“ถ้ารถจักรยานยนต์ถูกห้ามวิ่งบนฟุตปาธทางเท้า เพราะขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ ขอถามว่า รถจักรยานไฟฟ้าที่ขับเคลื่อนด้วยกำลังจากมอเตอร์ ต้องถูกห้ามวิ่งบนฟุตปาธทางเท้าด้วยหรือไม่”
ฉัตรไชย ภู่อารีย์ นักวิชาการอิสระด้านการขนส่งด้วยรถโดยสารประจำทาง และที่ปรึกษาชมรมผู้ประกอบการรถโดยสาร หมวด 4 เอกชน กรุงเทพฯ (รถสองแถว) เปิดประเด็นชวนคิดกับสังคม ด้วยคำถามข้างต้นพร้อมคลิปวีดีโอที่มีคนใช้ “จักรยานไฟฟ้า” หรือ “สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า” วิ่งบนทางเท้า โดยคุณฉัตรไชย โพสต์คลิปพร้อมตั้งคำถามนี้บนเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งก็มี “ข้อถกเถียง” เพราะอีกมุมหนึ่งก็มีความเห็นเข้ามาตอบว่า “หากให้วิ่งบนถนนก็จะเป็นอันตรายเช่นกัน” เพราะเป็นพาหนะที่ไม่ได้ใช้ความเร็วสูงเมื่อเทียบกับรถประเภทอื่นๆ
นี่อาจเป็น “เรื่องใหม่” ของสังคมไทยแต่สำหรับในต่างประเทศ พาหนะประเภทนี้เริ่มถูก“จัดระเบียบ” โดยรัฐไปบ้างแล้ว อาทิ รายงานข่าว Italy gets tough on e-scooters with road safety bill โดย นสพ. New Straits Times ของมาเลเซีย เมื่อวันที่28 มิ.ย. 2566 ระบุว่า อิตาลี รัฐบาลกำหนดให้สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่จะนำมาใช้งานบนท้องถนนต้องคิดแผ่นป้ายทะเบียนและทำประกันอุบัติเหตุ ผู้ขับขี่ต้องสวมหมวกกันน็อก และห้ามจอดสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าบนทางเท้า
ขณะที่รายงานข่าว Scooters from Paris make “Aliyah” to Tel Aviv streets โดย นสพ.The Jerusalem Post ของอิสราเอล เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2566 ระบุว่า เมืองเทลอาวีฟ ของอิสราเอล รับมอบสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าจากกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส เนื่องจากฝ่ายบริหารของกรุงปารีสมีการออกประกาศห้ามประกอบกิจการสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าให้เช่า หลังมีข้อร้องเรียนจากประชาชนว่าก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่คนเดินเท้า
ในวันที่ 23 ต.ค. 2566 ทีมงาน “นสพ.แนวหน้า” มีโอกาสได้พูดคุยกับคุณฉัตรไชยถึงเรื่องนี้ ได้รับการอธิบายว่า “ปัจจุบันจักรยานไฟฟ้า-สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าได้รับความนิยมมากขึ้น” ด้านหนึ่งก็ไม่เห็นด้วยหากจะให้พาหนะกลุ่มนี้ลงไปวิ่งบนท้องถนนเพราะเท่ากับส่งไปเสี่ยงอันตรายจากการถูกพาหนะอื่นๆ ที่เร็วกว่าเฉี่ยวชน แต่อีกด้านหนึ่ง พาหนะประเภทนี้ก็ใช้ความเร็วได้พอสมควรในระดับที่สามารถเฉี่ยวชนคนเดินเท้าให้ได้รับบาดเจ็บได้ จึงต้องมีการคิดมาตรการเพื่อจัดระเบียบการใช้งาน
“สมมุติผมอาจจะเป็นลูกจ้าง หรือเป็นใครสักคนหนึ่งที่มีรถนี้ขี่ แต่ผมไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีหลักฐานอะไรเลย เกิดไปชนคน ทายาทคนตายหรือคนที่บาดเจ็บเสียหาย เขาอาจจะได้แค่ถือคำพิพากษาให้ชดใช้ค่าเสียหาย ผมมองประเด็นนี้ทำอย่างไรรถพวกนี้วิ่งบนทางเท้าได้ แต่จะมีหลักรับผิดชอบ หลักการันตีกับประชาชนอย่างไร เพราะถ้ารถเหล่านี้ไปวิ่งบนถนนก็แบนแต๊ดแต๋เหมือนกัน โดนรถเฉี่ยว นี่คือปัญหาใหญ่ที่ต้องคิดไว้ในอนาคต” คุณฉัตรไชย กล่าว
แม้กระทั่ง “จักรยาน” ก็เช่นกัน มุมหนึ่งมีการอ้างถึงจักรยานวิ่งบนทางเท้าได้ จักรยานไฟฟ้า-สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าก็น่าจะวิ่งได้ แต่อีกมุมหนึ่งก็มีข้อทักท้วงว่า ปัจจุบัน “จักรยานประเภทสายแข่ง-วิ่งทางไกล” ที่มีสมรรถนะเอื้อต่อการปั่นด้วยความเร็วสูงก็ได้รับความนิยมมากขึ้น และบางครั้งแม้จะปั่นบนทางเท้าก็มีบางคนใช้ความเร็วในระดับที่อาจเป็นอันตรายกับคนเดินเท้า ประเด็นนี้คุณฉัตรไชย กล่าวว่า “ในอดีตเคยมีกฎหมายกำหนดให้มีใบขับขี่สำหรับผู้ใช้จักรยาน” ก่อนจะถูกยกเลิกไป แต่จักรยานก็สามารถวิ่งบนถนนได้
อย่างเมื่อเร็วๆ นี้ มีคลิปวีดีโอหนึ่งที่แชร์กันในสื่อสังคมออนไลน์ เผยให้เห็นกลุ่มจักรยานวิ่งกันเต็มถนนเส้นหนึ่งในไทยซึ่งน่าจะเป็นการจัดงานอะไรสักอย่างเพราะมีมอเตอร์ไซค์เป็นการ์ดกันขบวนให้ แต่ปัญหาคือ “จักรยานบางคันล้ำข้ามไปวิ่งในถนนฝั่งสำหรับผู้ใช้รถ-ใช้ถนนวิ่งสวนทางมา” ทำให้รถที่ใช้เลนสวนดังกล่าวต้องรีบหักหลบ หรือใครไปชนก็บอกว่าชนรถเล็ก หรือบางทีปั่นกันเร็วๆ ริมถนนแล้วเบรกไม่ทันชนเด็กวิ่งพรวดออกมาจากข้างทาง ถึงเวลาต้องคิดเรื่องนี้อย่างจริงจังแล้วหรือไม่?
“พอเกิดแบบนี้บางทีมันไม่เป็นข่าวเราก็ไม่รู้อะไรเกิดขึ้น เราจะรู้เท่าที่เป็นข่าว นี่คือจุดประสงค์ที่ผมโพสต์ ต้องการให้สังคมรู้ว่าเราจะทำอย่างไรให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ถ้ามอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้าไม่ได้แล้วพวกนี้จะวิ่งได้ไหม? ถ้าวิ่งได้มันจะมีหลักมีเกณฑ์อย่างไร ไม่ใช่วิ่งไปเถอะไม่เป็นไร แล้วมีปัญหาก็มาว่าเป็นเคสๆ ไป ผมไม่ต้องการแบบนั้น” คุณฉัตรไชย กล่าวย้ำ
ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ชวนมองย้อนไปที่ “รากของปัญหา” นั่นคือ “ประเทศไทยไม่มีการแบ่งแยกถนนในชุมชน-นอกชุมชน” ซึ่งคำว่า “ถนน” ในภาษาอังกฤษจะมีอยู่หลายคำ เช่น Street, Avenue, Road, Highway ตามพื้นที่ตั้ง โดยหากเป็นถนนในเมืองหรือในชุมชน ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์จะถูกจำกัดความเร็วอย่างเข้มงวด ในทางกลับกัน ถนนสายใหญ่นอกเมืองที่อนุญาตให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะใช้ความเร็วสูง แม้จะมีบ้านอยู่ติดถนนก็ไม่สามารถเปิดทางเข้า-ออกทางถนนนั้นโดยตรงได้
เมื่อหันกลับมามองประเทศไทย เช่น ถ.พหลโยธิน หรือ ถ.สุขุมวิท แม้จะจัดเป็นถนนสายหลักแต่ก็มีหลายช่วงที่ผ่านย่านชุมชนหนาแน่น และมีกิจกรรมหลากหลาย เช่น มีตลาด-ร้านค้าที่คนจอดรถจับจ่ายซื้อข้าวของ มีโรงเรียน โรงพยาบาล สำนักงานของบริษัทต่างๆ ซึ่งจะมีคนเดินข้ามถนนไป-มาเป็นระยะๆ แต่ถนนสายหลักนั้นผู้ขับขี่ยานพาหนะมักเคยชินกับการใช้ความเร็วสูง จึงไม่ปลอดภัยกับพาหนะที่ใช้ความเร็วต่ำ ทั้งจักรยาน สกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า รวมถึงรถสามล้อไฟฟ้า ที่ระยะหลังๆ เห็นผู้สูงอายุใช้กันมากขึ้น
ทั้งนี้ “หากความเร็วของพาหนะที่ใช้ถนนร่วมกันห่างกันมากกว่า 15 กม./ชม. ขึ้นไป ตามหลักการถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ” ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับที่นำมาสู่การออกข้อห้ามมอเตอร์ไซค์ใช้ทางด่วน-มอเตอร์เวย์ เพราะเป็นทางที่อนุญาตให้ใช้ความเร็วสูงและรถยนต์ที่วิ่งก็มีสรรถนะทำความเร็วได้สูงกว่ามอเตอร์ไซค์ทั่วไป นอกจากนั้น “การแก้ปัญหาการจราจรติดขัดด้วยการขยายถนนก็ส่งผลข้างเคียงให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะใช้ความเร็วสูงขึ้น” ด้วยเห็นว่าถนนโล่งจึงสามารถทำได้ โดยสรุปแล้ว “การคุมเข้มความเร็วในเขตชุมชน” จึงเป็นคำตอบ
“เรื่องนี้มันพันกันหลายเรื่อง แต่หลักใหญ่มันต้องดึงวิถีของชุมชนกลับมา แล้วค่อยเป็นคำตอบให้พวกสกู๊ตเคอร์ เพราะสกู๊ตเตอร์คงไม่ไปขี่บนสายหลักอยู่แล้ว แล้วอีกอย่างบ้านเราชอบมีนโยบายถนนในซอยชอบใช้เป็นทางลัดของรถที่ติดอยู่บนถนนสายหลัก พอรถวิ่งผ่านซอยก็จริง แต่เขาต้องการสะดวกเขาก็วิ่งผ่านทางลัดไปโผล่อีกที่หนึ่ง ในซอยมันควรจะช้าก็กลายเป็นเร็ว” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี