วันอังคาร ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปพิเศษ : กสศ. เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี’65  ชี้การให้โอกาสเด็กยากจนจะช่วยเพิ่มรายได้ประเทศในอนาคต

สกู๊ปพิเศษ : กสศ. เปิดข้อมูลความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี’65 ชี้การให้โอกาสเด็กยากจนจะช่วยเพิ่มรายได้ประเทศในอนาคต

วันอาทิตย์ ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
Tag : สกู๊ปพิเศษ
  •  

“การศึกษา “คือสิ่งสำคัญในชีวิต เป็นสิ่งที่จะช่วยนำผู้คนไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดี ถือเป็นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับทุกๆ เรื่อง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังคงมีเด็กจำนวนมาก ที่ยังมีความยากลำบากในการเข้าถึงการศึกษา อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความพยายามอย่างเต็มที่ ในการที่จะทำให้การศึกษาเป็นเรื่องความเท่าเทียมของทุกคน

โดยเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2565 กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 นำเสนอแนวโน้มผลกระทบที่เป็นจุดเสี่ยงทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาและข้อเสนอนโยบายสู่การฟื้นฟูระบบการศึกษาไทยให้มีความเสมอภาค โดยพบว่า ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีเด็กนักเรียนในระดับการศึกษาภาคบังคับ (อนุบาล - ม.3) จำนวนประมาณ 9 ล้านคน อยู่ในสังกัดของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (อปท.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.)


ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา รายงานว่า จากการสำรวจสถานการณ์นักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 มีนักเรียนยากจนพิเศษจำนวน 994,428 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 มีจำนวน 1,174,444 คน ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,244,591 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 มีจำนวน 1,301,366 คน และล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน

หากพิจารณาโดยใช้รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า มีเด็กและเยาวชนอายุ 3-14 ปี จำนวนกว่า 2.5 ล้านคน อยู่ใต้เส้นความยากจน เนื่องจากมีรายได้ไม่ถึง 2,762 บาทต่อคน/เดือน และหากเปรียบเทียบข้อมูลนักเรียนยากจนพิเศษของ กสศ. ตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 ถึงปีการศึกษา 2565 พบว่า รายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนของนักเรียนยากจนพิเศษลดลงมากถึงร้อยละ 5 โดยตัวเลขล่าสุดในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษที่คัดกรองใหม่เฉพาะสังกัด สพฐ. อยู่ที่ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น ซึ่งมีนักเรียนกว่า 1.3 ล้านคน ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) จาก กสศ. และนักเรียนยากจนอีก 1.8 ล้านคน กสศ. ได้สนับสนุนผลการคัดกรองให้ต้นสังกัดจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติม

ดร.ภูมิศรัณย์ ระบุว่า กสศ. เสนอว่ารัฐบาลควรเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนในปัจจุบันที่จัดสรรให้ระดับประถมศึกษา จาก 1,000 บาท เป็น 1,190 บาท และระดับมัธยมต้น จาก 3,000 เป็น 3,300 บาท ขณะที่ทุนเสมอภาคซึ่งสนับสนุนนักเรียนในระบบการศึกษาภาคบังคับ จาก 3,000 บาท เป็น 3,300 บาท
เพื่อป้องกันการหลุดออกจากระบบการศึกษา

“ที่ผ่านมามีงานวิจัยของยูนิเซฟในปี 2015 ชี้ว่าจำนวนเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษา 500,000 คน จะส่งผลต่อมูลค่าเศรษฐกิจของประเทศถึง 1.7% ของ GDP หรือคิดเป็น 6,520 ล้านดอลลาร์ ส่วนข้อมูลจากงานวิจัยของ Eric Hanushek ในปี 2020 ได้ลองคำนวณว่าถ้าเด็กทุกคนในประเทศไทยบรรลุการศึกษาตามมาตรฐานสากล จะทำให้ GDP ของประเทศเติบโตได้ถึง 5.5% ไปได้ตลอดทั้งศตวรรษที่ 21 หรือในอีกทางหนึ่งถ้าไทยสามารถทำให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเป็นศูนย์ได้สำเร็จ จะทำให้ GDP ของประเทศเพิ่มถึง 3% ไปจนสิ้นศตวรรษเช่นกัน” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้ประเมินสถานการณ์ความยากจนในปี 2565 ในมิติกำลังซื้อทางการศึกษาว่าเป็นหัวใจสำคัญของการป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยในระบบการศึกษา ด้วยมุมมองการลงทุนเพื่อพยุงอำนาจและกำลังซื้อให้ผู้ปกครองยังคงมีกำลังส่งบุตรหลานให้อยู่ในระบบการศึกษา

ระดับการศึกษาส่งผลต่อการมีรายได้อย่างมีนัยสำคัญ จากผลสำรวจระดับการศึกษาของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 โดย กสศ. พบว่ามากกว่าร้อยละ 50 ของผู้ปกครองนักเรียนยากจนพิเศษจบการศึกษาสูงสุดเพียงระดับประถมศึกษา มีเพียงร้อยละ 0.9 เท่านั้นที่จบการศึกษาสูงสุดในระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่า โดยมีค่าเฉลี่ยรายได้อยู่ที่ 1,949-3,372 บาท ขณะที่ปัจจุบันรายได้ขั้นต่ำของประชากรที่เข้าสู่ฐานภาษีเฉลี่ย 26,584 บาท/เดือน โดยมีประชากรกลุ่มนี้ประมาณ 11 ล้านคน หากสามารถทำให้นักเรียนยากจน 2.5 ล้านคน ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและมีรายได้สูงถึงฐานภาษี นอกจากจะส่งเสริมคุณภาพชีวิตยังเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้ดียิ่งขึ้น

ดร.ไกรยส นำเสนอการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 โดย กสศ. พบว่า วุฒิการศึกษาที่สูงขึ้นส่งให้มีรายได้ตลอดช่วงชีวิตการทำงานเพิ่มขึ้น โดยหากประชากรวัยแรงงานในประเทศไทยมีวุฒิการศึกษาประถมศึกษาปีที่ 6 จะมีรายได้เฉลี่ย 9,136 บาท/เดือน หากมีวุฒิการศึกษามัธยมศึกษาปีที่ 3 จะมีรายได้เฉลี่ย 10,766 บาท/เดือน ขณะที่วุฒิมัธยมศึกษาปีที่ 6 จะมีรายได้เฉลี่ย 13,118 บาท/เดือน และวุฒิปริญญาตรี จะมีรายได้เฉลี่ย 27,132 บาท/เดือน

ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE หนึ่งในเครื่องมือของ กสศ. ที่สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยว่า ในปีการศึกษา 2561 ที่มีนักเรียนชั้น ม.3 ได้รับทุนเสมอภาคจาก กสศ. และทุนอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนจาก สพฐ. รวม 148,021 คน นักเรียนกลุ่มนี้เรียนอยู่ชั้น ม.6 ในปีการศึกษา 2564 จำนวน 62,042 คน และ กสศ. ได้เชื่อมโยงข้อมูลนักเรียนที่เข้าศึกษาต่อผ่านระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา (TCAS) พบว่ามีเด็กที่ได้รับความช่วยเหลือจากการคัดกรองนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษของ กสศ. เมื่อปีการศึกษา 2561 ยืนยันสิทธิ์ผ่านระบบ TCAS ในปีการศึกษา 2565 จำนวน 20,018 คน คิดเป็นร้อยละ 14 ของจำนวนนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษที่ยืนยันสิทธิ์เข้าศึกษาต่อกระจายอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 75 แห่ง

กสศ. ได้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์ในการประเมินว่า หากเด็กนักเรียนทั้ง 20,018 คน สามารถสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี จะทำให้รายได้ตลอดช่วงชีวิตของพวกเขาสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นถึง 66,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3 ล้านบาท/คนเมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขถ้าสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายขณะเดียวกัน หากคำนวณต้นทุนที่ต้องช่วยสนับสนุนให้พวกเขาสามารถเรียนจนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาตรีได้ในภาพรวม อยู่ที่ประมาณ 8,200 ล้านบาท หรือคิดเป็น 410,000 บาท/คน ซึ่งคิดเป็นผลตอบแทนกลับคืนสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 7 เท่า

“สรุปได้ว่าความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับการพัฒนาประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลางเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะยิ่งมีเด็กเยาวชนไปถึงการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นมากเท่าไร เราจะไปสู่ประเทศรายได้สูงได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การลงทุนกับการศึกษาถือเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ”

ดร.อัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า การแก้ปัญหาการศึกษาจำเป็นต้องแก้ไขในหลายมิติไปพร้อมกัน เพื่อแก้ปัญหาเด็กกลุ่มยากจนพิเศษหลุดจากระบบการศึกษา โดยพุ่งเป้าไปที่ปัญหาต่างๆ การแก้ปัญหาครอบครัว ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ของแต่ละแห่งที่แตกต่างกัน และโจทย์สำคัญที่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องทำงานร่วมกับ กสศ. คือการพัฒนาโรงเรียนและนักเรียนให้สอดคล้องกับปัญหาของนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ให้มีระบบโภชนาการหรือมีอาหารแต่ละมื้อที่มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วนระหว่างมาเรียน มีสื่อการเรียนการสอนที่จำเป็นต่อการเรียนที่เพียงพอ ซึ่งทั้งสองส่วนอาจจะยังมีปัญหาในกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก เพราะเกิดจากการจัดสรรงบประมาณรายหัว แต่ปัจจุบันได้มีการเพิ่มงบประมาณพิเศษในกับโรงเรียนกลุ่มนี้และเด็กยากจนพิเศษ จากปกติงบอาหารกลางวันคนละ 21 บาท เป็น 34 บาท

นอกจากนี้ สพฐ. ได้เร่งสร้างความร่วมมือกับ กสศ. และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยพยายามสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กทุกกลุ่มโดยเฉพาะเด็กที่มาจากครอบครัวยากจน ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา และมีความเชื่อมั่นว่าการศึกษาที่สูงขึ้นไม่เพียงแต่จะสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้ แต่ยังเป็นหลักประกันสำคัญของแต่ละครอบครัว และหลักประกันของการพัฒนาประเทศในอนาคตอีกด้วย

ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่ธนาคารแห่งประเทศไทยมองเห็นเกี่ยวกับปัญหาการศึกษาสอดคล้องกับ กสศ. คือการใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ในอนาคตประเทศไทยได้กำหนดยุทธศาสตร์ประเทศ ให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้ปีละ 5% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวอาจไม่ตรงตามเป้า เพราะปัจจัยสำคัญคือมีแรงงานของประเทศลดลงในอนาคต รัฐบาลจึงจำเป็นต้องชดเชยแรงงานกลุ่มนี้ด้วยการหันไปพัฒนาด้านโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น

“กสศ.ได้แสดงให้เห็นตัวเลขที่สำคัญว่า หากประชากรโดยเฉพาะเด็กกลุ่มยากจนพิเศษมีโอกาสได้เข้าถึงการศึกษาที่สูงขึ้น ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจในอนาคตก็จะขยับตาม เพราะรายได้เฉลี่ยของแต่ละครอบครัวสูงขึ้น รวมถึงการศึกษาจะเป็นหลักประกันสำคัญให้ประชากรสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิกฤตเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต หรือเศรษฐกิจยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย” ดร.ดอน กล่าว

ดร.ยุทธภูมิ จารุเศร์นี ผู้อำนวยการส่วนแบบจำลองและประมาณการทางเศรษฐกิจการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวว่า แนวทางการส่งเสริมด้านการศึกษา คือทำอย่างไรถึงจะช่วยต่อยอดเด็กเยาวชนในกลุ่มหรือพื้นที่ที่มีพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว ให้พัฒนาทักษะได้สุดทาง เรียนจบและมีงานในระดับสูง และในขณะเดียวกันก็ต้องลงทุนเพิ่มเติมด้านการศึกษาให้กับกลุ่มหรือพื้นที่ที่ขาดแคลนโอกาส แทนที่จะลงทุนเท่ากันกับทุกกลุ่มหรือทุกพื้นที่ ก็ใช้วิธีเติมปัจจัยพื้นฐานให้กับกลุ่มหรือพื้นที่ที่ต้องการที่สุด เป็นการกระจายความเสมอภาคออกไปให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น

“ในด้านการลงทุนศึกษา กระทรวงการคลังจะดูเรื่องของประสิทธิภาพ เม็ดเงินที่ลงไปต้องเกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงสร้างมูลค่าเพิ่มได้ การออกแบบนโยบายด้านการศึกษาก็เช่นกัน ควรมีนโยบายการสร้างคุณค่าของการศึกษา หรือสร้างแรงจูงใจให้เด็กเข้าเรียน โดยค่อยๆ ปรับพฤติกรรม หลักการคือกลุ่มเป้าหมายต้องมีอิสระทางความคิด สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้ไม่เกิดจากการบังคับ ขณะที่รัฐอาจออกแบบนโยบายการแลกเปลี่ยน ระหว่างการเข้าเรียนกับรางวัลบางอย่าง เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้อยากมาเรียน ไปจนถึงเมื่อเข้าเรียนครบทั้งสัปดาห์ หรือเรียนได้ตามเกณฑ์กำหนดในหนึ่งเทอมการศึกษา ก็อาจขยับไปให้รางวัลที่ใหญ่ขึ้น เหล่านี้เป็นการสร้างคุณค่าของการเรียนโดยไม่ต้องลงทุนในระดับโครงสร้าง และจะช่วยดึงเด็กเยาวชนไว้ในระบบได้มากยิ่งขึ้น” ดร.ยุทธภูมิ กล่าว

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก กสศ.

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปพิเศษ : ถอดบทเรียนแก้ปัญหาการพนันในสถานประกอบการไทย สกู๊ปพิเศษ : ถอดบทเรียนแก้ปัญหาการพนันในสถานประกอบการไทย
  • สกู๊ปพิเศษ : ‘บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่’ร้ายกว่าที่คิด! ตัวการดึง‘เด็ก-เยาวชน’สู่วงจรอันตราย สกู๊ปพิเศษ : ‘บุหรี่ไฟฟ้ารูปแบบใหม่’ร้ายกว่าที่คิด! ตัวการดึง‘เด็ก-เยาวชน’สู่วงจรอันตราย
  • สกู๊ปพิเศษ : สสส.ชูโมเดล‘ชุมชนหัวชุกบัว’ นำร่องรับมือ 3 ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ สกู๊ปพิเศษ : สสส.ชูโมเดล‘ชุมชนหัวชุกบัว’ นำร่องรับมือ 3 ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ
  • สกู๊ปพิเศษ : ​นำร่อง ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ online’ แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา สกู๊ปพิเศษ : ​นำร่อง ‘1 โรงเรียน 3 รูปแบบ online’ แก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษา
  • สกู๊ปพิเศษ : รู้จัก!‘ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์’ ผู้อำนวยการ บพค.คนใหม่ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นเลิศ ด้าน ววน. สกู๊ปพิเศษ : รู้จัก!‘ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์’ ผู้อำนวยการ บพค.คนใหม่ พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความเป็นเลิศ ด้าน ววน.
  • สกู๊ปพิเศษ : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ  เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปพิเศษ : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  •  

Breaking News

ละคร ‘พ่อจ๋าแม่อยู่ไหน’ ออกอากาศ 13-16 พ.ค. ทางช่องวัน31

'เอกนัฏ'สั่งเร่งเช็กคุณภาพอากาศ รอบพื้นที่โกดังย่านลาดกระบังไฟไหม้

บ้านนายกฯ อังกฤษโดนเผา ตำรวจเร่งสอบโยงวางเพลิง

(คลิป) ‘อิ๊งค์’รับเสียดายโอกาส ‘ทักษิณ’ชวดบินกาตาร์เจอ‘ทรัมป์’ซี้เก่า

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved