“เมื่อช่วงที่มีการหาเสียงเลือกตั้ง เราเห็นมีบางคนเข้ามาหัวเราะ LGBT ว่าเลือกพรรคการเมืองเพราะเขาอยากแต่งงาน แล้วก็มีคนมากดหัวเราะเต็มไปหมดแค่นี้หรือ? อยากให้พรรคการเมืองไปผลักดันแค่นี้หรือ? มันดูไร้สาระและน่าขบขันของบุคคลหลากหลายทางเพศที่มีสิทธิเลือกตั้ง ซึ่งอันนี้คิดว่าเป็นความคิดเห็นและการหัวเราะเยาะคนอื่นที่น่ารังเกียจที่สุด เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมอาจจะคุ้นชินว่าสิทธิในการแต่งงาน การสร้างครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดาจะตายไปทำไมต้องพยายามมากขนาดนี้
ฉะนั้นเรื่องเล็กของคนกลุ่มหนึ่ง หรือเรื่องที่ฉันได้มาโดยที่ฉันไม่ต้องเรียกร้อง ไม่ต้องเสียน้ำตา ไม่ต้องประท้วง ไม่ต้องไปเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ ฉันก็ได้สิทธิในการแต่งงานมาแบบง่ายๆ มันจึงทำให้เราลืมเห็นคุณค่าในเรื่องนี้ แล้วลืมไปว่าเรากำลังทอดทิ้งคนจำนวนมาก ทำให้เขาไม่มีโอกาสเข้าถึงสิทธิที่เรารู้สึกว่ามันง่ายดายสำหรับเราเหลือเกินในการตัดสินใจแต่งงานหรือสร้างครอบครัว”
เรื่องเล่าจาก ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวงเสวนา “เสรีภาพ เสรีเพศ” เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2566 ว่าด้วยงานใหญ่ที่เพิ่งผ่านไปไม่นานนักกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.)ซึ่งมีพรรคการเมืองที่สนับสนุนสิทธิในการใช้ชีวิตคู่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศและต้องการผลักดันให้ได้รับการรับรองทางกฎหมาย แต่เมื่อสื่อได้หยิบเนื้อหาข่าวดังกล่าวมานำเสนอผ่านพื้นที่ออนไลน์ กลับมีชาวเนตจำนวนไม่น้อยเข้ามาแสดงความคิดเห็นในเชิงมองว่าเป็นเรื่องตลกขบขันไร้สาระ
งานเสวนานี้จัดขึ้นที่หอประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา ชั้น 3 อาคารมงกุฎสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือระหว่าง มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน ร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงวิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ซึ่ง อาจารย์ชเนตตี ให้ความเห็นว่าในยุคที่ช่องทางออนไลน์มีบทบาทมากในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร สื่อมวลชนต้องทำมากกว่าเพียงการทำหน้าที่ในกรอบของจริยธรรมวิชาชีพ
กล่าวคือ เมื่อสื่อนำเสนอเนื้อหาออกไปแม้จะระมัดระวังไม่ให้เกิดอคติในเรื่องเพศ อีกทั้งมีจุดประสงค์ดีเพื่อสร้างการเรียนรู้ แต่ระดับความเข้าใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศของคนในสังคมไม่เท่ากัน ทำให้ผู้รับสารอาจตีความไปในอีกทางหนึ่งซึ่งสื่อไม่สามารถควบคุมได้ กลายเป็นเกิดภาวะการสื่อสารผิดพลาด (Mislead) ดังนั้นสื่อต้องปกป้องแหล่งข่าวจากถ้อยคำสร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) ด้วย
“ในกรณีที่ความคิดเห็นมันออกไปแล้วมันรุนแรงขึ้น หมายถึงความคิดเห็นของผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เราต้องตัดวิธีคิดว่าถ้าเราปิดการแสดงความคิดเห็นมันจะปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของคนหรือไม่ ตัดเรื่องนี้ออกไปเลยเราจะต้องดูผลกระทบของผู้เสียหายเป็นสำคัญ เราจะต้องถามเจ้าของเรื่องราวว่าสถานการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนี้แล้วนะ ความคิดเห็นมันไปไกลมากแล้ว และมันมีการใช้คำพูดส่อเสียด หัวเราะ ตลกขบขัน Bully (ล้อเลียน) ไปไกลแล้ว ทางเราจะตัดสินใจปกป้องคุณนะโดยจะปิดการแสดงความคิดเห็น สื่อก็ต้องถามไปทางผู้ได้รับผลกระทบ โอเคไหม? เราจะปกป้องโดยการปิดการแสดงความคิดเห็น ถ้าเขาโอเคก็จะเป็นหน้าที่เราที่ต้องปิด” อาจารย์ชเนตตี กล่าว่า
มุมมองจากคนข่าวอาวุโส ชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ บอกเล่าการทำงานของสื่อมวลชนที่ต้องเรียนรู้เพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการนำเสนอไม่ให้ละเมิดต่อผู้ตกเป็นข่าว เช่น ย้อนไปเมื่อประมาณ 30 ปีก่อนในยุคที่ “โรคเอดส์” เริ่มระบาดใหม่ๆ สื่อต้องระมัดระวังอย่างมากเรื่องการไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ติดเชื้อ HIV (ใบหน้า ชื่อ ที่อยู่) เพราะจะทำให้ผู้ติดเชื้อไม่สามารถอยู่ในสังคมได้ กลายเป็นการซ้ำเติมให้จากเดิมที่สุขภาพกายป่วยอยู่แล้วยังมีปัญหาสุขภาพจิตอีก
หรือข่าว “กราดยิง” เทียบเหตุการณ์ที่ห้างสรรพสินค้าใน จ.นครราชสีมา เมื่อปี 2563 ที่สื่อถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักกรณีรายงานสดยุทธวิธีของฝ่ายเจ้าหน้าที่และจุดที่มีผู้หลบซ่อนรอความช่วยเหลือ ทำให้เหตุการณ์ครั้งต่อมาที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กใน จ.หนองบัวลำภู เมื่อปี 2565 สื่อไทยนำเสนอด้วยความระมัดระวังมาก เช่น ไม่เปิดเผยชื่อเด็กที่ตกเป็นเหยื่อ กลับกลายเป็นสื่อต่างประเทศที่ทำผิดด้วยการเข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ
ทั้งที่ตำรวจกั้นเป็นเขตหวงห้าม
รวมถึงมีครั้งหนึ่งที่มีกลุ่มเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ เดินทางมาที่สำนักพิมพ์ที่ตนเองทำงานอยู่เพื่อขอชี้แจงทำความเข้าใจกรณีการนำเสนอข่าวที่กระทบกระเทือนความรู้สึกของประชากรกลุ่มดังกล่าว หลังพูดคุยกันทางกองบรรณาธิการก็ได้นำคำชี้แจงนั้นพร้อมภาพไปนำเสนอเป็นข่าวในวันถัดมา และทางเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศก็ได้โทรศัพท์มาขอบคุณ เหตุการณ์ครั้งนั้นได้กลายเป็นแนวปฏิบัติกำชับผู้สื่อข่าว
ต้องระมัดระวัง
“การเขียนข่าวขอให้อยู่บนความรัก ความเห็นอกเห็นใจ เพราะถ้าคนที่เป็นข่าวเป็นเพื่อน เป็นญาติพี่น้อง เป็นสามี-ภรรยา เป็นลูกของคุณ จะรู้สึกอย่างไร มันอาจจะไม่ใช่กรอบที่เป็นกฎหมาย แต่มันเป็นความรู้สึกสำหรับคนทำงาน เพราะข่าวอะไรทำนองนี้ ข่าวอาชญากรรม ข่าวฆ่าข่มขืน ที่มันเป็นข่าวเร้าอารมณ์ อันนี้เป็นเกณฑ์ ขอให้ผู้เขียนข่าวอยู่บนความรักความเห็นอกเห็นใจกัน” ผู้อำนวยการบริหาร สภาการสื่อมวลชน
แห่งชาติ กล่าว
อีกด้านหนึ่ง ตรี บุญเจือ ผู้แทนสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. กล่าวว่า สื่อดั้งเดิมหรือสื่อหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ เป็นสื่อที่มีองค์กร แต่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปก็ทำให้องค์กรสื่อเหล่านี้เข้าไปใช้พื้นที่ออนไลน์ ขณะเดียวกัน ยังมีบุคคลที่ใช้ช่องทางออนไลน์นำเสนอเรื่องราวต่างๆ ซึ่งก็มีทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง หากเป็นเรื่องแต่งพอจะดูออก แต่การนำเสนอเรื่องจริงโดยใส่ความคิดเห็นลงไปเพื่อทำให้เกิดอคติ ประเด็นนี้ต้องแยกแยะและเรียนรู้อย่างมาก
“เราอาจต้องเรียนรู้ที่จะแยกแยะ ถ้าเราจะเป็นคนที่รู้เท่าทันสื่อ เป็นคนที่จะเฝ้าระวัง เราอาจจะเห็นความหลากหลายของรูปแบบต่างๆ แบบนี้ คือไม่ต้องเข้าไปถึงทฤษฎี ให้เราเข้าใจถึงความหลากหลายนั้นๆ เพื่อที่เราจะเข้าใจตัวเนื้อหาที่มันถูกนำเสนอ” ผู้แทนสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กสทช. กล่าว
ขณะที่ ผศ.ดร.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ทำงานของมูลนิธิฯ พบหากเป็นคนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยรับสารจากสื่อหลักแต่สื่อออนไลน์มีบทบาทมากขึ้น ซึ่งแม้ยังไม่มีสถิติชี้ชัดว่าสื่อหลักหรือสื่อออนไลน์ฝั่งไหนสร้างอคติมากกว่ากัน แต่คนรุ่นใหม่จะมีโอกาสพบเห็นในสื่อออนไลน์ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังนำเสนอได้แนบเนียนมาในรูปแบบความบันเทิงสนุกสนาน
“บางทีต่อมเอ๊ะเราก็ไม่ทำงานเพราะมันสนุก มันโรแมนติกก็เลยมองว่ามันจะส่งผลต่อรุ่นใหม่ๆ เสียเยอะสำหรับรูปแบบของสื่อออนไลน์” ผศ.ดร.รณภูมิ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี