จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยร่วมกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) จัดโครงการ Teacher Conference ในหัวข้อ “Stop Violence in Schools” เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง พร้อมแนะนโยบายการแก้ไข ป้องกัน รวมทั้งเยียวยาผู้ถูกกระทำและรับมือผู้กระทำความรุนแรง ผ่านงานวิจัยจากคณาจารย์จากคณะต่างๆ ของจุฬาฯ
จากผลวิจัยโครงการติดตามสภาวการณ์เด็กและเยาวชนรายจังหวัด (Child Watch) ที่ทำการสำรวจในกลุ่มเด็กเยาวชน 150,000 คนทั่วประเทศ พบว่าเด็กนักเรียนในระดับมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งในระดับมัธยมศึกษา ปวช. และ ปวส. ตกอยู่ในวังวนของการใช้ความรุนแรง การใช้กำลังกันระหว่างเพื่อนนักเรียนด้วยกันประมาณ 1 ใน 10 หรือประมาณ 700,000 คน และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์ความรุนแรงในครอบครัว การนำเสนอของสื่อต่างๆ ที่แสดงออกถึงความรุนแรงทั้งรูป ของภาพยนตร์ ข่าว โดยเฉพาะละครบางเรื่องที่มีฉากและคำพูดที่กระตุ้น และเป็นสิ่งเร้าที่อาจจะทำให้เด็กซึมซับความรุนแรงมากขึ้น
รศ.ดร.สุมนทิพย์ จิตสว่าง ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หัวหน้าโครงการวิจัย “สังคมไทยไร้ความรุนแรง” เน้นย้ำเรื่องความร่วมมือกันระหว่างองค์กรต่างๆ เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงยุติธรรม รวมถึงภาคประชาสังคม สื่อมวลชน ภาคเอกชน และสถาบันครอบครัวซึ่งมีความสำคัญลำดับต้นๆ และเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความรุนแรงได้
“จากการศึกษาวิจัยในปีที่ 2 ได้ต่อยอดแผน Road Map สังคมไทยไร้ความรุนแรง ออกเป็น 5 ส่วน ได้แก่ นโยบาย (Policy) ป้องกัน (Prevention) คุ้มครอง (Protection) ดำเนินคดี (Prosecution) และความเป็นหุ้นส่วน (Partnership) โดยแผนงานดังกล่าวได้มีการวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งมอบองค์ความรู้ให้หน่วยงานต่างๆ นำไปต่อยอดในการดูแลและป้องกันการเกิดความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรม”
สำหรับความรุนแรงในโลกไซเบอร์ ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ เผยว่า เกิดขึ้นกับชั้นมัธยมศึกษาปลายถึงมหาวิทยาลัย ในปี 2566 มีผู้พบความรุนแรงถึง 40% และผู้ที่ตกเป็นเหยื่อถึง 30% ที่น่าสนใจ คือ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ออกมาบอกว่าตนตกเป็นเหยื่อ โดยช่องทางหลักของการแสดงความรุนแรงมักเป็น Social Network ความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในแพลตฟอร์มที่ไม่มีการเปิดเผยตัวตน ครูเป็นเสมือนปราการแรกของเด็กที่สามารถรับฟังอย่างเข้าใจ โรงเรียนสามารถเสริมเรื่องการสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้นักเรียนสามารถพูดหรือระบายได้ จากงานวิจัยพบว่าคนที่ตกเป็นเหยื่อ Cyberbullying มีความสัมพันธ์กับการฆ่าตัวตายการป้องกันในเบื้องต้นจึงมีความสำคัญ ช่วยป้องกันปัญหาใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า โรงเรียนควรมีกลไกที่คุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ซึ่งจะต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการ ไม่ว่าจะเป็นครู แพทย์ ตำรวจ รวมถึงกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งหากมีการบูรณาการร่วมกันก็จะช่วยคุ้มครองป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียนได้
“ศิลปะบำบัดกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรง” จากงานวิจัย ศ.ดร.บุษกร บิณฑสันต์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ และ ดร.นิศรา เจริญขจรกิจ อาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ชี้การนำกระบวนการทางศิลปะบำบัดมาใช้จะช่วยลดปัญหาความรุนแรงได้
ศ.ดร.บุษกร กล่าวว่า “กิจกรรมที่เรียกว่า Expressive Art Emotional คือการใช้ศิลปะบำบัดโดยการวาดภาพ จะเน้นที่อารมณ์ (Emotion) ที่ถูกสะสมไว้ได้รับการปลดปล่อยผ่านงานศิลปะ ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมที่สะท้อนความเป็นตัวตนและการแสดงออกทางอารมณ์ความรู้สึก การวาดภาพเป็นหนึ่งในกระบวนการคัดกรองผู้ที่จะสร้างความรุนแรงหรือผู้ที่ถูกกระทำ ผ่านออกมาเป็นภาพ ทำให้ทราบว่าใครอยู่ในเหตุการณ์ที่ค่อนข้างที่จะวิกฤต เพื่อส่งต่อตามกระบวนการต่างๆ ของโรงเรียนต่อไป”
รศ.ดร.สุมนทิพย์ แนะถึงนโยบาย “การสร้างสังคมไทยไร้ความรุนแรง” โดยสามารถนำไปปรับใช้กับโรงเรียนได้ดังนี้คือ การส่งเสริมและเปลี่ยนแปลงค่านิยมและวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง,การพัฒนา สร้างความมั่นคง หรือ เสถียรภาพระหว่างเด็กและพ่อแม่ หรือ ผู้ที่เลี้ยงดูเด็ก, การพัฒนาทักษะในการใช้ชีวิตต่อเด็กและเยาวชน, การลดการใช้สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์, การควบคุมการนำเสนอของสื่อที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง, การจัดโปรแกรมในการดูแลและช่วยเหลือต่อเหยื่อของความรุนแรง และการลดความรุนแรงโดยการใช้หลักทางศาสนา
เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง ควรได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วนไม่ว่าจะทางด้านนโยบาย จิตวิทยาในการรับมือ การสร้างพื้นที่ปลอดภัย การบังคับใช้ข้อกฎหมาย รวมถึงการรับมือและเยียวยาด้วยศิลปะบำบัด ล้วนแล้วแต่เป็น
องค์ความรู้ที่ควรนำมาบูรณาการร่วมกันเพื่อสร้างสังคมที่ดี ไร้ความรุนแรงสำหรับเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตอย่างมีความสุขในอนาคต
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี