“ความเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change)”, “โลกร้อน (Global Warming)” เป็นประเด็นที่ทั้งโลกให้ความสำคัญอย่างมาก ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากมนุษย์เริ่มส่งผลกระทบทั้งสภาพอากาศแปรปรวนและมลพิษ จึงต้องรีบเปลี่ยนแปลงไปสู่แนวทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (CarbonNeutrality)” และ “การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)” คือเป้าหมายที่ประชาคมโลกตกลงกันในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26)
ในงาน TDRI Annual Public Conference 2023 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เมื่อเร็วๆ นี้ เสาวรัจ รัตนคำฟู ผู้อำนวยการวิจัย TDRI บรรยายเรื่อง “ปรับทักษะคนไทย..ทำงานใหม่ในยุคคาร์บอนต่ำ” ฉายภาพ “ธุรกิจสีเขียว” ที่จะสร้างงานใหม่ๆ เช่น เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) อาทิ การรีไซเคิลขยะและของเสีย พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงานอัจฉริยะ การก่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านที่ประหยัดพลังงาน การผลิตยานพาหนะขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) ไปจนถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคอุตสาหกรรม
แต่อีกด้านหนึ่ง “ธุรกิจสีน้ำตาล” หมายถึงธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกปริมาณสูงต้องลดขนาดที่เคยใหญ่โตลง เช่น อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล (ถ่านหิน น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ยานพาหนะที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน ไปจนถึงการทำเกษตรที่ใช้สารเคมีและทรัพยากรธรรมชาติในปริมาณมาก “ธุรกิจกลุ่มนี้มีการจ้างงานในประเทศไทยอย่างน้อย 10 ล้านคน” ดังนั้น “เมื่อธุรกิจต้องลดขนาดลงแรงงานจำนวนไม่น้อยก็มีความเสี่ยงตกงาน” โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะไม่สูงนัก คาดว่าน่าจะมีอยู่ประมาณ 8 ล้านคน
ด้วยเหตุนี้ “ประเทศไทยต้องเร่งสร้างงานสีเขียว 2 กลุ่ม” แบ่งออกเป็น “งานใหม่สีเขียว” คืองานที่เกิดจากธุรกิจสีเขียว เช่น ช่างติดตั้งกังหันลม แผงโซลาร์เซลล์ผู้จัดการโครงการพลังงานหมุนเวียน นักวิเคราะห์ความยั่งยืนผู้ทวนสอบข้อมูลรอยเท้าคาร์บอน (Carbon Footprint) ฯลฯ “แต่ถึงจะเป็นงานใหม่จากธุรกิจสีเขียว ก็มีทั้งงานที่รายได้สูงและไม่สูง” โดยงานสีเขียวที่รายได้ไม่สูง เช่น คนงานคัดแยกขยะ
“คำถามสำคัญสำหรับประเทศไทยก็คือว่า ถ้าหากเราต้องการให้คนไทยสามารถทำงานสีเขียวที่มีรายได้ดี เราจะต้องปรับทักษะพื้นฐานอะไรบ้าง ทักษะพื้นฐานที่สำคัญคือ ASK A-Attitude (ทัศนคติ) มีทัศนคติที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม S-Skill (ทักษะ) ทักษะการสื่อสารมีความสำคัญมีทักษะเรื่องของความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการปรับตัว และการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) ในเชิง Knowledge (ความรู้-K) ความรู้พื้นฐานสำคัญสำหรับงานสีเขียว ต้องมีความรู้เชิงเทคนิคของวิศวกรรมและเทคนิค และความรู้ด้านวิทยาศาสตร์
ซึ่งจริงๆ ก็คือความรู้ด้าน STEM ที่เรารู้จักกันดี คือScience Technology Engineering & Mathematics ก็คือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมและคณิตศาสตร์ หรือมีความรู้เกี่ยวกับการจัดการดำเนินงาน มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการติดตามประเมินผล เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กำหนดไว้” เสาวรัจ กล่าว
สำหรับทักษะ 4 กลุ่มใหญ่ที่มาแรงในระดับโลก 1.การจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เช่น การจัดการและการพัฒนากลยุทธ์เพื่อความยั่งยืนด้าน
สิ่งแวดล้อม 2.พลังงาน การหมุนเวียนทรัพยากรและลดคาร์บอน เช่น การประเมินโครงการติดตั้งระบบพลังงานแสงอาทิตย์ 3.โครงสร้างพื้นฐานและการเดินทางสีเขียว เช่น การจัดการอาคารเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม การบำรุงรักษา EV และ 4.การเงินเพื่อความยั่งยืน เช่น การจัดการตลาดคาร์บอนและกลยุทธ์ลดคาร์บอน การวิเคราะห์และรายงานผลงานด้านความยั่งยืน
นอกจากงานใหม่สีเขียวแล้ว ยังมีอีกกลุ่มหนึ่งคือ “งานเดิมเติมทักษะสีเขียว” เช่น ผู้จัดการที่มีภาระงานด้านการจัดการอย่างยั่งยืน ผู้จัดการด้านการตลาดที่ถูกมอบหมายให้ทำการตลาดแบบสีเขียว นักวิเคราะห์การเงินที่ถูกมอบหมายให้ออกตราสารหนี้ ESG (ESG Bond) ซึ่งงานเดิมเติมทักษะสีเขียวจะพบได้ในธุรกิจหลากหลายสาขา และต้องการทักษะใหม่ที่เข้มข้นน้อยกว่างานใหม่สีเขียว
“นักวิเคราะห์การเงินที่ถูกมอบหมายให้ออกตราสารหนี้ ESG หน้าที่หลักจากเดิมทำโมเดลทางการเงิน ต้องมีการติดตามสถานการณ์ตลาดทางการเงินทั้งในไทยและ
ต่างประเทศ แต่ตอนนี้ถูกมอบหมายว่าต้องออก ESG Bond สิ่งที่ต้องมี ทัศนคติสนใจการลงทุนอย่างยั่งยืน ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลและสื่อสารเรื่องความยั่งยืน จบปริญญาตรีด้านการเงินและมีความรู้สีเขียว ความรู้เรื่องตลาดทุน และความรู้เรื่อง ESG Bond” เสาวรัจ ยกตัวอย่าง
เมื่อดูรายได้เทียบกันระหว่างงานใหม่สีเขียว งานเดิมเติมทักษะสีเขียว และงานอื่นๆ แยกตามระดับการศึกษา พบว่า “ระดับประถมศึกษา-มัธยมศึกษาตอนต้น” งานเดิมเติมทักษะสีเขียว จะมีรายได้มากกว่างานอื่นๆ กระทั่งเมื่อถึง “ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย-อนุปริญญา” งานใหม่ทักษะสีเขียวจะมีรายได้มากกว่าอีก 2 กลุ่มที่เหลือ สุดท้ายเมื่อถึง “ระดับปริญญาตรี” แม้ทั้งงานใหม่สีเขียวและงานเดิมเติมทักษะสีเขียวจะมีรายได้มากกว่างานอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญ คือประมาณร้อยละ 50 แต่เมื่อเปรียบเทียบกันเองจะไม่ต่างกันมากนัก
ถึงกระนั้น “รายได้เฉลี่ยงานสีเขียวก็ยังน้อยกว่างานด้าน STEM” อาทิ ข้อมูลรายได้บัณฑิตจบใหม่ในระดับปริญญาตรี ในช่วง 3 ปีล่าสุด (2563-2565) โดยงานด้าน STEM รายได้เฉลี่ย 2 หมื่นบาท/เดือน รองลงมาคืองานสีเขียวด้าน STEM อยู่ที่ 1.9 หมื่นบาท/เดือน และงานสีเขียวที่ไม่ใช่ด้าน STEM 1.7 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ก็ยังเห็นว่า “สำหรับงานสีเขียวที่ไม่ใช่ STEM รายได้ก็ยังสูงกว่างานด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ทั้งาน STEM และงานสีเขียว” ซึ่งจะมีรายได้ 1.5 หมื่นบาท/เดือน
เมื่อดูการส่งเสริมจากภาคส่วนต่างๆ เช่น “ภาคการศึกษา” ในส่วนของอาชีวศึกษา (ปวช.-ปวส.) มีการเปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ในปี 2566 พบ 61 วิทยาลัยที่เปิดหลักสูตรนี้ ขณะที่ระดับอุดมศึกษา อาทิ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวแพลตฟอร์ม “PIES (Platform of Innovative Engineering for Sustainability)” สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต
มีตัวอย่างหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสีเขียว เช่น “ปลุกธุรกิจ..ปั้นอนาคตยานยนต์ไฟฟ้า”, “คาร์บอนเครดิตสำหรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซ” เป็นต้น สามารถเลือกเรียนแบบโมดูล สะสมหน่วยกิตเพื่อนำไปเทียบโอนรายวิชาในหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขานวัตวิศวกรรมเพื่อความยั่งยืนได้ขณะที่ “ภาครัฐ” พยายามสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับองค์กรที่ส่งพนักงานเข้ารับการฝึกอบรมหลักสูตรที่ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) รับรอง
อีกทั้งยังมีแพลตฟอร์ม “STEM Plus” รวบรวมหลักสูตรที่ได้รับการรับรอง โดยกว่า 700 หลักสูตร มีหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับสีเขียวประมาณ 60 หลักสูตร เช่น การประเมินรอยเท้าคาร์บอนในองค์กร โดยองค์กรสามารถนำค่าใช้จ่ายในการอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ถึงร้อยละ 200 แต่ยังมีข้อจำกัดเพราะธุรกิจที่ไม่ได้มีกำไรสูงมากนัก ตลอดจนบุคคลทั่วไปโดยเฉพาะแรงงานนอกระบบ ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการนี้ได้ “ภาคเอกชน” เช่น เดลตา มีการจ้างผู้เชี่ยวชาญภายนอกเข้ามาฝึกอบรม ตามเป้าหมายลดคาร์บอนในผลิตภัณฑ์เป้าหมายร้อยละ 10 ภายใน 3 ปี
“ข้อเสนอแนะทางนโยบาย” หากต้องการให้ประเทศไทยเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ มีงานรายได้ดี และไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 1.ปรับการพัฒนาแรงงานตามนโยบายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ สร้างเวทีที่ทำให้ภาครัฐทุกกระทรวง และภาครัฐกับภาคเอกชนทำงานร่วมกันได้ 2.มีฐานข้อมูลที่สะท้อนความต้องการของตลาดแรงงาน ระบุทักษะที่ต้องการในรายอุตสาหกรรมในทุกปี จัดลำดับความสำคัญของทักษะที่ต้องการพัฒนา โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยงที่จะถูกเลิกจ้าง
3.พัฒนาทักษะ STEM ให้เข้มแข็ง เช่น การฝึกอบรมครูให้มีความเข้าใจ และสามารถสร้างแรงบันดาลใจกับผู้เรียนได้ ไม่ใช่การท่องจำเพราะไม่ทำให้สนุกกับการเรียนรู้รวมถึงการเรียนจากการฝึกแก้ปัญหาจริง และ 4.ฝึกทักษะแรงงาน ทั้งการอุดหนุนนายจ้างในการฝึกอบรมทักษะให้กับลูกจ้าง การแจกคูปองฝึกทักษะให้กับแรงงาน และอบรมแล้วก็ต้องมีระบบจับคู่เพื่อหางานให้ด้วย โดยเฉพาะแรงงานกลุ่มเสี่ยงที่อาจต้องหางานใหม่ ต้องทำทั้งการหางาน สนับสนุนค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม ไปจนถึงอุดหนุนเงินเดือนบางส่วนให้กับนายจ้างใหม่!!!
SCOOP@NAEWNA.COM
โปรดอ่านก่อนแสดงความคิดเห็น
1.กรุณาใช้ถ้อยคำที่ สุภาพ เหมาะสม ไม่ใช้ ถ้อยคำหยาบคาย ดูหมิ่น ส่อเสียด ให้ร้ายผู้อื่น สร้างความแตกแยกในสังคม งดการใช้ถ้อยคำที่ดูหมิ่นหรือยุยงให้เกลียดชังสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
2.หากพบข้อความที่ไม่เหมาะสม สามารถแจ้งได้ที่อีเมล์ online@naewna.com โดยทีมงานและผู้จัดทำเว็บไซด์ www.naewna.com ขอสงวนสิทธิ์ในการลบความคิดเห็นที่พิจารณาแล้วว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ต้องชี้แจงเหตุผลใดๆ ทุกกรณี
3.ขอบเขตความรับผิดชอบของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ อยู่ที่เนื้อหาข่าวสารที่นำเสนอเท่านั้น หากมีข้อความหรือความคิดเห็นใดที่ขัดต่อข้อ 1 ถือว่าเป็นกระทำนอกเหนือเจตนาของทีมงานและผู้ดำเนินการจัดทำเว็บไซด์ และไม่เป็นเหตุอันต้องรับผิดทางกฎหมายในทุกกรณี