“ถ้าเราจะทำให้ Local Economy (เศรษฐกิจชุมชน) กินดีอยู่ดีในชุมชน มันมีคำอยู่ 2 คำ 1.จะทำให้หมุนเวียนในพื้นที่ได้อย่างไร 2.จะชะลอไม่ให้เงินออกจากพื้นที่เร็วเกินไปได้อย่างไร2 คำถามนี้ มันทำให้เราต้องมาตีความและหานัยเครื่องมือใหม่ๆสิ่งหนึ่งที่เราพบเลยว่าตัวเศรษฐกิจชุมชนจะทำให้เกิดความชุ่มน้ำขึ้น การจะมี Rich (ความมั่งคั่ง) ในพื้นที่ได้ สิ่งเดียวคือต้องเอาฐานให้แน่น ผมใช้คำว่าถ้ารากไม่รอดต่อยอดไม่ได้”
ผศ.ดร.บัณฑิต อินณวงศ์ กล่าวในวงเสวนา “ธัชภูมิ”กับการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ เมื่อเร็วๆ นี้ถึงความสำคัญของ “ธุรกิจชุมชน” ที่แม้ด้านหนึ่งจะเปราะบางแต่อีกด้านก็มีมุมที่เข้มแข็ง เพราะครอบคลุมทั้งทรัพยากรและภูมิปัญญา อีกทั้งเศรษฐกิจในชุมชนมักมีการจ้างงานคนในชุมชนด้วยกัน ดังนั้นจุดสำคัญคือ จะทำให้ธุรกิจชุมชนรู้ด้วยตนเองได้อย่างไรใน 2 สิ่งคือ
1.รู้ลึก เข้าใจปัญหาและสาเหตุที่ตนเองเป็นอยู่เพื่อออกแบบแนวทางการแก้ไขได้ ผ่านชุดเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์ เช่น ในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 นั้นการเงินเป็นปัญหาสำคัญ ข้อมูลที่ได้จากการวิเคราะห์ไม่เพียงทำให้รู้จุดที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้วางแผนทำสิ่งต่างๆหลังจากนั้นต่อไปได้ด้วย กับ 2 รู้รอบ หมายถึงชุดความรู้การทำธุรกิจแบบใหม่ที่ไม่ได้รู้เฉพาะเรื่องของตนเอง แต่ไปร่วมกับคนอื่นๆ เพื่อให้โตไปด้วยกัน
“เขาต้องรู้ว่าเขาใช้วัตถุดิบอะไร มาจากใคร มาก-น้อยแค่ไหน ในช่วงนี้ของปีมีไหม ธุรกิจเขาเกี่ยวข้องกับใครบ้าง ทั้งตัว Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) และ Demand Chain (ห่วงโซ่อุปสงค์) เมื่อเขาเห็นภาพแบบนี้เขาออกแบบได้นะ เขาจะเริ่มรู้ พูดง่ายๆ Demand คือซื้อได้ที่ไหนที่เป็นธรรม ที่เพียงพอกับการดำเนินธุรกิจ ขณะเดียวกัน ตัว Supply บอกว่าตลาดอยู่ที่ไหน ลูกค้าเราคือใคร การที่เขาเฝ้ามองแค่ตรงนี้ มันทำให้หลักคิดที่เราพยายามพูดว่าหลักคิดคน-ของ-ตลาด ที่เข้าไปยกระดับการทำงานกับธุรกิจมันเกิดขึ้น” ผศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า
รศ.ดร.วีระศักดิ์ เครือเทพ กล่าวถึง “พลังของท้องถิ่น”ว่า ท้องถิ่นมีศักยภาพ แต่ไม่ได้รับความเชื่อมั่นทั้งจากประชาชนในพื้นที่และรัฐส่วนกลาง หรือแม้แต่ผู้บริหารท้องถิ่นเองก็ไม่มั่นใจในตนเองว่าทำอะไรได้-ไม่ได้บ้างด้วยกฎกติกาที่มีอยู่โดยเฉพาะเรื่องการเงิน-การคลัง ซึ่งจริงๆ แล้วท้องถิ่นสามารถเก็บภาษีได้แต่ต้องได้รับความเชื่อมั่น ผ่านการสนับสนุนชุดความรู้ กระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชน กระทั่งรัฐบาลกลางก็ยังมองเห็นว่าท้องถิ่นทำได้และออกมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และประกาศคณะกรรมการกระจายอำนาจมาสนับสนุน
“เรื่องรายจ่ายหรือการจัดบริการท้องถิ่น เราก็เริ่มมองภาพท้องถิ่นทำงานเรื่องนี้เป็นปกติ แต่ใช้วิถีแบบภาษาชาวบ้านคือแบบดั้งเดิม แบบโบราณๆ ทำแผนก็ยังต้องมานั่งเขียนมือเราก็เริ่มทดลองว่าถ้าเอา Data (ข้อมูล) เอา Digital Transformation (เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล) ไปใส่มันจะเห็นการเปลี่ยนแปลงไหม เราไปทดลองที่กระบี่มาแบบเต็มจังหวัด เก็บข้อมูลนู่นนี่ เราพบโจทย์บางอย่างที่เขามองไม่เห็น
เช่น เวลาเราพูดเรื่องกระบี่คนจะพูดเรื่องเศรษฐกิจท่องเที่ยวทางทะเล ชายหาดสวยงาม แต่ปรากฏว่าพอเราสแกนจังหวัดทั้งหมด เราพบว่าทะเลคนทุ่มกันเยอะเลยทั้งรัฐบาลทั้งท้องถิ่น แต่จริงๆ กระบี่มันมีความหลากหลายทางชีวภาพอยู่แยอะ มี GI (Geographical Indication : สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์) 2 ตัวไม่ได้ถูกเอามาใช้ พอเราลงพิกัด ทำ Mapping (แผนที่) ออกมาปุ๊บ! ท้องถิ่นบอกนี่คือช่องว่าง” รศ.ดร.วีระศักดิ์ ยกตัวอย่าง
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา กล่าวว่า ข้อมูลของประเทศไทยนั้นอ่อนแอมาก เพราะเมื่อใดที่พูดถึงคำว่า “คนฐานราก” กลับไม่มีข้อมูลที่เกินระดับอำเภอลงไป จึงไม่รู้ว่าเมื่อออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้วผลจะไปอยู่จุดใด กลายเป็นที่มาของคำว่า“รวยกระจุก-จนกระจาย” เพราะออกมาตรการไปก็ไหลเข้าทุนใหญ่หมด โดยหนึ่งในข้อค้นพบของการทำงานนี้คือ “ความพยายามเข้าใจสาเหตุของความจน” ว่ามีต้นตอจากอะไร
ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้งการถูกกดทับจากนโยบายการพัฒนาของรัฐ ภัยพิบัติธรรมชาติ หรือพฤติกรรมส่วนบุคคลหรือในครัวเรือน การทำความเข้าใจนั้นใช้ข้อมูลผ่านการทำงานเชิงพื้นที่ โดยมีมหาวิทยาลัยคอยสนับสนุน และพบข้อมูลที่น่าสนใจ 2 ด้าน กล่าวคือ ในขณะที่บางพื้นที่มีครัวเรือนยากจนแต่ตกหล่นจากการได้รับสวัสดิการของรัฐถึงร้อยละ 40 บางพื้นที่ก็พบครัวเรือนที่ไม่ได้จนจริงถึงร้อยละ 60 หมายถึงอยู่ในระบบของรัฐแต่ไม่มีรายได้
ดร.กิตติ อธิบายเพิ่มเติมว่า “การวัดความยากจนใช้เพียงรายได้ไม่พอ..ต้องใช้รายได้บวกกับชีวิตความเป็นอยู่”ตามไปดูกันถึงบ้านว่าใช้ชีวิตกันอย่างไร ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบสอบทานโดยให้ชุมชน มหาวิทยาลัยและรัฐมีส่วนร่วม ซึ่งก็จะพบครัวเรือนยังไม่ถึงขั้นยากจนแต่เข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้ ข้อค้นพบนี้ยังนำไปสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายในการปรับหลักเกณฑ์นิยามความยากจนด้วย แต่ที่สำคัญกว่านั้นคือเกิดการช่วยเหลือกันเองในชุมชน
“หลายชุมชนอยู่ติดชลประทานแต่ไม่เคยเข้าถึงชลประทาน ชุมชนติดชายฝั่งแต่ไม่เคยเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลฉะนั้นพอโอกาสมันเอื้อและคนที่มีแรงมากกว่าเขาไปเปิดโอกาส เขาเข้าถึงปุ๊บหลุดเลย อันนี้เรียกว่า Social Safety Net (เครือข่ายพยุงรองรับทางสังคม) เราเกิดกองทุนกฐินทำมหกรรมแก้จนในพื้นที่ช่วยเหลือกันเอง อันนี้สำคัญที่สุด แล้วท้ายที่สุดคือปรับจิตสำนึกของคนว่าเวลาเราจนไม่จริงเรารับไปก็เป็นบาปนะ แต่ถ้าเราเป็นคนจนจริงแล้วเข้าไม่ถึง คนที่มีแรงแต่ไม่เปิดโอกาสให้ก็เป็นบาปเหมือนกัน
พฤติกรรมของความยากจนเป็นพลวัตขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเขาด้วย ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการกดทับนโยบายภาครัฐอย่างเดียว พฤติกรรมรายคน-รายครัวเรือนมีส่วนร่วมมาก เพราะฉะนั้นการเอาความเชื่อ การเอาศาสนา การเอาพลังทางสังคมมาช่วยหนุนเพื่อปรับพฤติกรรมกับจิตสำนึกเข้าไปด้วย” ดร.กิตติ กล่าว
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม กล่าวว่า ในขณะที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) กำลังเคลื่อนไป แต่โครงสร้างเดิมที่มีบริหารจัดการไม่ทัน งานพัฒนาเมืองจึงต้องให้ความสำคัญกับโครงสร้างพื้นฐานอย่างอ่อน (Soft Technology) เช่น ระบบฐานข้อมูล กลไกการเงินที่เอื้อให้เมืองทำสิ่งใหม่ๆ ได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว รวมถึงการดึงภาคเอกชนและภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมทำโครงการระดับพื้นที่ ซึ่งแม้หน้างานจะมีคนเก่งอยู่มากแต่ยังขาดคนที่กล้าทำเพราะไม่มั่นใจในเชิงกฎหมาย และหลายคนก็อึดอัดไม่รู้จะทำอย่างไรต่อ
“อีกอันที่เป็นความรู้อีกชุดหนึ่งของเมือง เราพบว่าอย่างเคสหนึ่งกลไกใหม่นอกจากกลไกเดิมที่มาจากภาคเอกชนแล้ว กลไกภาคประชาชนไปภาคเยาวชนที่ทำงานด้วยกันเราพบว่าจำเป็นจะต้องถ่ายทอด ดังนั้นผมเลยมองว่า ความรู้แต่ละที่ที่เป็น Local Wisdom (ภูมิปัญญาท้องถิ่น) มันต้อง Synergy (ทำงานร่วมกัน) และต้องถ่ายทอด ดังนั้น กลไกความรู้จึงไม่ใช่เป็นกลไกที่คุยกันภายในเมืองอย่างเดียว แต่คุยกันระหว่างเมืองด้วย และคุยไปกับเมืองต่างประเทศด้วย เพราะฉะนั้นการให้กำลังใจกัน การ Empowerment (เสริมพลัง) กันแล้วนำมาสู่ความสามารถในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยที่ลงทุนไปแล้วสามารถกลับมาพวกเขาเอง” รศ.ดร.ปุ่น กล่าว
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย กล่าวว่า ประเทศไทยนั้นร่ำรวยไปด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรม อีกทั้งยังบริหารจัดการได้ดี ตัวอย่างหนึ่งคือการทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ อยู่ร่วมกันได้
ในขณะที่บางประเทศมีความขัดแย้งระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ถึงขั้นสู้รบเข่นฆ่ากันหรือถึงขนาดต้องแบ่งแยกออกไปตั้งเป็นประเทศใหม่ ทั้งนี้ การทำงานด้านทุนทางวัฒนธรรมจะอยู่บนความคิดเรื่องสำนึกท้องถิ่น นำไปสู่การสร้างคุณค่าและรู้สึกหวงแหน เช่น โครงการตลาดนัดวัฒนธรรม ที่ทุกวันนี้ไม่ได้เดินด้วยเงินวิจัยแล้วแต่เป็นเงินของท้องถิ่น โดยทุนวิจัยเป็นเพียงเมล็ดพันธุ์ (Seed) ตั้งต้นเท่านั้น
“คล้ายๆ กับเวลาเราเข็นรถ กับตอนนี้พอมันเริ่มสตาร์ทได้มันเป็นแค่ Monitor (เฝ้าดู) เติมเต็มนิดๆ หน่อยๆ ลากตรงนั้นตรงนี้ต่อเชื่อม ซึ่งอันนี้เป็น Knowhow (ความรู้) อีกเรื่องซึ่งคิดว่าต้องถอดออกจาก 5 ชุด คือระบบติดตามสนับสนุน คนนึกว่าสร้างอะไรแล้วทิ้งได้เลย จะว่าไปแล้วก็เหมือนต้นไม้ ต้องมีการตามดูบ้าง รดน้ำพรวนดินบ้าง หรือปล่อยเรือออกท่องมหาสมุทร เขามีพลังงานไปหาข้างหน้าได้ แต่มันต้องมี ว. บอกว่าพายุจะมาหรือเปล่า มันต้องมีระบบพวกนี้อยู่บ้างแล้วยังไม่มีการออกแบบเท่าไร” ดร.สีลาภรณ์ กล่าว
สำหรับ วิทยสถาน “ธัชภูมิ” เพื่อการพัฒนาพื้นที่ นั้นเป็นดำริของ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) มุ่งหวังให้เป็น “ธงนำ” ของการพัฒนาพื้นที่โดยครอบคลุมทั้ง 5 เรื่องของฐานทุนความรู้จากงานวิจัยเพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีผลกระทบอย่างสูงต่อการพัฒนาประเทศ ผ่านสถาบันความรู้ 5 สถาบันได้แก่ สถาบันความรู้เพื่อการจัดการทุนทางวัฒนธรรม สถาบันความรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สถาบันความรู้เพื่อการสร้างโอกาสทางสังคม สถาบันความรู้เพื่อการพัฒนาเมือง และสถาบันความรู้เพื่อเสริมพลังท้องถิ่น!!!
SCOOP@NAEWNA.COM