“39.5 ล้านคน” เป็นจำนวน “กำลังแรงงานในประเทศไทย” ตามรายงาน “การสำรวจแรงงานนอกระบบ พ.ศ.2565” โดย สำนักงานสถิติแห่งชาติ และในจำนวนนี้เป็น “เกษตรกร” (ในรายงานใช้คำว่า เกษตรกรรม การป่าไม้และการประมง) ราว 12 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานไทยทั้งหมด แต่ที่ผ่านมา“ภาพลักษณ์ของเกษตรกรคือเป็นอาชีพที่ยากจน” จำนวนมากมีหนี้สินและต้องหวังพึ่งมาตรการช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐ
ในงานประชุมเสวนาวิชาการภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 ที่จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) บรรยายหัวข้อ “อนาคตและนโยบายสำหรับภาคเกษตรไทยในอนาคต” ชี้ว่า ประเทศต่างๆ รวมถึงไทย จำเป็นต้องปรับโครงสร้างระบบเกษตรและอาหารครั้งใหม่ที่แตกต่างไปจากการ “ปฏิวัติเขียว” ในทศวรรษ 1960-1970 (ปี 2503-2522) ซึ่งในยุคนั้นโลกมีโจทย์เดียวคือ “ลดความหิวโหย” การแก้ปัญหาจึงค่อนข้างง่าย
ขณะที่ปัจจุบันมีวิกฤตหลายด้าน 1.ความก้าวหน้าเรื่องความมั่นคงอาหารและการอดอยากเริ่มชะลอตัว เนื่องจากการเติบโตของผลผลิตรวม (Total Factor Productivity Growth) ในภาคเกษตรชะลอตัวลง ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน 2.ปัญหาโภชนาการ เช่น โรคอ้วนและกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ซึ่งเกิดจากการบริโภคอาหารแปรรูป อาหารที่มีรสหวานหรือเค็มจัด ที่น่าสนใจคือ “ภาวะเตี้ยแคระแกร็นในเด็กไม่ได้เกิดเฉพาะครัวเรือนยากจน แต่ยังพบในครัวเรือนร่ำรวยด้วย” ซึ่งมีคำอธิบายว่าเป็นเพราะตามใจบุตรหลานในการบริโภค
3.ราคาอาหารพุ่งทะยานและผันผวนสูงความต้องการเพิ่มเร็วกว่ากำลังการผลิตส่วนหนึ่งเกิดจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน 4.การขยายตัวของการเกษตรแบบขยายพื้นที่ (Extensification) กับการใช้น้ำ ทำให้เกิดมลพิษที่เป็นต้นเหตุของความสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพ รวมทั้งโรคระบาดในสัตว์ (เช่น ไข้หวัดนก อหิวาต์สุกร) และในคน
5.ระบบการเกษตรทำให้เกิดวิกฤตการเปลี่ยนแปลงอากาศ 2 ทิศทาง ด้านหนึ่งเป็นต้นตอของก๊าซเรือนกระจก (เช่น ร้อยละ 58 มาจากกิจการปศุสัตว์ , การปลูกข้าว 1 กิโลกรัม ก่อให้เกิดก๊าซเรื่องกระจก 4 กิโลกรัม เป็นต้น) อีกด้านหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศยังทำให้ผลิตภาพด้านการเกษตรลดลงและผลผลิตแปรปรวน และ6.ในหลายประเทศความไม่มั่นคงด้านอาหารเป็นทั้งเหตุและผลของความขัดแย้ง รวมทั้งยังมีการใช้แรงงานทาสและแรงงานเด็กในภาคเกษตร
“อนาคตมันต้องแตกต่างไป เพราะฉะนั้นต้องปรับวัตถุประสงค์ใหม่ เร่งรัดปรับทิศทางสร้างนวัตกรรมสำหรับศตวรรษที่ 21 แล้วปรับวัตถุประสงค์ใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ SDGs ของสหประชาชาติ วัตถุประสงค์ใหม่จะมี 4 ข้อ สุขภาพ (Health) เป็นธรรม (Equity-ซึ่งรวมถึงการเพิ่มรายได้ของเกษตรกร) ยืดหยุ่น (Resilience) และยั่งยืน (Sustainable)” รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว
เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น มีอย่างน้อย 8 เรื่องที่ต้องทำ 1.เพิ่มการวิจัยและพัฒนาภาครัฐ บางหน่วยงานด้านการเกษตรในไทยลดงบวิจัยลงจาก 300 ล้านบาท เหลือ 120 ล้านบาท แต่มีงบส่งเสริมถึง 2 พันล้านบาท ก็น่าคิดว่าถ้าไม่มีความรู้แล้วจะส่งเสริมอะไร 2.สนับสนุนภาคเอกชนลงทุนวิจัยและพัฒนา เช่น ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านทักษะความรู้ของเกษตรกรและอาชีพที่เกี่ยวข้อง
3.ลดระยะเวลาการนำเทคโนโลยีการเกษตรไปใช้ประโยชน์ที่เกิดผลในวงกว้าง ที่ผ่านมากว่าเทคโนโลยีจากงานวิจัยจะไปถึงมือเกษตรกรได้ต้องใช้เวลานาน 10-20 ปี เช่น การใช้ Open-Source Sharing of Precompetitive Data (การแบ่งปันข้อมูลก่อนการแข่งขันแบบโอเพ่นซอร์ส) รวมกับลดอุปสรรคด้าน Policy/Regulatory Obstacles (นโยบาย/อุปสรรคด้านกฎระเบียบ)
4.มัดรวมเทคโนโลยีกับนโยบายและนวัตกรรมด้านสถาบัน (Socio-Technical-Political Innovation Bundles) เทคโนโลยีอย่างเดียวไม่มีประโยชน์ ต้องมีนโยบายที่รวมทั้งสังคม-เทคโนโลยี-การเมือง ซึ่งเป็นเรื่องยากมากเพราะต้องทำงานร่วมกัน 5.ให้ความสำคัญกับการเกษตรแบบยั่งยืน (Prioritize de-agraininzations) ปัจจุบันความต้องการใช้ที่ดินและน้ำในภาคเกษตรก่อให้เกิดผลกระทบต่ออากาศและทรัพยากรธรรมชาติ 6.เร่งรัดให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อเอาธาตุอาหารหนักกลับคืนมาจากการผลิตอาหารสัตว์และปุ๋ย เรื่องนี้ไทยมีความรู้น้อยมาก เช่น เมื่อพูดถึงการทำเกษตรแบบอินทรีย์ มักย้อนกลับไปใช้วิธีโบราณยังขาดการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไปจับ
7.พัฒนา/ขยายนโยบายอุดหนุน/ภาษีสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ และอัตราผู้ป่วยในกลุ่มโรค NCDs เช่น จัดเก็บภาษีความเค็ม ส่งเสริมโรงอาหารในโรงเรียนทำอาหารไม่หวาน ส่งเสริมอาหารปลอดภัย (ตัวอย่างของโรค NCDs เช่น เบาหวาน ความดัน โรคหัวใจ มะเร็ง โรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น) และ 8.ปรับเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของนโยบายอุดหนุนการเกษตร โดยเจียดเงินอุดหนุนเกษตรกรที่ซ้ำซ้อนอย่างน้อยปีละ 5 หมื่นล้านบาท มาเป็นนโยบายส่งเสริมการลงทุนวิจัยที่เพิ่มผลิตภาพการผลิต ควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก
“เชื่อไหมว่ามันเกิดขึ้นแล้วในโลกจริงตั้งแต่ทศวรรษที่ 1800 ประเทศแรกที่ทำอย่างนี้แล้วประสบความสำเร็จในการใช้น้ำและที่ดินน้อยลงและได้ผลผลิตมากขึ้น ทราบไหมครับคือใคร? เนเธอร์แลนด์ และใช้เทคโนโลยี เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศเล็กมาก มีปัญหาน้ำท่วม เล็กกว่าประเทศไทยอีก ขณะนี้เป็นผู้ส่งออกอาหารอันดับ 2 ของโลก รองจาก สหรัฐอเมริกา เพราะพันธกิจข้อนี้ (ข้อ 5 ให้ความสำคัญกับการเกษตรแบบยั่งยืน) ประเทศไทยต้องไปสู่อันนี้ ข้อนี้เป็นพันธกิจที่ใหญ่มาก” รศ.ดร.นิพนธ์ ยกตัวอย่าง
หมายเหตุ : สำหรับงานประชุมเสวนาวิชาการภายใต้แผนงานคนไทย 4.0 จัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ยังมีการบรรยายอีกหลายหัวข้อ ซึ่งจะได้นำมาเสนออีกในโอกาสต่อไป!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี