“ท่านใดพบเห็นรถบรรทุกลักษณะนี้บนทางหลวง สามารถส่งรูปหรือคลิปแบบเห็นความผิดชัดเจน พร้อมป้ายทะเบียนรถ พิกัดแบบละเอียดมาได้ในอินบ็อกซ์ครับช่วยกันเป็นหูเป็นตาดูแลทางหลวง หน่วยบริการฯตำรวจทางหลวงอู่ทอง พบรถบรรทุกตกแต่งผิดกฎหมายได้ออกใบสั่งข้อหา ใช้รถที่ใช้ในการขนส่งโดยมีอุปกรณ์ส่วนควบไม่ถูกต้องตามที่กำหนดในกฎกระทรวง พ.ร.บ.ขนส่ง มาตรา 71 เจอ จับหมดครับ”
ข้อความบนเฟซบุ๊ค “ตำรวจทางหลวง” ซึ่งเป็นเพจทางการของ กองบังคับการตำรวจทางหลวง โพสต์ไว้เมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2565 ขอความร่วมมือประชาชนให้ช่วยเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสรถบรรทุกแต่งประเภท “ติดไฟสว่างจ้ารอบคัน” แต่เมื่อไปดูความคิดเห็นบนโลกออนไลน์หลังเรื่องนี้ปรากฏเป็นข่าวก็มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยเพราะมองว่าการแต่งรถลักษณะนี้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้ใช้รถใช้ถนนคนอื่นๆ กับฝ่ายที่ไม่พอใจเพราะมองว่า การที่รถบรรทุกติดไฟสว่างรอบคันนั้นดีอยู่แล้ว เนื่องจากเวลากลางคืนจะได้มองเห็นชัดจนจากระยะไกลซึ่งลดเสี่ยงอุบัติเหตุได้
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) อธิบายประเด็นความเสี่ยงบนท้องถนน กรณีรถบรรทุกติดไฟสว่างรอบคัน ว่า โดยปกติแล้วในเวลากลางคืนหรือในที่มืด รูม่านตาจะขยาย ดังนั้นเวลาเจอแสงสว่างจ้า เช่น มีรถเปิดไฟสูง หรือเปิดไฟหลายดวงใส่ใบหน้า จะส่งผลให้เกิดสภาวะที่ไม่สามารถมองภาพด้านหน้าได้ จึงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ
ส่วนความเชื่อที่ว่ารถบรรทุกควรติดไฟส่องสว่างให้มากเข้าไว้เพื่อให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะอื่นๆ ที่ใช้เส้นทางเดียวกันมองเห็นโดยเฉพาะในเวลากลางคืนบนถนนที่หลายเส้นทางไม่มีไฟส่องสว่าง จะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุจากการพุ่งเข้ามาเฉี่ยวชนเพราะมองไม่เห็นนั้น ในความเป็นจริงสำหรับไฟหน้าและไฟท้ายที่ติดรถอยู่ หากหมั่นดูแลรักษาให้ใช้งานได้ ซึ่งรวมถึงการทำความสะอาดล้างคราบฝุ่นหรือโคลนที่เกาะอยู่ออกไป ก็เพียงพอให้รถคันอื่นๆ มองเห็นแล้ว หรือหากจะให้ปลอดภัยมากขึ้น ด้านท้ายรถควรติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสง ก็จะทำให้รถคันอื่นที่ขับตามมามองเห็นได้
“ถ้าจะติดเพิ่มก็ควรจะเพิ่มในตำแหน่งที่เป็นมุมที่จะกดลง ไม่ใช่มุมเสยขึ้น แล้วก็ไม่จำเป็นต้องติดเป็นแผง ติดเพิ่มในลักษณะที่ช่วยกระจายแสงให้เห็นเพิ่มขึ้นอีกสัก 1-2 ดวง สมมุติเขาขับสวนกับรถเก๋ง รถเก๋งก็จะสูงประมาณ 1-1.3 เมตร แล้วตัวรถบรรทุกตำแหน่งที่ติดจะอยู่ประมาณ 1-1.2 เมตร ขอบมันนะ ทีนี้ถ้าเกิดเขาวางองศาของไฟไม่ได้ก้มลงแต่สาดเข้ามา มันก็มีโอกาสให้รถที่สวน เช่น เราขับรถเก๋งสวนกับเขา มันจะแยงตา มันเหมือนเจอไฟสูง ซึ่งตรงนี้มันจะมีการประเมินหรือการทดสอบที่ขนส่ง เขาจะมีเกณฑ์วัดแสง” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม การติดไฟส่องสว่างเพิ่มเติมของรถบรรทุก หากติดตั้งในตำแหน่งที่เหมาะสมก็จะเกิดประโยชน์ เช่น ติดที่ด้านข้างของตัวรถหรือส่วนพ่วง เพราะเมื่อเวลารถบรรทุกหรือรถพ่วงเลี้ยวหรือกลับรถ รถคันอื่นๆ ก็จะสามารถมองเห็นจากระยะไกลและเตรียมตัวชะลอหรือหลบได้แต่ก็ต้องระมัดระวังอย่าติดให้มีแสงสว่างจ้าจนเกินไปนอกจากนี้สำหรับการติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงที่บริเวณท้ายรถควรเป็นข้อปฏิบัติภาคบังคับ เพราะในต่างประเทศเรื่องนี้ถือเป็นกฎหมาย
ขณะที่ ผศ.ดร.ศิรดล ศิริธร อาจารย์ประจำกลุ่มสาขาวิศวกรรมโลจิสติกส์และขนส่งทางราง คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าการติดไฟแสงสว่างจ้าจนเกินไป นอกจากจะไม่จำเป็นแล้วยังก่อให้เกิดอันตรายด้วย ซึ่งนอกจากรถบรรทุกแล้วยังพบเห็นได้จากการเปิด “ไฟตัดหมอก” ในรถยนต์ทั่วๆ ไป เรียกว่าแสงไฟส่องเข้าตาผู้ขับขี่รถคันไหนก็ทำเอาแทบจะขับต่อไปไม่ได้ ทั้งนี้ การติดไฟส่องสว่างมีข้อกำหนดเรื่องความสูงของตำแหน่งที่จะติดด้วย หากติดไม่ถูกจุดก็จะถือว่าทำผิดกฎหมาย
“เรื่องพวกนี้มันอันตราย เวลาเราวิ่งไปแล้วมองไฟเขาเรียกว่า Glare Vision มันเป็นการคล้ายๆ กับเราตาบอดชั่วคราวสักประมาณ 3-4 วินาที แต่ 3-4 วินาที เป็นเรื่องใหญ่มากในการขับรถ เหมือนกับเรานั่งเล่นมือถือ คิดว่าแป๊บเดียวไม่เป็นไรหรอก มันก็ทำนองนั้น ภายใน 2-3 วินาทีมันจะทำให้เกิดอะไรขึ้นผมว่ามันอันตราย
แล้วสิ่งเหล่านี้มันป็นสิ่งที่เราไม่สมัครใจจะทำด้วยซ้ำ ถ้าเป็นการเล่นมือถือ ถ้าเป็นการชำเลืองมองของตก เรารู้ว่าเราจะระวังแล้วนะ แต่อันนี้จู่ๆ เราขับมาเจอสาด (ไฟ) เข้ามา ไม่ถึงกับอาการบอดมองอะไรไม่เห็น แต่เรามองไม่เห็นรายละเอียดของภาพตรงหน้าไปพอสมควร มันจะใช้เวลาประมาณ 2-3 วินาทีในการกลับมา หรือ Recovery ที่เราจะมองเห็นได้ชัดเจนอีกทีหนึ่ง บางทีมันก็อันตรายกับคนอื่นๆ” อาจารย์ศิรดล อธิบาย
เช่นเดียวกันกับ นพ.ธนะพงศ์ ในความเห็นของ อาจารย์ศิรดล ก็ย้ำว่า ลำพังการบำรุงรักษาไฟส่องสว่างปกติที่ติดมากับตัวรถตามที่กฎหมายกำหนดให้ใช้งานได้ ก็เพียงพอแล้วที่ทำให้รถคันอื่นๆ มองเห็นในยามค่ำคืน นอกจากนั้น การติดสติ๊กเกอร์สะท้อนแสงที่มีค่าความสะท้อนแสงเพียงพอ ก็ทำให้รถคันอื่นๆ มองเห็นได้ เหมือนกับเมื่อเวลาขับขี่แล้วมองเห็นป้ายจราจรซึ่งทำจากวัสดุสะท้อนแสง
ด้าน อภิชาติ ไพรรุ่งเรืองประธานสมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ที่ผ่านมามีการแต่งรถกันแบบ “เลอะเทอะ” มากเกินไป ซึ่งนอกจากไฟส่องสว่างแล้วยังมีการติดบังฝุ่นหรือบังโคลนที่ล้ำออกไปด้านข้าง เป็นอันตรายต่อยานพาหนะอื่นๆ ที่ใช้เส้นทางร่วมกันด้วย เช่น บังโคลนดีดเศษหินไปโดนกระจกรถคันอื่นๆ หรือสุ่มเสี่ยงที่บังโคลนจะไปเกี่ยวจักรยานยนต์ที่ขี่มาด้านข้าง เป็นต้น
ซึ่งหากไปดูการแต่งรถบรรทุกในต่างประเทศ สหรัฐอเมริกาบ้าง ญี่ปุ่นบ้าง ที่อลังการมาก ก็ต้องย้ำว่าประเทศเหล่านั้นถึงมีการแต่งรถก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด จะติดตั้งอะไรก็ต้องขออนุญาตเพื่อให้รู้ว่าอะไรทำได้-ไม่ได้ เพราะการไปติดตั้งกันเองแล้วไปเปิดในยามค่ำคืนบนเส้นทางเปลี่ยวๆ ผู้ใช้รถคนอื่นๆ ในเส้นทางเดียวกันจะตกใจหรือเปล่า ส่วนแนวคิดที่ว่าติดแล้วเปิดตอนกลางคืนจะทำให้รถคันอื่นๆ มองเห็น ลดความเสี่ยงอุบัติเหตุจากการพุ่งเข้ามาเฉี่ยวชน ตนย้ำว่าติดได้ แต่ไม่ใช่ไปจัดเต็มมากมายขนาดนั้น และควรทำเรื่องขออนุญาตให้เรียบร้อย
“สิ่งที่เขาติดมันเป็นความสุขของเขา มันเป็นเงินของเขาเองนะ เพราะว่าทางเถ้าแก่รถไม่ได้รับผิดชอบตรงนี้ เรื่องบังฝุ่นกับเรื่องติดไฟ ติดได้ เพราะบางถนนมันไม่มีเส้นขาวและไม่มีไฟด้วย แต่มันติดกัน50-60 ดวง มันก็เกินไป แล้วคุณวิ่งสวนมาจะเห็นทางหรือ?” ปธ.สมาพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี