เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานใหญ่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi Headquarters) จ.ระยอง นักวิจัยด้านพืชสมุนไพร ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำงานวิจัยการพัฒนาการผลิตพืชสมุนไพร 5 ชนิด (บัวบก ขมิ้นชันกระชายดำ ฟ้าทะลายโจร และกะเพรา) เชื่อมโยงสู่ผู้ประกอบการสมุนไพรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ ภายใต้งานสัมมนา “การเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่” จัดโดยเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)
ดร.วุฒิ ด่านกิตติกุล รองผู้อำนวยการ สวทช. สายงาน EECi กล่าวว่า สวทช. โดย EECi ร่วมกับกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จัดงานสัมมนาการเชื่อมโยงและสร้างพันธมิตรในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างนักวิจัยด้านพืชและผู้ประกอบการ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือที่ยั่งยืนและยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันให้แก่ตลาดสมุนไพรไทย
ดร.เจนกฤษณ์ คณาธารณา รองผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า ในการสร้างให้เกิดความยั่งยืนของผู้ประกอบการ สวทช. ได้มีกลไกสนับสนุนภาคเอกชนในหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็น บัญชีนวัตกรรมไทย / AGRITEC (สท.) หรือโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น EECi / อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย / ซอฟต์แวร์พาร์ค / FoodInnopolis เป็นต้น ซึ่งล้วนเป็นบริการสนับสนุนผู้ประกอบการในการร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรไทยด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ผ่านเขตนวัตกรรม EECi ต่อไป
ดร.ประพัฒน์ พันปี ผู้ช่วยผู้จัดการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรม EECi สวทช. ระบุว่า ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สวทช. โดยนักวิจัยไบโอเทคได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพร5 ชนิด ซึ่งล้วนเป็นพืชสมุนไพรเพื่อเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ ให้มีเสถียรภาพทางการผลิต คุณภาพการผลิต นำไปสู่การสร้างความมั่นคงทางอาหาร (Food security)รวมถึงส่งเสริมให้เกิดเกษตรแม่นยำ (Precision Farming) ที่มีการนำเทคโนโลยีผสมผสานการเกษตรยุคดิจิทัล มาใช้กับการเพาะปลูกและเพิ่มผลผลิตได้เท่าทวีคูณ
พืชชนิดแรกคือ บัวบก โดย ดร.กนกวรรณ รมยานนท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาต้นแบบการผลิตบัวบกในระบบปลูกแนวตั้ง
ที่เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่สูงขึ้น บัวบกสายพันธุ์ดี ได้แก่ไบโอบก-143 และ ไบโอบก-296 ทั้งสองสายพันธุ์ ที่คัดเลือกมาจากการรวบรวมสายพันธุ์บัวบกกว่า 200 สายพันธุ์ ซึ่งให้ผลผลิตและปริมาณสารสำคัญสูง
พืชชนิดที่สอง ขมิ้นชัน โดย ดร.รุจิรา ทิศารัมย์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมด้านพันธุศาสตร์และสรีรวิทยาพืชมีการศึกษากระบวนการผลิตต้นพันธุ์ การคัดเลือกสายพันธุ์ และระบบการปลูกในโรงเรือนและแปลงปลูก
พืชชนิดที่สาม กระชายดำ โดย ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีสารออกฤทธิ์ทางยาสูง กรรมวิธีการผลิต และระบบการปลูกที่ลดการเกิดโรคในแปลงปลูก
พืชชนิดที่สี่ ฟ้าทะลายโจร โดยดร.ประเดิม วณิชชนานันท์ นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพร มีการศึกษาสายพันธุ์ที่มีศักยภาพ ระบบการผลิตที่ให้สารสำคัญสูง และต้นแบบระบบการผลิตแบบปิด แบบเปิด และกึ่งปิด
และพืชชนิดที่ห้า กะเพรา โดย ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยจากทีมวิจัยนวัตกรรมโรงงานผลิตพืชสมุนไพรมีการศึกษาข้อมูลสายพันธุ์ที่มีมากถึง 90 สายพันธุ์ และกระบวนการปลูกในโรงงานผลิตพืช (Plant Factory) ทั้งในด้านข้อมูลตอบสนองต่อปัจจัยสภาพแวดล้อมและต้นแบบการผลิตที่เหมาะสม
งานสัมมนาครั้งนี้ นอกจากสร้างการรับรู้ถึงความสำคัญของงานวิจัยพืชสมุนไพรแล้ว ยังได้ฉายภาพและนำเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานวิจัยขยายผล ณ โรงเรือนปลูกพืชอัจฉริยะ (Smart Greenhouse) และโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ของเมืองนวัตกรรมชีวภาพ หรือ BIOPOLISที่ตั้งอยู่ใน EECi เพื่อรองรับอุตสาหกรรมชีวภาพไทย ที่จะเติบโตต่อไปในอนาคตอันใกล้ด้วย
ดร.ยี่โถ ทัพภะทัต นักวิจัยพืชกระชายดำ เล่าว่า ปัจจุบันทีมวิจัยกำลังจะได้พันธุ์กระชายดำดีเด่นที่มีสารออกฤทธิ์สูง และสามารถนำไปปรับใช้เฉพาะทางได้ เช่น เครื่องสำอาง อาหารเสริม และยา นอกจากนี้ได้พัฒนาระบบการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ การสร้างต้นพันธุ์ปลอดโรคที่จะนำไปให้เกษตรกร เพื่อลดต้นทุน แรงงาน และระยะเวลาการปลูก รวมถึงยังได้ความรู้ไปใช้กับการผลิตต้นพันธุ์ได้ทั้งปีซึ่งในการศึกษาที่ EECi จะมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อขนาดใหญ่ มีระบบ Bioreactor (เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในอาหารเหลว) ที่จะขยายต้นพันธุ์ในระดับเชิงพาณิชย์ และใช้กับพืชอื่นๆ ได้ เช่น ไม้ดอกไม้ประดับ พืชหายากที่ต้องการอนุรักษ์ เป็นต้น ซึ่งทีมวิจัยพร้อมจะทำงานเชื่อมโยงร่วมกับผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางน้ำและปลายน้ำ
และอีกหนึ่งพืชสมุนไพรที่มีความท้าทายในการแก้ปัญหา Pain Point มาอย่างยาวนานคือ กะเพรา โดย ดร.พนิตา ชุติมานุกูล นักวิจัยพืชกะเพรา เปิดเผยว่า กะเพรา
เป็นพืชสมุนไพรชนิดใหม่ แต่จุดอ่อนทางธุรกิจคือ การส่งออก ที่ถูกห้ามส่งออกมาตั้งแต่ปี 2554 เพราะมีการใช้ยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก และยังพบแมลงติดมากับพืชที่ส่งออกสูง สร้างความสูญเสียมูลค่ามหาศาล ฉะนั้น เพื่อการแก้ไขจึงได้พัฒนาการปลูกให้เป็นเกรดพรีเมียม ทดลองปลูกและศึกษาใน Plant factory เพราะไม่มีการใช้ยาปราบศัตรูพืชใด ๆ
ทั้งนี้ ทีมวิจัยได้ศึกษาตั้งแต่การรวบรวมสายพันธุ์ซึ่งมีมากถึง 90 สายพันธุ์ และยังไม่มีการศึกษาถึงสรรพคุณในแต่ละสายพันธุ์มาก่อน เช่น สายพันธุ์ที่ต้านอักเสบ ต้านจุลชีพ ป้องกันการเกิดอัลไซเมอร์ หรือสรรพคุณในด้านกลิ่น ที่ช่วยขับลม ลดคอเลสเตอรอล เป็นต้น รวมถึงศึกษาสภาวะ (condition) การปลูกที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างสารสำคัญของกะเพราได้มากที่สุด
ซึ่งในการเชื่อมโยงกับ EECi ทางทีมวิจัยมีแผนในอนาคตอันใกล้ว่า จะนำส่วนที่คัดสายพันธุ์ที่ดีและสำเร็จมาแล้วใน condition ต่างๆ ทั้งการปลูกใน Plant Factory ใน Greenhouse และแปลงทดลองของเกษตรกร เช่น พันธุ์ A ที่หอมมากและหอมทั้ง 3 ที่ที่ปลูกซึ่งให้ผลคงที่ ทีมจะนำพันธุ์เหล่านั้นมาปลูกทดสอบและขยายการผลิตในโรงเรือนที่ EECi เพื่อตอบโจทย์กับภาคเอกชนต่อไป
ถือเป็นการนำงานวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมสมุนไพรให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง
ผู้ประกอบการสมุนไพรและผู้ที่เกี่ยวข้องที่สนใจการพัฒนาสมุนไพรด้วยงานวิจัยด้านเกษตรสมัยใหม่ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โทร. 02-5646700 ต่อ 3305
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี