วันศุกร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2568
แนวหน้า
  • แนวหน้า
  • หน้าแรก
  • คอลัมน์
    • คอลัมน์วันนี้
    • คอลัมน์ออนไลน์
    • คอลัมน์การเมือง
    • คอลัมน์ลงมือสู้โกง
    • โลกธุรกิจ
    • ผู้หญิง
    • บันเทิง
    • Like สาระ
    • ดูทั้งหมด
  • ข่าวเด่น
  • พระราชสำนัก
  • การเมือง
  • โลกธุรกิจ
  • อาชญากรรม
  • กทม.
  • ในประเทศ
  • เกษตร
  • ต่างประเทศ
  • กีฬา
  • ผู้หญิง
  • บันเทิง
  • ยานยนต์
  • Like สาระ
หน้าแรก / ข่าว Like สาระ
สกู๊ปแนวหน้า : บทบาทธุรกิจกองทัพเมียนมา  รากฐานสู่อำนาจทางการเมือง

สกู๊ปแนวหน้า : บทบาทธุรกิจกองทัพเมียนมา รากฐานสู่อำนาจทางการเมือง

วันเสาร์ ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2566, 02.00 น.
Tag : สกู๊ปแนวหน้า
  •  

เป็นเวลากว่า 2 ปีแล้วกับสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศเมียนมา (พม่า) นับตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. 2564 เมื่อกองทัพทำรัฐประหารล้มอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ขณะที่ประชาชนก็ลุกขึ้นต่อต้านด้วยการชุมนุมประท้วงในเขตเมืองซึ่งก็เจอกับการปราบปรามอย่างรุนแรง จนหลายคนเลือกเส้นทางจับอาวุธทำสงครามจรยุทธ์ในนามกองกำลัง PDF ลอบสังหารเจ้าหน้าที่รัฐหรือใครก็ตามที่สนับสนุนฝ่ายกองทัพ คู่ขนานไปกับปฏิบัติการของกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ก็สู้รบยืดเยื้อมาหลายสิบปีกับกองทัพเมียนมาเช่นกัน

เมื่อกล่าวถึงกองทัพเมียนมา หรือ “ตั๊ดมาดอว์ (Tatmadaw)”นอกจากบทบาททางการเมืองแล้ว “ธุรกิจที่หล่อเลี้ยงกองทัพ” ก็เป็นอีกประเด็นที่มีการศึกษากัน ดังเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดบรรยายเรื่อง “ธุรกิจกองทัพเมียนมา : การรักษาและขยายอำนาจทางการเมือง” โดยมี ดร.เอนกชัย เรืองรัตนากร รัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ทำวิทยานิพนธ์ระดับดุษฎีบัณฑิต หัวข้อ “ธุรกิจกองทัพกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในเมียนมา ค.ศ. 1958-2020” เป็นผู้บรรยาย


ดร.เอนกชัย ฉายภาพประวัติศาสตร์กองทัพเมียนมา โดยเลือกห้วงเวลาศึกษาระหว่างปี 2501-2563 (ค.ศ.1958-2020) แบ่งเป็น 4 ยุคสมัยคือ 1.ปี 2501-2503 ในยุครัฐบาลรักษาการ โดยนายพลเนวิน 2.ปี 2505-2531 ยุคสภาปฏิวัติ ซึ่งมาจากนายพลเนวินทำการรัฐประหาร 3.ปี 2531-2554 ยุคสภาทหาร SLORC, SPDC และ 4.ปี 2554-2563 ยุครัฐบาลพรรค USDP ที่ทหารให้การสนับสนุน และรัฐบาลพรรค NLD ซึ่งมีออง ซาน ซู จี เป็นแกนนำคนสำคัญ ทำการศึกษาทั้งเอกสาร ไปจนถึงสัมภาษณ์เชิงลึกกับอดีตนายทหารเมียนมาระดับชั้นนายพล

หลังตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษมานาน เมียนมาก็ได้รับเอกราชในปี 2489 ในตอนแรกปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน ที่มี อูนุ เป็นผู้นำ ซึ่งสำหรับประเทศเกิดใหม่เป็นย่อมเรื่องปกติที่การเมืองจะยังไม่มีเสถียรภาพ มีความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ และกองทัพจะมีบทบาทในการควบคุมสถานการณ์รวมถึงแก้ไขความขัดแย้ง นำไปสู่การเจรจากัน โดยอูนุยอมให้นายพลเนวิน ตัวแทนของกองทัพปกครองประเทศในฐานะรัฐบาลรักษาการ ในปี 2501 เนื่องจากที่ผ่านมากองทัพมองว่าอูนุประนีประนอมกับกลุ่มชาติพันธุ์มากเกินไป

ในยุคนี้กองทัพเมียนมาก่อตั้งธุรกิจ 2 ประเภท คือ สถาบันบริการการป้องกันประเทศ และบรรษัทพัฒนาเศรษฐกิจพม่า จุดประสงค์คือเป็นสวัสดิการให้กับบุคลากรของกองทัพและครอบครัว ก่อนจะขยายกิจการออกไปยังตลาดของพลเรือนในหลากหลายธุรกิจทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ จนมีบทบาทอย่างมากกับเศรษฐกิจเมียนมา ภายในเวลาเพียง 2 ปีของยุครัฐบาลรักษาการ ซึ่งอีกมุมหนึ่งก็เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับกองทัพ จนเชื่อว่าจะสามารถบริหารประเทศอย่างต่อเนื่องยาวนานได้ และเวลานั้นประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ค่อนข้างพอใจด้วย

ขณะเดียวกัน การจัดทำระบบสวัสดิการพิเศษของกองทัพที่เหนือกว่าเจ้าหน้าที่รัฐสังกัดอื่นๆ รวมถึงประชาชนทั่วไปยังจูงใจให้ชาวเมียนมาสมัครเข้าร่วมกองทัพ ซึ่งนอกจากได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของตนเองและครอบครัวแล้ว ยังสร้างความรู้สึกภูมิใจและความรู้สึกมีอภิสิทธิ์บางอย่าง อีกทั้งนำไปสู่การสร้างเครือข่ายของผู้จงรักภักดีระหว่างทหารกับกองทัพ และระหว่างนายทหารชั้นนายพลกับผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย

จากผลสำเร็จของการสถาปนาบทบาททางเศรษฐกิจของกองทัพเมียนมา ทำให้ผู้บริหารกองทัพเชื่อว่ามีแต่กองทัพเท่านั้นที่สามารถปกครองและบริหารประเทศได้อย่างมีเอกภาพ นำไปสู่การรัฐประหารรัฐบาลของอูนุโดยนายพลเนวินในปี 2505 และปกครองยาวนานจนถึงปี 2531 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลทหารเมียนมายุคนี้ได้เปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจไปใช้รูปแบบสังคมนิยม ยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐ จัดตั้งร้านค้าของประชาชน แต่ยุคนี้ก็มีการเกิดขึ้นของระบบทุนนิยมแบบเครือญาติ กล่าวคือกิจการที่ถูกยึดนั้นไปตกอยู่ในมือของนายทหารและเครือข่าย

“เจ้าหน้าที่ทหารจำนวนหนึ่งฉวยโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมในธุรกิจนอกระบบ โดยการอ้างคำสั่งของสภาปฏิวัติ เพราะไม่มีคนรู้ว่าสภาปฏิวัติคือใคร อ้างคำสั่งสภาปฏิวัติเข้าไปยึดกิจการของประชาชนชาวพม่า นอกจากนี้ยังรวมไปถึงการค้าในตลาดมืด การเข้าไปพัวพันกับขบวนการค้ายาเสพติด การควบคุมธุรกิจในทุกมิติและการผูกขาดธุรกิจของกองทัพ ทำให้สถาบันกองทัพเมียนมากลายเป็นสถาบันที่มีความมั่งคั่งมากที่สุดในประเทศ” ดร.เอนกชัย กล่าว

แต่การครองอำนาจทางเศรษฐกิจนั้นก็ไม่ได้ช่วยให้บรรดานายพลสภาปฏิวัติสามารถยื้ออำนาจการปกครองของตนเองไว้ได้ เพราะสุดท้ายแล้วในปี 2531 (ค.ศ.1988) ประชาชนก็ก่อการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตย ด้วยเห็นว่านายพลเนวินในยุคสภาปฏิวัติ ไม่ได้เป็นทางออกของประเทศและสร้างความประทับใจกับประชาชน อย่างที่เคยเป็นในยุครัฐบาลรักษาการ เพราะเมื่อปิดประเทศ การพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยใหม่ก็หยุดชะงักลง และกองทัพก็ยังประสบปัญหาการกระจายสินค้าไปในภูมิภาคต่างๆ เพราะไม่ชำนาญด้านโลจิสติกส์ ทำให้เกิดปัญหาสินค้าขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม แม้อำนาจของนายพลเนวินจะหมดลง แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่สั่งสมมา ก็ทำให้กองทัพเมียนมาเข้มแข็งขึ้นมาก ด้วยการเพิ่มสวัสดิการให้กับบุคลากร เช่น โรงพยาบาลทหารมีอุปกรณ์ทางการแพทย์ทันสมัยกว่าโรงพยาบาลทั่วไป หรือครอบครัวทหารสามารถซื้อสินค้าตั้งแต่สิ่งของอุปโภค-บริโภคทั่วไป จนถึงสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างยาสูบและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในราคารัฐบาลซึ่งถูกกว่าราคาในท้องตลาด

นอกจากสวัสดิการอย่างเป็นทางการแล้ว ครอบครัวของนายทหารระดับสูงยังมีโอกาสได้รับของมีค่าจากนักธุรกิจหรือใครก็ตามที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ ซึ่งของมีค่าเหล่านั้นจะถูกเก็บไว้เองส่วนหนึ่ง ขณะที่อีกส่วนถูกนำไปขายในตลาดมืด ซึ่งก็มีความคาดหวัง (หรือกดดัน) ว่าครอบครัวนายทหารระดับรองลงไปจะมาซื้อ อีกทั้งนายทหารระดับสูงยังใช้ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นนี้สร้างเครือข่ายอุปถัมภ์กับครอบครัวของผู้ใต้บังคับบัญชาด้วย เพื่อปูทางให้ตนเองได้รับการสนับสนุนสู่การมีตำแหน่งสูงขึ้นในอนาคต

“เจ้าหน้าที่ทหารที่อยู่ตอนนั้นให้สัมภาษณ์ว่าการเป็นทหารอย่างน้อยก็ดีกว่าการเป็นพลเรือนทั่วไปในพม่า เพราะอย่างน้อยก็เป็นการสร้างอำนาจทางสังคมให้กับตัวพวกเขาได้ ทำให้เขาเป็นที่นับหน้าถือตาในสังคมตรงนั้น ตรงนี้เองก็ทำให้เกิดความภาคภูมิใจขึ้นในกลุ่มเจ้าหน้าที่ทหาร แล้วก็รู้สึกสำนึกในบุญคุณของนายพลที่เข้ามาช่วยเหลือครอบครัวของพวกเขา” ดร.เอนกชัย ระบุ

การชุมนุมประท้วงใหญ่เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารที่ถูกเรียกว่า “เหตุการณ์ 888” หมายถึงการประท้วงในวันที่ 8 สิงหาคม ค.ศ.1988 (ปี 2531) แต่แทนที่จะได้รัฐบาลจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย กลับกลายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลทหารกลุ่มหนึ่งไปเป็นรัฐบาลทหารอีกกลุ่ม นั่นคือ SLORC และ SPDC ที่กินเวลายาวนานตั้งแต่ปี 2531-2554 ยุคนี้เมียนมาเริ่มกลับมาเปิดประเทศและเปิดตลาดการค้า แต่เอาเข้าจริงแล้ว นโยบายดังกล่าวยิ่งทำให้เศรษฐกิจของกองทัพเติบโตและซับซ้อนขึ้น ในขณะที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวเมียนมาได้

การลงทุนของกองทัพเมียนมาในยุคนี้มีทั้งการใช้ช่องทางคณะกรรมการต่างๆ ในกระทรวงกลาโหม หรือดำเนินการผ่านหน่วยงานระดับภูมิภาค การทำธุรกิจร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในกลุ่มที่เจรจากันจนได้ข้อตกลงหยุดยิง ระบบทุนนิยมเครือญาติที่ขยายวงกว้างขึ้นจนกลายเป็นระบบทุนนิยมเครือข่ายบริวาร หรือแม้กระทั่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด ในยุคนี้จะมีเครือบริษัท UMEHL ครอบคลุมสินค้าทั่วไปในชีวิตประจำวัน และเครือบริษัท MEC ดูแลด้านสินค้าที่เป็นยุทธปัจจัยของทหารโดยเฉพาะ

ถึงจะมีฐานอำนาจมาก แต่กองทัพเมียนมาก็รู้ว่าไม่สามารถปกครองประเทศได้ยาวนาน จึงนำไปสู่การนำทหารเข้าสู่การเมืองผ่านกลไกรัฐสภาและการเลือกตั้ง เม็ดเงินที่ได้จากเครือข่ายธุรกิจซึ่งเป็นเงินนอกงบประมาณถูกนำไปใช้ก่อตั้งสมาคม USDA หาสมาชิกจากประชาชนโดยเฉพาะในกลุ่มที่ต้องการทำธุรกิจกับกองทัพ ไปจนถึงการส่งเสริมการศึกษากับบุตรหลานของประชาชน ซึ่งเมื่อเกิดการแก้ไขรัฐธรรมนูญและลงประชามติรับในปี 2551 สมาคมดังกล่าวก็แปรสภาพตนเองเป็นพรรค USDP โดยมีประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากสมาคมเป็นฐานเสียง

เมื่อถึงปี 2554 ที่เมียนมากลับมามีการเลือกตั้งโดยมีพรรค USDP เป็นรัฐบาลเพราะพรรค NLD ไม่ลงแข่ง ยุคนี้ธุรกิจของกองทัพเมียนมาก็ปรับตัวเข้ากับยุคสมัยมากขึ้น มีการแบ่งประเภทแรงงานฝีมือกับแรงงานไร้ฝีมือ ให้วิชาชีพผู้เชี่ยวชาญ (เช่น วิศวกร) เข้ามาคุมงานมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับการเข้าไปลงทุนของต่างชาติ ใช้เงินส่วนหนึ่งในสร้างละครซีรี่ส์เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของกองทัพ ทำกิจการรถแท็กซี่สร้างอาชีพให้อดีตทหารปลดประจำการ ซึ่งแม้การเลือกตั้งในเวลาต่อมาพรรค USDP จะไม่ชนะ แต่กองทัพก็ยังมีฐานอำนาจทางการเมืองที่เข้มแข็ง

“ผลของการดำเนินธุรกิจยังทำให้เห็นว่า การที่กองทัพเมียนมาเข้าไปดำเนินธุรกิจในลักษณะนั้นมันสร้างความไม่มั่นคงให้กับพรรค NLD อย่างรุนแรง เนื่องจากว่าพรรค NLD ก็ไม่สามารถสถาปนาหลักการอำนาจสูงสุดของพลเรือนเหนือทหารได้”ดร.เอนกชัย กล่าว

SCOOP@NAEWNA.COM

เงื่อนไขการแสดงความคิดเห็น ซ่อน

โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น

1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี

3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย สกู๊ปแนวหน้า : ‘โครงสร้างประชากร’ ระเบิดเวลาสังคมไทย
  • สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’ สกู๊ปแนวหน้า : ลดความสูญเสียบนถนน เป้าที่ท้าทายของ‘ปราจีนบุรี’
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน สกู๊ปแนวหน้า : ‘เหลื่อมล้ำ’ด้านการศึกษา ปัจจัยมากกว่าระบบโรงเรียน
  • สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง สกู๊ปแนวหน้า : ‘ลมแดด’ภัยหน้าร้อน ‘ไรเดอร์’อีกอาชีพเสี่ยง
  • สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน สกู๊ปแนวหน้า : ปั้นครีเอเตอร์ไทยสู่ผู้ประกอบการ เสริมเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  • สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน  อุตสาหกรรมการบินของไทย สกู๊ปแนวหน้า : เส้นทางสู่ความยั่งยืน อุตสาหกรรมการบินของไทย
  •  

Breaking News

มิตรภาพแน่นแฟ้น! 'ปูติน-สี จิ้นผิง'ร่วมชมขบวนพาเหรดวันแห่งชัยชนะ

อดทนต่อคำปรามาส! 'นิพิฏฐ์'ขอบคุณทุกฝ่าย ยืนหยัดต่อสู้'คดีชั้น 14'

มาแล้ว! กรมอุตุฯคาดหมายอากาศ 7 วันข้างหน้า ตั้งแต่ 9-15 พ.ค.68

(คลิป) แนวหน้าTAlk : 'กูพูดไม่ได้' ย้อนอดีตเพื่อนรัก สุรนันทน์ ถึง บุญทรง

Back to Top

ผู้ดูแลเว็บไซต์ www.naewna.com
webmaster นางสาวอัญชะลี ไพรีรัก
ดูแลรับผิดชอบข่าว/ภาพ/โฆษณา/ข้อมูลอื่นที่เกียวข้องกับเว็บไซต์
กรรมการบริษัทฯ, กรรมการผู้มีอำนาจ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการนำเสนอข่าว/ภาพ/ข้อมูลใดๆในเว็บไซต์ทั้งสิ้น

Social Media

  • หน้าแรก |
  • เกี่ยวกับแนวหน้า |
  • โฆษณากับเรา |
  • ร่วมงานกับเรา |
  • ติดต่อแนวหน้า |
  • นโยบายข้อตกลง
Copyright © 2017 Naewna.com All right reserved