“ความมั่นคงทางประชากร มันก็มีความสำคัญพอๆ กับความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือความมั่นคงทางการเมือง เพราะว่าประชากรจะเป็นตัวสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงประชากรเป็นอย่างมากอย่างนี้ เป็นวิกฤตอย่างนี้ความมั่นคงทางประชากรเป็นเรื่องที่สำคัญแทบจะเรียกได้ว่าที่สุดก็ได้”
ศ.(เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติ ดำรัสฤทธิรงค์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในวงเสวนา “แรงงานไทยหายไป แรงงานข้ามชาติเข้ามาทดแทนได้หรือไม่” เมื่อเร็วๆ นี้ ถึงความจำเป็นที่สังคมไทยต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เมื่ออัตราการเกิดและจำนวนแรงงานของไทยลดลงอย่างมาก จึงน่าคิดว่าถึงเวลาแล้วที่สังคมไทยต้องยอมรับการย้ายถิ่นของชาวต่างชาติจำนวนมากเข้ามาทดแทน
โดย “นโยบายการจัดการประชากรย้ายถิ่นจำนวนมากเพื่อทดแทนประชากรที่ลดลง (Replacement Migration Policy)” เป็นแนวคิดที่ องค์การสหประชาชาติ (UN) นำเสนอมาตั้งแต่ปี 2544 ขณะที่ในปี 2562 UN มีการคำนวณว่า เมื่อสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 (ปี 2642) ไทยจะมีประชากรลดลงร้อยละ 34.1 หรือราว1 ใน 3 ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากประเทศญี่ปุ่น ที่ประชากรจะลดลงถึงร้อยละ 41 จากนั้นในปี 2563 มีผลการศึกษาที่เผยแพร่ในวารสารทางการแพทย์ชื่อดังอย่าง The Lancet ว่า ญี่ปุ่น ไทยและสเปน เป็น 3 ชาติ ที่จะมีประชากรหายไปมากกว่าร้อยละ 50
“3 ประเทศในโลกเท่านั้นที่ประชากรจะหายไปเกินครึ่งมีญี่ปุ่น ไทยแล้วก็สเปน ซึ่งญี่ปุ่นกับสเปนนี่เศรษฐกิจเขาสูงกว่าเรา เราจะมีปัญหามากที่สุด ญี่ปุ่นจะเป็นประเทศที่ไม่ค่อยอยากให้คนเข้ามาเป็นคนญี่ปุ่นเท่าไร แต่ว่าเร็วๆ นี้เองเขาเปลี่ยนแล้ว เขาเริ่มคิดแล้วว่าต้องเอาเข้ามาให้ได้ แล้วคนที่คิดมักเป็นฝ่ายภูมิภาค ญี่ปุ่นนี้ภูมิภาคเขาจะเข้มแข็งเขาก็จะเป็นคนบอกว่าต้องเอาคนเข้ามา ขนาดญี่ปุ่นที่ Conservative (อนุรักษ์นิยม) ที่สุด ตอนนี้ก็เริ่มคิดแล้ว” ศ.(เกียรติคุณ) ดร.อภิชาติ กล่าว
วงเสวนาครั้งนี้จัดขึ้นโดย สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ SEA Junction และ Migrant Working Group โดยยังมีนักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรฯ อีก 2 ท่าน ร่วมให้มุมมอง คือ ผศ.ดร.สักกรินทร์ นิยมศิลป์ กล่าวว่า การปล่อยให้ประชากรลดลงเรื่อยๆ ไม่มีคนทำงาน มีผู้สูงอายุแต่ไม่มีคนดูแล ท้ายที่สุดประเทศก็จะล้มละลาย หรือคนที่ยังอยู่ก็ต้องถูกรัฐเก็บภาษีมากขึ้น
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง หากไทยจะหลุดพ้นจากการติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ก็จำเป็นต้องมีแรงงานที่มีทักษะ (Skilled) เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาไทยมักนำเข้าแรงงานข้ามชาติแบบไร้ทักษะ (Unskilled) และกึ่งทักษะ (Semi-Skilled) แต่ในอนาคตไทยต้องเข้าสู่อุตสาหกรรมไฮเทคยุคใหม่ เพื่อยกระดับการเป็นประเทศรายได้สูงให้ได้ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่วางกันไว้
“1.แนวโน้มการย้ายถิ่นของแรงงานทักษะสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งตอนนี้มีแนวโน้มว่าจะเกิด Talent War คือสงครามแย่งผู้มีทักษะ หลายประเทศกำลังมี นโยบายแข่งขันกันอย่างยิ่ง 2.Demand (อุปสงค์) Supply(อุปทาน) มันชัดเจนว่าปัจจุบันเราก็มีแรงงานต่างชาติอยู่แล้วในประเทศไทย 3-4 ล้านคน ในอนาคตเมื่อประชากรลดลง แรงงานลดลง เรายิ่งต้องการเพิ่มมากขึ้น เพราะฉะนั้นอย่างไรเราก็ต้องการนำเข้าแรงงาน ทำไมเราไม่มุ่งคนที่มีทักษะเพิ่มขึ้น แล้วก็ให้โอกาสเขาอยู่ระยะยาวในประเทศไทย ไม่ใช่แค่วีซ่าปีต่อปี
ให้เขาอยู่ยาวขึ้น บางส่วนอาจจะขอเป็นพลเมืองไทยได้ในอนาคตด้วยถ้ามีคุณสมบัติตามที่เราต้องการ 3.มันมีหลายประเทศปัจจุบัน เพื่อนบ้านเราด้วย คู่แข่งเราด้วย เขามีนโยบายแล้ว ที่เราเรียกว่า Foreign Talent Policy หรือนโยบายที่มุ่งดึงดูดแรงงานทักษะเพื่อทดแทนแรงงานในประเทศที่กำลังไม่พอ แม้แต่ประเทศอย่างญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ทุกคนต้องการหมด เขาปรับเปลี่ยนมุมมองหมดแล้ว เพื่อนบ้านเรา มาเลเซียเขาวางเป้าไปถึงปี 2035 (2578) แล้วว่าเขาต้องการแรงงานประเภทไหนบ้าง” ผศ.ดร.สักกรินทร์ กล่าว
ผศ.ดร.สักกรินทร์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับข้อเสนอแนะของไทย 1.ปรับนโยบายให้ยืดหยุ่นและครอบคลุมมากขึ้น เช่น ออกแบบวีซ่าให้มีหลากหลายประเภท รวมถึงแก้ปัญหาของ Smart Visa และ PR Visa ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน รวมถึงวีซ่าทำงานควรเป็นระยะยาวมากกว่าจะเป็นปีต่อปี 2.มีนโยบายเชิงรุกในการดึงดูดคน เช่น มีตัวอย่างของ สิงคโปร์ ที่มีการส่ง “แมวมอง” ไปเชิญคนเก่งๆ จากทั่วโลก 3.ให้ผู้เกษียณอายุชาวต่างชาติที่มาอยู่ประเทศไทยสามารถทำงานได้ เพราะหลายคนมีประสบการณ์มาก การห้ามทำงานทำให้เสียโอกาสไปโดยเปล่าประโยชน์
4.ส่งเสริม MRA (Mutual Recognition Arrangement) ของอาเซียนให้มากขึ้น โดย MRA หมายถึงข้อตกลงยอมรับร่วมในเรื่องคุณสมบัติของนักวิชาชีพ เช่น แพทย์ วิศวกร สถาปนิก นักบัญชี 5.ส่งเสริมการศึกษานานาชาติ ดึงมหาวิทยาลัยของต่างประเทศมาเปิดสาขาในไทยมากขึ้น เป็นการดึงดูดอาจารย์และนักวิจัยที่มีความสามารถสูง รวมถึงนักศึกษาจากทั่วโลกเข้ามาเรียนและหางานทำในไทยได้ ทั้งนี้ นอกจากชาวต่างชาติแล้วคนไทยที่ไปเติบโตได้ดีเป็นผู้มีทักษะสูงในต่างประเทศ ก็ควรเชิญมาทำงานร่วมกันกับประเทศไทยได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประเทศจีนทำอยู่
รศ.ดร.เฉลิมพล แจ่มจันทร์ มองไปที่ “เด็กที่อยู่ในประเทศไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย (Migrant Children)” เช่น ลูกหลานแรงงานข้ามชาติ การศึกษาเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน คาดว่าอยู่ที่ประมาณ 1 แสนคน แต่ปัจจุบันน่าจะอยู่ที่ 5 แสน-1 ล้านคน ซึ่งแม้จำนวนจะไม่ชัดเจนแต่ก็เห็นได้ว่ามีอยู่ “มีข้อค้นพบที่สำคัญว่าเด็กข้ามชาติจำนวนมากเกิดในประเทศไทย และตลอดช่วงเวลาของการเติบโตก็อยู่ในไทยมาโดยตลอด”หลายคนไม่เคยกลับไปประเทศต้นทางของพ่อแม่และไม่สามารถใช้ภาษาของประเทศนั้นได้ แต่ใช้ภาษาไทยและมีเพื่อน-มีสังคมร่วมกับคนไทย
“ถ้ามองระยะยาวอนาคตของเด็กกลุ่มนี้จะเป็นอย่างไร การกลับไปประเทศต้นทางอาจไม่ใช่ทางออก แต่การอยู่ในประเทศไทย ถ้าเรายังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการตระหนักถึงประโยชน์ในแง่ของการที่เขาอาจจะเป็นสินทรัพย์ในระยะยาวของเราได้และไม่มีการดูแลที่เหมาะสม โดยเฉพาะในเรื่องของสิทธิเด็กแล้วก็การลงทุนในมนุษย์โดยเฉพาะด้านการศึกษา สุขภาพและการคุ้มครองเด็ก อันนี้มันจะเป็นลักษณะของการเปล่าประโยชน์ไปได้ในอนาคต เด็กกลุ่มนี้ก็จะไม่มีโอกาสและขณะเดียวกันประเทศไทยก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรด้วย” รศ.ดร.เฉลิมพล กล่าว
ส่วนวิทยากรอีกท่านหนึ่งคือ อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยมีนโยบายจัดการกับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย 5 กลุ่ม 1.ชนกลุ่มน้อย หมายถึงคนที่อยู่ในไทยมานานแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทย ปัจจุบันมีอยู่ราว 7 หมื่นคน มีความพยายามปรับกระบวนการให้คนเหล่านี้ได้สัญชาติไทยเร็วขึ้น แต่ก็ยังค้างอยู่ในระบบอยู่จำนวนมาก
2.เด็กต่างชาติที่เกิดในประเทศไทย มีเงื่อนไขว่าต้องเกิดในประเทศไทยและเรียนให้จบ ป.ตรี จึงจะสามารถยื่นขอสัญชาติไทยได้ แต่ความยากอยู่ที่การปฏิบัติโดยเฉพาะประเด็นว่าเด็กนั้นอยู่ในไทยอย่างต่อเนื่องหรือไม่3.นักลงทุนหรือแรงงานทักษะพิเศษจากต่างชาติมีการอนุญาตให้ทำงานระยะยาวได้ 10 ปี แต่นโยบายยังเน้นรองรับการแก้ปัญหาระยะสั้นจึงเป็นข้อจำกัดในการดึงคนเข้าสู่ระบบ
4.แรงงานข้ามชาติ มีความพยายามดึงแรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น แต่มีข้อจำกัด เช่น “แนวคิดการจัดการยังอยู่บนฐานคิดด้านความมั่นคง” โดยมองคนที่ไม่ใช่คนไทยเป็นปัญหาอะไรสักอย่างหนึ่ง ส่งผลให้นโยบายมักออกมาในเชิงกีดกัน อาทิ ในกลุ่มแรงงานทักษะจะจำกัดเวลาการอยู่อาศัยได้ไม่เกิน 1 ปี ส่วนแรงงานกึ่งทักษะ-ไร้ทักษะ (ซึ่งส่วนใหญ่แรงงานกลุ่มนี้มาจากประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ กัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม) ให้อยู่ได้ครั้งละ 2 ปี และต่อได้อีก 2 ปี จากนั้นต้องกลับไปประเทศบ้านเกิดก่อน 30 วันแล้วค่อยกลับเข้ามาในไทยใหม่
นโยบายแบบนี้กลายเป็นข้อจำกัดในการพัฒนาทักษะของแรงงาน อีกทั้งยังเป็นภาระทั้งของคนทำงานและนายจ้าง ยิ่งเรื่องการนำไปสู่การขอเป็นผู้อยู่อาศัยถาวรยิ่งมีเงื่อนไขเต็มไปหมด อาทิ มีชื่อในทะเบียนบ้านติดต่อกันไม่ต่ำกว่า5 ปี มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นบาท และ 5.ผู้ลี้ภัย ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 1 แสนคน ในจำนวนนี้ 9 หมื่นคนอยู่ในพื้นที่ชายแดน ที่เหลือจะอยู่ในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ปัจจุบันคนเหล่านี้ถือเป็นผู้เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย จึงไม่สามารถพัฒนาศักยภาพใดๆ ได้เช่นกัน แม้หลายคนจะมีศักยภาพ เช่น เคยประกอบอาชีพแพทย์
“ในระยะยาวควรมีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องผู้ลี้ภัยโดยตรง หรืออีกส่วนหนึ่งคือไปแก้ไข พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ให้มีหมวดที่เกี่ยวข้องกับผู้ลี้ภัยเข้ามา เพื่อทำให้เรามีตัวกลไกในการจัดการที่ชัดเจนมากขึ้น” อดิศร กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM