“บ้านคือวิมานของเรา” ที่อยู่อาศัยเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ แต่ที่มากไปกว่านั้นคือการเป็น “จุดชาร์จพลังงาน” เมื่อเหนื่อยล้าจากกิจวัตรต่างๆ ภายนอก ก็อยากจะกลับมาพักผ่อนกายและใจให้มีเรี่ยวแรงออกไปดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวกันต่อไป แต่หลายครั้ง “บ้านกลับกลายเป็นนรกแทนที่จะเป็นสวรรค์” เพราะดันไปอยู่ใกล้ “เพื่อนบ้านเจ้าปัญหา” ก่อความเดือดร้อนรำคาญ และบางครั้งก็จบลงด้วยโศกนาฎกรรม ฝ่ายหนึ่งทนพฤติกรรมอีกฝ่ายไม่ไหว ลงไม้ลงมือฆ่าอีกฝ่ายตายส่วนตนแองก็ต้องถูกจับติดคุกตะราง
เรื่องน่าปวดหัวจากการมีเพื่อนบ้านเจ้าปัญหา ล่าสุดเกิดขึ้นที่บริเวณซอยพ่อคำพันธ์ 1 คุ้มหัวบึง เขตเทศบาล ต.บ้านเชียง อ.หนองหาน จ.อุดรธานี โดยมีสมาชิกคนหนึ่งในชุมชนมีพฤติกรรมชอบใช้เครื่องขยายเสียงรบกวนคนอื่นๆ เปิดบทสวดมนต์บ้างเพลงบ้าง ลากยาวไปยัน 3-4 ทุ่ม คนในชุมชนต้องทนฟังมานานถึง 3 ปี ถึงขั้นบางคนทนไมไหว ขอระบายความคับแค้นด้วยการปาอุจจาระใส่บ้านผู้ก่อเหตุกันเลยทีเดียว
เมื่อดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ “ประมวลกฎหมายอาญา” ใน “มาตรา 370” ระบุว่า ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1 พันบาท , “มาตรา 397” (วรรคหนึ่ง) ผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ ต่อผู้อื่น อันเป็นการรังแก ข่มเหง คุกคามหรือกระทำให้ได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 พันบาท (วรรคสอง) ถ้าเป็นการกระทำในที่สาธารณะ หรือต่อหน้าคนจำนวนมาก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง ในประมวลกฎหมายอาญา หมวด 7 การกระทำความผิดหลายบทหรือหลายกระทง มาตรา 90 ระบุว่า เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้นโดยสรุป การส่งเสียงดังภายในบ้านหากทำให้คนอื่นเดือดร้อนรำคาญ อาจโดนปรับไม่เกิน 5 พันบาท หากเสียงดังต่อหน้าคนจำนวนมาก ก็อาจโดนโทษสูงสุดคุก 1 เดือน ปรับ 1 หมื่นบาท
นอกจากนั้นยังมี “พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535” ซึ่ง “มาตรา 25” ระบุว่า ในกรณีที่มีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้อยู่อาศัยในบริเวณใกล้เคียงหรือผู้ที่ต้องประสบกับเหตุนั้นดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นเหตุรำคาญ (4) การกระทำใดๆ อันเป็นเหตุให้เกิดกลิ่น แสง รังสี เสียง ความร้อน สิ่งมีพิษ ความสั่นสะเทือน ฝุ่น ละออง เขม่า เถ้า หรือกรณีอื่นใด จนเป็นเหตุให้เสื่อมหรืออาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ
“มาตรา 26” ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอ านาจห้ามผู้หนึ่งผู้ใดมิให้ก่อเหตุรำคาญในที่หรือทางสาธารณะหรือสถานที่เอกชน รวมทั้งการระงับเหตุรำคาญด้วย ตลอดทั้งการดูแล ปรับปรุง บำรุงรักษา บรรดาถนนทางบก ทางน้ำ รางระบายน้ำ คู คลอง และสถานที่ต่างๆ ในเขตของตนให้ปราศจากเหตุรำคาญ ในการนี้ ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือเพื่อระงับ กำจัด และควบคุมเหตุรำคาญต่างๆ ได้
“มาตรา 28” (วรรคหนึ่ง) ในกรณีที่มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นในสถานที่เอกชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้นระงับเหตุรำคาญภายในเวลาอันสมควรตามที่ระบุไว้ในคำสั่ง และถ้าเห็นว่าสมควรจะให้กระทำโดยวิธีใดเพื่อระงับเหตุรำคาญนั้น หรือสมควรกำหนดวิธีการเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุ
รำคาญเกิดขึ้นในอนาคต ให้ระบุไว้ในคำสั่งได้
(วรรคสอง) ในกรณีที่ไม่มีการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจระงับเหตุรำคาญนั้น และอาจจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญเกิดขึ้นอีก และถ้าเหตุรำคาญเกิดขึ้นจากการกระทำ การละเลย หรือการยินยอมของเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่นั้น เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่ดังกล่าวต้องเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับการนั้น
(วรรคสาม) ในกรณีที่ปรากฏแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าเหตุรำคาญที่เกิดขึ้นในสถานที่เอกชนอาจเกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพ หรือมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน เจ้าพนักงานท้องถิ่นจะออกคำสั่งเป็นหนังสือห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้สถานที่นั้นทั้งหมดหรือบางส่วน จนกว่าจะเป็นที่พอใจแก่เจ้าพนักงานท้องถิ่นว่าได้มีการระงับเหตุรำคาญนั้นแล้วก็ได้
“มาตรา 28/1” (วรรคหนึ่ง) เมื่อปรากฏว่ามีเหตุรำคาญเกิดขึ้นตามมาตรา 27 หรือมาตรา 28 เป็นบริเวณกว้างจนก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชน ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจประกาศกำหนดให้บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(วรรคสอง) การระงับเหตุรำคาญตามวรรคหนึ่ง และการจัดการตามความจำเป็นเพื่อป้องกันมิให้มีเหตุรำคาญนั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศกำหนด (วรรคสาม) ในกรณีที่เหตุรำคาญตามวรรคหนึ่งได้ระงับจนไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของสาธารณชนแล้ว ให้เจ้าพนักงานท้องถิ่นประกาศยกเลิกพื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญนั้นโดยไม่ชักช้า
“มาตรา 74” ผู้ใดไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 21 มาตรา 22 มาตรา 27 วรรคหนึ่ง หรือ มาตรา 28 วรรคหนึ่งหรือวรรคสาม หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประกาศที่ออกตามมาตรา 28/1 วรรคสอง โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตามมาตรา 23 มาตรา 27 วรรคสอง หรือมาตรา 28 วรรคสอง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : เพื่อนบ้านมหาภัยเปิดเพลงลั่นซอย เผ่นหนีหลังเป็นข่าว งัดไม้แข็งใช้กม.เด็ดขาด