ในการประชุมวิชาการระดับชาติ ครั้งที่ 17 “ประชากรและสังคม 2566 : หลากมิติ ในหนึ่งชั่วชีวิต” เมื่อเร็วๆ นี้ซึ่งเป็นงานใหญ่ประจำปีของ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.(เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติจำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโสของสถาบันฯ บรรยายเรื่อง “เส้นทางชีวิตครอบครัวที่พลาด กับการเลี้ยงดูบุตรหลาน” เริ่มจากการอธิบายนิยามของ “ครอบครัวที่พลาด” เช่น พ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยว โดยใช้ข้อมูลจากโครงการ “Thai Family Matters (ครอบครัวสำคัญ)” ของประเทศไทย ที่เคยรวบรวมไว้เมื่อ 5 ปีก่อน
ข้อมูลนี้เป็นการจับคู่ผู้ปกครองกับบุตรหลานซึ่งอยู่ในช่วง “วัยรุ่นตอนต้น” อายุ 12-14 ปี อันเป็นช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของชีวิต จำนวน 372 ครอบครัว จาก 4 จังหวัดใน 4 ภาค มีทั้ง “ครอบครัวสมบูรณ์” (มีทั้งพ่อและแม่) และ “ครอบครัวไม่สมบูรณ์” (ม่าย/หย่าร้าง/แยกทาง) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เพื่อศึกษาเรื่องการดูแลอบรมบุตรหลานของครอบครัว 2 ประเภทว่าแตกต่างกันอย่างไร
“ข้อค้นพบ 1.บุตรหลานวัยรุ่นตอนต้นต้องการความเอาใจใส่เลี้ยงดูจากพ่อแม่ผู้ปกครองมากกว่าที่ผู้ปกครองคิด ผู้ปกครองอาจจะตอบไปอย่างหนึ่ง แต่เด็กๆ วัย 12-14 เขาจะหวังความต้องการจากพ่อแม่มาก ถ้าหลังจากนั้นเขาจะลดลง ช่วงนี้เป็นช่วงสำคัญที่สุดในชีวิตของเขา ในเส้นทางที่ต้องการพ่อแม่ผู้ปกครองมาดูแลเขา 2.ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวกลับเอาใจใส่เลี้ยงดูบุตรหลานได้ดีกว่าครอบครัวสมบูรณ์ การที่จะไปตีตราครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง แต่ก็เป็นค่านิยมเดิมจากสังคมชะลอการเกิดที่มันผ่านมา 40-50 ปี” อาจารย์อภิชาติ กล่าว
เมื่อดูข้อมูล 4 ด้าน ประกอบด้วย 1.การให้คำปรึกษาหลักการดำเนินชีวิต แบ่งเป็น 3 ด้านย่อย “การให้คำปรึกษาปัญหาชีวิตกับลูก” พบว่า กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ ทำอย่างสม่ำเสมอ ร้อยละ 52 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 34.3 “การสนับสนุนเป้าหมายของลูก” เช่น ลูกโตแล้วอยากเป็นอะไรก็พยายามส่งเสริม กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 36 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 35.1 และ “การพูดคุยเรื่องความเชื่อในครอบครัว” เช่น ศาสนา-จิตวิญญาณ กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 38 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 28.7
2.การใช้เวลาร่วมกัน แบ่งเป็น 2 ด้านย่อย “การมีกิจกรรมร่วมกัน” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 42สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 40.8 กับ “การจัดสรรเวลาร่วมกัน” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 60 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 58.1 โดยสรุปแล้วในด้านการใช้เวลาร่วมกันจะไม่ค่อยพบความแตกต่างระหว่างครอบครัว 2 กลุ่มนี้มากนัก
3.การกำกับดูแลปัจจัยเสี่ยง แบ่งเป็น 4 ด้านย่อย “การคบเพื่อน” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 54 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.2 “เหล้า/บุหรี่/ยาเสพติด” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 54สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 39.6 “การมีแฟน” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 32 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 25.7 และ “ความรู้เรื่องเพศสัมพันธ์” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 30 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 24.2 ซึ่งอาจเป็นเพราะประสบการณ์เดิมของพ่อแม่ผู้ปกครองเอง จึงให้ความสำคัญกับเรื่องปัจจัยเสี่ยงของบุตรหลานมากเป็นพิเศษ
และ 4.ทักษะความรู้เท่าทันด้านการเงิน (Financial Literacy) ก็เป็นอีกเรื่องที่กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษในการอบรมสั่งสอนบุตรหลาน เห็นได้จาก 2 ด้านย่อย “การประหยัด” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 72 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 56.2 กับ “รายรับ-รายจ่ายของครอบครัวและแหล่งทุน” กลุ่มครอบครัวไม่สมบูรณ์ อยู่ที่ร้อยละ 44 สูงกว่าครอบครัวสมบูรณ์ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 33.6
“ทำไมครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวถึงได้ฟื้นตัวได้ดี มันก็มีแนวคิด Resilience (ความยืดหยุ่น) ทางจิตวิทยาและชีววิทยา เขาก็บอกไว้ว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เมื่อตกต่ำลงไป เหมือนลูกฟุตบอลหรือลูกกอล์ฟที่ตกลงไปบนพื้นยิ่งพื้นแข็งเท่าไรมันยิ่งจะกระเด้งขึ้นมาได้มาก สะท้อนออกมาได้เมื่อมีการตกต่ำ ธรรมชาติมนุษย์ทุกช่วงเวลาตกต่ำลงแล้วจะต้องขึ้น ไม่มีใครขึ้นอยู่ข้างบนตลอด มันจะต้องมีการขึ้น-ลง เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมชาติ หรือทางชีววิทยาก็บอกว่ามันอยู่ในยีน (Gene) ด้วยซ้ำไปว่าคนเราพอตกแล้วต้องสู้” อาจารย์อภิชาติ อธิบาย
การที่ครอบครัวไม่สมบูรณ์สามารถฟื้นตัวได้ดีจากสถานการณ์อันยากลำบาก ยังมีคำอธิบายอื่นๆ เช่น “ทฤษฎีระบบนิเวศสังคม (Social Ecologocal System Theory)” หมายถึงมีความพยายามยื่นมือเข้ามาช่วยให้คนที่ก้าวพลาดได้กลับคืนสู่สังคมได้ “ทฤษฎีหลักสูตรชีวิต (Life-course Theory)” หมายถึงคนเรามีช่วงเวลาที่ก้าวพลาดหรือหลงทาง แต่เมื่อรู้เช่นนั้นแล้วก็จะพยายามหาทางกลับออกมาให้ได้ “การเลือกเป็นกรณี (Case Selectivity)” หมายถึงผู้ปกครองในครอบครัวที่ไม่สมบุรณ์อาจมี “จิตใจนักสู้” ติดตัวมาตั้งแต่แรกแล้วก็เป็นได้ จึงกล้าที่จะตัดสินใจพาตนเองออกจากชีวิตคู่ที่มีปัญหาแล้วกลายมาเป็นพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นต้น
ถึงกระนั้น อาจารย์อภิชาติ ก็ย้ำถึงข้อจำกัดของงานวิจัยดังกล่าว ได้แก่ 1.เป็นการศึกษาข้อมูลแบบตัดขวาง ไม่ใช่การศึกษาแบบต่อเนื่อง 2.กลุ่มตัวอย่างในการศึกษายังมีน้อย หากมีมากกว่านี้จะสามารถศึกษาแบบแยกย่อยได้ละเอียดขึ้น เช่น แบ่งระหว่างพ่อเลี้ยงเดี่ยวกับแม่เลี้ยงเดี่ยวเพื่อพิสูจน์คำถามที่ว่าผู้หญิงจะเก่งกว่าผู้ชายในการเลี้ยงลูกหรือไม่? หรือสถานภาพสมรสของผู้ปกครองหากมีกลุ่มตัวอย่างมากพอให้แยกเป็นกลุ่มย่อยม่าย-หย่า-แยกกันอยู่ก็อาจพบความแตกต่างของ 3 กลุ่มนี้ในการเลี้ยงดูบุตรหลานด้วยเช่นกัน แม้กระทั่งการเป็นพ่อหรือแม่เลี้ยงเดี่ยวระหว่างความสมัครใจกับภาระจำยอม ก็อาจพบความแตกต่างได้อีก
3.เป็นคำถามแบบอัตวิสัย เช่น คำถามว่าเลี้ยงลูกมากหรือไม่? เลี้ยงลูกดีหรือไม่? ผู้ตอบอาจตอบเข้าข้างตนเองก็ได้ และ 4.ยังไม่มีข้อมูลทางเศรษฐกิจและสังคมมาเป็นตัวแปรควบคุม เพราะหากทำได้จะตอบคำถามได้อีกหลายเรื่อง เช่น Social Ecologocal System Theory การมีเครือข่ายคุ้มครองทางสังคมที่ดีทำให้ผู้ที่ก้าวพลาดกลับมาตั้งหลักและเดินต่อได้จริงหรือไม่? หรือความยืดหยุ่นที่เกิดจากปัจจัยด้านจิตวิทยามีอยู่จริงหรือไม่? เป็นต้น
อาจารย์อภิชาติ ยังเล่าด้วยว่า มีโอกาสได้ทดลองใช้ “ChatGPT” แชทบอทปัญญาประดิษฐ์ (AI) อัจฉริยะที่ถูกพูดถึงมากในปัจจุบัน โดยการเข้าไปตั้งคำถามว่า “เหตุใด
สังคมทุกวันนี้จึงยังมีอคติหรือการตีตราพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยว?อันเป็นวิธีคิดที่ตกทอดมาจากยุคสังคมชะลอการเกิดตั้งแต่เมื่อ 40-50 ปีก่อน” ซึ่งเจ้า AI สุดล้ำก็ได้ตอบกลับมาแบบสั้นๆ ง่ายๆ แต่ได้ใจความว่า “เพราะการเปลี่ยนผ่านยังไม่สมบูรณ์” หมายถึงปัจจุบันสังคมกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการเปลี่ยนผ่าน
“เรายังมีการ Stigma (ตีตรา) เรื่องการเลี้ยงลูก การเกิด บางทีเดี๋ยวนี้มันมีรูปแบบของครอบครัวต่างๆ กันมากมาย คนโสดก็อาจจะไป Adopt (รับบุตรบุญธรรม) มาเลี้ยงเองก็ได้ หรือคนอายุ 40-50 อยากมีลูกก็ไป Adopt มาได้ไหม? ซึ่งสังคมจะมีรูปแบบนี้มากมาย แต่เรายังตามไม่ทัน ยังมี Stigma อยู่แบบนี้ มันก็แปลว่าเรายังไปสู่สังคมการเกิดได้ยังไม่สมบูรณ์ ทั้งๆ ที่ปัญหาประชากรมันรุนแรงมากๆ เลยในสังคมไทย
อีก 70 กว่าปีเราจะมีประชากรเหลือเพียงครึ่งเดียว รุนแรงรองจากญี่ปุ่น แล้วหลังจากนั้นก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าเราไม่แก้ไขทั้ง Immigration Policy (นโยบายคนเข้าเมือง)กับ Pro-Natal Policy (นโยบายสนับสนุนการเกิด) ผมใช้คำว่า Massive Immigration ต้องเอาเข้ามามากๆ และ Pro-Natal Policy ไม่เวิร์ก ต้องดิสรัป ที่เราทำกันมันแค่ Pro-Natal Policy แต่จริงๆ มันต้องระดับDisruptive ต้องแก้ไขทัศนคติอะไรต่างๆ มากมาย” อาจารย์อภิชาติ กล่าว
ในตอนท้ายของการบรรยาย อาจารย์อภิชาติ ยกคำกล่าวของ ปีเตอร์ แมคโดนัลด์ (Peter McDonald)นักประชากรศาสตร์ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่แนะนำว่า การนำเข้าประชากรจากต่างชาติ (Immigration) ต้องอยู่ที่ 4 แสนคนต่อปี และอัตราการเกิดต้องเพิ่มจาก 1.1-1.2 ให้เป็น 1.7 ภายใน 20 ปี เพื่อรักษาระดับประชากรไว้ให้คงอยู่แบบพอสมควร ดังนั้น อคติหรือการตีตราทั้งต่อการย้ายเข้ามาของชาวต่างชาติ หรือต่อรูปแบบครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวตลอดจนครอบครัวบุญธรรม ยังสมควรให้เป็นไปแบบนี้อีกหรือไม่?
เช่นเดียวกับ “การทำแท้ง” ที่ภาครัฐต้องกลับมาทบทวนความพร้อมในการดูแลเด็กที่เกิดมาทุกคน เพื่อจูงใจให้ผู้หญิงเลือกตัดสินใจได้ถูกต้อง เช่น หากให้เด็กได้เกิดมาแล้วอยู่คนเดียวจะอยู่ได้หรือไม่? สภาพเศรษฐกิจและสังคมพร้อมกับการดูแลหรือไม่? ซึ่งต้องคิดมากกว่าเพียงการจ่ายเงินค่าเลี้ยงดู อาทิ สมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวกับการทำงาน (Work-Life Balance) ของคนเป็นแม่ ไปจนถึงการปรับทัศนคติของทั้งสังคม
“ขอให้ช่วยกันส่งเสริมการเกิดกันอย่างจริงจังในทุกรูปแบบดังที่กล่าวมาแล้ว โดยไม่มีการตีตราและไม่มีอคติ” อาจารย์อภิชาติ ฝากทิ้งท้าย
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี