เข้าสู่ช่วง “โค้งสุดท้าย” ของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันที่เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือนก็จะหมดวาระซึ่งนั่นหมายถึง “การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)” ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี 2566 “บรรยากาศการเมืองไทย ณ ปัจจุบันจึงค่อนข้างคึกคัก” ในการเปิดตัว (ว่าที่) ผู้สมัครรวมถึงนโยบายของแต่ละพรรคการเมือง อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวของแนวร่วมทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลชุดปัจจุบันที่นำโดยนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่างใช้พื้นที่ทั้งออฟไลน์และออนไลน์แสดงออกจุดยืนทางการเมืองของตนอย่างแข็งขันและเข้มข้น
เมื่อช่วงกลางเดือน พ.ย. 2565 ที่ผ่านมา คณะกรรมการนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ The Active จัดเสวนาหัวข้อ “เลือกตั้งครั้งต่อไป อนาคตประเทศไทยเอาไงต่อ?” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (รังสิต) โดยมีตัวแทนจาก 4 พรรคการเมืองเข้าร่วม และ “การแก้ไขรัฐธรรมนูญ” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของวงเสวนาครั้งนี้ อาทิ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย กล่าวว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน (2560) คือการที่สมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวน 250 คน มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกนายกฯ
“การเลือกตั้งครั้งนี้มันกำลังจะเป็นการแข่งขันระหว่าง 2 ฝ่าย พรรคการเมืองที่ชนะแน่ๆ แต่อาจจะไม่ได้เป็นรัฐบาล กับพรรคการเมืองที่แพ้แน่ๆ แต่อาจจะเป็นรัฐบาล ถ้าเมื่อใดก็ตามที่ประเทศมีการเลือกตั้งแล้วมีการแข่งขันกันของ 2 ฝ่ายนี้ประเทศนั้นกำลังมีปัญหาอย่างสำคัญในทางการเมือง และผมไม่มีทางเชื่อว่าประเทศที่กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งแบบนี้จะเจริญเดินหน้าสถาพรต่อไปได้” ณัฐวุฒิ กล่าว
ณัฐวุฒิ กล่าวต่อไปว่า ขอเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองแสดงจุดยืนสนับสนุนพรรคที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งมากที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาล เพื่อเป็นการตัดโอกาสที่ สว. จะเข้ามามีบทบาท ซึ่งปัญหาคือ ก่อนเลือกตั้งบอกว่า สว. เลือกนายกฯ เป็นปัญหา แต่หลังเลือกตั้งกลับไปยกมือให้ฝ่ายที่แพ้เลือกตั้งเป็นรัฐบาล เรื่องนี้เป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่เสนอตัวมาเป็นตัวแทนประชาชน
พริษฐ์ วัชรสินธุ Policy Campaign Manager พรรคก้าวไกล กล่าวว่า จำเป็นต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับเพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง เพราะปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีมากกว่ามาตรา 272 ว่าด้วยการให้ สว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะ สว. ชุดปัจจุบันจำนวน 250 คน มาจากการเลือกโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บวกกับ สว. โดยตำแหน่งของผู้บัญชาการเหล่าทัพ ยังมีอำนาจออกเสียงกฎหมายปฏิรูปประเทศร่วมกับ สส. รวมถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ดังที่เห็นว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 272 ถูกปัดตกเพราะไมได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. อย่างน้อย 1 ใน 3 แม้จะได้เสียงจาก สส. ซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนมากถึงร้อยละ 88 ก็ตาม อำนาจของ สว. ยังเชื่อมโยงกับการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ทำให้องค์กรเหล่านั้นถูกตั้งคำถามถึงความเป็นกลางในการทำหน้าที่ ดังนั้นอำนาจของ สว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งต้องถูกแก้ไขเพราะขัดกับหลักประชาธิปไตยสากล สว. ที่มาจากการแต่งตั้งควรมีอำนาจน้อย แต่หากจะให้มีอำนาจมากก็ควรมาจากการเลือกตั้ง
“ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ก็ถกเถียงกันได้ว่าเป็นประโยชน์หรือไม่กับการคาดการณ์อนาคต 20 ปี แต่ผมคิดว่าใจความสำคัญไม่ใช่ว่ามันเป็นประโยชน์หรือไม่ ใจความสำคัญคือปัจจุบันมันไปบรรจุอยู่ในกฎหมาย ว่าถ้ารัฐบาลไหนที่มาจากการเลือกตั้ง สมมุติปี 2566 มีรัฐบาลพรรคหนึ่งได้เสียงท่วมท้น มีนโยบายที่ตอบโจทย์ประชาชนจำนวนมาก แต่ขัดกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี อาจจะสามารถถูกขับออกจากตำแหน่งได้โดยใช้กลไกการร้องเรียนและวินิจฉัยโดย สว.-ป.ป.ช.-ศาลรัฐธรรมนูญร่วมกัน” พริษฐ์ กล่าว
อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นอกจากมาตรา 272 เรื่อง สว. มีอำนาจร่วมเลือกนายกฯ แล้ว ยังมีมาตรา 256 ว่าด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว.อย่างน้อย 1 ใน 3 ซึ่งแม้ว่ารัฐธรรมนูญไม่ควรถูกแก้ได้ง่าย แต่ก็ไม่ควรนำเงื่อนไข สว. 1 ใน 3 มาเบรกการแก้ไข ขณะที่แนวคิดการตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ต้องกำหนดประเด็นให้ชัดว่าอะไรเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องแก้ ไม่เช่นนั้นก็จะวนอยู่กับเรื่องเดิมๆ เช่น มุ่งเน้นแต่ไปแก้ไขระบบเลือกตั้ง
นอกจากนั้น ยังมีสิ่งที่รัฐธรรมนูญไทยไม่เคยแก้ไขตามความเปลี่ยนแปลง คือ “โทษกับการมีผลทางกฎหมายย้อนหลัง” เช่น มาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ระบุว่า“บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทําการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทํานั้นบัญญัติเป็นความผิดและกําหนดโทษไว้” ซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลังในทางที่เป็นโทษ
โดยแม้โทษทางอาญาซึ่งมี 5 สถาน คือ ประหารชีวิต จำคุกกักขัง ริบทรัพย์และปรับ จะไม่มีผลย้อนหลังตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ แต่ยังมีโทษทางวินัย โทษทางแพ่ง รวมไปถึงตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นต้นมาที่มีองค์กรอิสระเกิดขึ้นหลายองค์กร นำมาสู่การมีระบบโทษใหม่ๆ นอกเหนือจากโทษทางอาญา การที่มาตรานี้ยังไม่ถูกแก้ไขตามไปด้วย ทำให้โทษอื่นๆ ที่ไม่ใช่โทษทางอาญายังมีผลย้อนหลังอยู่
“เรื่อง ส.ส.ร. คิดให้ดี ตั้งประเด็นก่อนว่าเป้าไหนต้องแทงไปที่หัวใจ ให้การบ้านก่อน โหวตกันตามนี้ก่อน จะทำประชามติโหวตไปก่อนก็ได้ แต่ต้องโหวตก่อนว่าคุณจะเอาอะไร ไม่ใช่ว่าไปโปรยไว้ก่อน ถ้าโปรยอย่างนี้ เกมการเมืองที่เขาถึงบอกว่าแสบที่สุด ดังเวลาทอดเวลานี่อันตรายที่สุด” อรรถวิชช์ กล่าว
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หัวหน้าทีมการศึกษาทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในข้อแรกเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญต้องถูกแก้ไข แต่ความพยายามแก้ไขไปติดอยู่ที่ต้องได้รับการสนับสนุนจาก สว. ด้วย 1 ใน 3 เป็นเงื่อนไขที่ล็อกไว้ ดังนั้นทางออกคืออยากให้มี ส.ส.ร. ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ขณะเดียวกัน “คนทำงานการเมืองก็ต้องไม่หยอดสิ่งที่จะเป็นเงื่อนไขเพิ่มความขัดแย้งในสังคมเข้าไป” โดยต้องมีความยืดหยุ่น สามารถทำงานร่วมกันได้โดยไม่มีเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติม
“2 โครงสร้างนี้ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วมันจะเป็นความหวัง มันจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นในอนาคตได้แน่นอน” ศ.ดร.สุชัชวีร์ กล่าว