หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดงาน “Thailand Brainpower Briefing 2026 : เวทีชี้แจงทิศทางและกรอบการสนับสนุนทุน บพค. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569” เพื่อชี้แจงนโยบายทิศทางและกรอบการสนับสนุนทุนวิจัยจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ของ บพค. รวมถึงเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประชาคมวิจัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการรับฟังวิสัยทัศน์และแนวทางการดำเนินงาน เพื่อร่วมขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ของประเทศไทยสู่การเป็น Smart Nation อย่างยั่งยืน
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานคณะกรรมการ บพค. กล่าวว่า การดำเนินงานที่สำคัญของ บพค. คือ การปรับกระบวนทัศน์จากการ 'สนับสนุน' เพียงมิติเดียว ไปสู่การเป็น 'ผู้ร่วมขับเคลื่อน' และ 'ผู้สร้างสรรค์คุณ ค่าร่วมกัน' กับประชาคมวิจัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เรามุ่งเน้นให้งานวิจัยและนวัตกรรมได้รับการประยุกต์ใช้จริง ก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างก้าวกระโดด ซึ่งเป็นการประกาศเจตนารมณ์ในการปลดล็อกศักยภาพของ 'ทุนสมอง' ไทยเพื่ออนาคตที่ก้าวหน้าและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมา บพค. ได้ดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์ประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้าง 'คนสมรรถนะสูง' และพัฒนาองค์ความรู้จากงานวิจัยระดับแนวหน้า เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ก้าวขึ้นเป็นเจ้าของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมไปได้พร้อมๆกันทัดเทียมกับสากล และเสริมสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
ด้าน ดร.ณิรวัฒน์ ธรรมจักร์ ผู้อำนวยการ บพค. ได้แสดงวิสัยทัศน์และให้นโยบายด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนว่า การสร้าง 'คนสมรรถนะสูง' และพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า ถือเป็นภารกิจหลัก ซึ่งเราตระหนักดีว่า 'ทรัพยากรมนุษย์' คือปัจจัยสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนประเทศสู่ Smart Nation โดยแนวทางการดำเนินงานที่แตกต่างจากเดิมคือ การเน้นการพัฒนากำลังคนแบบ 'Demand Driven' มากขึ้น ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงความต้องการที่แท้จริงจากภาคอุตสาหกรรมภาคบริการและภาคสังคม เข้ากับการผลิตบัณฑิตและพัฒนาบุคลากรวิจัยหลังปริญญาผ่านแพลตฟอร์ม Deep Specialization Graduate และ Post-doctoral /Post-graduate Fellowship โดย บพค. ได้ลงทุนและร่วมมือกับหลักสูตรที่ตอบสนองต่อเทคโนโลยีแห่งอนาคต รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้กับบุคลากรในระบบ ซึ่งมีกลไกสำคัญคือการสนับสนุนทุนในลักษณะ 'Co-Creation' ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคเอกชน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ การวิจัย และการสร้างนวัตกรรมร่วมกัน เราคาดการณ์ผลสัมฤทธิ์ที่เป็นรูปธรรมจากการที่บุคลากรเหล่านี้มีงานที่ตรงกับความต้องการของตลาด มีทักษะพร้อมใช้งาน และสามารถสร้างผลงานวิจัยที่นำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้จริง ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่ง ขันของประเทศในระดับสากล และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม
ผู้อำนวยการ บพค. กล่าวต่อไปว่า สำหรับกลยุทธ์ของ บพค. ในการตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและประเด็นวิจัยเร่งด่วนคือ โอกาสและความท้าทายของประเทศ โอกาส คือการที่ประเทศไทยสามารถใช้ความเชี่ยวชาญของนักวิจัยต่อยอดความเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล รวมถึงการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อหาทางออกและแก้ปัญหาที่ท้าทายของประเทศ
ปัจจุบัน บพค. ดำเนินงานตามแผน ววน. ปี พ.ศ. 2566–2570 ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 และ 4 ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างและพัฒนางานวิจัยขั้นแนวหน้า และการพัฒนากำลังคนทักษะสูงในลักษณะ Demand Driven ผ่านความร่วมมือกับองค์กรระดับประเทศและนานาชาติ โดยมุ่งเน้นประเด็นวิจัยที่สำคัญ อาทิ 1.Digital & Computing Technology โดยเฉพาะ AI และการประมวลผลขั้นสูง เพื่อประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เช่น เกษตร อาหาร การแพทย์ โลจิสติกส์ และการผลิต 2.Sensor & Electronics Technology ครอบคลุมตั้งแต่ยานยนต์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ระบบ IoT จนถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์และระบบเกษตรแม่นยำ 3.Biotechnology การสนับสนุนเทคโนโลยีอย่าง Synthetic Biology, Genome Editing, และ Precision Fermentation 4.Clean Energy &Decarbonization ที่มุ่งเน้นการสนับสนุนเทคโนโลยี SMR และเชื้อเพลิงชีวภาพ 5.Advanced Materials Technology วัสดุชั้นสูงสำหรับการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รถยนต์ไฟฟ้า เครื่องมือแพทย์ และอุตสาหกรรมการบิน และ 6.Frontier Technology ได้แก่ ควอนตัมเทคโนโลยี พลาสมาและฟิสิกส์พลังงานสูง และเทคโนโลยีระบบโลกและอวกาศ) ส่งเสริมการรวมทีมวิจัยจากหลากหลายสาขา และการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายในการสร้าง 'จุดคานงัด' ที่จะยกระดับขีดความสามารถของประเทศไทยในด้านเหล่านี้ให้เท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่เทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแห่งอนาคตและบริการแห่งอนาคต และเทคโนโลยีที่สอดรับความท้าทายสังคม
“เราเชื่อมั่นในการหลอมรวมจุดแข็งของแต่ละภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และพันธมิตรระดับนานาชาติ รูปแบบ Co-Creation คือการร่วมกันคิดและสร้างสรรค์โจทย์วิจัยและนวัตกรรมตั้งแต่ต้นทาง Co-Value คือการสร้างคุณค่าร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจในวงกว้าง และ Co-Investment คือการร่วมลงทุน ซึ่งสะท้อนถึงความมุ่งมั่นและความเป็นเจ้าของร่วมกันในผลลัพธ์ รูปแบบนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของประเทศอย่างมหาศาล เพราะเป็นการลดความซ้ำซ้อน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเร่งให้เกิดผลลัพธ์ที่ใช้งานได้จริงและนำไปใช้ประโยชน์ได้เร็วขึ้น” ดร.ณิรวัฒน์ อธิบายเพิ่มเติม
การจัดงาน "Thailand Brainpower Briefing 2026" เป็นเสมือน 'เข็มทิศ' และ 'สะพานเชื่อม' สิ่งที่เราคาดหวังจากประชาคมวิจัยและผู้สนใจขอรับทุนได้มีความเข้าใจที่ชัดเจนในทิศทางและเป้าหมายเชิงยุทธ ศาสตร์ของ บพค. การส่งเสริมการทำงานร่วมกันในการพัฒนาข้อเสนอโครงการ และการสร้างเครือข่ายพันธมิตรใหม่ๆ ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรับทราบนโยบายโดยตรง ได้เข้าใจทิศทางทุน พบปะแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ บพค. และได้รับทราบถึงแนวทางการยื่นคำขอสนับสนุนทุนประจำปีงบประมาณ 2569 ที่กำลังจะเปิดรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบ NRIIS ในเร็วๆนี้ ซึ่งนักวิจัยสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ช่องทางเพจ Facebook PMU-B บพค.
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี