“Put the right man on the right job” เป็นคำกล่าวที่ยัง “ขลัง” อยู่เสมอกับการ “วางคนให้ถูกกับงาน” เพื่อที่จะได้ผลงานออกมาอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องบอกว่าเรื่องนี้ “พูดง่ายกว่าทำ” จากหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่ทักษะที่คนทำงานมีไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในยุคหลังๆ ที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไวมากจนระบบการศึกษาปรับหลักสูตรตามไม่ทัน ไปจนถึงค่านิยมของคนทำงานที่แตกต่างจากวัฒนธรรมองค์กร
ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2566 ในหัวข้อ“ตลาดแรงงานไทย : ข้อจำกัดและความท้าทายต่อเศรษฐกิจไทย” จัดโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา ศ.ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวปาฐกถาพิเศษในชื่อเรื่องกับหัวข้องานสัมมนา ฉายภาพ “เรื่องน่าปวดหัวของวงการแรงงานและธุรกิจ เนื่องจากความต้องการที่ขัดแย้งกันระหว่างคนทำงานกับผู้ประกอบการ” ไล่เป็นข้อๆ ดังนี้
1.ต้นทุนและรายได้ นายจ้างต้องการลดต้นทุนการประกอบธุรกิจให้ต่ำที่สุด เช่น จ่ายค่าจ้างแรงงานถูกๆ จัดสวัสดิการน้อยๆ เพื่อให้ได้กำไรสูงที่สุด แต่ลูกจ้างก็ต้องการค่าตอบแทนสูงๆ และสวัสดิการที่ดี 2.สภาพการทำงาน นายจ้างคาดหวังแรงงานที่ทำงานมีประสิทธิภาพสูง แต่ลูกจ้างต้องการสภาพการทำงานที่มีสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance) และมีความยืดหยุ่น (Flexibility)
3.ทักษะและการฝึกอบรม ในขณะที่นายจ้างคาดหวังว่าจะได้คนที่ทำงานเป็นแล้วเข้ามาเป็นลูกจ้างเพื่อที่จะไม่ต้องมาเสียต้นทุนฝึกอบรม แต่ลูกจ้างต้องการได้รับการฝึกอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง 4.ความจงรักภักดีต่อองค์กร นายจ้างต้องการคนทำงานที่อยู่กับองค์กรนานๆ ไม่เปลี่ยนงานบ่อย แต่ลูกจ้างพร้อมเปลี่ยนงานเสมอหากที่ใหม่มีเงื่อนไขการทำงาน (เช่น รายได้ รูปแบบงานที่ท้าทาย ฯลฯ) ที่ดีกว่าที่เดิม
“นี่คือความขัดแย้งของตลาดแรงงาน และมันเกิดขึ้นตลอดเวลา ศาสตร์ในเรื่องการจัดการคน เป็นศาสตร์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้น และมีความท้าทายมากขึ้นกว่าเดิมที่เราเคยมองคนเป็นปัจจัยการผลิตมาสู่การมองคนเป็นทุนมนุษย์ มาสู่การมองคนเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าในเรื่องการจัดการ คำหลากหลายที่พูดถึง ความขัดแย้งที่พูดถึง ยังลงไปในมิติของตลาดแรงงานอีกว่า แต่ละเรื่องราวยังมีความแตกต่างกัน เช่น ทักษะสูง-ต่ำ-กลาง ก็มีความแตกต่างกัน
สถานะแรงงานนอกระบบ-ในระบบ สถานะทางครอบครัว มีลูกแล้ว แรงงานหญิง-ชาย อุตสาหกรรมที่เขาอยู่ ภาคเกษตร-อุตสาหกรรม-บริการ สถานที่ที่เขาอยู่ ในเมือง-ชนบท คุณลักษณะของงานต่างๆ นานา มันทำให้การแก้ไขของภาครัฐของแรงงานในงานหนึ่ง มันไม่สามารถเป็น One Size Fit All (เสื้อเหมาโหล) คือไม่สามารถตัดเสื้อตัวเดียวกันแล้วบอกว่าใช้ได้กันหมด เพราะแต่ละคนมีสถานะแตกต่างกันมาก” อาจารย์พิริยะกล่าว
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจ อาจารย์พิริยะ กล่าวถึงแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” ของกระทรวงแรงงาน ที่ต้องการจับคู่งานต่างๆ กับคนที่มีทักษะนั้น แต่พบปัญหาคือ “ฐานข้อมูลยังไม่จำแนกอย่างละเอียดมากพอ” เช่น คำว่า “แม่บ้าน” สำหรับกระทรวงแรงงานอาจหมายถึงแม่บ้านที่ทำความสะอาดในสำนักงาน แต่ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา อาจหมายถึงแม่บ้านทำงานในโรงแรมที่ต้องมีทักษะการปูเตียง การทำความสะอาดห้องพัก และเข้าใจมาตรฐาน SHA ของภาคธุรกิจโรงแรม
หรือคำว่า “คนขับรถ” ก็ยังแบ่งได้หลายประเภท เช่น ขับรถรับ-ส่งของบริษัท ขับรถรับ-ส่งนักท่องเที่ยว ขับรถบรรทุกขนส่งสินค้า ซึ่งต้องการทักษะแตกต่างกัน “การทำให้คนทำงานมีทักษะตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการจึงเป็นเรื่องของทุกภาคส่วน” ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ดังตัวอย่างที่ลำพังกระทรวงแรงงานทำเองไม่เพียงพอ ต้องมีกระทรวงอื่นๆ ช่วยสนับสนุนฐานข้อมูล อาทิ กระทรวงการท่องเที่ยวฯ กระทรวงคมนาคม
หรืองาน “นวดสปา” ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยยังมีปัญหาการทำงานแบบบูรณาการข้ามกระทรวง นอกจากนั้นยังต้องมีการประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับภาคส่วนอื่นๆ เช่น ผู้ประกอบการ เพราะภาครัฐคงไม่สามารถทำอะไรได้หากผู้ประกอบการไม่แสดงออกว่าต้องการแรงงานที่มีทักษะแบบใด หรือสถาบันการศึกษา หากไม่มีการให้ข้อมูล ให้ดัชนีชี้นำ ให้องค์ความรู้ต่างๆ ก็คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้
อนึ่ง นอกจากแรงงานรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ชีวิตการทำงานหลังสำเร็จการศึกษา และแรงงานในปัจจุบันที่กำลังทำงานอยู่ อาจารย์พิริยะ ยังกล่าวถึง “แรงงานกลุ่มอื่นๆ ที่สามารถพัฒนาได้” ประกอบด้วย 1.กลุ่มนีท (NEET) หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่ได้อยู่ทั้งในระบบการศึกษา การฝึกอบรมและการทำงาน ซึ่งงานวิจัยของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) พบว่ากลุ่มนี้มีมากถึง 1.3 ล้านคน
ตัวอย่างเช่น แม่วัยรุ่นตั้งครรภ์ในวัยเรียน ผู้ทำผิดกฎหมายต้องเข้าไปอยู่ในสถานพินิจ กลุ่มนี้นโยบายที่ควรมีคือส่งเสริมการฝึกอบรมทักษะที่เชื่อมโยงกับระบบธนาคารเครดิต (Credit Bank) หมายถึงเมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถเก็บเทียบเป็นหน่วยกิตหรือวุฒิการศึกษาได้ 2.แรงงานที่สูญเสียงานไปเป็นเวลานาน นโยบายที่เหมาะสมคือ การฝึกอบรมทักษะ
3.แรงงานเกษตรกรซึ่งจะว่างงานในช่วงที่อยู่นอกฤดูเก็บเกี่ยว นโยบายที่ควรมีคือ การสร้างงาน การฝึกอบรม พัฒนาวิสาหกิจชุมชน
4.แรงงานสูงอายุ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว สามารถสนับสนุนด้วยมาตรการทางภาษีที่จูงใจให้จ้างงานผู้สูงอายุ การจับคู่งาน การขยายอายุเกษียณ
5.ผู้พิการ ใช้มาตรการจูงใจแบบเดียวกับแรงงานสูงอายุ
6.ทหารเกณฑ์ ซึ่งเคยมีการให้ทำงานในภาคการขนส่ง อันเป็นอีกภาคส่วนหนึ่งที่ขาดแคลนแรงงาน เช่น มีรถยนต์แต่ไม่มีคนขับ จุดนี้น่าจะนำทหารเกณฑ์มาฝึกได้ แต่ก็ต้องประสานความร่วมมือกับกระทรวงกลาโหมด้วย เพราะทหารเกณฑ์ก็เป็นกำลังแรงงานอีกส่วนที่แข็งแรง มีเวลาว่างและต้องการหารายได้ และ 7.แรงงานข้ามชาติในทักษะที่จำเป็น เช่น ตัวอย่างจาก สหรัฐอเมริกา มีนโยบายต่อวีซ่าให้กับนักศึกษาต่างชาติ
ที่จบการศึกษาในสาขาที่ประเทศต้องการเพื่อให้สามารถอยู่ทำงานต่อได้
“ถ้าผมจะแบ่งแรงงานที่เป็นข้อจำกัด แบ่งได้ 3 กลุ่มด้วยกัน 1.แรงงานในอนาคต หรือแรงงานใหม่ สามารถพัฒนาได้ผ่านระบบการศึกษา ทวิภาคี สหกิจศึกษา 2.แรงงานปัจจุบันที่มีอยู่แล้ว สามารถพัฒนาได้จากคุณวุฒิวิชาชีพ กลไกค่าจ้าง ฝึกอบรม การจ้างงานแรงงานที่มีทักษะจากต่างประเทศ และ 3.กลุ่มแรงงานอื่นๆ ที่หลุดหายไป จะเห็นว่า 3 กลุ่มนี้คือการมองตลาดแรงงานที่เป็นบูรณาการมากกขึ้นกว่าแรงงานที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน” อาจารย์พิริยะ กล่าว
SCOOP@NAEWNA.COM