สำนักงานสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ จัดสัมมนาทางวิชาการของสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ เรื่อง “อนาคตตลาดแรงงานภายใต้การเปลี่ยนผ่าน” เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 ณ โรงแรม ดิ เอมเมอรัลด์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง กรุงเทพฯ ซึ่ง ธนิต โสรัตน์ ประธานคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ ฉายสภาพสถานการณ์กำลังแรงงานของประเทศไทย ดังนี้
1.ขาดการเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องกับแรงงานทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากกระทรวงแรงงานแล้ว ยังมีกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กระทรวงศึกษาธิการ) รวมถึงภาคเอกชน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าไทย แม้กระทั่งแรงงานต่างด้าว ซึ่งคาบเกี่ยวกับหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลด้านความมั่นคง (สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง , ทหาร , กระทรวงมหาดไทย)
2.แรงงาน (ไม่นับภาคเกษตร) ครึ่งหนึ่งกระจุกตัวในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล รองลงมาอีกร้อยละ 16 คือในกลุ่มจังหวัดที่เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา-ชลบุรี-ระยอง) 3.แรงงานไทย 1 ใน 3 หรือร้อยละ 34.1 เป็นแรงงานสูงวัย ในที่นี้หมายถึงแรงงานอายุ 50 ปีขึ้นไปหากเป็นคนที่ทำงานในสำนักงานอาจไม่กระทบมากนักแต่หากเป็นคนที่ทำงานใช้แรงกาย หรือใช้ทักษะบางอย่าง อาทิ งานที่ต้องใช้สายตาที่แม่นยำ จะกระทบมากเพราะสมรรถภาพในการทำงานลดลง
4.แรงงานไทย 1 ใน 3 หรือ ร้อยละ 34 มีการศึกษาน้อย ในที่นี้หมายถึงจบการศึกษาเพียงระดับประถมหรือต่ำกว่า โดยทั้งแรงงานสูงวัยและแรงงานที่มีการศึกษาน้อย คือความท้าทายสำคัญว่าในยุคเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี จะทำอย่างไรที่จะนำพาคนกลุ่มนี้ไปได้ด้วย 5.เมื่อเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ๆ งานใหม่ๆ แน่นอนว่างานเดิมที่มีอยู่อาจหายไป คำถามคือแรงงานที่ชำนาญในทักษะเดิม
ได้เตรียมความพร้อมไว้มาก-น้อยเพียงใด
“อุตสาหกรรมยานยนต์กำลังถูกรุกรานโดยพลังงานแบตเตอรี่ เคยไปคุยกับอุตสาหกรรมยานยนต์เขาบอกเลยว่า 2,500 อุตสาหกรรม อย่างน้อย 750 แห่งจะหายไปทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ตกประมาณ3 แสนคน ราชการไม่เคยมาพูด นี่เราได้ยินจากเอกชน เขาปรับเปลี่ยนไปแล้ว หลับตาดูเถอะครับ รถยนต์ที่ใช้ไฟฟ้าไม่มีตั้งแต่หม้อน้ำจนไปถึงท่อไอเสีย เปิดดูเครื่องมันก็ไม่มี แล้วอุตสาหกรรมที่อยู่ในนั้นจะอยู่ไหน แล้วทักษะที่ทำงานอยู่โรงงานอุตสาหกรรมนั้นมา เก่งที่สุด ทำเรื่องเครื่อง เรื่องแหวน เรื่องหม้อน้ำ อะไรก็แล้วแต่ที่สั่งสมไว้ชั่วชีวิต มันไม่มีแล้ว” ธนิต ยกตัวอย่าง
สุรชัย โฆษิตบวรชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท สถาบันที่ปรึกษาและพัฒนาธุรกิจ จำกัด ชวนผู้เกี่ยวข้องเปลี่ยนวิธิคิด (Mindset) ดังนี้ 1.นายจ้างต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพลูกจ้าง ที่ผ่านมามักมีคำพูดกันว่า “พอพัฒนาแล้วเดี๋ยวก็ลาออกไปอยู่ที่อื่น” นายจ้างจึงนำเงินไปลงทุนด้านอื่นมากกว่า (เช่น เครื่องจักร) อยากให้เปลี่ยนไปคิดว่า “ไม่ช้าก็เร็วลูกจ้างก็ต้องออกจากที่ทำงานเดิมไม่ว่าด้วยสาเหตุใดก็ตาม แต่ระหว่างที่ยังอยู่นั้นหากลูกจ้างทำงานได้ดีก็ถือว่าคุ้มแล้ว” การไม่ลงทุนพัฒนาแรงงานผลคือขาดคนมีฝีมือผลิตภาพที่ได้ก็จะไม่ดีด้วย
2.ลูกจ้างต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพตนเอง ที่ผ่านมาจะมีแรงงานที่คิดกังวลไปก่อนแล้วว่า “ถ้าตนเองเก่งขึ้นเดี๋ยวภาระงานก็มากขึ้น” เลยไม่อยากเรียนรู้อะไรเพิ่มเติม แต่อยากให้คิดว่า “เรียนมาแล้วไม่ได้ใช้บริษัทก็ทำอะไรไม่ได้ แต่ที่แน่ๆ คือเรียนมาก็มีความรู้ติดตัว” ดังตัวอย่างนายจ้างจะส่งลูกจ้างไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม ลูกจ้างปฏิเสธ กระทั่งวันหนึ่งก็อาจเสียใจทีหลังเมื่อต้องไปทำงานที่ใช้ภาษาอังกฤษแล้วต้องเสียเงินไปเรียนเอง
และ 3.อย่าไปคิดว่าแก่แล้วจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ได้ ที่ผ่านมามักมีประเด็น “ผู้สูงอายุกับช่องว่างในการพัฒนาทักษะ” เพราะหลายคนมักคิดว่าตนเองไม่สามารถเรียนรู้ทักษะใดๆ ได้อีกเมื่ออายุมากขึ้น แต่หากไปดูตัวอย่างที่ประเทศสิงคโปร์ คนขับแท็กซี่จำนวนมากเป็นผู้สูงอายุ แต่ใช้งานแอปพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือได้อย่างคล่องแคล่ว เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่น ยังมีแรงงานสูงอายุทำงานรับ-จ่ายเงินตามร้านค้าต่างๆ อย่างกระฉับกระเฉง
“สว. (สูงวัย) คนไทยบางทีบอกว่าตัวเองแก่แล้วเรียนรู้ไม่ได้ อันนี้ก็ถือว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันมันถูกสร้างมาเพื่อให้ตอบสนองต่อการทำงานของคนที่ง่ายที่สุด อันนี้ก็ไปบอกพวกอายุเยอะๆ นะครับ ยังเรียนรู้ได้” รองประธานคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติ กล่าว
อาทิตย์ มีปากดี ช่างเทคนิค บริษัท ไทยเอ็นโอเค จำกัด กล่าวถึงความสำคัญของระบบ “แรงงานสัมพันธ์” ที่เกิดมาจาก “สหภาพแรงงาน” เห็นได้จากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา สถานประกอบการหลายแห่งเลิกจ้างพนักงาน แต่สถานประกอบการที่อยู่กันได้คือสถานการณ์ที่มีกลไกแรงานสัมพันธ์ อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของลูกจ้างซึ่งเรียกร้องสิทธิในการรวมกลุ่มต่อรอง เห็นว่าการตั้งสหภาพแรงงานเป็นเรื่องยาก
“มันมีกระบวนการที่เราจะตั้งสหภาพแรงงาน นายจ้างต้องรู้ สวัสดิการ (และคุ้มครองแรงงาน) ต้องรู้ว่าลูกจ้างคนนั้นเป็นลูกจ้างในสถานประกอบการนั้นหรือเปล่า ก็เลยต้องโทรไปถาม พอโทรไปถามแล้วเกิดอะไรขึ้นกับลูกจ้าง ลูกจ้างเหล่านี้ก็ถูกปัดทิ้งไว้ แล้วที่สำคัญกว่านั้น กฎหมายแรงงานไม่ได้คุ้มครองลูกจ้างที่กำลังก่อตั้ง แต่ไปคุ้มครองลูกจ้างที่มีสหภาพ” อาทิตย์ กล่าว
รศ.ดร.กิริยา กลกุลการ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงการมาของเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์ (AI)” ที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงอย่างมากระหว่าง “ฝ่ายที่เชื่อว่าสุดท้ายแล้ว AI จะทดแทนการทำงานทุกชนิดของมนุษย์” กลายเป็นยุคสมัยที่ค่าจ้างเหลือศูนย์และคำว่าแรงงานไม่มีความหมาย เช่น ปัจจุบันจะเห็น AI สามารถวาดรูปได้สวยงาม หรืออีก 10 ปีข้างหน้า โปรแกรมเมอร์อาจตกงานเพราะ AI จะสามารถเขียนโปรแกรมได้
กับ “ฝ่ายที่เชื่อว่า AI จะมาแทนที่งานบางส่วนของมนุษย์ แต่ก็จะมีงานใหม่ๆ เกิดขึ้นด้วย” ไม่ต่างจากยุคก่อนๆ ที่มนุษย์เริ่มพัฒนาเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน หรือมีรถยนต์มาแทนรถม้า ทำให้งานเดิมหายไปแต่ก็มีอาชีพใหม่เกิดขึ้น โดยมีผลการศึกษาของ Goldman Sachs ที่ระบุว่า มีงาน 300 ล้านตำแหน่งที่จะถูกแทนที่ด้วย AI แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ร้อยละ 7 ต่อปี ซึ่งถือว่าสูง อนึ่ง ผลการศึกษาทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป (EU) งานสำนักงานจะได้รับผลกระทบมาก ในขณะที่งานใช้กำลังคน (เช่น ก่อสร้าง ซ่อมบำรุง) จะกระทบน้อยกว่า
“ความน่าสนใจของ AI คือ GDP มันเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วผลผลิตโลกนี้มันเยอะขึ้น แล้วก็น่าเชื่อได้ว่าพอสำหรับความจำเป็นที่จะแจกจ่ายให้กับประชากรโลกทั้งหมด เพียงแต่ว่าเราต้องไปจัดการ GDP ที่มันเพิ่มขึ้นนี้อย่างไรให้มันเป็นธรรม ทำอย่งไรให้มันพอ ไม่แย่งกันแล้วไปกระจุกตัวอยู่ที่คนกระจุกเดียว” รศ.ดร.กิริยา กล่าว