ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข สถานพยาบาลระดับตติยภูมิได้ใช้กลไกการรับรองเฉพาะโรค ตามมาตรฐานของ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) ในการขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ส่งผลให้ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่จากเดิมที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศ ปัจจุบันลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากการทำงานบูรณาการกับเครือข่าย
แพทย์หญิงสุวิมล คูห์สุวรรณ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เผยว่า ทางโรงพยาบาลได้ดำเนินการด้านการดูแลผู้ป่วยเอชไอวี ตามมาตรฐานการรับรองเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification : PDSC) ของ สรพ. มาประมาณ 10 ปี และได้รับการรับรองทางด้านของการดูแลเฉพาะโรคครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2560 หรือประมาณ 5 ปีที่แล้ว ซึ่งตามหลักต้องประเมินทุกๆ 3 ปี แต่เนื่องจากติดสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนการประเมิน และเพิ่งมาเข้ารับการประเมินครั้งที่ 2
“หากย้อนไป 10 ปีที่แล้ว ผู้ติดเชื้อสะสมในจังหวัดเชียงรายเรียกได้ว่าติด 1 ใน 5 ของประเทศ และเรามีการดูแลผู้ป่วยด้านเอชไอวีมาประมาณ 20 ปี ประกอบกับว่ามีการรับรองเฉพาะโรค ก็เป็นเหมือนมาตรฐานเพื่อที่จะให้เราพัฒนา นำไปสู่ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ ได้รับการรักษาที่ตรงมาตรฐาน เราเลยเลือกงานดูแลผู้ป่วยเอชไอวีมาปรับมาตรฐานและตัวชี้วัดในการดูแลประชาชน” แพทย์หญิงสุวิมล กล่าว
แพทย์หญิงสุวิมลกล่าวถึง การทำงานได้ร่วมกันกับเครือข่ายในจังหวัดเชียงราย โดยโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์จะเป็นแม่ข่ายในการทำงาน ที่แพทย์เฉพาะทาง ซึ่งผู้ติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถรับการดูแลจากแพทย์ทั่วไปได้ในโรงพยาบาลชุมชน แต่การที่เราต้องทำงานกันเป็นเครือข่ายเนื่องจากว่าลำพังกระทรวงสาธารณสุขอาจไม่สามารถทำให้ยุติปัญหาเอดส์ (Ending AIDS) ได้สำเร็จ จึงทำงานขยับไปที่เครือข่าย นั่นคือโรงพยาบาลที่ไม่ได้สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม โรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาลสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
การทำงานในลักษณะของเครือข่ายทำให้มาตรฐานทั้งจังหวัดเป็นแบบเดียวกัน และมีภาคประชาสังคม หรือ NGO ทั้งหมด 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มเอ็มพลัส 2. กลุ่มนับหนึ่ง
3. กลุ่ม ฅ ฅน เพื่อการเปลี่ยนแปลง และ 4. กลุ่มใบไม้ผลัดใบที่สามารถนำประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง กลุ่มทรานส์ กลุ่ม Sex worker เข้าสู่ระบบการรักษาที่โรงพยาบาลและช่วยแนะนำการปฏิบัติตัวที่จะไม่ทำให้เขามีผลเลือดบวกในอนาคตด้วย โดยในแต่ละกลุ่มจะมีกลุ่มเป้าหมายประชากรที่ดูแลแตกต่างกันโดยข้อดีของการทำงานนี้คือเขาจะสามารถพากลุ่มเสี่ยงเข้ามาดูแลให้เราได้
“โรงพยาบาลเราทำหน้าที่ในการรักษาเป็นหลัก และการทำงานกับเครือข่ายในการหากลุ่มเสี่ยง ก็เป็นกระบวนการเป็นการส่งเสริมและป้องกัน เมื่อเราเจอผู้ป่วยที่มีผลเป็นลบสิ่งที่เราต้องทำคือไม่ใช่หยุดการรักษา แต่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำในการป้องกันการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อที่จะไม่ให้ผลเลือดของเขาเป็นบวก และหากพบว่าผลเลือดเป็นบวก ข้อดีของการมีเครือข่ายคอยดูแลคือจะสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่ระบบการรักษาได้รวดเร็วขึ้น” แพทย์หญิงสุวิมล กล่าว
การใช้กลไกมาตรฐานการรับรองเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ เกิดประสิทธิผลชัดเจน คือปัจจุบันจำนวนตัวเลขผู้ป่วยสะสมของจังหวัดเชียงรายอยู่ที่ประมาณ 10,000 กว่าราย เป็นผู้ป่วยที่อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ประมาณ 4,000 กว่าราย ในส่วนของผู้ป่วยรายใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว พบว่ามีประมาณ 500-700 รายต่อปี ซึ่งเฉลี่ยตอนนั้น 2 คนต่อวัน แต่ปัจจุบันหลังจากที่เรารับการประเมินรับรอง มาตรฐานการรับรองเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ (Program and Disease Specific Certification: PDSC) ทำให้เราได้มีการขยับการทำงานจากโรงพยาบาลไปที่เครือข่าย และเครือข่ายสามารถทำได้เหมือนโรงพยาบาลเชียงราย เช่น จัดบริการทั้งการรักษาป้องกัน รูปแบบจะใกล้ๆ กัน ทำให้ ณ ปัจจุบัน ปี พ.ศ. 2565 จำนวนผู้ป่วยที่อยู่ในความดูแลของโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์อยู่ที่ 191 ราย ส่วนในภาพรวมตัวเลขทั้งจังหวัดเชียงรายอยู่ที่ประมาณ 300 ต่อปี
แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ
อย่างไรก็ตาม นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สะท้อนว่า ประชาชนพื้นที่จังหวัดเชียงรายส่วนใหญ่จะเป็นสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า และจะมีบางส่วนประมาณร้อยละ 2-3 เป็นแรงงานข้ามชาติหรือเป็นกลุ่มไร้สิทธิ์ เนื่องจากเชียงรายเป็นพื้นที่ชายขอบ ซึ่งคนกลุ่มนี้เคยเป็นปัญหาเก่าในอดีตก่อนเข้ารับการประเมิน และหลังจากที่เรารับการประเมินการดูแลเฉพาะโรค ผู้บริหารโรงพยาบาลและกระทรวงสาธารณสุข ก็เห็นความสำคัญเรื่องนี้ และนำเข้าสู่การรักษา ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันในอนาคต
“วันหนึ่งเขาจะมีครอบครัว และเด็กที่เกิดในประเทศไทยก็จะเป็นประชาชนคนไทย ดังนั้นเราจำเป็นต้องทำให้พ่อแม่เขาแข็งแรง เพื่อที่จะให้ดูแลลูกได้ เพราะฉะนั้นเรื่องการข้ามสิทธิ์หรือคนไม่มีสิทธิ์ ทางจังหวัดและกระทรวงสาธารณสุขได้รับทราบปัญหา และเราได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรระหว่างประเทศ ที่นำมาช่วยในกลุ่มคนไร้สิทธิ์ ซึ่งขณะนี้เราเองก็มีการปรับเชิงระบบของเราเอง และอาศัยเชิงนโยบายที่จะทำให้พวกเขาเป็นคนมีสิทธิ์ ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานแต่มักพบว่านายจ้างไม่ซื้อสิทธิ์ประกันสังคมให้” แพทย์หญิงสุวิมล กล่าว
แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กล่าวว่า โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ นับเป็นต้นแบบในการใช้กลไกมาตรฐานการรับรองคุณภาพเฉพาะโรค /เฉพาะระบบเป็นมาเป็นเครื่องมือในการดูแลผู้ป่วยเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทำให้เกิดการทำงานบูรณาการในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาล ส่งผลให้ระบบบริการงานโรคติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีความเชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อ ตั้งแต่การส่งเสริมป้องกันการติดเชื้อ การตรวจค้นหาโรคการตรวจวินิจฉัย และตรวจติดตามประเมินสภาวะโรคและการดูแลรักษา
แพทย์หญิงสุวิมล คูห์สุวรรณ
สอดคล้องกับขอบเขตของการรับรองเฉพาะรายโรค คือ การดูแลผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดหรือตลอดธรรมชาติของการกำเนิดโรค และเพื่อให้ดูแลเฉพาะโรคที่ดีดังกล่าวขยายความสำเร็จในระดับจังหวัด จึงเกิดความร่วมมือและการสนับสนุนจากกองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค และ ศูนย์ความร่วมมือไทย สหรัฐ ด้านสาธารณสุข (PEPFAR) ส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพด้านเอชไอวีทั้งในระดับโรงพยาบาล (HIV-DSS) และเข้าสู่การรับรองคุณภาพเครือข่ายระบบบริการสุขภาพด้านเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Healthcare Network Accreditation : HNA) สู่การยุติปัญหาเอดส์ ในปี พ.ศ.2573 (ค.ศ.2030)
โดยทางโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้ผ่านการรับรองมาตรฐานเฉพาะโรค/เฉพาะระบบ ใน 5 ระบบ ได้แก่ การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ระบบการดูแลรักษาในห้องฉุกเฉินของสถานพยาบาล, การดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, ระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน และการดูแลทารกเกิดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรบุคคลและระบบสู่การรับรองขั้นก้าวหน้า (Advanced HA) ด้วยการทำงานเป็นทีม