16 ก.พ. 2566 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และสถานีโทรทัศน์ ThaiPBS จัดเสวนาเรื่อง “อยู่หรือไป 'หาบเร่แผงลอยไทย' ใครกำหนด?” เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 15 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา โดย นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นเมืองใหญ่ มีคนหลากหลายเข้ามาอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคนที่อยู่ดั้งเดิมหรือที่อพยพเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนใครจะเป็นผู้กำหนด การดำเนินการนโยบายสาธารณะทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม และการปรึกษาหารืออาจไมได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว
“คงเป็นไปได้ยากถ้าเรานึกถึงเรื่องของการชักเย่อ หรือถ้าใครเคยเล่นเกมที่เรียกว่าแย้ลงรู หลายๆ คนเอาเชือกผูกแล้วแล้วทุกคนวิ่งเข้าหารูตัวเอง จากเกมนี้เราชื่อไหมว่าไม่มีใครสามารถลงรูตัวเองได้เลย เพราะทุกคนต่างเกร็ง แต่จะทำอย่างไรจึงจะหาทางออกร่วมกัน แน่นอนว่าไม่มีใครสามารถที่จะได้ไปเสียทั้งหมด และเราก็คงจะไม่อยากให้เห็นใครใครเสียทั้งหมด ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญมากในการฟังเสียงทุกคน การหาทางออกร่วมกัน” รองเลขาธิการ สช. กล่าว
รศ.ดร.กิริยา กุลกลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหาหาบเร่แผงลอยมองว่าเกิดขึ้นจากอคติที่เป็นความไม่รู้ของคนส่วนใหญ่ มองว่าหาบเร่แผงลออยรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ไร้ระเบียบวินัย ไม่เสียภาษี ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่สะอาด ไม่ทันสมัย ดังนั้นหากสังคมเปิดรับทัศนคติที่ถูกต้องมากขึ้นก็จะเข้าใจมากขึ้น ซึ่งก็มีข้อเท็จจริงที่ทราบกันว่าประเทศไทยมีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม
ขณะเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจก็ไมได้มีงานที่ทุกคนจะเข้าไปอยู่ในระบบได้ หรือไม่มีทางที่ทุกคนจะเข้าไปขายของในห้างสรรพสินค้าได้ ยังมีคนเล็กคนน้อยอยู่ในสังคมไทย มีความหลากหลายอยู่ในนั้น ซึ่งหากยอมรับและเข้าใจว่าการพัฒนาเศรษฐกิจยังไม่สมบูรณ์แบบถึงขั้นที่ทุกคนสามารถอยู่ได้เหมือนกันแบบเป็นตัวใหญ่ได้หมด หรือปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดได้ทั้งหมด ก็จะทำให้การพูดคุยมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้นในสังคม
ทั้งนี้ ในระบบเศรษฐกิจมีความหลากหลาย มีทั้งคนตัวเล็กและตัวใหญ่อยู่ด้วยกัน แต่การปรับตัวนั้นคนตัวเล็กทำได้ยากกว่า เช่น มีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อหรือขยับขยายกิจการเข้าไปในห้างสรรพสินค้าด้วยตนเอง ดังนั้นหากมองอย่างสร้างสรรค์ก็ควรคิดว่าจะช่วยปรับปรุงพัฒนาคนกลุ่มนี้ได้อย่างไร คนเหล่านี้อาจจะยังโตด้วยตนเองไม่ได้ สู้ไปก็แพ้ตลอดแต่ก็ต้องให้เขาสู้ตลอด ซึ่งเมื่อใดก็ตามที่จุดเริ่มต้นในการแข่งขันไม่เท่ากัน ย่อมเป็นหน้าที่ของภาครัฐเข้ามาโอบอุ้มคนเหล่านี้เติบโตขึ้นอย่างสร้างสรรค์และไปต่อได้
อนึ่ง แม้ในทางเศรษฐศาสตร์จะมีสิ่งที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) แต่ก็ไม่ได้ใช้สิ่งนี้เป็นตัวชี้วัดเดียวในทางอธิบายสภาพเศรษฐกิจ ยังมีตัวชี้วัดอื่นๆ ที่นำมาใช้ด้วย เช่น สัมประสิทธิ์จีนี (GINI Coefficient) ในการชี้วัดความเหลื่อมล้ำ เป็นต้น เพียงแต่เวลาเห็นตัวเลข เวลาทางการประกาศจะเห็น GDP เป็นหลัก ซึ่งจริงๆ ในทางเศรษฐศาสตร์บอกว่าจำเป็นที่เศรษฐกิจต้องโต ก้อนเค้กต้องโต แต่ไม่เพียงพอต่อความกินดีอยู่ดีของมนุษย์ ฉะนั้นจะมีปัจจัยอื่นๆ อีก GDP บอกแค่ว่าก้อนเค้กโต แต่ไม่ได้แบ่งว่าก้อนเค้กนั้นให้ใครบ้าง
“ทำอย่างไรเราจะชวน Stakeholders (ผู้มีส่วนได้-เสีย) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นผู้บริโภคเองที่เขาชอบทานหาบเร่แผงลอย หรือคนที่ไม่สนใจเลยฉันต้องการพื้นที่วิ่งหรือเดินบนฟุตปาธ หรือหาบเร่แผงลอย เอามาคุยกัน เปิดใจที่จะคุยกัน แล้วก็คุยกันในเชิงสร้างสรรค์ว่าเรามีปัญหา เราต้องยอมรับว่าเรามีปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างมาก แล้วจริงๆ เรายอมรับความหลากหลายบนโลกนี้ขึ้นมาเยอะมาก ไม่ว่าจะความหลากหลายทางเพศ เรื่องสีผิว เรื่องความคิดที่แตกต่าง แล้วทำไมเราไม่เห็นความหลากหลายในแง่ของเศรษฐกิจ” รศ.ดร.กิริยา กล่าว
รศ.ดร.อมร กฤษณพันธุ์ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า หาบเร่แผงลอยเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจนอกระบบ (Informal Sector) ซึ่งไปเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ ไม่ใช่เฉพาะผู้ค้าแต่รวมถึงผู้ซื้อด้วยซึ่งอาจไม่มีเงินมากพอจะจับจ่ายในห้างสรรพสินค้า เป็นเรื่องของอุปสงค์และอุปทานมาเจอกัน
นอกจากนั้น หากมองคำว่าพื้นที่สาธารณะ จะพบว่าพื้นที่เดียวกันการใช้ประโยชน์ยังแตกต่างกันไปตามช่วงเวลา เช้า-กลางวัน-เย็น และในเชิงของผังเมือง พื้นที่สาธารณะหากประชาชนเข้าไปใช้อย่างหลากหลายก็จะอยู่ได้ไม่รกร้าง ไม่ใช่ทำเพื่อสวย และการมีคนอยู่พลุกพล่านและสามัคคีกัน คนเหล่านี้ยังช่วยเป็นหูเป็นตาได้แม้บริเวณนั้นจะไม่มีกล้องวงจรปิด (CCTV) เลยก็ตาม ซึ่งพื้นที่สาธารณะของเมืองควรจะเข้าถึงได้ทุกคน ไม่ใช่จะเป็นห้างอย่างเดียวแล้วไม่มองคนรายได้ไม่สูงพอจะจ่ายได้
“คนที่ผูกพันขายของอยู่ตรงนั้นเขาตระหนักอยู่ว่านี่คือชีวิตเขา แต่บางคนเดินผ่านวิ่งผ่านวันหนึ่งสัปดาห์หนึ่ง อาจจะครั้งหนึ่งด้วยซ้ำ แต่นี่คือพื้นที่สาธารณะ ตุณก็ต้องเข้าใจด้วยเหมือนกัน ก็จะย้อนกันเหมือนกันว่าสิทธิ-หน้าที่ต้องมี และต้องมีความรู้ว่าตัวเขาในบริบทกรุงเทพมหานครหรือในสังคมเขาอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ว่าตรงนี้ใครใหญ่ แต่ตรงนี้ใครเป็นพระเอกของเรื่องในช่วงเวลาหรือในพื้นที่นี้ แน่นอนมันอาจจะปรับเปลี่ยน มันอาจจะใม่ได้ยั่งยืนตลอดเวลา แต่พอเรารู้ว่าเข้าป็นอย่างนี้ในช่วงเวลานี้ แต่มันก็อยู่ในกรอบ” รศ.ดร.อมร กล่าว
ผศ.กฤษณะพล วัฒนวันยู อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เมืองคือที่ที่คนมาอยู่ด้วยกัน จึงมีการทะเลาะเบาะแว้งหรือปะทะกัน แต่ต้องมีพื้นที่ให้คนได้พูดคุยทำความรู้จักและเรียนรู้ร่วมกัน เมืองจึงจะมีชีวิตชีวา เช่น หากเข้าใจหาบเร่แผงลอยก็จะสามารถออกแบบการจัดระเบียบร่วมกับผู้ค้าได้ซึ่งก็จะดีกับทุกฝ่าย
“ถ้าเราไม่เข้าใจเขา ไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร เขาคือใคร เขาทำอะไร เขามาขายกี่โมง เขาขายเล็ก-ขายใหญ่ ขายอะไรบ้าง ไปเอาของมาจากไหน ขายให้ใคร เราไม่เข้าใจเขาเราออกแบบไปมันก็เป็นเมืองที่ผิดพลาด เป็นเมืองที่ไม่น่าอยู่ มันเหมือนดึงอันนี้ออกแล้วใส่อันนี้เพิ่มแล้วมันจบ ไม่ใช่ เมืองมันมีคนอยู่ก็คือมีชีวิต วิวัฒน์ไป ดี-ไม่ดี อะไรอย่างนี้” ผศ.กฤษณะพล กล่าว
ศ.สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของสังคมไทยทำกันโดยไม่ใช้ความรู้จักกัน เช่น การยกเลิกจุดผ่อนผันจากเดิมที่มีกว่า 700 จุด เหลือ 100 กว่าจุด ถามว่ามีใครรู้บ้างว่าผู้ค้าและครอบครัวจากจุดที่ถูกยกเลิกไปนั้นไปอยู่ที่ไหน มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร รวถมึงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เขาได้รับผลกระทบอย่างไร อย่างมากก็รู้เพียงตัวเลขจำนวนเท่านั้น
โดยที่ผ่านมาการแก้ปัญหาทำด้วยการใช้อำนาจ แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธว่าบ้านเมืองต้องแก้ปัญหาด้วยกฎหมาย แต่การขยายตัวของเมืองไม่ได้ขยายด้วยกฎหมายแต่ด้วยพลังทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งกรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ใหญ่กว่าเมืองที่ 2 หลายสิบเท่า และไม่น่าจะหยุดการเจริญเติบโตได้ง่ายๆ เพราะกรุงเทพฯ นั้นรวมศูนย์ของความสะดวกมากมาย อาทิ การที่ที่ดินย่านสีลมแพง ไม่ได้เกิดจากรมธนารักษ์ต้องการให้แพง กรมธนารักษ์เพียงแต่ออกมายืนยันว่าที่ดินดังกล่าวแพงเท่านั้น แต่คำถามคือใครมีสิทธิ์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินแพงนั้นบ้าง
“หรือต้องเป็นคนรวยเท่านั้นถึงจะมีสิทธิ์ใช้กรุงเทพฯ ได้ อันนี้มันก็เป็นคำถามสำหรับบ้านเมืองเรา ที่เรารู้สึกว่าเราเป็นเจ้าของประเทศร่วมกัน ผมคิดว่าเงื่อนไขอันแรกคือไม่ยอมทำความรู้จักจริงๆ แต่แก้ปัญหาด้วยเครื่องมือทางนโยบายแบบที่เคยชิน ยิ่งเวลารวมศูนย์อำนาจก็ใช้วิธีรวมศูนย์อำนาจ เสมือนว่ารวมศูนย์อำนาจแล้วจะแก้ปัญหา ทุบโต๊ะแล้วจะแก้ปัญหาได้หมด ผมคิดว่าเราสร้างความยากลำบากหรือสร้างเคราะห์กรรมให้กับคนไปเท่าไรยังไม่รู้เลย” ศ.สุริชัย กล่าว
ดร.กฤษฎา ธีระโกศลพงศ์ อาจารย์ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า ตนเคยทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคสินค้าจากหาบเร่แผงลอย พบผู้บริโภคที่กำลังยืนซื้ออาหารจากแผงลอยอยู่แต่กลับตอบแบบสอบถามว่าไม่เห็นด้วยกับการมีแผงลอย ซึ่งดูเป็นความย้อนแย้ง จากนั้นเมื่อถามต่อไปว่าในเมื่อไม่ชอบแผงลอยแล้วเหตุใดยังซื้อ คำตอบคือมีอาหารให้เลือกหลายอย่าง สะดวกและมีราคาที่เข้าถึงได้
จึงเห็นว่าการจัดการหาบเร่แผงลอยมีความซับซ้อนกว่าการมองเพียงด้านกฎหมายหรือความสะอาด หากแต่เป็นวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้น เพียงแต่ที่ผ่านมาสื่อเสนอข่าวก็มักจะใช้ประเด็นความสะอาดเป็นตัวตั้ง โดยตนใช้พื้นที่สีลมเป็นสถานที่เก็บข้อมูล อีกทั้งก่อนจะเป็นอาจารย์ก็เคยทำงานอยู่ในย่านนั้นด้วย ทราบว่าลูกค้าหลักของอาหารแผงลอยคือคนทำงานในบริเวณนั้น โดยอยากให้ลองนึกภาพว่า หากสร้างอาคารสูงขึ้นมา ร้านอาหารในอาคารจานละ 70-80 บาท คนทำงานหากจบ ป.ตรี เงินเดือนราว 18,000-20,000 บาท ถามว่าจ่ายค่าอาหารแบบนั้นบ่อยๆ ไหวหรือไม่
และต้องไม่ลืมด้วยว่า คนที่ทำงานในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด หรือก็คือร้อยละ 70 ของคนที่ทำงานใน กทม. เป็นคนย้ายถิ่นมาจากที่อื่น ซึ่งก็ต้องมาเช่าที่พักใน กทม. นอกจากนั้นยังมีค่าเดินทาง ตนเคยสำรวจพบว่าคนคนหนึ่งมีค่าอาหาร 180 บาทต่อวัน และราคานี้เป็นการกินแบบประหยัด ค่าเดินทาง 3,000 บาทต่อดือน ลองคิดต่อไปว่าเงินเดือน 2 หมื่นบาท บริษัทไทยให้ได้ประมาณนี้ จะพอเหลือเก็บออมหรือไม่ ดังนั้นในอีกมุมหนึ่ง การมีแผงลอยอาจช่วยลดค่าครองชีพในเมืองก็ได้
อนึ่ง หากบอกว่าปัจจุบันประเทศไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยรัฐแต่ด้วยธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดใหญ่ทำเรื่องความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมกันมาก แต่ถามว่าทำอะไรกันบ้าง เช่น ทำความสะอาดวัด ปลูกป่า หรืออื่นๆ ที่อาจจะไม่ตอบโจทย์สังคมจริงๆ ทั้งที่ในเมืองมีปัญหาคนตัวเล็กตัวน้อยอยู่ รอบๆ สำนักงานผู้ค้าถูกไล่รื้อได้รับความเดือดร้อน ทั้งๆ ที่เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) นั้นมีเรื่องของสิทธิมนุษยชนด้วย
และสิทธิมนุษยชนก็ไม่ได้มีแต่เรื่องกฎหมาย แต่รวมถึงชีวิตความเป็นอยู่และการทำมาหากินของผู้คน ภาคธุรกิจจึงต้องมีส่วนร่วมด้วย ส่วนคำถามที่ว่าภาคธุรกิจโดยเฉพาะทุนใหญ่จะได้ประโยชน์อะไรกับการมีตัวตนของหาบเร่แผงลอย ก็ต้องถามกลับไปว่าแล้วชาวบ้านได้ประโยชน์อะไรกับเมืองที่มีตึกมีอาคารเติบโตขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสรุปแล้วก็คือเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ในสังคม ในทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย
“อย่างไรมันก็ต้องกลับมาที่มันจะมีพื้นที่อะไรให้คนกลับมาพูดคุยกัน ปรึกษาหารือกัน อย่างที่บางท่านพูดว่าคุยกันอย่างสุจริตใจ คือคุยกันแบบตรงไปตรงมาและสุจริตใจ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ ถ้าคุยกันสุจริตใจไม่ต้องถกเถียงกันเลยว่าใครอยู่ข้างหลัง มีใครซ่อนอยู่บ้าง มันจะไม่มีทันทีเลย แต่มันคุยกันได้หรือเปล่าบนความเป็นไปได้ ซึ่งเป็นเรื่องยาก” ดร.กฤษฎา กล่าว
ในช่วงท้ายยังมีตัวแทนผู้ค้าหาบเร่แผงลอยแสดงความคิดเห็น อาทิ นายเรวัตร ชอบธรรม ประธานเครือข่ายแผงลอยไทยเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน กล่าวว่า การออกระบบจากข้างบนลงมาข้างล่าง หรือที่บางคนเรียกว่ามาจากหอคอยงาช้างแล้วคนข้างล่างปฏิบัติไม่ได้ ทางออกคือต้องแก้จากข้างล่างขึ้นไปข้างบน ให้ข้างบนเข้าใจว่ากรุงเทพฯ มี 50 เขต แต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงไม่เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ ที่มีการทำ Hawker Center หรือศูนย์อาหารในอาคาร
“ผมได้ยินเขาบอกว่า ประเทศสิงคโปร์พื้นที่ทั้งหมดเป็นของรัฐ รัฐสามารถทำอะไรก็ได้ จะจัดระเบียบแบบไหนก็ได้ จะสร้างอะไรก็ได้ แต่กรุงเทพฯ เป็นของเอกชน ถ้าเป็นของเอกชนรัฐก็ไม่สามารถบังคับเอกชนได้ว่าถ้าให้เข้าไปอยู่ในพื้นที่ของคลาดเอกชนแล้วบังคับว่าคุณจะจ่ายค่าเช่าถูกๆ ได้ ถ้าหากตลาดเขามีมูลค่า ตลาดเขาดี เขาก็ต้องเพิ่มค่าเช่า ที่บอกว่าคนขายของเล็กๆ น้อยๆ ไม่สามารถจะเข้าได้ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง” นายเรวัตร กล่าว
ขณะที่ นายปรีชา ไทยสงเคราะห์ ประธานสหพันธ์ผู้ค้าหาบเร่แผงลอยกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนปัจจุบัน มีนโยบายจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยแบบที่ผู้ค้ามีส่วนร่วม เพราะที่ผ่านมาสัดส่วนคณะกรรมการจัดระเบียบนั้นมีตัวแทนผู้ค้าน้อยมาก ทำให้การที่ผู้ค้าจะตอบสนองต่อนโยบายของ กทม. นั้นเป็นไปได้ยาก ทั้งนี้ ผู้ค้าคาดหวังว่าจะได้กลับไปทำการค้าในพื้นที่เดิม หรือหากเป็นพื้นที่ใหม่ก็ต้องมีความเหมาะสม
“เราต้องการเมืองแบบไหนของกรุงเทพฯ หรือเกือบทุกๆ เมือง ถ้าเราต้องการเมืองที่เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์ เราก็จะอยู่อย่างสวยงาม โลกสวย ถ่ายรูปออกมาสวยงาม แต่ถ้าเราต้องการเมืองให้มันมีชีวิตชีวา ให้เมืองกลับไปมีชีวิตเหมือนเดิมก่อนที่จะมีการจัดระเบียบ ในความหมายของผมคือการจัดระเบียบคือผู้ค้าหาบเร่แผงลอยเข้าใจว่าจัดให้มันสวยงาม แต่ในความเป็นจริงมันเป็นการไล่เลิก” นายปรีชา กล่าว