26 พ.ค.66 นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผวจ.อุตรดิตถ์ พร้อมด้วยนายสุพันธ์เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ นายศิวัช ฟูบินทร์ นายอำเภอลับแล นายเขมชาติ มั่นเจ๊ก นายกเทศมนตรีตำบลทุ่งยั้ง แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงการจัดงานประเพณีอัฏฐมีบูชา วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ประจำปี 2566 ระหว่างวันที่ 3 – 11 มิถุนายน 2566 การจัดงานอัฏฐมีบูชาของชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เป็นระยะเวลาที่ต่อเนื่องยาวนานนับถึงครั้งที่ 68 ไม่นับรวมการจัดบ้างหยุดบ้างในอดีตนี้ จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเมืองนี้ ผู้คนยังคงยึดมั่นและศรัทธาในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างไม่เสื่อมคลาย โดยมีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และ น้อมรำลึกถึงพระคุณอันประเสริฐขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า รวมทั้งเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และเพื่อสร้างความสามัคคีในชุมชน
นายสุพันธ์ เจริญทรัพย์ วัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ กล่าวว่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ร่วมกับพระบรมธาตุทุ่งยั้ง และ ส่วนราชการ/หน่วยงานทุกภาคส่วนในจังหวัดอุตรดิตถ์ กำหนดจัดงานอัฏฐมีบูชาขึ้นอย่างยิ่งใหญ่สมกับความตั้งใจของพุทธศาสนิกชนที่รอคอยมาร่วมงานและปีนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากจังหวัดอุตรดิตถ์, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.สำนักงานแพร่) , สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ , องค์การบริหารส่วนจังหวัดอุตรดิตถ์ , เทศบาลตำบลทุ่งยั้ง และอำเภอลับแล ตลอดจนหน่วยราชการ องค์กรภาคเอกชน ประชาชนในพื้นที่อำเภอลับแล ที่ต่างเห็นความสำคัญและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่สมกับที่ว่าเป็นเพียงแห่งแรกแห่งเดียวในประเทศไทยและหนึ่งเดียวในโลก
" วันอัฏฐมีบูชา " คือวันสำคัญทางศาสนาอีกวันหนึ่งที่มิได้กล่าวถึงกันมากนัก เนื่องจากมีวันวิสาขบูชาอยู่ก่อนหน้านี้เพียงห้วงวันพระเดียว หมายถึงวันวิสาขบูชาตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 แต่ถัดมาอีกหนึ่งวันพระ คือแรม 8 ค่ำ เป็นวันอัฏฐมีบูชา ความสำคัญของวันนี้ก็คือ เป็นวันถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า ที่พุทธศาสนิกชนในสมัยเมื่อ 2,566 ปีล่วงมาแล้ว ต่างมีความโศกเศร้าที่ต้องสูญเสียพระบรมศาสดาอันเป็นที่รักเคารพยิ่งของตนนั่นเอง ในพุทธประวัติและปรินิพพานสูตร กล่าวไว้ว่าเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ที่เรียกว่าวันวิสาขบูชา พระเจ้ามัลละแห่งกรุงกุสินารา พร้อมด้วยคณะสงฆ์ อันมีพระมหากัสสปะเถระเป็นประธาน ได้พร้อมใจกันกระทำพิธีถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ ณ มกุฏพันธนเจดีย์ แห่งกรุงกุสินารานั่นเอง
เมื่อวันอัฏฐมีบูชารำลึกที่เวียนมาถึงในแต่ละปี พุทธศาสนิกชนดังเช่นที่วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ คณะศรัทธาอันประกอบด้วย นายสมหวัง พ่วงบางโพ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ ประธานฝ่ายฆารวาส พร้อมคณะสงฆ์ โดยมีพระปัญญากรโมลี ดร. เจ้าคณะจังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยพระครูบวรธรรมทิน เจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตลอดจนประชาชนตำบลทุ่งยั้งและชาวจังหวัดอุตรดิตถ์ ได้พร้อมใจกันจัดงานย้อนอดีตที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งพุทธกาล เพื่อรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่แม้จะประนิพพานมานานถึง 2566 ปีแล้วก็ตาม โดยจำลองเหตุการณ์ในครั้งนั้นตามขั้นตอนอย่างละเอียด ตั้งแต่เสด็จปรินิพพาน ซึ่งจะมีชาวบ้านที่มีฝีมือด้านงานจักสานมาช่วยกันใช้ไม้ไผ่สานองค์พระพุทธเจ้าปางปรินิพพานขนาดใหญ่ ตกแต่งอย่างสวยงามบรรจุไว้ในโลงแก้ว ตั้งประดิษฐานไว้บนศาลา เพื่อให้คณะสงฆ์สวดพระอภิธรรม และชาวบ้านทำบุญตักบาตร ปฏิบัติธรรม ตั้งแต่วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 จนถึงวันแรม 7 ค่ำ เดือน 6 และเมื่อถึงวันแรม 8 ค่ำ ซึ่งเป็นวันอัฐมีบูชาหรือวันถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระพระพุทธเจ้า ก็จัดการแสดง แสง สี เสียง ประกอบอย่างยิ่งใหญ่ จำลองทุกขั้นตอนในพิธีถวายพระเพลิง พระบรมศพเสมือนครั้งพุทธกาล
กำหนดการจัดงานประเพณีอัฏฐมีบูชา ณ วัดพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่ได้มีการปฏิบัติสืบทอดอย่างต่อเนื่องของจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปี 2566 นี้ ตรงกับวันที่ 3 - 11 มิถุนายน 2566 (วันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ถึงวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6) ระยะเวลา 9 วัน 9 คืน โดยในวันที่ 3 มิถุนายน 2566 เป็นวันวิสาขบูชา กำหนดการพิธีเปิดมีพิธีสรงน้ำพระราช ทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สรงน้ำพระบรมธาตุทุ่งยั้ง นอกจากนี้ยังจะจัดให้มีการรำถวายองค์พระบรมธาตุ พิธีแสดงพระธรรมเทศนา พิธีเวียนเทียนรอบพระบรมธาตุเนื่องในวันวิสาขบูชา กิจกรรมลานวัฒนธรรม , ตลาดวิถีชุมชนคนทุ่งยั้ง ในแต่ละวันมีกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน เช่น การทำบุญตักบาตรถวายภัตตา หารเช้า-เพล แด่พระภิกษุ-สามเณร การทำวัตรเย็น การแสดงพระธรรมเทศนากิจกรรมลานเทศน์ลานธรรม ตลาดวัฒนธรรม การร่วมเป็นเจ้าภาพทอผ้าห่มพระบรมธาตุ การเป็นเจ้าภาพในพิธีสวดพระอภิธรรม เวลา 19.30 น. ทุกคืน
นายสุพันธ์ กล่าวอีกว่า ส่วนไฮไลต์วันที่ 11 มิถุนายน 2566 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายและเป็นวันอัฏฐมีบูชา ภาคเช้าจะมีพิธีสลากภัตทาน และมหรสพ มวย และลิเกสมโภชฉลองถวายงานสลากภัต ซึ่งเป็นกิจกรรมงานบุญของชาวตำบลทุ่งยั้ง ตอนบ่ายจะมีขบวนแห่ทางศิลปวัฒนธรรมและขบวนเทิดพระเกียรติ 12 ขบวน จาก 9 อำเภอ และพิธีห่มผ้าห่มพระบรมธาตุทุ่งยั้ง ประดับพระนามาภิไธย ส.ธ. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชานุญาตเชิญมาประดับที่ผ้าห่มพระบรมธาตุทุ่งยั้ง เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาในงานประเพณีอัฐมีบูชา ประจำปี 2566 และตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป จะเริ่มพิธีอัฐมีบูชา ด้วยการอัญเชิญพระบรมศพจำลองจากศาลาการเปรียญ ลงสู่พระเมรุมาศจำลองที่ตกแต่งอย่างวิจิตรสวยงามพร้อมกับการแสดงแสง สี เสียง ประกอบอย่างยิ่งใหญ่ เพื่อรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และถวายเป็นพุทธบูชา
นอกจากนี้ สีสันในงานวันแถลงข่าว ผู้ว่า ฯ อุตรดิตถ์ได้สาธิตการปิ้งข้าวเกรียบว่าวยักษ์ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เมตร พร้อมแจกจ่ายให้ได้รับประทานกิจกรรมการทำข้าวเกรียบว่าวเป็นการอนุรักษ์ขนมพื้นบ้านของชาวทุ่งยั้ง อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ที่มีสืบทอดกันมายาวนานนับร้อยปี
ดังนั้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจเดินทางมาร่วมงานบุญที่ยิ่งใหญ่และสัมผัสวิถีวัฒนธรรมของเมืองทุ่งยั้ง รวมทั้ง ชม ชิม ช็อป สินค้าอำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เช่น ทุเรียนหลงหลินลับแล โดยสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุตรดิตถ์ได้ทุกวันตามเวลาราชการ.-008