“8 พรรคที่ยืนอยู่ตรงนี้ ส่วนใหญ่ก็น่าจะเห็นว่ากัญชาทางการแพทย์เป็นสิ่งที่ทำได้ ถึงแม้จะเป็นยาเสพติดก็ยังสามารถที่จะทำได้อยู่ ในเรื่องของสถานการณ์ก็จะต้องมีการควบคุมโซนนิ่ง หรือควบคุมการพกในที่สาธารณะ แต่ก็ต้องขอยืนยันว่าถ้าเป็นพี่น้องที่อยู่ในแวดวงกัญชาและเปิดร้านไปแล้ว และทำถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง ก็น่าจะมีวิธีที่จะให้คณะกรรมการพูดคุยว่าจะสามารถปกป้องหรือสามารถนิรโทษกรรมเขาได้อย่างไร”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ตอบคำถามสื่อมวลชนในประเด็นอนาคตของ “กัญชา” เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2566 อันเป็นวันที่ 8 พรรคการเมืองร่วมจัดตั้งรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลังพรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ ประกาศตั้งคณะทำงาน 7 คณะ หนึ่งในนั้นคือ “คณะทำงานแก้ปัญหายาเสพติด” โดยประเด็นกัญชาจะอยู่ในส่วนนี้
นับตั้งแต่ทางการไทยประกาศถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด “ภาวะสุญญากาศ” เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากเพราะปรากฏภาพเด็กและเยาวชนสูบกัญชา หรือมีการนำกัญชาไปผสมในอาหารแล้วส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล ขณะที่ในฝ่ายการเมืองก็มีวิวาทะกันจนร่างกฎหมายควบคุมกัญชาในระดับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ไม่สามารถผ่านการพิจารณาจากรัฐสภาได้ทันกระทั่งมีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรและมีการเลือกตั้ง ท่ามกลางความกังวลของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับกัญชา ซึ่งได้ลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ในวันที่ 27 พ.ค. 2566 หรือ 3 วันก่อนหน้า 8 พรรคตั้ง 7 คณะทำงาน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนา (ออนไลน์) เรื่อง “ทิศทางของกัญชาเสรีกับมุมมองของการคุ้มครองเด็กและเยาวชน” โดย ญาดา เดชชัย เธียรประสิทธิ์ อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญาและอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง “ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ.2565 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2565” อันเป็นกฎหมายที่ใช้ควบคุมกัญชาในปัจจุบัน ออกตาม พ.ร.บ.คุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542
ซึ่งระบุว่า ห้ามจำหน่ายให้กับผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนั้นยังมี “ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง แนวทางการปฏิบัติเกี่ยวกับกัญชาหรือกัญชงในสถานศึกษา ส่วนราชการ หรือหน่วยงานในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2565” ที่ออกตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ที่ห้ามนักเรียน-นักศึกษา และบุคลากร นำกัญชาหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชาเข้ามาในสถานศึกษา รวมถึงงดจำหน่ายในพื้นที่ดังกล่าว
“ถ้าเราดูตัวกฎหมายดีๆ ก็จะพบว่ามันก็ยังไม่ห้ามจำหน่ายในสถานศึกษา แต่ไปออกในลักษณะประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งอันนี้ถ้าเราเทียบกับสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายแต่เป็นสิ่งควบคุม อย่างเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ใน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (พ.ศ.2551) อันนี้ระบุไว้ชัดเจนว่าห้ามจำหน่ายในสถานศึกษา แล้วก็มีประกาศ คสช. ที่ออกมา รู้สึกจะเป็นปี 2558 ที่ระบุเพิ่มเติมว่าห้ามจำหน่ายแอลกอฮอล์ในบริเวณที่ใกล้เคียงสถานศึกษาด้วย
แต่ในกรณีกัญชา ที่ทุกท่านทราบข่าวประเด็นที่มีร้านจำหน่ายกัญชาแถวโรงเรียนย่านสีลม ถามว่าทำไมอันนั้นทำได้ เพราะมันไม่มีกฎหมายห้าม ถ้าดูดีๆ มันไม่มีบอกในเรื่องของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่มีบอกว่าห้ามจำหน่ายที่ไหน ไม่ได้ระบุชัด (มีเพียงห้ามจำหน่ายในสถานที่ทางศาสนา หอพักตามกฎหมายหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนสนุก) ก็เลยยังมีช่องว่างทางกฎหมายตรงนี้อยู่ที่ทำให้เราทุกคนมีความกังวลว่าทำไมเปิดแล้วไม่ผิดกฎหมาย เพราะมันไม่มีกฎหมายห้ามอย่างชัดเจน” อาจารย์ญาดา กล่าว
ขณะที่ ชนิดา วิชัยคำ นักจิตวิทยาคลินิกชำนาญการพิเศษ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน จังหวัดสมุทรปราการ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า หากดูสถิติย้อนหลัง 3 ปี ว่าด้วยการกระทำผิดคดียาเสพติด แม้จะเห็นว่าลดลง โดยปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 49 ปี 2564 ร้อยละ 47 และปี 2565 ร้อยละ 40 แต่อีกมุมหนึ่ง จากประสบการณ์ทำงาน 20 ปี อยู่มาตั้งแต่ยุคที่จับกุมแม้กระทั่งการใช้สารระเหย พืชกระท่อม รวมถึงกัญชา เฉลี่ยแล้วในอดีตมีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมอยู่ที่ 5 หมื่นคน/ปี แต่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 1.2 หมื่นคน/ปี
ดังนั้น “ยังมีเด็กและเยาวชนที่ไม่ถูกจับกุมเข้าสู่ระบบสถานพินิจ ซึ่งยังใช้ชีวิตในสังคมหรือชุมชน” และอาจจะมากกว่าที่ถูกจับกุมด้วยซ้ำไป ขณะเดียวกันยังพบว่า “เด็กและเยาวชนใช้กัญชามากขึ้น” จากอันดับ 4 ในปี 2563 ขึ้นเป็นอันดับ 3 ในปี 2564 และในปี 2565 อยู่อันดับ 2 เป็นรองเพียงยาบ้าเท่านั้น ซึ่งน่าจะมาจาก “เด็กและเยาวชนเข้าใจว่าการปลดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดคือการให้ใช้กันได้อย่างเสรี” ประกอบกับการหาซื้อได้ง่าย พบการขายแทบทุกชุมชน จนเด็กและเยาวชนมองว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ
“เด็กที่ถูกจับมาที่เราแทบจะทุกคนที่ลองใช้ยาเสพติดมาอยู่แล้ว มันเหมือนบุหรี่ที่ไม่มีโทษร้ายแรง ใครก็ใช้กัน ถึงแม้เราจะห้ามไม่ให้เด็กและเยาวชนใช้ แต่การใช้บุหรี่มันเป็นสิ่งที่ถ้าจะบอกว่าเด็กทุกคนของการเริ่มใช้ยาเสพติด แทบจะร้อยละร้อยคือเริ่มที่บุหรี่ มันเป็นตัวที่ทำให้ดึงเข้าสู่กระบวนการของการใช้ยาเสพติดได้ง่ายขึ้น ซึ่งต่อไปมันน่าจะมีในส่วนของกัญชาที่เป็นตัวที่อาจจะทำให้เขาเข้ามาสู่วงจรในเรื่องของการใช้ยาเสพติดที่มันไม่ได้ใช้เพื่อแค่ประโยชน์ทางการแพทย์ หรือใช้ประโยชน์ที่มีความจำเป็นในส่วนที่เขาต้องใช้” ชนิดา ระบุ
ด้าน อุบลรัตน์ ตัญจรูญ นักจิตวิทยาศูนย์เด็กพิเศษโรงพยาบาลสมิติเวชศรีนครินทร์ กล่าวว่า “ครอบครัว” เป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักยับยั้งไม่เข้าไปสัมผัสกับอบายมุขต่างๆ ที่แพร่หลายในสิ่งแวดล้อมรอบตัว โดยจากประสบการณ์การทำงาน พบว่า “เด็กและเยาวชนที่ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อสืบสาวย้อนไปพ่อแม่ก็ยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดเช่นกัน” เช่น เคยพบกรณีที่พ่อแม่ขายยาบ้า ในระดับที่ชีวิตวนเวียนไป-มาระหว่างบ้านกับเรือนจำ
ซึ่งคนเป็นลูกแม้ตอนแรกตั้งใจจะไม่ทำตนเองให้ซ้ำรอยพ่อแม่ แต่สุดท้ายก็ไปไม่รอด ลูกชายถูกจับข้อหาขายยาบ้าต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำไม่ต่างจากพ่อแม่ ส่วนลูกสาวก็เสพยาบ้าและหันไปขายบริการทางเพศ หรือมีกรณีที่พ่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับที่เรียกว่า “พิษสุราเรื้อรัง” ลูกสาวทนไม่ไหวหนีออกจากบ้านเร่ร่อนหาเงินด้วยการขายบริการทางเพศ จากที่ได้คุยกับคนเป็นพ่อ แม้จะรู้ตัวว่าทำผิดกับลูกแต่ก็ไม่สามารถหยุดการกระทำของตนเองได้
“มีความเห็นส่วนตัว ถ้าครอบครัวมีพื้นที่เข้มแข็งอยู่แล้ว ครอบครัวไหนที่สามารถสร้างความรัก-ความผูกพันที่มั่นคง การใส่ใจซึ่งกันและกัน มันก็จะเป็นเกราะคุ้มกันในการที่เด็กจะไปสัมผัสกับสิ่งไม่ดีไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคคล ยาเสพติด หรือสถานที่ ได้ดีกว่าเด็กที่พื้นฐานครอบครัวขาดความใส่ใจ ทำให้เด็กรู้สึกขาดรัก รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเอง”นักจิตวิทยาศูนย์เด็กพิเศษ รพ.สมิติเวชศรีนครินทร์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM