ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เผยแพร่ผลการศึกษา เรื่อง “โครงการศึกษาการลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจภายใต้บริบทการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่” เมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมา โดยมีอาจารย์ 3 ท่าน จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นผู้ร่วมบรรยาย
ผศ.ดร.ธร ปิติดล กล่าวว่า งานวิจัยนี้ศึกษาใน 4 ด้านคือ 1.ทำความเข้าใจสถานะความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยที่ไม่ใช่เพียงนัยทางเศรษฐกิจเท่านั้น ยังรวมถึงเรื่องอื่นๆ เช่น การศึกษา สุขภาพ เทคโนโลยี ฯลฯ ขณะเดียวกันยังดูชุดนโยบายลดความเหลื่อมล้ำที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย 2.สำรวจกรณีศึกษานโยบายลดความเหลื่อมล้ำในต่างประเทศ มีตัวอย่าง 5 ประเทศ คือ ฝรั่งเศส แคนาดา ฟินแลนด์ เกาหลีใต้และมาเลเซีย
3.สำรวจการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ศึกษาใน 4 ด้าน คือ ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี การเข้าสู่สังคมสูงวัย การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และการฟื้นฟูหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยอย่างไร แล้วจะมีแนวทางรับมืออย่างไร และ 4.ศึกษาแนวทางการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศในบริบทการเปลี่ยนแปลงสู่เศรษฐกิจยุคใหม่ รวมถึงบทบาทของกระทรวงพาณิชย์จะมีส่วนร่วมแก้ปัญหานี้อย่างไรบ้าง
ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ คงเจริญ กล่าวว่า ในช่วง 20-30 ปีมานี้ สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้หลายประเทศให้ความสำคัญและหาทางลดปัญหาดังกล่าวลงซึ่งที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำมักเน้นไปที่มิติด้านเศรษฐกิจ เพราะเชื่อมโยงกับการกินดีอยู่ดี มีรายได้สูงขึ้นมีความมั่งคั่งของทรัพย์สิน แต่ระยะหลังๆ เริ่มมีการมองในมิติอื่นๆ เช่น สังคม สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาเพียงประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐิจ เพราะจะเชื่อมโยงกับภารกิจของกระทรวงพาณิชย์
“ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ถ้าเรามองประเทศไทยจากนานาชาติ เพื่อให้เห็นภาพชัดหน่อยก็ดูในเอเชียด้วยกัน เราก็พบความเหลื่อมล้ำในแง่ของเศรษฐกิจ วัดจากรายได้ ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยจากค่าสัมประสิทธิ์ GINI ใกล้เคียงกับประเทศอย่างมาเลเซีย เวียดนาม ประเทศที่อยู่ในอาเซียน (ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ด้วยกันก็มีความเหลื่อมล้ำก็ค่อนข้างใกล้กัน แต่เมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วในเอเชีย ก็จะพบว่าความเหลื่อมล้ำของไทยก็ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ เหล่านั้น
หรือในกรณีถ้าใช้ตัวดัชนีสัดส่วนของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 10% กับต่ำสุด 40% ก็พบว่าสัดส่วนนี้ของไทยค่อนข้างใกล้เคียงกับมาเลเซีย อินโดนีเซียและเวียดนาม อาจจะสูงกว่าเวียดนามนิดหน่อย อันนี้เป็นการเปรียบเทียบในแง่ของรายได้ ในแง่ของความมั่งคั่ง พูดถึงในแง่ทรัพย์สิน เราก็พบว่าถ้าเราไปเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน เราจะพบว่ากลุ่มคน Top1% จะมีสัดส่วนความมั่งคั่งที่สูงกว่าประเทศอื่นๆในอาเซียนด้วยกัน มีค่าอยู่ใกล้ๆ เกือบจะ 50% สูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่เปรียบเทียบกัน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียน” ผศ.ดร.เฉลิมพงษ์ กล่าว
ประการต่อมา เมื่อดูสถิติ 10 ปีล่าสุดที่จำนวนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่อง “ภาคเกษตรยังเป็นกลุ่มที่มีคนจนมากกว่าภาคอื่นๆ” อีกด้านหนึ่งยังพบว่า “หลังปี 2558 ความ
เหลื่อมล้ำด้านรายได้จากการประกอบอาชีพเพิ่มสูงขึ้น” ซึ่งมาจากหลายปัจจัย “ครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผลต่อความเหลื่อมล้ำมากกว่าครอบครัวที่หัวหน้าครัวเรือนอายุน้อยกว่า 60 ปี” สะท้อนว่าภาวะสังคมสูงวัยเชื่อมโยงกับความเหลื่อมล้ำ เช่นเดียวกับ “การเข้าถึงหรือไม่ถึงอินเตอร์เนตมีผลต่อรายได้” โดยครัวเรือนที่เข้าไม่ถึงจะได้รับผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำสูงกว่า
เมื่อดูมาตรการที่ภาครัฐของไทยใช้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พบดังนี้ 1.ช่วยเหลือค่าครองชีพให้คนมีรายได้น้อย เช่น บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2.ช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางด้อยโอกาส เป็นนโยบายระบุกลุ่มเป้าหมาย เช่น คนชรา3.ลดผลกระทบจากราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค เช่น การตรึงราคาสินค้า 4.ลดผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ เพราะกระทบกับรายได้เกษตรกร อันเป็นภาคส่วนที่มีคนจนมากที่สุด 5.สร้างโอกาสทางอาชีพ ให้แรงงานและผู้ประกอบการให้มีรายได้มั่นคงและเพิ่มขึ้น และ 6.สนับสนุนการเข้าถึงแหล่งทุน เข้าไปจัดการอาชีพและการผลิต
ธนสักก์ เจนมานะ กล่าวว่า นโยบายที่ประสบความสำเร็จในการลดความเหลื่อมล้ำสามารถแบ่งได้ 2 รูปแบบ 1.ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้ก่อนเสียภาษี เช่น การจัดทำโครงสร้างภาษีแบบก้าวหน้าทั้งในรูปแบบของรายได้และทรัพย์สิน ส่งผลต่อพฤติกรรมการสะสมทรัพย์สินที่ลดลงทำให้คนเข้าถึงทรัพยากรได้ง่ายขึ้น อาทิ ที่ดิน เกิดการกระจายผลประโยชน์ในตลาดมากขึ้น ยังมีนโยบายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การแข่งขันทางการค้า การกระจายผลประโยชน์จากการค้าระหว่างประเทศ อำนาจการต่อรองของแรงงานและกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กับ 2.ลดความเหลื่อมล้ำของรายได้หลังเสียภาษี เป็นเรื่องของนโยบายด้านสวัสดิการ ประเภทเงินช่วยเหลือหรืออุดหนุนต่างๆ
จากการศึกษาตัวอย่าง 5 ประเทศ (ฝรั่งเศส แคนาดา ฟินแลนด์ เกาหลีใต้และมาเลเซีย) มีข้อสังเกต 1.รายได้หลังเสียภาษีและหลังนโยบายการคลังมีการกระจายอย่างเท่าเทียมที่สุด จึงมีความเหลื่อมล้ำต่ำเมื่อเทียบกับอีกหลายประเทศในโลก 2.หากมองจากปี 2523 แทบทุกประเทศไม่ว่ากำลังพัฒนาหรือพัฒนาแล้วล้วนพบปัญหาความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ 5 ประเทศข้างต้นความเหลื่อมล้ำไม่เพิ่มสูงมากนัก โดยเฉพาะฝรั่งเศสกับมาเลเซียยังลดลงเล็กน้อย
เมื่อเจาะจงไปที่ภูมิภาคยุโรปตะวันตก แม้ฝรั่งเศสกับฟินแลนด์จะถูกพูดถึงว่าเป็นประเทศที่มีสวัสดิการดี แต่ในงานวิจัยชื่อ Why Europe is more Equal than US? ที่ระบุว่า แม้สหรัฐอเมริกาจะเป็นประเทศพัฒนาแล้วแต่ก็มีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง ในขณะที่ประเทศในยุโรปมีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำกว่า สาเหตุมาจากการที่ยุโรปมี Free Distribution หมายถึงการกระจายรายได้ที่เกิดจากตลาด
“การเก็บภาษีโครงสร้างก้าวหน้าบนฐานรายได้และความมั่งคั่ง และนโยบายสวัสดิการ นอกจากจะลดความเหลื่อมล้ำภายหลังการเสียภาษีแล้ว ทำให้การกระจายรายได้
ที่เกิดขึ้นจากตลาดเท่าเทียมมากขึ้น ทำให้เปลี่ยนแรงจูงใจครัวเรือนและภาคเอกชนในการสะสมทรัพย์สินต่างๆ ในการกระจายรายได้มากขึ้น นอกจากนี้ ในบางกรณี จริงๆ ทุกกรณีเราจะเห็นการเข้าถึงที่ดินค่อนข้างที่จะเท่าเทียมกัน โดยที่ในกรณีของบางประเทศ เช่น เกาหลีใต้ รวมถึงญี่ปุ่นซึ่งไม่ได้นับอยู่ในนี้ มีการปฏิรูปที่ดินในอดีตที่ประสบความสำเร็จ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
แต่นอกเหนือจากนี้ อย่างที่ว่างานวิจัยที่ผ่านมา ด้วยข้อมูลที่ Update ที่สุดชี้ว่า ท้ายที่สุดแล้วประเทศกลุ่มตัวอย่าง เช่น ในยุโรปตะวันตกมีความเหลื่อมล้ำที่ต่ำมาก ประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้ด้วยนโยบายภาษี และไม่ได้ด้วยนโยบายการคลัง แต่เป็นเรื่องการทำให้กิจกรรมในตลาดและรายได้ที่เกิดขึ้นมันกระจายได้อย่างเท่าเทียมมากขึ้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์ การค้า สำคัญอย่างมากเช่นกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ในกรณีของไทยมีการพูดถึงน้อยกว่านโยบายภาษีและนโยบายการคลัง” ธนสักก์ กล่าว
ธนสักก์ กล่าวต่อไปว่า ใน 5 ประเทศที่ทำการศึกษา จะเห็นนโยบายที่ไปทางเดียวกัน อาทิ นโยบายการแข่งขัน ที่มีการทำให้ขนาดของสถานประกอบการกระจายตัว ไม่กระจุกเหมือนกรณีประเทศไทย นอกจากนั้น การที่มีการแข่งขันอย่างเท่าเทียม กลุ่มต่างๆ มีอำนาจต่อรองกับนายทุนหรือสถานประกอบการมากขึ้น รวมถึงมีนโยบายพัฒนาศักยภาพแรงงานโดยเฉพาะในภาคเกษตรที่เป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ซึ่งจะทำให้แรงงานสามารถปรับตัวได้ไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง นโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลกระทบจากข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ
เช่น สหภาพยุโรป (EU) มีนโยบาย CAP (Common Agricultural Policy) ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนรายได้ อาทิ เงินอุดหนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ การใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน การปรับใช้เทคโนโลยีสีเขียว ทั้งหมดนี้ทำให้เกษตรกรหรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ซึ่งมักจะมีความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจจากการค้าระหว่างประเทศ สามารถปรับตัวได้ รวมถึงมีการกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้าสู่ชนบท อาทิ เงินอุดหนุนเกษตรกรรุ่นใหม่ เพื่อดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถให้ทำงานในภาคเกษตร หรือการตั้งสหภาพเกษตรกรเพื่อต่อรองกับตลาด
ยังมีตัวอย่างอื่นๆ เช่น แคนาดา เพื่อนบ้านทางเหนือของสหรัฐอเมริกา แม้สหรัฐฯ จะมีปัญหาความเหลื่อมล้ำสูง แต่แคนาดากลับมีปัญหาเดียวกันต่ำกว่า ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การประชุมเพื่อทำข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ จะมีการดึงตัวแทนเกษตรกร แรงงาน และกลุ่มเปราะบางต่างๆ เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย เป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองให้กับประชากรเหล่านี้ มีการลงทุนทักษะที่เคลื่อนย้ายได้ในกลุ่มเกษตรกรและแรงงาน การมีกลไกติดตามและปรับเพิ่มระดับการแข่งขันในตลาด
(อ่านต่อฉบับวันอาทิตย์ที่ 21 พ.ค. 2566)
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี