“Decoupling” หรือ “การแบ่งขั้ว” เป็นสถานการณ์ของโลกยุคปัจจุบันที่ 2 มหาอำนาจ “สหรัฐอเมริกา-จีน”แข่งขันกันอย่างดุเดือด เริ่มปะทุขึ้นในยุคที่ โดนัลด์ ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดยเริ่มนโยบาย “สงครามการค้า (Trade War)” ผ่านการตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีน และยิ่งรุนแรงขึ้นในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน มีการออกมาตรการห้ามส่งออกเครื่องจักรผลิตชิพ(เซมิคอนดักเตอร์) จากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรไปยังจีน ออกกฎหมายเพื่อดึงสายการผลิตชิพและสินค้าอื่นๆ ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงจากจีนกลับไปยังสหรัฐฯ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า(สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คําปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (โดยกลุ่มคลัสเตอร์ความสามารถในการแข่งขัน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)จัดเสวนา “Decoupling ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ไทยได้หรือเสียประโยชน์” ซึ่งมีการนำเสนอผลการศึกษาการแยกห่วงโซ่อุปทาน (Decoupling) ของอุตสาหกรรมสำคัญระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน และนัยต่อเศรษฐกิจไทย
รศ.ดร.จุฑาทิพย์ จงวนิชย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง 4 ข้อค้นพบจากผลการศึกษาครั้งนี้ 1.ไทยได้ประโยชน์ในการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯจากการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน ในช่วงปี 2561-2565 ส่วนแบ่งการส่งออกของประเทศต่างๆ ในสหรัฐฯ จะเห็นจีนลดลงอย่างชัดเจนขณะที่ไทยนั้นเพิ่มขึ้น สาเหตุสำคัญคือ “ไทยกับจีนอยู่ในตำแหน่งเดียวกันในห่วงโซ่อุปทาน นั่นคือการเป็นชาติที่ผลิตและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป” และเมื่อจีนเป็นคู่ขัดแย้งกับสหรัฐฯ จึงกลายเป็นโอกาสของไทยไปโดยปริยาย
2.ไทยไม่ค่อยได้ประโยชน์มากนักในการเข้าสู่ตลาดจีนจากการแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากไทยกับจีนผลิตสินค้าคล้ายกัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสินค้าเกษตรและอาหาร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นเซมิคอนดักเตอร์อุปกรณ์กึ่งตัวนำและตัวนำแบบไวแสงจากไทยยังส่งออกไปจีนได้ดี อนึ่ง มาตรการภาษีที่จีนนำมาตอบโต้สหรัฐฯ ดูจะไม่ค่อยได้ผลเท่าใดนัก เพราะสินค้าเกษตรและอาหารจากสหรัฐฯ ก็ยังส่งออกไปจีนได้มาก ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมที่ส่งออกได้น้อยส่วนหนึ่งมาจากมาตรการห้ามส่งออกชิพของสหรัฐฯ เอง กับอีกส่วนคือจีนก็ส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV)ภายในประเทศ ทำให้ความต้องการรถยนต์จากสหรัฐฯ ลดลง
3.แม้ไทยเข้าตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น แต่ส่วนแบ่งตลาดโลกโดยรวมของไทยลดลงเล็กน้อยและกระจุกตัวในตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ส่วนแบ่งช่วงปี 2561-2565 ไทยลดลงเล็กน้อย และช่วงต้นปี 2566 ก็ยังรักษาส่วนแบ่งไว้ได้ และ 4.โครงการที่ได้รับการส่งเสริมเพิ่มขึ้น แต่เม็ดเงินลงทุนยังไม่ชัดเจน ช่วงปี 2561-2565 เม็ดเงินลงทุนไหลเข้าในภาคอุตสาหกรรมยังค่อนข้างน้อย โดยเฉพาะในภาคยานยนต์ถือว่าลดลงด้วยซ้ำ ส่วนภาคอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเงินทุนก็ไม่ได้ไหลเข้าอย่างชัดเจน อีกทั้งที่เข้ามาก็ยังเป็นหน้าเดิม เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ ยุโรป
วานิสสา เสือนิล อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงอุตสาหกรรม “เครื่องปรับอากาศ” มีข้อค้นพบ 1.ไทยส่งออกเครื่องปรับอากาศไปสหรัฐฯ ได้มากขึ้น รองลงมาคือออสเตรเลียและญี่ปุ่นตามลำดับ 2.ไทยนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศลดลง สะท้อนการพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น 3.ชิ้นส่วนสำหรับประกอบเป็นเครื่องปรับอากาศนั้นไทยนำเข้าจากจีนเป็นหลัก โดยมีแหล่งอื่นๆ เพียงเล็กน้อย
ขณะที่อุตสาหกรรม “ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์” พบว่า “ไทยส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ไปจีนมากที่สุด” รองลงมาคือสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม “สัดส่วนตลาดสหรัฐฯ มีแนวโน้ม
โตขึ้น” ซึ่งจากการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้เกี่ยวข้อง ได้ข้อมูลว่า กระแสโลกแบ่งขั้วที่เกิดขึ้นส่งผลให้อุตสาหกรรมผลิตและส่งออกฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์จากจีนบางส่วนย้ายมาอยู่ในไทย บวกกับสินค้าที่ผลิตมีความซับซ้อนมากขึ้น นอกจากนี้ราคาฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ที่ผลิตจากไทยส่งไปสหรัฐฯ ในปี 2565 ยังปรับตัวสูงขึ้นด้วย และจีนยังเป็นแหล่งหลักในการป้อนชิ้นส่วนประกอบฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ให้กับไทย
โดยสรุปแล้ว การแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทานได้ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมไทยหลายรายการเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านการใช้ชิ้นส่วน (Input) มากมายในภาพรวม จีนยังคงเป็นแหล่งนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่สำคัญของไทย แต่ก็เริ่มเห็นการขยับในลักษณะพึ่งพาการนำเข้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น (เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย) เพื่อลดความเสี่ยง แต่ชิ้นส่วนอื่นๆ บทบาทของจีนกลับทวีความสำคัญขึ้น เพราะซัพพลายเออร์จีนพยายามลดราคาเพื่อระบายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ และลดผลกระทบจากมาตรการกีดกันในตลาดสหรัฐฯ
ผศ.ดร.วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์ อาจารย์กลุ่มวิชาเศรษฐศาสตร์การคลังและการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงอุตสาหกรรม “ยานยนต์
เครื่องสันดาปภายใน (ICE)” หรือก็คือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง เทียบกับ “ยานยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV)” พบว่า 1.ชิ้นส่วนที่ใช้แทนกันได้ของยานยนต์ทั้ง 2 ประเภทมีน้อย จึงทำให้ธรรมชาติของการผลิตและผลกระทบจากสถานการณ์โลกแห่งขั้วแตกต่างกัน
2.โครงสร้างของยานยนต์เครื่องสันดาปภายในยังกระจุกตัวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย เม็กซิโก บราซิล โดยประเทศเหล่านี้เป็นฐานการผลิตสำคัญสำหรับการส่งออกรถยนต์เข้าตลาดในภูมิภาคตนเอง อาทิ 2 ใน 3 ของรถยนต์ที่ผลิตในไทยถูกกระจายไปตามประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และประเทศที่อยู่ใกล้เคียงอาเซียนอย่างออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ขณะที่บราซิลส่งออกรถยนต์ในภูมิภาคลาตินอเมริกา (ทวีปอเมริกากลางและใต้) ส่วนเม็กซิโกจะผลิตรถยนต์ส่งเข้าตลาดเพื่อนบ้านทางเหนืออย่างสหรัฐฯ
3.ประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับประกอบเป็นรถยนต์ลดลง โดยลดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 กระทั่งในปี 2565 พบการนำเข้ากลับมาเพิ่มขึ้น ซึ่งนอกจากไทยแล้ว ชาติอื่นๆ ที่เป็นฐานการผลิตรถยนต์ก็เพิ่มในปีดังกล่าวเช่นกัน (ยกเว้นบราซิลที่การนำเข้าชิ้นส่วนสำหรับประกอบเป็นรถยนต์เพิ่มขึ้นตลอดมาตั้งแต่ปี 2554) สาเหตุมาจากรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้นตามแนวคิดการพัฒนายานยนต์อัจฉริยะ
4.สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีนแทบไม่ทำให้การส่งออกรถยนต์ของไทยเปลี่ยนแปลง แม้มูลค่าจะลดลงบ้างในช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แต่ลำดับคู่ค้ากับไทยก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากชิ้นส่วนสำหรับประกอบยานยนต์แบบเครื่องสันดาปภายในมีข้อจำกัดด้านต้นทุนในการขนส่ง เพราะมีชิ้นส่วนมากถึง3 หมื่นชิ้น และหลายชิ้นมีขนาดใหญ่ ทำให้ฐานการผลิตรถยนต์ทั้งโรงงานประกอบและซัพพลายเออร์ต่างๆ มักตั้งอยู่ในประเทศเดียวกันหรือประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกัน ผลกระทบจึงมีจำกัดเพราะแยกกันทำตลาดในแต่ละภูมิภาค
5.ยานยนต์ไฟฟ้ายังผลิตและใช้กันอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วหรือประเทศที่มีปัจจัยแวดล้อมเกื้อหนุน เช่น เยอรมนี จีน เบลเยียม เกาหลีใต้ เพราะประเทศเหล่านั้นมีโครงสร้างพื้นฐานเอื้ออำนวย อาทิ สถานีชาร์จ อีกทั้งมีกระแสตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและมีกำลังซื้อ 6.ยานยนต์เครื่องสันดาปภายในจะยังคงมีบทบาทกับเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต่อไปอีกระยะหนึ่ง เช่น ประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตจนได้รับฉายา “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” มา 2 ทศวรรษ แต่ยานยนต์ไฟฟ้าก็เป็นอีกอุตสาหกรรมที่ต้องจับตามอง การพัฒนาจึงต้องทำคู่ขนานกัน
รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวสรุปข้อค้นพบทั้งหมดจากการศึกษาข้างต้น แบ่งเป็น “4 ข้อพึงระวัง” ประกอบด้วย 1.อย่าติดกับดักความไฮเทค อย่าไปคิดว่าผลิตสินค้าแล้วต้องให้ดูล้ำยุคทันทีสามารถไปเชิดหน้าชูตาได้ เพราะชาติที่ทำแบบนี้ได้มีไม่กี่ประเทศ ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล 2.ต้องหาSegment (ส่วน) ที่เหมาะสม ด้วยการรวบรวมความต้องการ (Demand) ภายในประเทศที่ยังกระจัดกระจาย
เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดูจากยุทธศาสตร์ที่กำลังทำอยู่ (อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า) การย้ายฐานการผลิตแผ่นวงจรพิมพ์ (PCB) จากต่างประเทศเข้ามายังไทย การปรับปรุงการผลิตโดยผู้ผลิตที่ตั้งอยู่ในไทยอยู่แล้ว การขยับของบริษัทข้ามชาติที่ต้องการลงทุนแผ่นเวเฟอร์ (Wafer) รายอื่นๆ 3.เอกชนต้องมีบทบาทนำ
โดยมีรัฐเป็นผู้สนับสนุน และ 4.ตระหนักความเป็นGlobalized Industry (อุตสาหกรรมระดับโลก) เพราะมีทั้งส่วนที่ทำเองได้ในประเทศและที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงบางอย่างเมื่อทำแล้วยังยังต้องส่งออก
กับ “4 ข้อเสนอแนะ” ประกอบด้วย 1.เพิ่มศักยภาพด้านการผลิต (บนพื้นฐานความเป็นจริง) ซึ่งอุตสาหกรรมไทยยังต้องพึ่งพาแรงงานทั้งทักษะ (Skilled ไปจนถึง High-Skilled) และไร้ทักษะ (Unskilled) ตลอดจนปัจจัยอื่นๆเช่น ลงทุนด้านแม่พิมพ์รถยนต์ 2.กระจายตลาดส่งออกที่ผ่านมากระจุกตัวอยู่แต่สหรัฐฯ เป็นหลัก เพื่อลดผลกระทบจากความเสี่ยงต่างๆ 3.ดึงแหล่งทุนและคนเก่งจากภายนอก เช่น ต้องมั่นใจว่ามาลงทุนในแทนแล้วจะมีแรงงานและสิ่งอื่นๆ ที่จำเป็นพร้อม หรือมาทำงานในไทยแล้วต้องรู้สึกสะดวกสบายและอบอุ่นใจ (Comfortable) และ 4.เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยมีอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางและกำหนดทิศทางว่าจะไปต่ออย่างไร
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี