เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. ได้จัดประชุมวิชาการประจำปี HA National Forum ครั้งที่ 23 ระหว่างวันที่
14-17 มีนาคม 2566 ภายใต้หัวข้อ “ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ (SYNERGY ForSAFETY And WELL-BEING)” ที่ได้เปิดเวทีแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการจากคณาจารย์ทางการแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสุขภาพ และวิทยากรพิเศษจากหลายหน่วยงาน
โดยหนึ่งในเวทีของห้องสัมมนาหลักที่ได้รับความสนใจอย่างมากกับประเด็น “ระบบสุขภาพที่ดี ไม่มีทางทำคนเดียว!” ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองจากกรุงเทพมหานคร
รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวถึงระบบสาธารณสุขคนเมือง ว่า เมื่อพูดถึง กทม. เรามักนึกถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ แต่แท้จริง “กทม.คือเมือง และเมืองคือคน” ดังนั้น สุขภาพเมืองขึ้นอยู่กับสุขภาพคน ตนในฐานะผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าแก้ไขวงจร “เจ็บ โง่ จน” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเมืองผ่านมิติสุขภาพและการศึกษา
ทั้งนี้ ความท้าทายของระบบสาธารณสุขในเมือง คือ ความแออัดของประชากร ความชุกของมลพิษโรคติดต่อและโรคไม่ติดต่อที่มาจากวิถีชีวิตคนเมืองขณะที่ กทม. มีจำนวนเตียงโรงพยาบาล (รพ.) ทุกสังกัดรวมกันถึง 33,231 เตียง แต่ กทม. เป็นเจ้าของเพียง 2,600 เตียงใน 11 รพ. ฉะนั้น ตนจึงมองทิศทางระบบสาธารณสุขของเมืองออกเป็นเส้นเลือดใหญ่ คือ โรงพยาบาล และเส้นเลือดฝอย คือ ศูนย์บริการสาธารณสุข 66 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุขสาขา 77 แห่ง คลินิกชุมชนอบอุ่นของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)รวมถึงร้านขายยา ซึ่งหากเส้นเลือดฝอยอ่อนแอส่งผลทำให้คนไม่เชื่อมั่น ก็จะทำให้คนหลั่งไหลไปที่เส้นเลือดใหญ่
รศ.ดร.ชัชชาติกล่าวต่อว่า กทม. จึงต้องสร้างความเชื่อมั่นในระบบสาธารณสุขปฐมภูมิให้มากขึ้น เพื่อลดความแออัดใน รพ. โดยการดำเนินการเชิงรุกหลักๆ เช่น จัดระบบการแพทย์ทางไกลผ่านแอปพลิเคชั่น “หมอ กทม.” ขณะนี้ดำเนินการใน รพ. 9 แห่ง ตั้งเป้าขยายผลให้ครบ 11 แห่งในปี 2567 ขณะเดียวกัน ปัญหาเรื่องเตียงใน รพ. ของ กทม. นั้น ก็มีนโยบายขยาย รพ. 10,000 เตียง โดยใช้บ้านผู้ป่วยเป็นฐาน ส่วนด้านเวชศาสตร์ป้องกันเพื่อเสริมสร้างสุขภาพที่ดีให้คนเมือง เช่น ป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยการให้ออกมาติดเพื่อนติดสังคมแทน ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายในการดูแลจาก 230,000 บาท/คน/ปี เหลือ 120,000 บาท กทม.จึงสนับสนุนการจัดตั้งชมรมผู้สูงอายุให้มีในทุกแขวง ทุกเขตเพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย นอกจากนั้นยัง ส่งเสริมการออกกำลังกายด้วยนโยบายสวน 15 นาทีใกล้บ้าน
“เมื่อมาถึงคำถามว่า ใครจะเป็นคนสร้างระบบสาธารณสุขในฝันของ กทม.? จึงต้องย้อนกลับไปในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เราจะเห็นภาพของบุคลากรทางการแพทย์ที่เหน็ดเหนื่อยอย่างมาก จึงเป็นคำตอบว่าสุดท้ายแล้วระบบสาธารณสุขที่ดี ไม่มีทางทำคนเดียวได้จึงต้องอาศัยความร่วมมือจาก 4 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ วิชาการ ธุรกิจ และ ประชาชน โดย กทม.ขอยืนยันว่า เราพร้อมจะร่วมงานกับทุกคนเพื่อให้เกิดระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งขึ้นและให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่ของทุกคน” รศ.ดร.ชัชชาติ กล่าว
ด้าน รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพฯกล่าวว่า หลักการของระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ คือการทำให้คนใกล้ชิดกับการพยาบาลมากที่สุด โดยหนึ่งในนโยบายที่ กทม. ต้องกลับมาทบทวน คือ การแพทย์ทางไกล เพราะไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงระบบนี้ได้ ซึ่งท่านผู้ว่าฯ ก็ยอมรับและพร้อมปรับปรุงในเรื่องดังกล่าว ทำให้ตนได้เห็นว่า นโยบายต่างๆ มีสิทธิเปลี่ยนระหว่างทาง ซึ่งเป็นความสำคัญของผู้นำที่ต้องยอมรับในสิ่งที่ผิดพลาดและอนุญาตให้มีการแก้ไขให้ถูกต้อง
ทั้งนี้ กทม. เป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อนในการดูแลประชาชน จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดย กทม. พร้อมสนับสนุนตามอำนาจที่มีอย่างเต็มที่ จึงนำมาสู่ผลงานตลอด 9 เดือน อาทิ คลินิกสุขภาพ “เพศหลากหลาย” (BKK PRIDE CLINIC/LGBTQI+CLINIC) โดยเปิดให้บริการในศูนย์บริการสาธารณสุข 6 แห่ง และยังเปิดให้บริการนอกเวลาทำการด้วย การดูแลผู้พิการที่ต้องออกบัตรยืนยันความพิการ โดยความร่วมมือจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาระบบออนไลน์ให้ผู้พิการยืนยันตนเองได้ที่ รพ. ซึ่งช่วยลดการเดินทาง ลดเวลาเหลือเพียง 40 นาที และการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข ให้เป็น ศบค.พลัส ด้วยการใช้การแพทย์ทางไกล ให้แพทย์ในศูนย์ฯ สามารถเชื่อมต่อกับแพทย์ใน รพ. ทั้ง 11 แห่งของ กทม.ได้โดยตั้งเป้าหมายขยายความครอบคลุมให้มากขึ้นภายใน2 เดือน
ขณะที่ พล.อ.ท.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ กล่าวว่า สำหรับประชากรใน กทม. ราว 5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ
แห่งชาติ หรือ บัตรทอง 3.5 ล้านคน สิทธิประกันสังคม 3.3 ล้านคน ขณะที่เตียงโรงพยาบาลของ กทม. มีหลักพันเตียงเท่านั้น เราจึงต้องหาแนวทางทำให้ รพ. ต่างๆ มีส่วนร่วมกับระบบสาธารณสุขปฐมภูมิในการดูแลผู้ป่วย เพื่อลดความแออัดใน รพ. ทั้งยังช่วยให้การดูแลผู้ป่วยในรพ. ใหญ่มีคุณภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งทั้งหมดจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
ขณะเดียวกัน ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success) คือ ผู้นำที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มาก ซึ่ง กทม. มีความโชคดีที่มีทีม กทม. ที่เข้มแข็ง มีผู้ว่าฯ พร้อมรับฟัง และมี รองผู้ว่าฯ กทม. อย่าง รศ.ทวิดา ที่เป็นหญิงแกร่ง
“สำหรับระบบสุขภาพที่ดี ไม่สามารถทำได้คนเดียว เพราะเราต้องมีความร่วมมือ อย่างที่ กทม. ได้ทำ ก็เกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะสำนักอนามัยและสำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข และ รพ.ทั้งในและนอกสังกัด ไปจนถึงภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่ร่วมกับและ กทม. ขอขอบคุณทุกท่าน” พล.อ.ท.นพ.อนุตตร กล่าว
พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการ สรพ. กล่าวว่า สำหรับการดำเนินงานของทีม กทม. โดยเฉพาะผู้ว่าฯ ชัชชาติ ที่เป็นไปอย่างธรรมชาตินั้น ตรงกับมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (HA) หมวดที่ 1-1 การนำองค์กรโดยผู้นำระดับสูง โดยการสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงานนำสู่การปฏิบัติ นอกจากนั้น ความพยายามของ กทม. ในการสร้างระบบสาธารณสุขที่ดีให้คนเมือง ก็ตรงกับเป้าหมายของ สรพ. ที่ได้จัดการประชุมวิชาการครั้งที่ 23 ขึ้น เพื่อสร้างความร่วมมือ ผนึกกำลังเพื่อความปลอดภัยและสุขภาวะ โดยเชื่อว่า ผลการดำเนินงานของ กทม. จะเป็นโมเดลที่ดีให้กับหลายๆ พื้นที่ เพื่อยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน
“ขอบคุณที่ทาง กทม. ให้ความสำคัญกับระบบสุขภาพ อย่างที่ทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ถ้ามีเรื่องใดสักเรื่องที่คนเราคุยกันรู้เรื่อง ก็คงจะเป็นเรื่องสุขภาพ ที่จะเป็นกลไกเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก” พญ.ปิยวรรณกล่าวทิ้งท้าย
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี