“ถ้าดูเฉพาะสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก ก็จะพบเด็กปฐมวัยเรามีการคาดประมาณไว้คือจะลดลง เช่น ในปี 2566 เรามีเด็กปฐมวัย อายุ 0-6 ปี 4.3 ล้านคน แต่ถ้าปี 2583 จะเหลือแค่ 3.1 ล้านคนเท่านั้น นอกจากนี้ การตายของทารกแรกเกิดก็ยังสูง อยู่ที่ 2,718 คน คิดเป็น 5.2 คนต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน คือนอกจากเกิดน้อยแล้วเกิดมายังต้องตายอีก ไม่พอยังตายก่อนวัยอันควรก็ยังมีอีก คืออุบัติเหตุก็มีการตายถึง 668 ราย จมน้ำอีก 667 ราย แต่เราพูดว่าเรามีประชากรน้อย เด็กเกิดน้อย แต่ขณะเดียวกันเด็กที่เกิดมาแล้วเราก็ยังรักษาให้รอดต่อไปยังยากเลย”
ข้อมูลจาก วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ที่เปิดเผยในเวทีสนทนานโยบายสาธารณะ หรือ Policy Dialogue ครั้งที่ 4 หัวข้อ “เมื่อไทยเข้าสู่สังคมเด็กเกิดน้อย ปัญหาและทางออก” โดย สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย
หลายองค์กร เมื่อช่วงกลางเดือน ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งในปี 2508 อัตราการเกิดของเด็กไทยอยู่ที่ 6 คน แต่ปัจจุบันอยู่ที่ราว 1 คน
อภิญญา ชมภูมาศ อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ภารกิจของกรมกิจการเด็กและเยาวชน มี 2 ด้าน คือ 1.ส่งเสริมการมีบุตร กับ 2.สนับสนุนให้เด็กที่เกิดมาแล้วเติบโตอย่างมีคุณภาพ จึงมีนโยบาย เช่น เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดอายุ 0-6 ปี จำนวน 600 บาท/เดือน ปัจจุบันจ่ายอยู่ที่ประมาณ 2.3 ล้านคน แต่ยังไม่ใช่การรับแบบถ้วนหน้า โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นเด็กเกิดใหม่ในครัวเรือนที่รายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาท/คน/ปี นอกจากนั้นยังการสนับสนุนให้มีบ้านและครอบครัวที่ปลอดภัยต่อเด็ก การป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในกลุ่มวัยรุ่น เป็นต้น
โดยคาดหวังให้เด็กได้เกิดมาในครอบครัวที่มีความพร้อมในการดูแลลูก ซึ่งนอกจากปัญหาเด็กเกิดน้อยแล้วยังมีปัญหา “เด็กด้อยคุณภาพ” เช่น มีพัฒนาการที่ไม่เหมาะสมกับช่วงวัย โดย “เด็กที่เกิดน้อยนั้นยังไปเกิดในครอบครัวที่ไม่มีความพร้อม ซึ่งอาจได้รับการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม” ทั้งนี้ ปัจจุบันจำนวนเด็กเกิดใหม่นั้นลดลงเฉลี่ย 5 หมื่นคนต่อปี ดังนั้น ย่อมส่งผลกระทบกับโครงสร้างประชากร ทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานในอนาคต รวมถึงการต้องหารายได้เลี้ยงดูประชากรที่มีภาวะพึ่งพิง เช่น ผู้สูงอายุ
“โครงสร้างประชากรเหล่านี้จะเป็นผลกระทบที่เชื่อมโยงกันในทั้งระบบ ทั้งในด้านมิติทางสังคม ทั้งมิติในเรื่องเศรษฐกิจด้วย แล้วก็ยังส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของสังคม ซึ่งเราก็จะเห็นความคิดที่แตกต่างกันระหว่างคนละเจเนอเรชั่น ระหว่างเจเนอเรชั่นที่เป็นวัยเด็ก วัยรุ่นเยาวชน กับวัยที่เป็นผู้สูงอายุ สิ่งเหล่านี้คือสถานการณ์ที่เราเห็นร่วมกัน” อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าว
นันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปี ล่าสุดที่มีโอกาสไปทำงานในหลายจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาตนเองทำหน้าที่อยู่ในส่วน
ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เสียเป็นส่วนใหญ่ ก็พยายามเรียกร้องให้ผู้ใช้แรงงานมีลูก เช่นเดียวกับที่ สปส. พยายามผลักดันนโยบายเงินสงเคราะห์บุตร การลาคลอดบุตรสำหรับแรงงานหญิง ส่วนสามีจะลาได้ด้วยหรือไม่นั้นก็เป็นเรื่องที่ต้องพูดคุยกันต่อไป แต่ยอมรับว่ามาตรการจูงใจยังมีผลน้อย ซึ่งก็จะส่งผลต่อโครงสร้างระบบประกันสังคมในอนาคตด้วย เนื่องจากคนจ่ายเงินน้อยกว่าคนใช้เงิน
ทั้งนี้ สิ่งที่กระทบอย่างแน่นอนคือกำลังแรงงานที่ขาดไป แม้ไทยจะมีการนำเข้าแรงงานไร้ฝีมือจากต่างประเทศโดยหากจำกันได้ เมื่อไทยเริ่มกลับมาฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 เบาบางลง มีเสียงสะท้อนจากภาคการท่องเที่ยว เช่นที่ จ.ภูเก็ต บอกว่าขาดแคลนคนทำงาน แต่อีกด้านหนึ่ง ในช่วงที่ไปทำงานแถบจังหวัดทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน พบนายจ้างชาวไทยให้ความสำคัญกับการมีศูนย์เด็กเล็กในสถานประกอบการ แม้ลูกจ้างจำนวนมากจะเป็นชาวเมียนมา ซึ่งนายจ้างชี้ให้เห็นว่าแรงงานอยู่อย่างมีความสุข เป็นการรักษากำลังแรงงานไว้
“สิ่งหนึ่งผมเห็นก็คือว่า กระทรวงแรงงานพยายามสนับสนุนและผลักดัน แต่สิ่งที่สนับสนุนและผลักดันมอดลงๆ ริบหรี่ลงไป กระทรวงแรงงานสนับสนุนขอให้สถานประกอบการขนาดใหญ่ให้มีศูนย์เด็กเล็ก วันนี้เรามีศูนย์เด็กเล็กระดับร้อย ขณะที่สถานประกอบการเรามีเกือบ 5 แสนแห่งทั่วประเทศ เรามีศูนย์เด็กเล็กอยู่ 102 แห่ง คือก่อนนี้มีมากกว่านั้น แต่มันมอดลงๆ เพราะมันไม่มีเด็กเล็กที่จะไปเข้าศูนย์” นันทชัย กล่าว
สุภัค วิรุฬหการุญ ผู้อำนวยการฝ่ายห้องปฏิบัติการนโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เปิดเผยว่า เยาวชนอายุ 18-22 ปี ซึ่งเป็นวัยเรียนในระดับอุดมศึกษา แม้จะมีจำนวนมากแต่ที่เข้าเรียนจริงกลับลดลงเรื่อยๆ โดยเฉลี่ยลดลงร้อยละ 1.9 ต่อปี ซึ่งสาเหตุมาจากทัศนคติของคนรุ่นใหม่ (เจนแซด-Gen Z) ที่มองว่าเทคโนโลยีต่างๆ เอื้อให้การเรียนรู้สามารถทำได้ด้วยตนเอง จึงไม่จำเป็นต้องเข้าสู่ระบบการศึกษา ขณะที่ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาเพราะความยากจนก็ยังมีอยู่
“สถานการณ์ของอุดมศึกษาที่จำนวนนักศึกษาเข้ามามีน้อยลง แต่อย่างไรก็ตามเราก็จะมีในส่วนของอาชีวะที่เป็นสายอาชีพ ซึ่งตรงนั้นก็มีจำนวนที่ดี ที่สูงขึ้น แล้วทาง อว.เองก็ร่วมมือกับทางอาชีวศึกษา ที่อาจจะมีเรื่องของโปรแกรมเกี่ยวกับการ Upskill&Reskill ของแรงงานเหล่านี้ขึ้นมาด้วยหรือนักศึกษาที่อาจจะจบ ม.3 แล้วก็เข้าไปสู่ระบบของอาชีวะก็ยังมีตรงนี้อยู่ ก็จะมีจำนวนที่ทางกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวง อว. ร่วมมือกัน” สุภัค กล่าว
นพ.โอฬาริก มุสิกวงศ์ ผู้อำนวยการกองมารดาและทารก สำนักส่งเสริมสุขภาพ กรมอนามัย กล่าวว่า ในอีกด้านหนึ่งตนเองมีอาชีพเป็นแพทย์ที่รักษาผู้มีบุตรยากซึ่ง “เสียงสะท้อนจากคนไข้ไม่ได้มองว่าอัตราการเกิดน้อยเป็นปัญหาของพวกเขา เว้นแต่กรณีที่คนไข้นั้นอยากมีลูกแต่มีไม่ได้จึงจะถือเป็นปัญหา” จึงมีคำถามที่น่าคิดว่า “ตกลงแล้วเด็กเกิดน้อยเป็นปัญหาของใคร” อาจเป็นเพียงปัญหาของคนที่มาร่วมงานสัมมนาครั้งนี้ก็ได้ ซึ่งก็เป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในสังคมไทย แต่คนส่วนใหญ่อาจคิดถึงเรื่องวันนี้จะกินอะไร มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านหรือไม่ เป็นต้น
ทั้งนี้ อัตราการเจริญพันธุ์ (Total Fertility Rate-TFR) ที่เป็นความปรารถนาคือ 2.1 หรือ 1 ครอบครัวมีลูก 2 คน ซึ่งเมื่อคนรุ่นพ่อแม่เสียชีวิตโครงสร้างประชากรก็ยังเท่าเดิม แต่ปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์ของไทยอยู่ที่ 1.1-1.2 หรือ 1 ครอบครัวมีอัตราการทดแทน 1 คน ถือว่าขาดทุน ซึ่งอาจมีความเห็นมองว่าแบบนี้ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือเพราะประชากรจะไม่ล้นประเทศและไม่ล้นโลก แต่หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็จะไม่มีประชากรมาทดแทนอีก Ffp เมื่อผู้สูงอายุเสียชีวิตคนวัยทำงานกลายเป็นผู้สูงอายุ แต่ไม่มีเด็กเกิดใหม่ รัฐก็อาจมีปัญหาขาดแคลนรายได้
“เราดึงต่างชาติเข้ามาในประเทศได้ไหม ไม่ว่าจะเป็นแรงงาน Skilled (มีฝีมือ) หรือ Non-Skilled (ไร้ฝีมือ)ก็มีตัวอย่างในหลายประเทศเป็นกรณีศึกษา ถ้าเข้ามาจำนวนที่เยอะมากเกินไปก็อาจมีปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ซึ่งต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีปัญหานี้ยังน้อยมากเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ แล้วก็มีการศึกษาวิจัยแล้วว่า ในระยะสั้นนำต่างชาติเข้ามาได้ แต่ในระยะยาวเราก็ต้องมีประชากรของเราเองในการพัฒนา” นพ.โอฬาริก กล่าว
สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 กล่าวว่า ในภาคเอกชนนั้นแรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในถิ่นกำเนิดของตนเอง เป็นการย้ายถิ่นฐานไปยังจังหวัดที่เป็นแหล่งงาน เช่น พระนครศรีอยุธยาปทุมธานี ชลบุรี ระยอง ขณะเดียวกัน เวลาการทำงานก็ไม่ได้เอื้อต่อการเจริญพันธุ์ เช่น สามี-ภรรยาทำงานคนละช่วงเวลานอกจากนั้นยังมีปัญหาเศรษฐกิจ รายจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้อัตราการมีลูกหรือการเกิดน้อย
ซึ่งที่ผ่านมา สถานประกอบการหลายแห่งสนับสนุนการมีลูกของพนักงาน เช่น มุมนมแม่ที่มีมากกว่า 100 โรงงาน ส่งผลให้อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 60 เพราะพนักงานสามารถใช้มุมนมแม่ส่งนมไปเลี้ยงลูกที่อยู่ต่างจังหวัด หรือนำไปแช่เย็นในตอนกลางคืนเพื่อให้คนที่บ้านซึ่งฝากให้ดูแลลูกใช้เลี้ยงลูก รวมถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำงานเพื่อลดความเครียดของพนักงาน
“บทบาทของคณะกรรมการจัดสมัชชา 2 ปีถัดไป วาระเด็กเกิดน้อยอยู่ในตารางของเราแน่นอน เตรียมขึ้นร่างแน่นอน เพราะวันนี้-เวลานี้เรามีการประชุมไปแล้วครั้งหนึ่ง ถึงแม้ยังไม่มีผล เราต้องรอ มกราฯ (เดือนมกราคม 2567) กรรมการชุดนี้จะเริ่มมีบทบาท เราทำงานก่อนและทีมงานก็เสนอประเด็นนี้อยู่ในประเด็นของเรา” สัมพันธ์ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM