นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษชาวจังหวัดสงขลา เดินทางกลับบ้านเกิดในช่วงวันหยุดยาวเพื่อกลับมาเยี่ยมครอบครัวและดูแลสวนเกษตรสมรมแบบผสมผสานตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงที่วางแผนการดำรงชีวิต หลังเกษียณราชการ แบบ "เกษียณ อย่าง เกษม" ในบั้นปลายชีวิตที่บ้านเกิดในจังหวัดสงขลา (หมายเหตุ สวนสมรม เป็นภาษาถิ่นของภาคใต้ คำว่า “สมรม” แปลว่า “รวมผสมผสาน”)
น.ส.จิรา ทองศรีนวล นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการพิเศษ เกษตรอำเภอบางขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นชาวจังหวัดสงขลาเดินทางกลับมาเยี่ยมบ้านเกิด ในช่วงวันหยุดยาวเพื่อมาดูแลสวนผลไม้ 2 แปลงที่ปลูกไม้ผลเอาไว้ที่ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ และที่ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา เนื่องจากนางสาวจิรา ขณะนี้อายุ 55 ปีได้มีการวางแผนการดำรงชีวิตอีก 5 ปีข้างหน้า หลังเกษียณราชการโดยการนำเอาองค์ความรู้และประสบการณ์ในการทำงานในอาชีพราชการด้านการเกษตรมา 36 ปี มาดำเนินการสานต่ออาชีพเกษตร โดยการทำสวนเกษตรสมรมแบบผสมผสาน ในแปลงเกษตรเดิมของครอบครัว (บิดามารดา) จำนวน 2 แปลง
โดยแปลงที่ 1 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 5 ตำบลน้ำขาว อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษ โดยพื้นที่เดิม ปลูกทุเรียน หมอนทอง ชะนี จำปาดะ และได้มาปลูกเสริมแซมด้วย มังคุด สะตอ ส้มจุกและมะนาว
สำหรับแปลงที่ 2 ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 7 ตำบลคลองทราย อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ในพื้นที่ประมาณ 2 ไร่เศษเช่นเดียวกัน สวนเดิมเป็นมะพร้าวและได้ปลูกเสริมแซมในสวนมะพร้าว ซึ่งมีทั้ง กล้วย ส้มโอทับทิมสยาม มะนาวแป้น เงาะโรงเรียน ฝรั่งพันธุ์กิมจู ซึ่งเป็นอาชีพรองรับหลังเกษียณราชการ โดยน้อมนำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ทำพออยู่ พอกิน แบ่งปัน เหลือขายเพียงบางส่วน ซึ่งคิดว่าในพื้นที่การเกษตรในการทำสวนสมรม 2 แปลง สามารถทำให้ชีวิตหลังเกษียณราชการอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน แบบ"เกษียณอย่างเกษม"
นางสาวจิรา ทองศรีนวล กล่าวว่า แม่บอกว่าทำเพื่อรอเกษียณ หลังเกษียณก็จะมาทำตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเกษียณแล้ว ก็อยากจะมาอยู่กับธรรมชาติ อยากกินอะไรก็ปลูกอันนั้น ปลูกไว้รอ ที่เหลืออาจจะขายและแบ่งปันให้เพื่อนบ้าน พื้นที่ประมาณ 2 ไร่กว่าก็คงจะพอสำหรับคน 1 คนที่จะใช้แรงงาน1 คนกับลูกอีก 2 คน ก็จะมาดูแลตรงนี้ ซึ่งไม่หนักกับตัวเองมากเกินไป
"กะว่าถ้าเกษียณแล้วก็จะเข้ามาทำอย่างเต็มที่ ซึ่งก็จะแบ่งให้เพื่อนบ้านและนำไปขายบ้าง ซึ่งตรงนี้เป็นความสบายใจ เนื่องจากพื้นเพของเรา เป็นเกษตรกร พ่อแม่เราก็เป็นเกษตรกร หลังเกษียณแล้ว ก็คงจะคิดเหมือนกันทุกคนว่า หันกลับมาสู่สามัญชน หันกลับมาสู่ด้านทำการเกษตร แต่หากจะให้ทำเป็น 100 ไร่ 20 ไร่ก็คงไม่ไหว เอาเฉพาะพอเพียงที่เราสามารถมาทำได้ ด้วยแรงกาย แรงใจ แรงงาน ที่อยู่ในครอบครัวเรา" นางสาวจิรา กล่าว