สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงานเสวนาใต้ชายคาประชากร บรรยายหัวข้อ “สะท้อนภาพสถานการณ์ความฉลาดทางดิจิทัลของผู้สูงวัยผู้เล่นหน้าใหม่ในโลกดิจิทัล” เมื่อช่วงปลายเดือน พ.ค. 2566 ที่ผ่านมาโดยเป็นการนำเสนอผลการศึกษาประเด็นผู้สูงอายุกับการอยู่รอดปลอดภัยในโลกดิจิทัล เริ่มต้นจากฉายภาพให้เห็นสถานการณ์ ในปี 2565 ได้เกิดการขยายตัวของผู้ใช้สื่อออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก คนไทยใช้อินเตอร์เนตเฉลี่ย7 ชั่วโมง 4 นาทีต่อวัน เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวเมื่อเทียบกับปี 2556 ซึ่งอยู่ที่ 4 ชั่วโมง 36 นาทีต่อวัน
โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงสำคัญคือการที่ผู้สูงอายุเป็นคนกลุ่มใหญ่มากที่เข้ามาเป็นประชากรบนโลกออนไลน์ ขณะที่ข้อมูลในปี 2564 พบข้อร้องเรียนภัยคุกคามออนไลน์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปี 2563 และส่วนใหญ่ผู้ร้องเรียนเป็นประชากรที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป สะท้อนความกังวลเรื่องผู้สูงอายุกับความรู้-ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จึงถือได้ว่า ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเปราะบางทางดิจิทัล
ทั้งนี้ งานวิจัยจัดทำขึ้นโดยการศึกษาระดับความฉลาดทางดิจิทัลในระดับพลเมืองของผู้สูงอายุ เลือกพื้นที่ศึกษาคือเขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ เนื่องจากในปี 2565 พบว่า เป็นพื้นที่ที่มีการใช้โทรศัพท์มือถืออยู่ที่ 10 ชั่วโมง 5 นาทีต่อวัน ซึ่งสูงกว่าสถิติในภาพรวม โดยแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นประชากรสูงอายุ (ในที่นี้คืออายุ 60-69 ปี) กับกลุ่มว่าที่ผู้สูงอายุ (อายุ 50-59 ปี) ศึกษาใน 5 ด้าน คือ 1.อัตลักษณ์ดิจิทัล 2.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม 3.การจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล 4.ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล และ 5.ด้านการสื่อสารดิจิทัล มีผลดังนี้
1.สถานะของกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย/อนุปริญญา ร้อยละ 29.8 รองลงมา ประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 27.7 ปริญญาตรีหรือสูงกว่า ร้อยละ 25.6 และมัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 16.8 ขณะที่ด้านรายได้ ส่วนใหญ่ต่ำกว่า 3,500 บาท/เดือนร้อยละ 27.7 รองลงมา 3,500-10,000 บาท/เดือนร้อยละ 25.5 ทั้งนี้ ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 45.5 มีเงินพอใช้แต่ไม่ถึงขั้นพอเก็บออม
2.การได้รับการสนับสนุนจากสังคม พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง คือร้อยละ 69.8 ในจำนวนนี้เป็นกลุ่มเพื่อนที่ให้การสนับสนุนมากที่สุด ร้อยละ 76 3.การเชื่อมต่อกับโลกออนไลน์ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 76.5 ใช้อุปกรณ์ 1 ประเภท และร้อยละ 91.2 เชื่อมต่อในที่พักของตนเอง ผู้สูงอายุใช้แอปพลิเคชั่นไลน์มากที่สุด ร้อยละ 68.5ทิ้งห่างอันดับ 2 อย่างเว็บไซต์เฟซบุ๊ก ร้อยละ 16.8 เหตุผลของการท่องโลกออนไลน์ อันดับ 1 คือเพื่อติดต่อสื่อสาร ร้อยละ 67.2 รองลงมา มีเท่ากัน 2 เหตุผล คือเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร และเพื่อความบันเทิง/สั่งซื้อสินค้า ร้อยละ 16.4
4.ประเมินความฉลาดทางดิจิทัล ในภาพรวม มีผู้สูงอายุกว่าครึ่ง คือร้อยละ 54.2 ไม่ผ่านเกณฑ์ความฉลาดทางดิจิทัล เมื่อจำแนกรายด้าน พบว่า ด้านการรู้เท่าทันดิจิทัล เป็นด้านที่ผู้สูงอายุผ่านเกณฑ์มากที่สุด ร้อยละ 90.8 รองลงมาด้านการสื่อสารดิจิทัล ร้อยละ 84.9 อันดับ 3 ด้านการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเหมาะสม ร้อยละ 78.6 อันดับ 4 อัตลักษณ์ดิจิทัล ร้อยละ 73.1 และที่น้อยที่สุดคือ ด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ร้อยละ 68.5
5.วิเคราะห์ความสัมพันธ์และปัจจัยที่ส่งผลความฉลาดทางดิจิทัลในระดับพลเมืองดิจิทัลของผู้สูงอายุ แบ่งเป็น “ปัจจัยส่วนบุคคล” อาทิ ยิ่งรายได้มากขึ้นก็มีโอกาส
ผ่านเกณฑ์ความฉลาดทางดิจิทัลมากขึ้น “ปัจจัยสิ่งแวดล้อม”หากผู้สูงอายุรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากสังคมรอบข้างมาก ก็จะมีโอกาสผ่านเกณฑ์ความฉลาดทางดิจิทัลมากกว่าผู้สูงอายุรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนจากสังคมรอบข้างน้อย รวมถึงเรื่องของรายได้ระดับครัวเรือน ที่หากเป็นครัวเรือนซึ่งมีรายได้พอเหลือเก็บออม ผู้สูงอายุก็มีแนวโน้มที่จะมีความฉลาดทางดิจิทัลในระดับผ่านเกณฑ์ด้วย
และ “ปัจจัยในการเข้าถึงโลกออนไลน์” เช่น ผู้สูงอายุที่ใช้อุปกรณ์เพียงชนิดเดียวเชื่อมต่อ จะมีโอกาสที่ความฉลาดทางดิจิทัลอยู่ในระดับผ่านเกณฑ์น้อยกว่าผู้ที่ใช้อุปกรณ์มากกว่า 1 ชนิด ผู้สูงอายุที่ใช้งานอินเตอร์เนตมาน้อยกว่า 5 ปี เชื่อมต่อ จะมีโอกาสที่ความฉลาดทางดิจิทัลอยู่ในระดับผ่านเกณฑ์น้อยกว่าผู้ที่ใช้มานานกว่า 5 ปี และผู้สูงอายุที่เน้นใช้อินเตอร์เนตเพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร จะมีโอกาสที่ความฉลาดทางดิจิทัลอยู่ในระดับผ่านเกณฑ์มากกว่าผู้สูงอายุที่ใช้เพื่อความบันเทิง
“มีเพียงการสนับสนุนทางสังคมจากเพื่อนเท่านั้นที่ส่งผลต่อความฉลาดทางดิจิทัลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ด้วยบริบทและประสบการณ์ชีวิตที่คล้ายคลึงกัน ส่งผลต่อความเข้าอกเข้าใจความยาก-ง่ายในการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นพื้นฐานที่ใกล้เคียงกันเหล่านี้ทำให้การพูดคุย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และแนะนำการใช้วิธีป้องกัน อาจได้วิธีที่มีประสิทธิภาพในการใช้ที่เหมาะสมกับวัยมากกว่า” งานวิจัยอธิบายเพิ่มเติมถึงเหตุผลที่ “เพื่อน” เป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความฉลาดทางดิจิทัลของผู้สูงอายุมากที่สุด
“ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย” ประกอบด้วย 1.นอกจากการปราบปรามผู้กระทำผิดตามกฎหมายแล้ว ภาครัฐควรมุ่งเน้นให้ความรู้และส่งเสริมทักษะความฉลาดทางดิจิทัลที่มีความเหมาะสมกับผู้สูงอายุ ทั้งวิธีการ ช่องทางการสื่อสาร ตลอดจนรูปแบบของเนื้อหา โดยเฉพาะประเด็นด้านการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัล เพื่อให้ผู้สูงอายุมีทักษะที่เพิ่มขึ้นในการรับมือภัยคุกคามในโลกดิจิทัล และ 2.การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีเครือข่ายทางสังคมทั้งระดับครอบครัว ชุมชน สมาคม หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ที่มีความสนใจร่วมกัน มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือ สนับสนุนให้ผู้สูงอายุพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างผู้สูงอายุด้วยกัน
เมื่อเจาะลึกลงในประเด็น “ภัยคุกคามทางดิจิทัลกับผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีผู้สูงอายุให้ข้อมูลจำนวน 12 คน แบ่งเป็นหญิง 8 คน ชาย 4 คน ในจำนวนนี้ 2 คนพลาดท่าตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ ส่วนอีก 10 คนรอดพ้นมาได้ มีข้อค้นพบดังนี้ 1.เทคนิคที่มิจฉาชีพใช้ล่อลวงเหยื่อ โดยเล่นกับ 3 คำ “ไว้ใจ-กลัว-โลภ” ซึ่งเป็นจุดอ่อนของมนุษย์ ผ่านการปลอมหรือแอบอ้างเป็นคนรู้จักหรือหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
ดังตัวอย่างของผู้สูงอายุ 2 ท่านที่ถูกมิจฉาชีพหลอกลวงท่านหนึ่งเล่าว่ามิจฉาชีพโทรศัพท์มาอ้างว่าลูกชายไปขับรถชนแล้วถูกเรียกค่าเสียหาย ส่วนอีกท่านระบุว่า มิจฉาชีพปลอมเป็นรุ่นน้องที่ทำงานโทรศัพท์มาหลอกยืมเงิน ซึ่งผู้เสียหายทั้ง 2 ยอมรับว่าที่หลงเชื่อเพราะคนร้ายใช้น้ำเสียงและวิธีการพูดที่คล้ายกับคนรู้จักนั้นจริงๆ นอกจากนั้นกลุ่มตัวอย่างทั้ง 12 คนยังเล่าประสบการณ์พบเจอมิจฉาชีพออนไลน์หลายรูปแบบ (แต่ไม่สามารถหลอกลวงได้สำเร็จ)
เช่น มีรายหนึ่งเล่าว่า คนร้ายอ้างเป็นตำรวจโทรศัพท์มาบอกว่าตนเองไปเปิดบัญชีธนาคารในลักษณะพัวพันกับการกระทำผิดกฎหมาย ที่น่าสนใจคือคนร้ายรู้ข้อมูลทั้งชื่อ-นามสกุล และเลขบัญชีธนาคาร, การส่ง SMS หรืออีเมลแนบ Link มาให้กดเข้าไปกรอกข้อมูล, การหลอกลวงด้วยการชักชวนให้เล่นเกม ลงทุน หรือเสนอสิทธิพิเศษต่างๆ ทั้งการซื้อสินค้า การกู้เงิน
2.ความเสี่ยงที่ทำให้ผู้สูงอายุตกเป็นเป้าหมายของมิจฉาชีพ พบทั้ง “ข้อจำกัดทางร่างกาย” เช่น ความจำ ทำให้ผู้สูงอายุมักไม่ตั้งรหัสผ่านเพื่อป้องกัน “การอยู่เพียงลำพัง” ขาดที่พึ่งหรือที่ปรึกษา เช่น ผู้สูงอายุที่ไม่มีลูกหลาน และ “ความประมาท” มองว่าตนเองไม่มีความเสี่ยง ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพราะไม่ได้ใช้งานอะไรมาก 3.เพื่อนและครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพออนไลน์ ผ่านการให้ความรู้หรือบอกเล่าประสบการณ์เมื่อต้องเผชิญกับกลลวงของคนร้าย สิ่งเหล่านี้ช่วยลดความเสี่ยงลงได้
4.ผู้สูงอายุเองก็พยายามปรับตัวเพื่อรับมือภัยคุกคามจากมิจฉาชีพออนไลน์ เช่น ไม่รับโทรศัพท์จากหมายเลขแปลกๆ ที่ดูแล้วน่าสงสัย ระมัดระวังในการกด Linkต่างๆ ที่ถูกส่งเข้ามา ซึ่งความรู้เหล่านี้ก็มาจากการติดตามข่าวสาร หรือมีบุคคลใกล้ชิดแนะนำ รวมถึงผู้สูงอายุหลายคนเลือกใช้ระบบจดจำอัตลักษณ์ทางชีวภาพ (เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา) แทนการตั้งรหัสผ่าน 5.ผู้สูงอายุมองว่าภาครัฐยังไม่เอาจริงเอาจังมากพอกับปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ข้อควรระมัดระวังที่เข้าถึงผู้สูงอายุ ไปจนถึงมีเจ้าภาพหลักในการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
“จากการศึกษา ทีมวิจัยมีข้อเสนอ 4 ข้อ 1.ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีเครือข่ายทางสังคม เริ่มจากหน่วยที่เล็กที่สุดอย่างสถาบันครอบครัวไปจนถึงชุมชนและสังคม ให้มีบทบาทในการช่วยเหลือสนับสนุนให้ผู้สูงอายุเพื่อพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2.หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่มีการจัดทำแนวทางป้องกันภัยคุกคามทางดิจิทัลให้กับผู้สูงอายุควรประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่เข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย
3.หน่วยงานและองค์กรต่างๆ ควรมุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดการความปลอดภัยในโลกดิจิทัลอาจเป็นการสร้างสื่อออนไลน์ที่สามารถให้ความรู้ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ และ 4.ในระดับประะเทศ ควรมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่รักษาความมั่นคงปลอดภัยทางดิจิทัลให้กับผู้สูงอายุ โดยให้การเฝ้าระวัง แจ้งเตือนภัย และให้ความช่วยเหลือเมื่อผู้สูงอายุถูกคุกคามทางดิจิทัล”
SCOOP@NAEWNA.COM