ได้ แต่ยังทำกันค่อนข้างน้อยเรื่องการชี้แจงประเด็นที่ประชาชนสงสัย สุดท้ายสื่อมวลชนยังถูกคาดหวังในการนำเสนอเนื้อหาที่เป็นให้ความรู้ โดยเฉพาะในการคลายข้อสงสัยหรือแก้ไขเรื่องที่เกิดความเข้าใจผิดขึ้น

“ผมมองว่าเรื่องนี้ภาครัฐเองและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น Stakeholder (ผู้มีส่วนได้-เสีย) หลายๆ ส่วนผมเชื่อว่ามีคำตอบดีๆ อยู่แล้วที่สามารถอธิบายให้เข้าใจได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือประชาชนอยู่บน Social Media (สื่อสังคมออนไลน์) ยังไม่เกิดความเข้าใจเรื่องนี้อย่างกระจ่างชัดมากนัก ก็จะเกิดเหตุการณ์คนไม่รู้คุยกับคนไม่รู้ไปเรื่อยๆ ซึ่งผมเล่าไปหลายที่ว่า เหตุการณ์พวกนี้เราจำเป็นที่ต้องหยุดอย่างรวดเร็ว เพื่อไม่ให้ความเข้าใจผิดมันถูกแพร่กระจายออกไปเรื่อยๆ แล้วความเข้าใจผิดส่วนใหญ่มันไม่ค่อยเกิดผลดีในเรื่องการผลักดันนโยบายอะไรบางอย่าง ในเรื่องที่เป็นประโยชน์”ซีอีโอ Wisesight กล่าว

ขณะที่ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความสับสนและข้อกังวลที่เกิดขึ้นจำนวนมากในสังคมไทย เมื่อ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้มาจากหลายสาเหตุ ทั้งความซับซ้อนของกฎหมายฉบับนี้ที่มากกว่ากฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ อีกทั้งยังบังคับใช้กับทุกกิจกรรมหรือกิจการที่มีการเก็บและใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในมาตรฐานเดียวกัน ทั้งที่สายงานแต่ละประเภท มีรูปแบบการเก็บและใช้ข้อมูลต่างกัน เช่น โทรคมนาคม การตลาด ห้องปฏิบัติการ(ห้องทดลอง-ห้องแล็บ)

ขณะเดียวกัน ต้องยอมรับว่าสังคมไทยแต่เดิมก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องความเป็นส่วนตัว (Privacy) อยู่แล้ว กล่าวคือ ไม่คุ้นเคยกับวิถีชีวิตที่เคารพความเป็นส่วนตัวของกันและกัน แต่กฎหมาย PDPA ที่ออกมานั้นคาดหวังให้คนในสังคมต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต อีกทั้งประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เพราะที่ผ่านมาถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่เนืองๆ ทั้งการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกัน หรือการลงโทษที่ไม่ได้สัดส่วน ในหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมาดังนั้นแม้จะเข้าใจว่ากฎหมายที่ออกมานั้นมีประโยชน์ แต่ก็กังวลในด้านการบังคับใช้

“การอธิบายกฎหมายนี้ในช่วงแรกๆ มันจะออกไปในมุมที่มีคนพยายามจะอธิบายในเชิงขู่กัน ว่าถ้าไม่ทำอย่างนี้แล้วเดี๋ยวจะโดนจับ เดี๋ยวจะโดนฟ้องร้อง เดี๋ยวจะต้องสูญเสียกิจการ เดี๋ยวจะต้องไปปรับมหาศาล คือการอธิบายกฎหมายแบบที่ Focus (เน้น) ผลทางร้าย ผลโทษ มันก็สะท้อนเหมือนกันนะว่าเราเติบโตกันมา เลี้ยงกันมาด้วยไม้เรียวมาทั้งชีวิต อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าสังคมเราเป็นแบบนั้น มันเป็นสังคมที่ชินกับการถูกใช้อำนาจ

ดังนั้นพอมันมีกฎใหม่ มี Standard (มาตรฐาน) ใหม่ออกมา สิ่งแรกที่ทุกคนจะคิดก็คือว่าทำอย่างไรจะไม่โดนตีคือมันอยู่อย่างนี้ แทนที่จะคิดว่า Standard นี้ มันจะพาให้เรามีโอกาสใหม่ๆ อะไร มันจะทำให้เราเคารพกันและกันมากขึ้นได้อย่างไร คือมันไม่คิดในเชิงบวก แล้วไปคิดในเชิงลบ” อาจารย์ฐิติรัตน์ ระบุถึงอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สังคมไทยกังวลกับกฎหมาย PDPA ในช่วงที่ผ่านมา

อาจารย์ฐิติรัตน์ เสนอแนะว่า การทำให้คนในสังคมมองกฎหมายในแง่ดีมากกว่าแง่ร้าย ด้านหนึ่งหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องต้องสื่อสารให้เข้าใจ ส่วนอีกด้านหนึ่งบทลงโทษไม่ควรเป็นทางเลือกตั้งแต่แรก แต่ควรเป็นการตักเตือนและแนะนำให้ผู้ทำผิดพลาดแก้ไขให้ถูกต้องก่อน ซึ่งก็จะกลายเป็นตัวอย่างให้บุคคลหรือองค์กรอื่นๆ ที่ทำผิดพลาดแบบเดียวกันได้ลงมือแก้ไขไปด้วยพร้อมกัน แต่ก็เบาใจได้บ้าง เพราะได้ทราบว่าในช่วงแรกๆ ของการบังคับใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 จะเน้นการเตือนให้แก้ไขมากกว่าลงโทษอย่างรุนแรง

อีกด้านหนึ่ง อาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล ผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต แสดงความกังวลในประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ในมาตรา 4 กฎหมายนั้นระบุเหตุแห่งการยกเว้นในการบังคับใช้ไว้ 6 ประการ แต่ยังให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส)ออก พ.ร.ฎ. มาเพิ่มประเภทของกิจการหรือกิจกรรมที่ยกเว้นการบังคับใช้ โดยไม่ต้องฟังคำปรึกษาจากคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

ว่า ท้ายที่สุดแล้วจะเป็นการจำกัดอำนาจของ คกก.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือไม่ เป็นการทำให้กฎหมายไม่เหลือสภาพที่ใช้งานได้จริงหรือไม่ และจะกลายเป็นบรรทัดฐานให้กฎหมายอื่นๆ ออกมาแบบเดียวกันหรือเปล่าในอนาคต ซึ่งเท่ากับทำลายหลักการถ่วงดุลอำนาจระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ เพราะกฎหมายที่เป็นพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ออกมาโดยสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นผู้แทนปวงชนจากการเลือกตั้ง เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ แต่รัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายบริหารสามารถใช้การออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) มาเพื่อทำให้กฎหมายใช้การไม่ได้

“ถ้าคุณยอมให้ฝ่ายบริหารใช้อำนาจกฎหมายแบบนี้ ผมคิดว่าคุณไม่ต้องพูดถึงแล้ว Rule of Law (นิติรัฐ) การแบ่งแยกอำนาจต่างๆ มันควรจะต้องมีหลักเกณฑ์บางอย่างหรือเปล่าว่าเมื่อใดที่สามารถตราพระราชกฤษฎีกาได้ เช่น อาจจะกำหนดเป็นเงื่อนไข ต้องไม่ทำให้เสียหลักใหญ่ใจความของเจตนารมณ์ตัวหลักของกฎหมาย ไม่เช่นนั้นฝ่ายบริหารก็จะทำให้อำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติไม่มีความหมายไปเลย” นายอาทิตย์ ฝากทิ้งท้าย

SCOOP@NAEWNA.COM

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เพลิงไหม้สถานบันเทิง’  เข้ม‘กฎปลอดภัย’ลดสูญเสีย สกู๊ปแนวหน้า : ‘เพลิงไหม้สถานบันเทิง’ เข้ม‘กฎปลอดภัย’ลดสูญเสีย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ฉัตรไชย ภู่อารีย์’  สังคมไทย‘รถร้อน’ยังจำเป็น สกู๊ปแนวหน้า : ‘ฉัตรไชย ภู่อารีย์’ สังคมไทย‘รถร้อน’ยังจำเป็น
  • สกู๊ปแนวหน้า : นับถอยหลัง‘ตัดแต้มใบขับขี่’  ยาแรงลดอุบัติเหตุถนนเมืองไทย สกู๊ปแนวหน้า : นับถอยหลัง‘ตัดแต้มใบขับขี่’ ยาแรงลดอุบัติเหตุถนนเมืองไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เลนขวาสุดวิ่งเร็ว120’  ขับขี่ปรับตัวได้..จุดห่วงยังมี สกู๊ปแนวหน้า : ‘เลนขวาสุดวิ่งเร็ว120’ ขับขี่ปรับตัวได้..จุดห่วงยังมี
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ความรุนแรง’เรื่องไม่เล็ก  แผลวัยเด็กฝังลึกแม้เป็นผู้ใหญ่ สกู๊ปแนวหน้า : ‘ความรุนแรง’เรื่องไม่เล็ก แผลวัยเด็กฝังลึกแม้เป็นผู้ใหญ่
  • สกู๊ปแนวหน้า :  ดึงย้ายถิ่นแก้อัตราเกิดลด(จบ)  ‘ประชากรข้ามชาติ’โอกาสไทย สกู๊ปแนวหน้า : ดึงย้ายถิ่นแก้อัตราเกิดลด(จบ) ‘ประชากรข้ามชาติ’โอกาสไทย
  •  

Breaking News

นายกฯปลื้มไทยติด 1 ใน 5 ประเทศยอดนิยมของนักท่องเที่ยวจีน

‘วราวุธ’รอดูเปิดสภา 15 ส.ค. เชื่อส.ส.เคลียร์ภารกิจเข้าร่วมได้ กราบขออภัยประชาชน

‘สาธิต’เชื่อองค์ประชุมครบวันเดียวจบชี้ชะตาสูตรหาร100 ชี้ปชช.มีสิทธิตำหนิถ้าสภาล่มซ้ำ

‘ชวน’ขอบคุณส.ว.-ทุกฝ่าย เปิดประชุมรัฐสภา 15 ส.ค.ถกกฎหมายลูกต่อ

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นายประพันธ์ สุขทะใจ ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved